Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ผลกระทบของการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ 4 สไตล์ ติดต่อทีมงาน

ผลกระทบของการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ 4 สไตล์

  นักจิตวิทยาพัฒนาการมีความสนใจมานานแล้วครับว่าพ่อแม่มีผลต่อพัฒนาการของลูก อย่างไร อย่างไรก็ตามการค้นหาความสัมพันธ์ในแง่เหตุและผลระหว่างการกระทำของพ่อแม่ และพฤติกรรมของเด็กนั้นค่อนข้างยาก ดังที่เราก็พบเห็นกันได้บ่อยๆ นะครับว่าเด็กบางคนถูกเลี้ยงดูภายใต้สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่พอเติบโตขึ้นกลับมีบุคลิกภาพที่คล้ายคลึงกัน ในทางตรงกันข้าม เด็กบางคนที่ถูกเลี้ยงดูในบ้านเดียวกัน สภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน กลับเติบโตขึ้นมา มีบุคลิกภาพแตกต่างกันมาก สิ่งเหล่านี้ท้าทายนักวิจัยให้ค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบการเลี้ยงดู และผลกระทบที่มีต่อเด็ก
ระหว่างปี ค.ศ. 1960 นักจิตวิทยา ไดอานา บอมไรน์ ได้ทำการศึกษาเด็กวัยอนุบาลจำนวน 100 คน ด้วยการสังเกตตามธรรมชาติ และการสัมภาษณ์พ่อแม่ เธอได้พบว่าการเลี้ยงดูแบ่งเป็น 4 ประเภท โดยกำหนดลักษณะแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้
- การกำหนดกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย
- การให้ความอบอุ่นและดูแล
- วิธีการสื่อสาร
- การให้ความคาดหวังต่อความเป็นผู้ใหญ่และการควบคุมตนเองของลูก
เรามาดูกันเลยนะครับว่าลักษณะการเลี้ยงดูทั้ง 4 ประเภทนั้น มีอะไรบ้าง



1. การเลี้ยงดูแบบใช้อำนาจ (Authoritarian Parenting)
พ่อแม่ที่มีลักษณะการเลี้ยงดูแบบนี้ มักจะคาดหวังใหม่เด็กปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดของพ่อแม่ ถ้าลูกไม่ปฏิบัติตาม ก็มักจะลงเอยด้วยการถูกทำโทษ พ่อแม่แบบนี้มักไม่อธิบายเหตุผลของกฎเกณฑ์ต่างๆ แต่หากถูกลูกถาม ก็มักจะตอบในทำนองว่า “ทำตามที่พ่อ (แม่) สั่งก็แล้วกัน” คุณพ่อคุณแม่ลักษณะนี้มักจะชอบออกคำสั่ง และไม่ตอบสนองต่อความรู้สึกของเด็ก ตามที่บอมไรน์เคยบอกไว้ถึงลักษณะของพ่อแม่แบบนี้คือ “ออกคำสั่ง คาดหวังว่าลูกต้องเชื่อฟังโดยไม่การคำอธิบายใดๆ”

2. การเลี้ยงดูให้ลูกเกิดความไว้วางใจ (Authoritative Parenting)
แม้ว่าพ่อแม่แบบนี้จะมีลักษณะบางอย่างคล้ายพ่อแม่ที่ชอบใช้อำนาจ ตรงที่มีการตั้งกฎเกณฑ์และข้อกำหนด แต่อย่างไรก็ตามการเลี้ยงดูลักษณะนี้จะมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า พ่อแม่กลุ่มนี้จะตอบสนองและพร้อมรับฟังลูก เมื่อลูกไม่เป็นไปตามความคาดหวัง พ่อแม่มีแนวโน้มที่จะให้อภัย มากกว่าลงโทษ บอมไรน์กล่าวถึงพ่อแม่ลักษณะนี้ไว้ว่า “เฝ้าดูและติดตามจริยธรรมของลูก สร้างความมั่นใจ แต่ไม่แทรกแซงหรือเข้มงวดจนเกินไป วิธีการปรับพฤติกรรมลูกจะใช้วิธีที่นุ่มนวล และประคับประคองมากกว่าจะลงโทษด้วยความรุนแรง มีการฝึกลูกให้รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง”

3. การเลี้ยงดูแบบยอมตาม (Permissive Parenting)
พ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกแบบยอมตามนี้ บางครั้งถูกเรียกว่าเป็นพ่อแม่ที่ตามใจลูก ท่านผู้อ่านคงเห็นด้วยนะครับว่าปัจจุบันในสังคมของเรานั้น จะมีพ่อแม่กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พ่อแม่ลักษณะนี้จะไม่กล้าออกคำสั่งกับลูก มักจะไม่มีการควบคุมกฎเกณฑ์ ระเบียบวินัยของลูกเนื่องจากตัวพ่อแม่เองมีความคาดหวังต่ำต่อความรับผิดชอบ และการควบคุมตนเองของลูก บอมไรน์กล่าวถึงพ่อแม่ลักษณะนี้ไว้ว่า “ตอบสนองและยอมตามลูกมากกว่าความพยายามที่จะควบคุม ไม่ต้องการหรือไม่คาดหวังให้ลูกมีพฤติกรรมที่เป็นผู้ใหญ่ หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับลูก” พ่อแม่กลุ่มนี้มักพยายามสื่อสารกับลูก มักสร้างความสัมพันธ์กับลูกในฐานะเป็นเพื่อนกันมากกว่าสถานะของพ่อแม่กับลูก

4. การเลี้ยงดูแบบเพิกเฉย (Uninvolved Parenting)
พ่อแม่กลุ่มนี้ทั้งไม่ควบคุมและไม่ตอบสนองลูก ไม่ค่อยสื่อสารกับลูก แม้ว่าพ่อแม่กลุ่มนี้จะสามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของลูกได้ หากแต่จะเหินห่างจากลูก ในกรณีที่รุนแรงพ่อแม่บางคนอาจทอดทิ้งหรือผลักไสเด็กออกไปจากตนเองเลยที เดียว

• ผลกระทบของการเลี้ยงดู
จากการศึกษาวิจัย เด็กอนุบาลจำนวน 100 คน ของบอมไรน์ ได้ให้ข้อสรุปของ ผลกระทบของการเลี้ยงดู ดังนี้
- การเลี้ยงดูแบบใช้อำนาจ จะทำให้เด็กเชื่อฟัง ว่านอนสอนง่าย หากแต่ไม่มีความสุข และไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง
- การเลี้ยงดูให้เกิดความไว้วางใจ จะทำให้เป็นเด็กที่มีความสุข มีศักยภาพและประสบความสำเร็จในอนาคต
-  การเลี้ยงดูแบบยอมตาม มักจะทำให้ไม่มีความสุข ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ มักมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเอาแต่ใจตัวเองและไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน
-  การเลี้ยงดูแบบเพิกเฉย มักจะทำให้มีศักยภาพต่ำในทุกๆ ด้าน ควบคุมตนเองไม่ดี ไม่มีความภาคภูมิใจในตัวเอง ไม่มั่นใจในการคบเพื่อน

ทำไมพ่อแม่จึงเลี้ยงลูกด้วยลักษณะที่แต่ละกัน
หลังจากที่เราได้เรียนรู้ลักษณะการเลี้ยงดูทั้ง 4 ประเภทไปแล้ว คงเกิดคำถามนะครับว่า ทำไมพ่อแม่ทุกคนไม่เลือกวิธีการเลี้ยงดูประเภทที่สร้างเสริมความไว้วางใจให้ ลูกเนื่องจากเป็นการเลี้ยงดูที่สามารถสร้างเด็กที่มีความสุข เชื่อมั่นในตัวเองและมีศักยภาพ
เหตุผลที่พ่อแม่แต่ละคนมีการลักษณะการเลี้ยงดูซึ่งแตกต่างกันก็คือเหตุ ปัจจัย ต่างๆ ได้แก่ วัฒนธรรม บุคลิกภาพ พื้นฐานเดิมของพ่อแม่ เศรษฐานะ ขนาดของครอบครัว ระดับการศึกษาและศาสนา

           แน่นอนครับ..ที่แต่ละครอบครัวอาจมีลักษณะการเลี้ยงดูที่ผสมปนเปกัน เช่น แม่อาจเลี้ยงดูแบบเสริมสร้างความไว้วางใจ ในขณะที่พ่อค่อนข้างยอมตามลูก สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์ลักษณะการเลี้ยงดูที่ดี ที่สุดสำหรับครอบครัวของเรา นั่นเองครับ

ขอขอบคุณ ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ

เรื่อง : น.พ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
http://motherandchild.in.th/content/view/1064/113/

จากคุณ : น้องยาย่าแม่ยุ้ย
เขียนเมื่อ : 5 ก.ค. 55 23:53:06




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com