 |
รู้จักเข้าใจเด็กสมาธิสั้น ตอนที่ 3
จากหนังสือเข้าใจเด็กสมาธิสั้น โดย ผศ.นพ. ชาญวิทย์ พรนภดล
สาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช
“แล้วพวกสมุนไพร วิตามินต่างๆมีตัวไหนช่วยบ้างมั๊ยคะ”
“เท่าที่วิจัยกันมา ยังไม่พบว่ามีตัวไหนช่วยนะครับ หมอเอง ก็อยากให้มี การค้นพบสมุนไพรไทยที่มีประสิทธิภาพช่วยเด็กเหล่านี้ได้ จะได้ไม่ต้องเสียเงินซื้อยาแพงจากต่างประเทศมาใช้”
“กีฬา ดนตรี ศิลปะ จะช่วยมั๊ยครับ” คุณพ่อยังพยายามค้นหาวิธีการรักษาด้วยวิธีอื่นนอกจากการใช้ยา
“ผมไม่ห้ามนะครับ ที่คุณพ่อ จะส่งเสริมให้ น้องตุ่มตุ๊ม ได้เรียนดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นสิ่งที่ดีที่ควรทำด้วยซ้ำไป แต่อย่าคาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ตุ่มตุ๊ม หายจากภาวะสมาธิสั้น ผมเคยมีคุณพ่อท่านหนึ่ง ลูกชายถูกวินิจฉัยว่าเป็นสมาธิสั้น ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ คุณพ่อพาตะเวนไปเรียนว่ายน้ำ วาดรูป เปียโน หมดเงินค่าเรียนปีละ 5 หมื่นกว่าบาท ทำอยู่ 3 ปี หมดเงินไปแสนห้า การเรียนของลูกก็ไม่ดีขึ้น ลูกเริ่มเบื่อ ไม่อยากไปโรงเรียน เพราะสอบทีไรก็ตกทุกที ขาดความมั่นใจ ไม่กล้าแสดงออก
จนในที่สุดคุณพ่อตัดใจยอมให้ทานยา ภายใน 1 ปี เกรดของลูกเพิ่มจาก 1 กว่าขึ้นมาเป็น 3 กว่า คุณพ่อหมดเงินค่ายา ค่าหมอไปไม่ถึงหมื่นบาท แต่อะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่คุณพ่อได้เห็นว่าลูกมีความสุขสนุกกับการเรียนมากขึ้น มีความมั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ด้อยกว่าใคร แต่หมอเน้นอีกทีนะครับว่า ยาอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบที่จะแก้ไขทุกสิ่งทุกอย่างของอาการสมาธิสั้น ต้องใช้ยาร่วมกับการฝึกทักษะต่างๆ ที่จำเป็น การปรับการเลี้ยงดู ฝึกวินัย ปรับพฤติกรรม เด็กจึงจะพัฒนาและมีโอกาสหายได้”
“ถ้าผมเลือกที่จะไม่รักษาด้วยยา ปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ เด็กจะเป็นยังไง”
“หมอเข้าใจหัวอกคนที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ทุกคน พอเอ่ยชื่อว่าเป็นยา ทุกคนจะคิดว่าเป็นสารเคมี แล้วก็จะวิตกกังวล กับการใส่สารเคมีเข้าไปในตัวลูก แล้วก็คิดแต่ผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานยา
แต่ลืมมองอีกแง่มุมนึงว่า แล้วผลเสียจากการไม่ทานยาล่ะ จากการตัดโอกาสของเด็กในการรับการรักษาที่มีประสิทธิภาพว่ามีอะไรบ้าง เด็กสมาธิสั้นที่ถูกปล่อยทิ้งไว้แบบที่เค้าเป็นโดยไม่ได้รับ การรักษา บางคนโชคดี(ส่วนน้อย) ปรับตัวหายจากการเป็นสมาธิสั้นได้เอง
แต่อีกหลายคน (ส่วนใหญ่ไม่ได้โชคดีแบบนั้น) จะมีชีวิตที่ค่อนข้างน่าสงสาร คุณพ่อลองนึกภาพเด็กเล็กๆ คนหนึ่งที่ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ก็ถูกพ่อแม่คอยเร่งให้ทำอะไรเร็วๆ ถูกดุที่มักจะโอ้เอ้ ทำอะไรช้า พอไปถึงโรงเรียนก็ถูกครูดุเรื่องลืมส่งการบ้าน ถูกทำโทษ เพระไม่ได้ตั้งใจเรียนเอาแต่คุย ทำงานไม่เสร็จ พอพักกลางวันจะไปเล่นกับเพื่อน ก็ไม่มีใครให้เล่นด้วย เพราะเพื่อนไม่ชอบนิสัยเล่นแรง เอาแต่ใจตัวเอง พอกลับมาถึงบ้านก็ถูกดุเรื่องทำของหายอีกแล้ว ถูกขู่ถูกตี เรื่องโอ้เอ้ อิดออด ไม่ยอมทำการบ้าน จนแม่ต้องหงุดหงิด หัวเสีย พอโกรธคับข้องใจขึ้นมาก็ไปลงกับพี่กับน้อง จนคุณพ่อคุณแม่ต้องมาจัดการอีก
เด็กกลุ่มนี้จะถูกปฏิบัติในแงลบ ถูกดุถูกด่า ถูกทำโทษตลอดเวลาจากคนรอบข้าง หากสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับเด็กทุกวัน วันแล้ววันเล่า ลองนึกดูสิครับว่า จิตใจน้อยๆ ของเค้าจะรู้สึกยังไง”
“ก็คงจะเจ็บปวด รู้สึกว่าตัวเองด้อย ไม่มีคุณค่า” คุณแม่พูดด้วยเสียงอ่อยๆ ปนด้วยความสงสาร ขณะที่สายตามองไปที่ตุ่มตุ๊ม ซึ่งกำลังง่วนอยู่กับการระบายสี
“ถูกต้องเลยครับจากการที่หมอดูแลเด็กสมาธิสั้นมาจำนวนมาก หมอเห็นปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ที่คล้ายคลึงกันอย่างหนึ่ง คือ การขาดความรู้สึกว่าตัวเองมีดี มีคุณค่า(self esteem) ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญมากกับตัวเด็ก เป็นภูมิคุ้มกันต่อปัญหาอารมณ์ ปัญหาพฤติกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น
เด็กที่มีความรูสึกมีคุณค่าในตัวเองดีมักจะพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จ พาตัวเองห่างไกลจากปัญหาต่างๆ เด็กสมาธิสั้นที่ตลอดทั้งชีวิตไม่เคยได้ลิ้มรสความภาคภูมิใจ มักจะหันไปเอาดีด้านอื่น ทำตัวให้เป็นจุดเด่นทางลบ ทำตัวผิดระเบียบแหกกฎ คบเพื่อนที่มีปัญหาเหมือนกัน ฝักใฝ่อบายมุข หนีเรียน ลองยาเสพติด แข่งรถซิ่ง ยกพวกตีกัน ติดเกม มีพฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว บางคนซึมเศร้า วิตกกังวล สุขภาพจิตเสีย”
“อืม......ที่หมอพูดมาก็มีเหตุผลนะ แต่ผมขอปรึกษากันกับแฟนก่อนว่าจะให้น้องตุ่มตุ๊มกินยาดีมั๊ย”
“ได้เลยครับ ยินดีเลย ผมแนะนำอยากให้คุณพ่อคุณแม่หาความรู้เกี่ยวกับภาวะสมาธิสั้นเพิ่มเติมให้มากๆ ถ้าภาษาอังกฤษของคุณพ่อคุณแม่แข็งแรงดีก็ลองเข้าไปดู Websites เหล่านี้นะครับ มีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับสมาธิสั้นอยู่เยอะมาก
1.www.aacap.org/publicat/adhd.cfm
2.www.aacap.org/publications/factsfam/noattent.htm
3.www.chadd.org
4.www.adders.org
5.www.addresources.org
6.www.add.org
7.www.addhelpline.org
8.www.adhd.com
“ตุ๊กควรจะไปบอกคุณครูมั๊ยคะว่า ตุ่มตุ๊มเค้าเป็นสมาธิสั้น”
“ผมแนะนำว่าควรบอกนะครับ”
“ตุ๊กเกรงว่าถ้าบอกไปแล้วครูจะไม่เข้าใจ หาว่าตุ่มตุ๊มปัญญาอ่อน จับไปอยู่กับเด็กพิเศษ แล้วจะไม่สนใจเค้า ทำให้เกิดเป็นปมด้อยกับเค้า”
“หมอว่าโอกาสเกิดแบบนั้นคงน้อยกว่า เพราะคุณครูสมัยนี้ รู้จักภาวะสมาธิสั้นดีขึ้น รู้ว่าเด็กกลุ่มนี้จริงๆ แล้วมีสติปัญญาดี หัวดี เรียนหนังสือได้ดี เมื่อรักษาให้มีสมาธิดีขึ้น ไม่ใช่ปัญญาอ่อน หรือเรียนอะไรไม่รู้เรื่อง เด็กสมาธิสั้นบางคนมีสติปัญญา(IQ)สูงกว่าเด็กปกติทั่วไปด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าเค้าป่วยมีภาวะสมาธิสั้น เลยทำให้ประสิทธิภาพการเรียนด้อยลง มีพฤติกรรมเหมือนไม่สนใจเรียน เหมือนเป็นเด็กขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ”
“แล้วตุ๊กจะบอกให้คุณครูช่วยตุ่มตุ๊มยังไงได้บ้างคะ”
“ขอให้คุณครูช่วยย้ายที่นั่งให้ใหม่ คุณครูควรจัดให้เด็กสมาธิสั้นนั่งอยู่หน้าชั้นเรียน หรือให้ใกล้ครูมากที่สุด เพื่อคุณครูจะได้คอยเตือนเวลาเค้าเริ่มขาดสมาธิลดสิ่งเร้าในห้องเรียนที่จะทำให้เด็กวอกแวกเสียสมาธิ พยายามชมเมื่อเค้าตั้งใจเรียนและทำอะไรได้ดี หากสังเกตว่าเด็กเริ่มเบื่อ ยุกยิกขาดสมาธิ คุณครูควรเรียกให้มาทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เช่น ช่วยเดินแจกสมุดให้เพื่อน ลบกระดานดำ เอาแจกันไปเติมน้ำ ฯลฯ เด็กกลุ่มนี้ควรให้เวลาในการ สอบนานกว่าเด็กปกติทั่วไป บางรายที่มีอาการมาก คุณครูควรจัดให้สอบเดี่ยวในห้องที่เงียบๆ หรือมีครูนั่งประกบคอยคุมให้เด็กตั้งใจทำ เพราะเด็กลุ่มนี้มักจะรีบๆ ทำให้เสร็จ บางทีกามั่วโดยไม่อ่านโจทย์ หลีกเลี่ยงการทำโทษโดยการตี หรือโดยการประจานให้เด็กเสียหน้า”
“ฟังดูก็ไม่น่ายากนะ คุณครูของตุ่มตุ๊มดูจะเป็นคนหัวสมัยใหม่ ใจดี คงจะช่วยตุ่มตุ๊มได้” คุณแม่พูดด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมด้วยความหวัง
“หมอครับ ขอถามหน่อยสิ สมาธิสั้นกับไฮเปอร์ เหมือนกันหรือเปล่า” คุณพ่อโพล่งขึ้นมานอกประเด็น นี่แสดงถึงอาการสมาธิสั้นของคุณพ่อเลยนะเนี่ย
“จริงๆแล้วก็คือภาวะเดียวกันครับ เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีอาการไฮเปอร์แอคทิฟ(hyperactive)
คือ ยุกยิก อยู่ไม่นิ่ง แต่ประเภทขาดสมาธิอย่างเดียว เด็กกลุ่มนี้มักจะพบบ่อยในเด็กผู้หญิง ปัญหาที่พบคือ เด็กมักจะเหม่อบ่อยๆ ใจลอย ขาดสมาธิ วอกแวกง่าย ชอบฝันกลางวัน ทำงานไม่เสร็จ ไม่เป็นระเบียบ ลืมโน่นลืมนี่ ทำของหายบ่อยๆ มักจะโอเอ้ ทำอะไรช้า ต้องมีคนคอยเรียกคอยกระตุ้นอยู่เรื่อยๆ มักจะมีฉายาว่า “คุณเหญิงเอ้อระเหย” เพราะไม่ค่อยกระตือรือร้น ไม่ค่อยรักษาเวลา บางคนชอบหมกงาน ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมทำงานที่ครูให้ซักที ครูมักจะตั้งฉายาให้ว่าเป็น “คุณชายห่อหมก” เพราะฉะนั้นผลการเรียนของเด็กสมาธิสั้นมักจะออกมาไม่ค่อยดี(ยกเว้นเด็กสมาธิสั้นที่ IQ สูงกว่าปกติ) เพราะมักจะลืมทำงานส่ง หรือพอทำเสร็จก็มักจะลืมส่ง ทำให้ไม่มีคะแนนเก็บ”
“แล้วสมาธิสั้นกับออทิสติกล่ะ เป็นโรคเดียวกันรึเปล่า”
“เป็นคนละโรคกันเลยครับ เด็กออทิสติกคือ เด็กที่มีความบกพร่องของพัฒนาการทางภาษาและสังคม เด็กมักจะมีโลกส่วนตัว ไม่ค่อยมองหน้า ไม่สบตา เรียบไม่ค่อยหัน ไม่ทำตามคำสั่ง แยกตัว เก็บตัว เล่นคนเดียว พูดจากให้ภาษาแปลกๆ มีพฤติกรรมซ้ำๆ หมกมุ่นกระตุ้นตัวเอง เนื่องจากเด็กออทิสติกหลายคนมีอาการซนอยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้นร่วมด้วย หมอเลยไม่แปลกใจที่มีหลายคนเข้าใจผิดคิดว่า สมาธิสั้นกับออทิสติกเป็นโรคเดียวกัน ซึ่งจริงๆเป็นคนละโรคครับ”
“ไม่ทราบว่าคุณพ่อคุณแม่มีคำถามอะไรอีกมั๊ยครับ”
“ไม่มีแล้วครับ นี่ผมอยู่คุยได้นานผิดปกตินะเนี่ย ปกติไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ผมจะตัดบทแล้ว หาเรื่องเดินออกไปจากห้องแล้ว”
ไม่แปลกใจเลย ไม่ต้องบอกหมอก็รู้
“เดี๋ยวตุ๊กกับแฟนจะปรึกษากันเรื่องการกินยา ว่าจะให้น้องตุ่มตุ๊มกินยาดีมั๊ย ถ้าตกลงกันยังไงแล้วจะโทรมานัดคุณหมอใหม่นะคะ”
“แก่อย่างผมนี่ ถ้ารักษาตอนนี้ทันมั๊ยหมอ” คุณพ่อถามทีเล่นทีจริง
แหมนึกว่าจะไม่ถามซะแล้ว
“ก็ยังรักษาได้อยู่ครับ แต่คงไม่หาย ยาคงช่วยบรรเทาอาการ ช่วยคุมอารมณ์ ช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นระดับนึง”
“อ้าว....ตุ่มตุ๊ม สวัสดีคุณหมอเร็วครับ” คุณแม่เรียกให้ตุ่มตุ๊มลากลับ
“สวัสดีครับ คุณหมอแซนด์วิช”
“ชาญวิทย์ค่ะ ไม่ใช่ แซนด์วิช” คุณแม่พยายามเรียกให้ตุ่มตุ๊มพูดใหม่
“ก็ผมจะเรียกคุรหมอว่าคุณหมอแซนด์วิช ฮิ....ฮิ....แซนด์วิช”
ตุ่มตุ๊มพูดด้วยน้ำเสียงทะเล้น ปนเสียงหัวเราะ ก่อนจะเดินออกไปจากห้องตรวจ ฮึ่ม....ดื้อซะไม่มี น่าจะจับมาดึงแก้มยุ้ยเล่นข้างละ 20 ที
“บ๊ายบาย ตุ่มตุ๊ม”
ผมเองหวังในใจว่า คุณพ่อคุณแม่คงจะตัดสินใจได้ถูกต้องและเลือกหนทางที่ดีที่สุดในการช่วย ตุ่มตุ๊มให้หลุดพ้นจากภาวะสมาธิสั้น ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรเพียง เพราะผมไม่อยากเห็นเด็กที่ฉลาด น่ารัก ที่น่าจะมีอนาคตที่ดีคนหนึ่ง ซึ่งบังเอิญเป็นสมาธิสั้น ต้องกลายเป็นเด็กที่มีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ ยับเยิน จากการถูกประณาม ในสิ่งที่ตัวเค้าเองไม่อยากเป็น และควบคุมมันไม่ได้ เท่านั้นเอง
เกณฑ์ในการวินิจฉัย(Diagnostic Criteria) โรคสมาธิสั้น ตาม DSM-IV-TR Criteria ของ American Psychiatric Association
A. ผู้ป่วยมีอาการอย่างน้อย 6 อาการขึ้นไป ในข้อ ก หรือ ข้อ ข เป็นเวลานานติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน
ก. อาการขาดสมาธิ (Inattentive Symptoms)
1. ไม่สามารถจดจำรายละเอียดของงานที่ทำได้ หรือทำผิดเนื่องจากขาดความรอบคอบ
2. ไม่มีสมาธิในการทำงาน หรือการเล่น
3. ไม่สนใจฟังคำพูดของผู้อื่น หรือดูเหมือนไม่ฟังเวลาพูดด้วย
4. ไม่สามารถตั้งใจฟัง และเก็บรายละเอียดของคำสั่ง ทำให้ทำงานในห้องเรียน หรืองานบ้านไม่เสร็จ(ต้องไม่เกิดจากพฤติกรรมดื้อต่อต้านของเด็ก หรือไม่ได้เกิดจากการที่เด็กไม่เข้าใจคำสั่ง)
5. ทำงานไม่เป็นระเบียบ
6. ไม่เต็มใจ หรือหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องใช้ความคิด (เช่นทำงานในห้องเรียนหรือทำการบ้าน)
7. ทำของใช้ส่วนตัว หรือของที่จำเป็นสำหรับงานหรือการเรียนหายอยู่บ่อยๆ
8. วอกแวกง่าย
9. ขี้ลืมบ่อยๆ ในกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำเป็นประจำ
ข. อาการซุกซน/หุนหันพลันแล่น(Ayperactivity/impulsivity symptoms)
1. ยุกยิก อยู่ไม่สุข ชอบขยับมือและเท้าไปมา
2. ชอบลุกจากที่นั่งเวลาอยู่ในห้องเรียน หรือในสถานที่ที่เด็กจำเป็นต้องนั่งเฉยๆ
3. ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่างๆ (ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจเป็นเพียงความรู้สึกกระวนกระวายใจ)
4. ไม่สามารถเล่นเงียบๆ หรือทำกิจกรรมเงียบๆ ได้
5. เคลื่อนไหวอยู่ตลอด เหมือนเครื่องยนต์ ที่เดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา
6. พูดมาก พูดไม่หยุด
7. ชอบโพล่งคำตอบเวลาครูหรือพ่อแม่ถาม โดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
8. ไม่ชอบการเข้าคิว หรือการที่ต้องรอคอย
9. ชอบขัดจังหวะ หรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นกำลังคุยกัน หรือแย่งเพื่อนเล่น
B. อาการต้องเกิดขึ้นก่อนอายุ 7 ปี
C. อาการปรากฎ ในสถานการณ์ หรือสถานที่อย่างน้อย 2 แห่งขึ้นไป เช่นที่โรงเรียน(หรือที่ทำงาน) และที่บ้าน
D. อาการจำเป็นต้องรบกาวนการเรียน การเข้าสังคม หรืออาชีพการงานอย่างชัดเจน
E. อาการโรค Pervasive Developmental Disorder, Schizophrenia, Psychotic Disorder, Mood Disorder, Anixety Disorder, Dissociative Disorder หรือ Personality Disorder ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ป่วยกำลังป่วยด้วยโรคทางจิตเวชอื่นๆ เช่น
จากคุณ |
:
credor
|
เขียนเมื่อ |
:
25 มิ.ย. 55 17:18:19
|
|
|
|
 |