Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เด็กๆต้องการเรา(ซึ่งเป็นพ่อแม่)เพียงแค่ช่วงเดียวสั้นๆของชีวิตคือสิบปีแรก อย่างมากที่สุดไม่เกินสิบห้าปี ติดต่อทีมงาน

พอดีได้เจอบทความนี้น่าสนใจดีครับ

ตอนมีเวลา ไม่รู้จักเลี้ยง

นายแพทย์ประเสริฐ  ผลิตผลการพิมพ์

ต่อไปนี้เป็นบทสนทนาระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยและผม  เป็นบทสนทนาที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์การทำงานยี่สิบปี  ไม่ใช่เรื่องของนักศึกษาคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว  แต่เป็นของหลายๆคนผสมผสานกัน

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเรื่องจริง

และโดยไม่ได้วิจัย เรื่องเช่นนี้มักเกิดแก่ครอบครัวที่คุณพ่อเป็นตำรวจและคุณแม่เป็นครู ขออภัยที่ต้องพูดความจริง

“หนูไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” นักศึกษามักพูดเช่นนี้

“หมายความว่าอย่างไรครับ” งานผม  ชวนให้เขาคิดทบทวนอีกทีว่าที่พูดหมายความว่าอะไรกันแน่

“หนูเบื่อ ไม่รู้อยู่ทำไม  ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากไปเรียน” เธอเล่าต่อ และเล่าอีกยาว  แต่โดยรวมๆแล้ววนไปเวียนมา ระหว่างคำว่า เบื่อ เซ็ง ไม่อยากทำอะไร

“เคยคิดฆ่าตัวตายหรือเปล่า” ผมถาม  สมัยอายุยังน้อย ผมมักเก็บคำถามนี้ไว้ตอนท้าย  แต่เมื่ออายุมากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น ผมพบว่าการถามคำถามนี้ในตอนแรกๆหรือตอนกลางก็ได้รับผลลัพธ์ที่ดีเช่นกัน  ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจตนเองเร็วขึ้น กังวลน้อยลง สบายใจมากขึ้น  ที่ดีที่สุดคือดีใจที่คุณหมอถาม

“ไม่ค่ะ หนูไม่ได้คิดฆ่าตัวตาย ไม่เคยคิดเลย” คำถามแบบนี้ ถามขึ้นมาตรงๆทันที มักทำให้ผู้ป่วยช็อคสักเสี้ยววินาทีและพรั่งพรูกระแสคำพูดได้มากขึ้น

“ไม่ได้คิดฆ่าตัวตายแล้วรู้สึกอย่างไรล่ะครับ  ที่ว่าไม่รู้อยู่ไปทำไม  เห็นพูดว่าไม่อยากอยู่”

“หนูอยากหายไปเลย”

“อยากตายมั้ย” ผมถามเพื่อแจงรายละเอียดอีก “ไม่อยากฆ่าตัวตายแต่ว่าอยากตายหรือเปล่า”

“ไม่ค่ะ  หนูอยากหายไป หายไปเลย” ส่วนใหญ่แล้ว นักศึกษาจะดีใจที่ได้พูดเรื่องแบบนี้สักที พูดกับผู้ใหญ่คนหนึ่งที่มีท่าทีไม่แปลกใจกับคำพูดของเธอ ถ้าเธอพูดแบบนี้กับครูอาจารย์จะได้รับปฏิกิริยาอีกแบบหนึ่ง ถ้าเธอพูดกับพ่อแม่จะเละ

“อยากหายไปเลย” ผมทวนคำ

“ค่ะ หนูไม่อยากไปเรียน ไม่รู้เรียนทำไม ไม่อยากทำอะไร อยู่เฉยๆก็ไม่มีความสุข หนูอยากหายไป” เธอพักหายใจแล้วพูดต่อ “หนูเคยบอกแม่แล้วว่าอย่าตกใจถ้าหนูวันหนึ่งจะขอไปไกลๆคนเดียว  แม่โวยวายใหญ่ หนูเลยไม่ได้พูดต่อ”

“พูดต่อว่าอะไรหรือครับ”

“หนูอยากบอกแม่ว่าถ้าหนูขอไปไกลๆแปลว่าจะกลับมาเมื่อพร้อม หนูอยากหายไป แต่ถ้าหนูหายไปเฉยๆไม่บอกกล่าวสิ แม่ถึงต้องห่วง ถ้าหนูหายไปโดยบอกก่อนไม่อยากให้แม่ห่วง  อยากให้ปล่อยหนูไป” เธอเล่านั่นเล่านี่เรื่องคุณแม่อีกยาว ประเด็นคืออย่างนี้ครับ เวลาเรา(คือคุณหมอ)สามารถสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วยได้แล้ว(เรียกว่ามี empathetic relationship)  สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ป่วยมักจะพูดได้มากขึ้น พูดตรงประเด็นได้ใจความ และบางครั้งก็สามารถร้องไห้ระบายความรู้สึกต่อหน้าเรา ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

สรุปความเรื่องเกี่ยวกับคุณแม่คือคุณแม่ตามเธอทุกฝีก้าว  คอยเซ้าซี้ถามว่าเธอเป็นอะไร ดูเฉยๆ เนือยๆ ไม่มีชีวิตชีวา ที่สำคัญและเป็นตัวชี้วัดของพ่อแม่ทุกคนในโลกคือเกรดตกลงอย่างต่อเนื่อง

“คุณพ่อโกรธมากเรื่องเกรดหนูตก  คาดคั้นหนูทุกวันว่าทำไมเกรดตก  เวลาหนูอ่านหนังสือหนูอ่านให้พ่อดูแต่สมองจำอะไรไม่ได้เลย  แต่ถ้าหนูไม่อ่าน พ่อก็จะบ่นว่าขี้เกียจ ไม่เอาจริงเอาจัง ไม่ตั้งใจทำอะไรสักอย่าง” เธอร้องไห้

“คิดว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างไรบ้างล่ะ” ผมถาม

“ท่านรักเรา พยายามจะช่วยเรา แต่หนูว่าไม่ใช่  มันไม่ใช่” เธอเล่าต่อ “หนูว่ามันไม่ใช่”

ถึงตอนนี้เธอเงียบไปนาน

“ผมฟังอยู่” ผมพูด

“ตอนหนูเด็กๆ พ่อย้ายตลอด แม่ก็ตามพ่อไปตลอด หนูอยู่กับป้าจนเข้ามหาวิทยาลัย” เธอเล่าต่อได้อีก “หนูจำได้ว่าอยากให้พ่อแม่อยู่ด้วย เคยขอแม่อย่าตามพ่อได้มั้ย เคยขอพ่อไม่ไปไหนไกลๆได้มั้ย แต่ก็ไม่เกิดอะไร  ตอนนี้หนูไม่ต้องการแล้ว ท่านเข้ามาใกล้ก็รำคาญ พอหงุดหงิดพูดอะไรไม่ถูกหูท่าน หนูก็บาปอีก แย่จริงๆ”

เล่ามาทั้งหมดเพื่อนำมาถึงจุดนี้แหละครับ

เด็กๆต้องการเรา(ซึ่งเป็นพ่อแม่)เพียงแค่ช่วงเดียวสั้นๆของชีวิตคือสิบปีแรก อย่างมากที่สุดไม่เกินสิบห้าปี  หลังจากนั้นเขาไม่อยากได้แล้ว  ตอนเขาอยากได้ เรามักไม่อยู่ อ้างนั่นอ้างนี่ ตอนเขาไม่อยากได้ เรามักเข้าไปจุ้นจ้าน ทำนี่ทำนั่น

สิ่งที่เกิดขึ้นก็มักจะเป็นอย่างนักศึกษาที่เล่าให้ฟัง เขารู้สึกตัวเองแย่ ผิดบาป และไม่รู้จะทำอะไร

Credit : Momypedia Blog

จากคุณ : Zam
เขียนเมื่อ : 12 ก.ค. 55 17:02:35




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com