Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
10 วิธี สร้างสรรค์สมาธิให้ลูก ติดต่อทีมงาน

พอดีคุณสามี เห็นจาก True ปลูกปัญญา เลยคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อแม่ๆในที่นี้เลยขอเอามาแชร์บ้างคะ

10 วิธี สร้างสรรค์สมาธิให้ลูก

สมาธิ จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้

“สมาธิ คือ การจดจ่อกับสิ่งที่จะทำอย่างแน่วแน่ เพื่อพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ”

               เด็กบางคน เก่ง ฉลาด พูดจาฉะฉาน ความจำดี ดูนิ่ง และมีความตั้งใจทำอะไรได้นาน แต่เด็กบางคนมีพฤติกรรมต่างกันสิ้นเชิง นั่นเพราะว่าขาดสมาธิ ซึ่งสมาธิเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ และจดจำของเด็ก

               ผลงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า สมาธิความสัมพันธ์กับสมอง เพราะเวลาเด็กนิ่ง (Focus) เป็นเวลานานระยะหนึ่ง (Sustain) สมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum) จะเกิดการทำงานของคลื่นสมองแอลฟ่า (Alpha) ได้ดี  ทำให้เด็กเกิดการจำ การเรียนรู้ และการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย

               เด็กบางคนมีสมาธิดีแต่กำเนิดก็จริงอยู่ แต่ถ้าได้รับการฝึกปฏิบัติด้วย ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน และมีความประพฤติต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน

สาเหตุที่เด็กไม่มีสมาธิ

               1.  ขาดความสนใจในสิ่งที่กำลังทำ

               2.  หมกมุ่นในเรื่องอื่น ๆ มากเกินไป เช่น เล่นเกม ดูการ์ตูน ฯลฯ

               3.  สนใจหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน

               4.  มีความวิตกกังวลและความเครียดรบกวนจนละเลยที่จะรับรู้ หรือสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

               5.  ภาวะความบกพร่องของร่างกาย และความเจ็บป่วยบางโรค เช่น โรคสมาธิสั้น ฯลฯ

               6.  ภาวะความไม่พร้อมอื่น ๆ เช่น ความหิว ความอ่อนเพลีย การขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้

               7.  สิ่งแวดล้อมไม่สงบ มีสิ่งเร้ามากเกินไป หรือมีเสียงดังรบกวนสมาธิ

เคล็ดลับสำคัญ 10 วิธี สร้างสรรค์สมาธิให้ลูก

               1.  มอบความรัก :  ความเข้าใจในธรรมชาติและพัฒนาการตามช่วงวัยรุ่นต่าง ๆ ของลูก จะช่วยให้ลูกพัฒนาการเรียนรู้ และอารมณ์อย่างสอดคล้องกับวัย

               2.  จัดสิ่งแวดล้อม :  ควรมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้มีสมาธิ เช่น การจัดบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่วุ่นวาย และ มีมุมสงบที่ลูกสามารถทำการบ้าน และอ่านหนังสือ โดยไม่มีเสียงดังรบกวนอยู่ใกล้ ๆ ให้เสียสมาธิ

               3.  อาหารและออกกำลังกาย  :  ดูแลลูกให้ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมตามช่วงวัย ให้ออกกำลังกายและให้พักผ่อนที่เพียงพอ เมื่อลูกมีร่างกายที่แข็งแรงก็ย่อมมีความพร้อมในการจดจ่อและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ

               4.  ฟังเพลงคลาสสิค  :  มีผลการวิจัยระดับโลกที่ยืนยันว่าเพลงคลาสสิคหรือเพลงบรรเลงที่มีจังหวะช้า ๆ สม่ำเสมอ เข้ากับการเต้นของหัวใจ จะช่วยให้ร่างกายมีสภาวะที่ผ่อนคลาย เพิ่มความสามารถทางด้านความจำ และการเรียนรู้ได้รวดเร็ว

               5.  ส่งเสริมศิลปะ :  ศิลปะและการประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น การวาดรูป พับกระดาษ งานปั้น งานฝีมือต่าง ๆ ฯลฯ ตามความสนใจและความถนัดของเด็กซึ่งช่วยให้เด็กเพลิดเพลิน มีความสุขในสิ่งที่ทำ และสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้นาน

               6.  ของเล่นที่ดี :  เลือกของเล่นที่เหมาะกับวัยและช่วยให้ลูกจดจ่อให้การเล่นได้นาน เช่น จิ๊กซอว์ เลโก้ ร้อยเชือก บล็อกไม้ ฝึกให้ลูกเล่นของเล่นทีละอย่างจะช่วยให้ลูกมีสมาธิกับการเล่นได้นานขึ้น

               7.  อ่านหนังสือให้ลูกฟัง :  ขณะที่เด็กฟังนิทาน ลูกได้มีโอกาสฝึกการใช้ประสาทสัมผัส การมองสีหน้า ท่าทางของพ่อแม่ขณะเล่า ฝึก ประสาททาง หู ในการฟัง และปากในการพูดตาม รวมทั้งการใช้สมาธิจดจ่อในเรื่องราวที่พ่อแม่เล่า ซึ่งเด็กจะจดจำเรื่องราวเหล่านี้ไว้อย่างไม่น่าเชื่อ

               8.  ฝึกวินัย :  การฝึกวินัย และความเป็นระเบียบในการดำเนินชีวิต เช่น จัดตารางกิจวัตรในบ้านให้ชัดเจน ว่าเวลาไหนควรทำอะไรบ้าง จะช่วยให้เด็กทำอะไรเป็นระบบ ขั้นตอน และทำอะไรอย่างไม่เร่งรีบเกินไป ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างสมาธิทั้งสิ้น

               9.  ฝึกเพิ่มสมาธิ :  ฝึกการเพิ่มสมาธิให้ลูกอย่างเป็นระบบ ตัดสินใจให้ลูกทำสิ่งต่าง ๆ ให้นานขึ้นตามลำดับ เช่น เริ่มจากการติดกระดุมจากครั้งแรกได้เม็ดเดียว ก็ค่อยเพิ่มเป็น 5 เม็ด การค่อย ๆ เพิ่มงานที่ยากขึ้น  หรือต้องใช้เวลาทำนานขึ้น  หรืองานที่ต้องใช้ความละเอียดเพิ่มขึ้น ก็เท่ากับเป็นการฝึกสมาธิที่นานขึ้นเช่นกัน และเมื่อเด็กทำให้ได้คำชม พึงระวัง ไม่ตำหนิ และใช้อารมณ์กับลูก เพราะเด็กจะขาดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้

               10. สนับสนุนสิ่งที่เด็กชอบ :  หากพ่อแม่สังเกตว่าลูกเริ่มสนใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น  เรื่องแมลง เรื่องไดโนเสาร์ พ่อแม่ควรกระตุ้นความอยากเรียนรู้ของเด็กมากขึ้น ด้วยการตั้งคำถามและข้อสงสัย แล้วท้าทายให้เด็กแสวงหาคำตอบ เช่น ค้นคว้าจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต พาไปศึกษารายละเอียดตามพิพิทธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สมาธิจดจ่อในการศึกษาเรื่องที่สนใจยาวนานขึ้นได้


ขอบคุณแหล่งที่มา :   สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

จากคุณ : jeeranun.jun
เขียนเมื่อ : 30 ก.ค. 55 13:11:44




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com