Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
โรคมือ เท้า ปาก คนละโรคกับ ปากเท้าเปื่อย และไม่ใช่โรคที่ติดจากสัตว์ !!! ติดต่อทีมงาน

เห็นมีหลายคนสับสนกับโรคมือเท้าปาก กับโรคปากเท้าเปื่อย เลยขอนำข้อมูลมาเผยแพร่ค่ะ

1. โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) กับโรคปากเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease) แตกต่างกันอย่างไร?  

โรค มือ ปาก เท้า เปื่อย (Hand Foot and Mouth Disease -HFMD) และโรคปากและเท้าเปื่อย ( Foot and Mouth Disease-FMD) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในตระกูล  (family)  Picornaviridae เช่นเดียวกัน  แต่แตกต่างกันที่โรคมือ ปาก และเท้าเปื่อย (HFMD) จะเกิดและระบาดในคน  ส่วนโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) จะเกิดและระบาดในสัตว์เช่น โค กระบือ แพะ แกะ และสุกร

แม้ว่าโรคทั้ง 2 โรคจะแสดงอาการทั้งในคนและสัตว์คล้ายคลึงกัน  คือ หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน จะเกิดตุ่มใสขึ้นภายในช่องปาก  ลิ้น  มือ  และเท้าก็ตาม  ดังนั้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจึงควรทำความเข้าใจต่อโรคทั้ง 2 ให้ถ่องแท้ว่าเป็นคนละโรคและไม่สามารถติดต่อกันระหว่างคนกับสัตว์และสัตว์กับคนได้

2. ผู้ใหญ่สามารถติดต่อโรคมือ เท้า ปาก จากเด็กได้หรือไม่?

ผู้ใหญ่มักมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้จากการได้รับเชื้อขณะเป็นเด็ก ซึ่งภูมิต้านทานนี้จำเพาะกับชนิดของไวรัสที่เคยได้รับเชื้อ หากได้รับเชื้อชนิดใหม่ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ก็สามารถเป็นโรคได้อีก ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการของโรคหรือมีอาการเล็กน้อย แต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่เด็กหรือผู้อื่นได้

3. หญิงตั้งครรภ์ที่สัมผัสผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก เสี่ยงติดโรคหรือไม่?

ส่วนใหญ่หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับเชื้อจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการป่วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลแสดงว่าการติดเชื้อมีผลต่อการแท้งบุตร ความพิการของเด็กหรือเด็กเสียชีวิตในครรภ์ อย่างไรก็ตามเด็กอาจได้รับเชื้อขณะคลอดหากมารดาป่วยในช่วงใกล้คลอด เด็กแรกเกิดที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง การป้องกันทำได้โดยการปฏิบัติสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี

4. ใครบ้างที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะเป็นโรคมือ เท้า ปาก ที่รุนแรง?

โดยทั่วไปโรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ไม่อันตราย ในประเทศไทยพบโรคนี้ได้บ่อยแต่ไม่มีความรุนแรง ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการของโรค ผู้ป่วยมักมีอาการป่วยเล็กน้อย หายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่เด็กอ่อนและเด็กเล็กมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงมากกว่าเด็กโต

5. จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก และพ่อแม่จะสังเกตอาการเหล่านี้ได้อย่างไร?

เด็กที่ได้รับเชื้อโรคนี้ จะมีอาการไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หลังจากมีไข้ 2-3 วัน เด็ก จะเริ่มเจ็บคอหรือเจ็บปากเวลาดูดนมหรือรับประทานอาหาร มีอาการน้ำลายไหล ปฏิเสธอาหารและน้ำ ถ้าให้เด็กอ้าปาก  จะเริ่มเห็นมีแผลในปาก และเริ่มมีผื่นที่บริเวณ มือ เท้าและก้น ในอีก 2-3 วันต่อมา เด็กๆ จะมีอาการอาเจียน ท้องร่วง ซึม ไม่วิ่งเล่นเหมือนเดิม

6. หากติดเชื้อแล้วจะเริ่มแสดงอาการเมื่อใด และอาการของโรคเป็นอย่างไร?  

ส่วนใหญ่แสดงอาการป่วยภายใน 3-5 วันหลังได้รับเชื้อ จะมีไข้เป็นอาการเริ่มแรก(อาจเป็นไข้สูงในช่วง 1-2 วันแรก และลดลงเป็นไข้ต่ำๆ อีก 2-3 วัน) มีจุดหรือผื่นแดงอักเสบในปาก(มักพบที่ลิ้น เหงือกและกระพุ้งแก้ม) ทำให้เจ็บปากไม่อยากรับประทานอาหาร จะเกิดผื่นแดงซึ่งจะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง ที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่อื่น เช่น ก้น หัวเข่า ฯลฯ ผื่นนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสรอบๆ แดง (maculo-papular vesicles) มักไม่คัน แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ (ulcer) อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน

ในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (aseptic meningitis) ก้านสมองอักเสบ (brain stem encephalitis) ตามมาด้วยปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และระบบหัวใจและระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้ มีสัญญาณอันตราย ได้แก่ ไข้สูงไม่ลดลง ซึม อาเจียนบ่อย หอบ และแขนขาอ่อนแรง เกิดภาวะอัมพาตคล้ายโปลิโอ

7. จะป้องกันโรคโรคมือ เท้า ปาก ได้อย่างไร?  

โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลที่ดี  เช่น การล้างมือด้วยน้ำและสบู่ เป็นประจำหลังการขับถ่ายหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และก่อนการรับประทานอาหารหรือป้อนอาหารเด็ก รวมถึงการไม่คลุกคลีใกล้ชิด หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย ร่วมกับการรักษาความสะอาดทั่วๆ ไป การจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น ห้องน้ำ ห้องส้วม ห้องครัวให้ถูกสุขลักษณะ

8. หากบุตรหลานมีอาการป่วย ควรทำอย่างไร?  

แยกเด็กป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ไปยังเด็กคนอื่นๆ ผู้ปกครองควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ และหยุดรักษาตัวที่บ้านประมาณ 5-7 วัน หรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ควรสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น แต่หากเด็กทีอาการแทรกซ้อน เช่น ไข้สูง ซึม อาเจียน หอบ เป็นต้น ต้องรีบพากลับไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที ไม่ควรพาเด็กไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ห้างสรรพสินค้าและตลาด ควรอยู่ในที่ที่มีระบายถ่ายเทอากาศได้ดี ใช้ผ้าปิดจมูกปากเวลาไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย

9. จะทำลายเชื้อ หรือฆ่าเชื้อได้อย่างไรบ้าง?  

เชื้อนี้จะถูกทำลายได้โดยแสงอุตราไวโอเล็ตในแสงแดด ในสภาพที่แห้ง เชื้อจะมีชีวิตอยู่ไม่นาน อีกทั้งการต้มที่อุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที และการใช้น้ำยาซักล้างทั่วไปก็สามารถทำลายเชื้อนี้ได้เช่นเดียวกัน

10. คลอรีนในสระว่ายน้ำฆ่าเชื้อโรคมือ เท้า ปาก ได้หรือไม่ เด็กมีโอกาสติดเชื้อโรคนี้จากสระว่ายน้ำได้ไหม?  

ความเข้มข้นของคลอรีนในสระว่ายน้ำตามมาตรฐานต้องมีอย่างน้อย 1 มิลลิกรัมต่อลิตร [1 ppm (part per million)] ซึ่งมีปริมาณคลอรีนเพียงพอที่จะทำลายเชื้อได้ แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรนำเด็กป่วยไปสระว่ายน้ำ  และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติของสระว่ายน้ำอย่างเคร่งครัด

11. ความเสี่ยงต่อผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่เกิดโรคนี้ระบาด มีมากน้อยเพียงใด?  

ไม่มีข้อห้ามสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ ในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อ  หากจำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่กำลังเกิดโรคนี้ระบาดอยู่ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด รักษาสุขอนามัยที่ดี และอยู่ในสถานที่อากาศถ่ายเทที่ดี

ดังนั้นการป้องกันจึงมีความสำคัญมาก เราควรจะสอนเด็กๆ ให้รู้จักวิธีปฏิบัติตามหลักสุขอนามัยที่ดี เช่น ให้ล้างมือให้สะอาดเมื่อออกจากห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหาร ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

ที่มา-- http://www.phyathai.com/phyathai/new/th/specialcenter/popup_cms_tech_detail.php?cid=45&mid=Tips&subject=11%20%A4%D3%B6%D2%C1%B9%D5%E9%C1%D5%A4%D3%B5%CD%BA%A1%D1%BA%E2%C3%A4%C1%D7%CD%20%E0%B7%E9%D2%20%BB%D2%A1
     --http://www.dld.go.th/expert/knowledge/Foot%20and%20Mouth%20Disease.htm

 
 

จากคุณ : รู้งี้ รู้งี้ รวยไปแล้ว
เขียนเมื่อ : 20 ก.ค. 55 10:16:30




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com