Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
5คำแนะนำที่พบเจอบ่อยจากหนังสือเกี่ยวกับการเลี้ยงเด็ก ที่โดยส่วนตัวแล้วขอค้าน ติดต่อทีมงาน

เจนคิดว่าคุณพ่อคุณแม่หลายท่านคงเคยอ่านหนังสือหรือบทความทางอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับเลี้ยงเด็กสอนเด็กมาไม่มากก็น้อย เจนเองก็เป็นหนึ่งในนั้นทั้งด้วยความชอบส่วนตัวและด้วยหน้าที่การงาน

วันนี้เจนไม่ได้มาแนะนำหนังสือหรือยกเรื่องใดๆจากหนังสือมาบอกเล่าต่อ แต่สิ่งที่จะเขียนในครั้งนี้คงจะแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา นั่นก็คือเจนจะพูดถึงสิ่งที่เป็นคำแนะนำที่พบเจอจากหนังสือหลายเล่มหรืออาจจะรวมถึงความคิดเห็นจากหลายต่อหลายท่าน แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเจนมีความเห็นแตกต่างหรือซึ่งก็คือไม่เห็นด้วยนั่นเอง

ก่อนอื่นต้องขอย้ำว่าแตกต่างก็แปลตรงตัวตามความหมายของมันว่าไม่เหมือนกันซึ่งไม่ได้มีความหมายใดเกี่ยวข้องกับถูกหรือผิด

วันนี้เจนขอเริ่มสัก5อย่างก่อนแล้วกัน


1.ใจแข็ง หันหลังกลับกลับทันที ปล่อยให้ลูกร้องไห้ไม่ว่าร้องหนักแค่ไหน เมื่อส่งลูกเข้าอนุบาล

การร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียนของเด็กอนุบาลนั้นเป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะเมื่อไหร่ที่เด็กรู้สึกว่าตัวเองจะต้องจากคนที่ตัวเองอยู่ด้วยแล้วรู้สึกอบอุ่น มั่นคง ปลอดภัย ไปอยู่กับใครก็ไม่รู้ เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กจะกลัวและแสดงความกลัวออกมาด้วยการร้องไห้ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเป็นเด็กขี้เกียจหรือไม่มีความรับผิดชอบ

การไม่สนใจใยดีและเพิกเฉยต่อความรู้สึกของเด็ก แล้วก้มหน้าก้มตาบอกตัวเองว่า เดี๋ยวลูกก็ชินนั้นไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม แล้วต่อให้ทำอย่างนั้นแล้วเด็กร้องน้อยลงหรือเลิกร้องไห้หลังจากนั้นก็ไม่ได้แปลว่าคุณทำถูกหรือประสบความสำเร็จ เพราะการเงียบของเด็กไม่ได้หมายถึงการยอมรับเสมอไปแต่อาจหมายถึงการสิ้นหวังต่อการเพิกเฉย ถ้าเปรียบกับผู้ใหญ่ก็ประมาณว่าคุณขอให้แฟนพาไปเที่ยวเชียงใหม่ ขอหนึ่งครั้งสองครั้งสามครั้งแต่แฟนก็ไม่เคยสนใจ สุดท้ายคุณเลยเลิกขอ เจนถามว่าการเลิกขอแล้วของคุณแปลว่าคุณพอใจหรือไม่ต้องการไปแล้วใช่ไหม แน่นอนคำตอบคือไม่ เด็กเองก็เช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นการที่เด็กร้องไห้น้อยลงหรือก้มหน้าเดินเข้าโรงเรียนไม่ได้แปลว่าเด็กเต็มใจ แต่อาจหมายถึงว่าเด็กรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่สนใจความรู้สึกของเขาจนไม่รู้จะอ้อนวอนไปเพื่อประโยชน์อันใด ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของเด็กและพ่อแม่ในอนาคตทั้งโดยรู้สึกตัวและเป็นไปโดยอัตโนมัติ

และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงที่สุดคือการแอบหนีเด็กกลับบ้านโดยไม่ให้เด็กรู้ตัว เพราะการทำแบบนี้นั้นส่งผลต่อความไว้วางใจของเด็กต่อพ่อแม่มาก

ส่วนคำถามว่าแล้วอย่างนั้นจะให้ทำอย่างไร คำแนะนำในกรณีนี้คือคุณควรจะอยู่กับลูกที่โรงเรียนในวันแรกให้นานที่สุดเท่าที่โรงเรียนอนุญาต พยายามอธิบายให้เด็กเข้าใจ(ซึ่งก็ยอมรับว่ายากมากๆ)และก่อนที่จะจากลูกไปนั้นคุณควรจับมือหรือกอดลูกแล้วแสดงให้ลูกเข้าใจว่าแม่แคร์ความรู้สึกหนูแต่แม่จำเป็นจริงๆที่ต้องทำแบบนี้และแม่สัญญาว่าจะมารับหนูทันทีที่โรงเรียนเลิก


2.ทำโทษลูกโดยการหักค่าขนม

ส่วนตัวเจนเห็นว่าความรักของพ่อแม่เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าทรัพย์สินใดๆและไม่สมควรที่จะเอามาใช้เป็นเงื่อนไขในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเงิน

เจนเข้าใจดีว่าในการเลี้ยงเด็กนั้นย่อมต้องมีทั้งการให้รางวัลและทำโทษ อย่างไรก็ตามเจนไม่เห็นด้วยในการใช้เงินมาเป็นเงื่อนไข

จากประสบการณ์พ่อแม่ส่วนใหญ่คิดว่าการหักค่าขนมจะทำให้ลูกกลัวและเชื่อฟังและไม่มีผลเสียอะไรอื่น แต่จากประสบการณ์ที่คลุกคลีกับเด็กเจนบอกเลยว่าความรู้สึกของเด็กหลายคนที่ถูกทำโทษด้วยวิธีนี้ไม่พอใจและไม่ยอมรับ หลายคนคิดทำนองว่า “คอยดูนะ สักวันฉันทำงานหาเงินได้เองเมื่อไหร่แล้วถึงวันนั้นอย่าหวังว่าจะมาสั่งอะไรฉันได้อีกเลย”

การเลี้ยงดูให้การอบรมสั่งสอนเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ถ้าลูกทำผิดการทำโทษก็ไม่ใช่เรื่องประหลาด แต่การใช้เงินมาเป็นเงื่อนไขหรือการจะปล่อยให้ลูกลำบากนั้นไม่ใช่การทำโทษแต่เป็นการแสดงถึงการละทิ้งหน้าที่ หรือถ้าพูดแบบไม่เกรงใจก็คือ “ถ้าแกไม่ทำตามที่ฉันต้องการ ฉันก็จะไม่เลี้ยงดูแก” ซึ่งเจนเชื่อมั่นกับคำที่ว่า การทำผิดสองครั้งไม่เคยทำให้สิ่งที่ผิดในครั้งแรกถูกขึ้นมาได้

สำหรับเจนลูกก็คือลูก ลูกไม่ใช่ลูกจ้าง ไม่ใช่พนักงาน ไม่ใช่คู่ค้า ไม่ใช้บริกร เพราะฉะนั้นจึงไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินมาเป็นเงื่อนไข

และถ้าคุณบังคับลูกโดยใช้เงินเป็นเงื่อนไข คุณย่อมเสี่ยงที่จะสูญเสียการเชื่อฟังจากเขาไปเมื่อเขาหาเงินเองได้ แต่ถ้าคุณใช้ความรักเป็นเงื่อนไข คุณไม่มีวันที่จะสูญเสียเขาไปจริงไหมละ


3.ถ้าจะตีเด็กให้ตีด้วยไม้เรียว

ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่าเจนไม่ได้สนับสนุนให้ลงโทษเด็กด้วยการตีแล้วก็ไม่ได้บอกให้คุณเลิกหักค่าขนมลูกแล้วเปลี่ยนมาตีลูกแทน

แต่ที่พูดถึงเรื่องนี้เพราะเจนได้ฟังมาเยอะกับคำที่ว่า ถ้าจะตีลูกให้ตีด้วยไม้เรียวอย่าใช้มือ เพราะการตีลูกด้วยมือนั้นจะทำให้เด็กกลัวมือ ซึ่งบอกตามตรงว่าเจนไม่เห็นด้วยเพราะอย่างแรกเคยมีบทวิจัยจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ(ต้องขอโทษด้วยจริงๆที่เจนจำชื่อไม่ได้)เคยทำการทดลองโดยให้คนสองคนยื่นมือมาบีบกันโดยมีฉากกั้นไว้ โดยสั่งให้แต่ละฝ่ายบีบด้วยความแรงเท่ากับที่โดนอีกฝ่ายบีบ ผลคือฝ่ายที่บีบกลับจะบีบแรงกว่าที่ตัวเองโดนบีบถึง30%และถ้าเริ่มมีอารมณ์โกรธเมื่อไหร่จะบีบแรงกว่าถึง70% ซึ่งถ้าวัดจากสมมุติฐานนี้ก็ต้องบอกว่าพ่อแม่ส่วนใหญ่ตีลูกแรงเกินกว่าที่ตัวเองคิดครึ่งนึงแทบทั้งนั้น และที่สำคัญการตีเด็กด้วยไม้เรียว คุณไม่มีทางรู้เลยว่าคุณตีแรงและเด็กเจ็บแค่ไหน(โดยเฉพาะในขณะที่คุณโกรธ)ในขณะที่ตีด้วยมือคุณจะรู้เพราะถ้าคุณตีแรงเกินไปคุณก็จะเจ็บด้วยเช่นกัน

อีกอย่างคือการตีเด็กด้วยไม้เรียวมีโอกาสสูงที่จะสร้างบาดแผลหรือรอยประทับไว้ ในขณะที่มือแทบจะไม่สร้างรอยใดๆ และที่สำคัญคือเจนยังไม่เคยเห็นเด็กคนไหนที่กลัวมือพ่อแม่ของตัวเอง (หมายถึงมืออย่างเดียว ส่วนกลัวโดนตี กลัวพ่อแม่นั่นก็อีกเรื่อง)


4.เลือกโดยเสียงส่วนใหญ่และประชาธิปไตยในบ้าน

ส่วนตัวเจนคิดว่าครอบครัวคือการที่ทุกคนต้องแคร์ความรู้สึกของกันและกันไม่ว่าจะทำอะไร และการตัดสินใจอะไรที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในครอบครัวนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาโหวตหรือลงมติโดยใช้เสียงของส่วนใหญ่

โดยเฉพาะกับครอบครัวที่จำนวนสมาชิกแบ่งกันเป็นกลุ่มย่อยตามลักษณะต่างๆ เช่น ครอบครัวที่มีลูกชายสามคนกับลูกสาวคนนึงแล้วพอโหวตว่าวันหยุดอยากไปทำอะไรผลเป็นว่าไปเล่นฟุตบอลหรือออกกำลังกายแบบที่เด็กผู้ชายชอบ ส่วนลูกสาวก็ต้องทนเบื่อไปนั่นคงไม่ใช่การเป็นครอบครัวที่ดีแน่ๆ

และการใช้เสียงส่วนใหญ่หรือคนที่มีอำนาจสูงสุดเป็นเครื่องตัดสินก็เป็นการปกครองโดยใช้อำนาจทั้งสิ้น ซึ่งเจนไม่ได้บอกว่าผิดแต่จะบอกว่าโดยส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่รูปแบบที่เหมาะสมสำหรับครอบครัว ส่วนตัวคิดว่าการหาจุดที่ทุกฝ่ายพอใจหรืออย่างน้อยก็ไม่พอใจน้อยที่สุดนั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่า ที่สำคัญอีกอย่างคือผู้ที่แพ้หรือเป็นส่วนน้อยก็ยังรู้สึกว่าตัวเองยังคงมีความสำคัญ

กับลูกๆที่โรงเรียนก็เหมือนกันเจนจะบอกกับพวกเขาว่าถ้าพวกหนูอยากได้อะไร ไม่ชอบอะไร ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรให้มาบอกมาหาครูนะ  ไม่ต้องไปตั้งกลุ่มมั่นใจหนูๆทุกคนอยากนั่นเกลียดนี่เพราะต่อให้หนูได้พันlikeก็คงไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งนั้น ที่บอกแบบนั้นไม่ใช่เพราะครูเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่แต่เพราะครูไม่ได้เข้าไปอ่านแล้วครูจะรู้ได้อย่างไรละจริงไหม แล้วครูก็คิดว่าเราอยู่กันแบบแม่ๆลูกๆ ครูจะทำอะไรครูก็คิดถึงความรู้สึกของพวกหนูตลอด เพราะฉะนั้นการใช้เสียงส่วนใหญ่หรือแรงกดดันจากคนหมู่มากหรือมีเรื่องอะไรก็จะต้องโหวตตลอดนั้นคงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด


5.เลี้ยงลูกแบบเพื่อน

เจนได้ทั้งคำถามและการบอกเล่าจากผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยว่าเลี้ยงลูกแบบเพื่อนดีไหม ครูเลี้ยงลูกแบบเพื่อนหรือเปล่า ซึ่งเจนก็ต้องบอกว่าเจนไม่เคยคิดจะเลี้ยงลูกแบบเพื่อนเพราะลูกก็คือลูกและเจนคิดว่าสถานะแม่นั้นยิ่งใหญ่กว่าเพื่อนมากและก็มีได้แค่คนเดียวและก็ไม่เข้าใจว่าทำไมแม่ต้องเปลี่ยนตัวเองให้กลายมาเป็นเพื่อนกับลูก

แต่ทั้งนี้การเลี้ยงลูกแบบแม่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเอาแต่ดุด่า บังคับ สั่งหรือบงการชีวิต แต่หมายความว่าแม่ต้องเป็นคนที่คอยดูแล เอาใจใส่ อบรมสั่งสอน และอาจต้องมีการเคี่ยวเข็ญ ดุ หรือทำโทษในบางครั้งถ้าจำเป็น

และไม่ว่าลูกจะไปทำอะไรหรือโกรธกันมากแค่ไหน พออารมณ์จางหายเราก็ต้องกลับมาเป็นปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งต่างกับเพื่อนที่คนไหนทำร้ายความรู้สึกเรามากเราก็อาจห่างเหินหรือเลิกคบไปเลยก็ได้

แม่ต้องให้คำแนะนำที่เหมาะสมที่สุดกับลูก ไม่ใช่คอยตอบแบบเอาใจหรือเข้าข้างเพราะกลัวลูกจะโกรธ และต้องกล้าให้คำแนะนำที่ถูกต้องไม่ใช่แค่ถูกใจ และจำเป็นที่จะต้องแสดงออกตรงกันข้ามกับคนส่วนใหญ่ในบางครั้ง เช่น ถ้าลูกทำผิดและมีแต่คนต่อว่าหรือประนาม แม่ก็ควรที่จะเป็นคนที่ปลอบโยนและให้กำลังใจ ในขณะเดียวกันหากทุกคนชื่มชมต่อความสำเร็จหรือสิ่งที่ลูกได้ทำแม่ก็ควรที่จะต้องปรามลูกไว้บ้างไม่ให้เชื่อมั่นหรือหลงระเริงต่อความสำเร็จมากจนเกินไป

ส่วนตัวเจนคิดว่าแม่ก็ต้องวางตัวในฐานะแม่ แต่ต้องเป็นแม่ที่เข้าใจ และห่วงใยความรู้สึกลูก


สุดท้ายต้องขอบอกอีกครั้งว่าสิ่งที่เขียนทั้งหมดเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งเจนจะยินดีมากที่จะได้รับฟังความคิดเห็นจากท่านอื่นๆในทุกทางซึ่งรวมถึงความคิดเห็นที่แตกต่างกันด้วย


เจน

จากคุณ : JanE & IK
เขียนเมื่อ : 15 ก.ค. 55 23:56:13




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com