Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คำแนะนำจากคุณหมอค่ะ..9 STEPS ช่วยคิด...พิชิตเรื่องกินยากสำหรับเจ้าตัวเล็ก.. ติดต่อทีมงาน

.... พอดีเราหาข้อมูลให้ลูกสาว แล้วเจอบทความน่าสนใจ เลยเอามาแชร์กันนะคะ หวังว่าคงมีประโยชน์และเอาไปปรับใช้กับลูกๆ เรากันนะคะ...

9 STEPS ช่วยคิด...พิชิตเรื่องกินยากสำหรับเจ้าตัวเล็ก


by: อ.นพ.ศักดา อาจองค์ วัลลิภากร
July 3, 2012
Category:
Tags: ปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก
สวัสดีครับคุณหมอ

ลูกชายผมอายุ 1ขวบ 3เดือน ครับไม่ยอมกินข้าวเลยกินแต่นม(แต่น้ำหนักก็ขึ้นนะครับ)แล้วก็ไม่ค่อยนอนด้วย ครับจะเล่นอย่างเดียวเลยและจะไม่ยอมอยู่เฉยๆด้วยครับ อย่างนี้มีโอกาสเป็นไฮเปอร์ไหมครับ ตอนกลางคืนประมาณตี 3 ชอบตื่นมาร้องไห้เป็นประจำ และพอจะมียาหรือวิตามินตัวไหนที่ทำให้เด็กกินข้าวได้และก็หลับสนิทบ้างครับ

ขอบคุณครับ

คุณพ่อมือใหม่



สวัสดีคุณพ่อมือใหม่ครับ

หมอขอตอบเป็น 9 ขั้นตอนในการแก้ปัญหากับคุณพ่อดังนี้

1) นมหนู(ไม่)น้อยไปหรือเปล่าครับ..คุณแม่ ?

ต้องคำนวณดูว่านมที่เราให้นั้นมากเกินพอไปหรือเปล่า ในกรณีถ้าให้นมมากเกินไป จำเป็นต้องค่อย ๆ ต้องลดนมลง เป็นคำตอบที่มักได้ยินจากคุณพ่อคุณแม่ที่มาปรึกษาอยู่เป็นประจำ เพราะเข้าใจว่าเด็กกำลังเติบโตกินนมมากแล้วจะดี อะไรถ้ามันเกินสมดุลไปก็จะเป็นโทษครับ เพราะจะทำให้เด็กอ้วนและมีโรคแทรกซ้อน

ตามมาที่เรามักจะเรียกว่าอ้วนนม หรือ Milk baby ดูอ้วนจ่ำม่ำแต่แฝงไปด้วยโรคร้ายๆในระยะยาวปกติ เด็กทานนมหลัง 1 ขวบไปแล้วราว 1000-1200 ก็ถือว่ามากแล้วครับ

เพราะถ้ากินปริมาณเท่านี้จริง ก็เท่ากับไม่ต้องทานอาหารมื้อหลักหรือข้าวปลาอาหารทีเดียว เพราะจะได้แคลลอรีถึง 666-800 แคลลอรีต่อวันทีเดียว โดยมีวิธีคำนวนง่ายๆดังนี้

น้ำหนักระหว่าง 3-10 กิโลกรัม ให้คูณด้วย 100
น้ำหนักระหว่าง 10-20 กิโลกรัม ให้คูณด้วย 50
น้ำหนักเกิน 20 กิโลกรัม ให้คูณด้วย 20

เมื่อรวมกันเข้าจะเป็นความต้องการแคลอรี่ต่อวัน ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งหนัก 32 กิโลกรัม จะต้องการพลังงาน = (10 x 100) + (20 x 50) + (2 x 20) = 2,040 แคลอรี่ต่อวัน

แต่ถ้าลูกเราหนักประมาณ 10 กิโลกรัม ก็จะต้องการพลังงาน = (10 x 100) + (20 x 0) + (5 x 0) = 1,000 แคลอรี่ต่อวัน

นั่นหมายถึงถ้าเรากินนมไม่ถึง 1-1.2 ลิตรต่อวันเราจะมีพื้นที่เหลือในการรับพลังงานจากสารอาหารอื่น ๆ อีกราว 200-300 แคลลอรีนะครับ นั่นหมายความถ้าเด็กกินนมอย่างเดียวยังไงน้ำหนักก็ยังขึ้น เพราะมันเท่ากับเกือบจะทดแทนมื้ออาหารอื่น ๆ ไปหมดแล้ว การกินนมผสมช่วยให้เราพอรู้ว่าลูกกินนมไปเท่าไร แต่ในกรณีกินนมแม่มาต่อเนื่องจะไม่สามารถคาดคะเนปริมาณนมที่กินได้แน่นอนเด็กมักจะอ้วนถ้วนสมบูรณ์ดี กินแล้วอิ่ม ไม่รู้สึกหิวและอยากอาหารครับ

ตาราง 1 อายุและแคลลอรี่ที่ต้องการต่อวัน(Age Calories per day)



จากตาราง 1. จะเห็นว่า ในช่วงอายุ 1-3 ปี เราต้องการพลังงานไม่มากเพียง 1,165-1,230 แคลลอรี่ต่อวันเท่านั้นเองหากินนมมากถึง 3 ใน 4 ส่วนเด็กไม่มีทางจะหิวมากมายนัก โอกาสที่จะได้กินสารอาหารครบ 5 หมู่จากอาหารประเภทอื่นก็น้อยลง ในระยะหลังมีคำแนะนำจาก ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ของอเมริกา(AAP) ได้แนะนำว่าควรลดจำนวนนมลงให้เหลือเพียง 16 ออนซ์ต่อวันหรือราว 480-500 ซีซีต่อวัน

ซึ่งก็คือ นมกล่องเพียง 1-2 กล่อง หรือ นมชงประมาณ 1-2 แก้วเท่านั้น (8 ออนซ์ x 2 มื้อ) ที่เหลือคือให้กินอาหารอย่างอื่น เพื่อที่จะได้อาหารหลากหลายและครบทั้ง 5 หมู่ โดยมีทั้งแป้ง หรือคาร์บอไฮเดรต ไขมันโปรตีน และเกลือแร่เสริมจากสารอาหารแหล่งอื่นอย่างพอเพียง

ในวัย 1 ขวบไปสามารถกินอาหารหลักได้ถึงสามมื้อโดยอาจล้อไปกับการกินอาหารของครอบครัว เพราะเด็กจะรู้สึก ตื่นตาตื่นใจ สนุกและมีส่วนร่วมมากกว่า ถึงแม้จะดูว่านมที่ทานน้อยแต่พอเพียงครับ เพราะจะกระตุ้นให้เด็กหิวและยอมรับอาหารอื่นมากขึ้น ถ้าเราใจอ่อนหักใจไม่ได้เด็กก็จะเลือกกินนมอย่างเดียว ต้องย้ำว่าจำเป็นเพราะไม่เช่นนั้นแล้วเด็กที่มี ปัญหาการกินก็จะเลือกกินแต่นม อยู่ได้ด้วยนม ไม่ยอมกินข้าว

2). จำใจ....ทิ้งห่างให้พอสมควร ?

ทิ้งห่างช่วงระหว่างมื้ออาหาร (นมกับข้าว)อย่างเหมาะสมโดยทั่วไปแนะนำว่าให้ห่างกันอย่างน้อยราว 4ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นเด็กจะไม่มีทางหิวหรือรู้สึกอยากกินมื้อต่อไป ตรงนี้คุณพ่อ คุณแม่ต้องจัดสรรเวลาดี ๆ จะช่วยได้มากครับ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตารางเวลาในการให้อาหารไว้ เพื่อสะดวกในการประเมินความเหมาะสมของอาหารและระยะห่างของอาหารแต่ละมื้อ จะช่วยได้มากครับ

3). หวานเกินไปหรือเปล่าครับพี่น้อง ?

งดอาหารหวานทุกชนิด เช่น ขนมขบเคี้ยว ขนมซอง น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำตาลไม่ควรใช้ปรุงอาหาร ไอศครีม ทอฟฟี่ ชอคโกแลต ขนมจุกจิก เพราะหากกินบ่อยจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ซึ่งจะไปกดศูนย์การหิวซึ่งอยู่ในสมองของเด็กทำให้รู้สึกอิ่มอยู่ตลอด คราวนี้ป้อนอะไรก็มักไม่กินจะบ้วนออกอย่างเดียว ไม่รู้สึกอยากอาหาร พาตัวพ่อแม่ให้ออกอาการหงุดหงิดรำคาญใจเพราะป้อนแล้วไม่กิน พลอยหมดกำลังใจไปตามๆกัน

4). โรแมนติกกันนิด.... ชีวิตสดใส

จัดบรรยากาศหรือสภาพแวดล้อมแบบสบายๆไม่เครียด หรือคาดหวังมาก สบายๆไม่มี stress ก็มักจะทานอาหารได้มากพ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรคาดหวัง เข้มงวด หรือทำให้เด็กรู้สึกเครียด และไม่ควรวิพากษ์ วิจารณ์ จับตาดูปริมาณอาหารที่เด็กกิน ไม่ควรดุว่า ลงโทษ แสดงอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ หรือพูดให้เด็กรู้สึกผิด มีวิธีหนึ่งที่ต่างประเทศใช้คือให้ร่วมกินกับครอบครัว หมดเวลาเก็บฝึกให้เกิดนิสัยที่เคยชิน แล้วค่อยให้มื้อต่อไปเลย อันนี้พ่อแม่ต้องหนักแน่นพอสมควร หากทำได้ก็จะดี

5). อย่าท้อแท้......ขอแค่ให้แม่ชม

สร้างความภูมิใจในการกินให้กับเด็ก เพราะเด็กวัยนี้ชอบให้ชม ตบมือให้ จึงควรฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเองในการกินเช่นให้จับช้อนเองบ้าง ถึงจะหกเลอะเทอะ แต่เด็กจะรู้สึกสนุกในการกิน(พ่อแม่อาจไม่รู้สึกสนุกในตอนเก็บ)ปล่อยให้เขาระบบายสีสันบ้าง จะช่วยให้กินได้และสนุกสนานไปกับการกินมากขึ้น ไม่ควรป้อน หรือพยายามยัดเยียดบังคับให้เด็กกิน อาหารอาจเลือกกลุ่มที่เด็กสามารถใช้มือหยิบจับกินเองได้สะดวก เช่น น่องไก่(ไม่มีกระดูกนะครับ) ข้าวเหนียวปั้น เด็กจะรู้สึกสนุกกับการกินมากขึ้นครับ แต่ต้องคอยดูอยู่ห่าง ป้องกันการสำลักหากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น

6). เติม(ความน่า)รัก...ให้เต็มรส(กับมื้ออาหาร) ?

จัดอาหารสไตท์ คิกขุ อาโนเนะ จัดถ้วยเล็กๆน่ารัก หมดแล้วเติมให้ ตักอาหารน้อยๆ ในถ้วยหรือจานสำหรับเด็กหากคุณพ่อคุณแม่คาดหวัง แอบโลภนิดๆ อยากให้ลูกทานอาหารมากๆ ก็ตักข้าวพูนจาน ก็จะหมดสนุกไม่ได้เติมกันพอดี และบางครั้งเวลาจัดหนักจัดเยอะยิ่งทำให้ลูกไม่อยากกินอาหาร แค่หนูเห็นก็ท้อแล้ว

แต่ถ้าหากลูกที่รักยังไม่กิน หรือเล่นอาหาร ให้เก็บอาหาร ทั้งนี้ต้องใจแข็งไม่ให้นมหรือขนม หรือ snack จุกจิกอีกเลยจนกว่าจะถึงอาหารมื้อถัดไป ถ้าใจอ่อนละก็เป็นอันเสร็จกัน เพราะลูกจะตั้งเงื่อนไขและเป็นต่อเราในที่สุด(เห็นไหมลูกฉลาดไม่เบาทีเดียวหละ)

กรณีถ้าเด็กหิวก่อนถึงเวลาของมื้อต่อไปก็อนุญาตให้กินอาหารเดิมที่เตรียมไว้(คือมื้อที่เด็กปฏิเสธไป)โดยอาจนำมาอุ่นให้ ก็มื้อที่เขาเขี่ยเล่นนั่นแหละครับ คล้ายการดัดนิสัยกลายๆ

"ตรรกกะก็คือหากมื้อนี้กินน้อย มื้อหน้าก็จะกินมากขึ้นเอง เพราะมนุษย์มีศูนย์ควบคุมการหิว อิ่มอยู่ที่สมองและทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ"

7). เวลาหรรษา....มาเริ่มที่โต๊ะกันดีกว่า

มาสร้างระเบียบ..รัตน์ เอ้ย ระเบียบวินัยเล็กๆในการกินกัน ซึ่งก็คือสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการกินอาหาร ได้แก่ ควรเริ่มมื้ออาหารบนโต๊ะอาหารเสมอ ไม่ควรลุกออกไป เล่นไปกินไป มีข้อผ่อนผันได้บ้างคือเริ่มมื้ออาหารบนโต๊ะก่อน แต่ถ้าเด็กไม่ยอมกิน ลงจากเก้าอี้ไป จะไปเล่นหรือสนใจอย่างอื่น อนุโลมให้เดินตามไปป้อนได้บ้าง แต่ระวังถ้าลูกเริ่มอมข้าว :-) บ้วนข้าว หรือสะบัดหน้าไม่ยอมกิน

หลายๆครั้งแล้ว ให้เลิกป้อน แล้วเก็บอาหารไป ทำตามข้อที่ผ่านมา เพราะการอมข้าว น้ำย่อยอะไมเลสในน้ำลายสามารถย่อยแป้ง ย่อยข้าวทำให้เกิดน้ำตาลขึ้นในช่องปาก อิ่มกันละทีนี้ การอมก็จะติดนิสัยกันต่อไป

พ่อแม่ควรควบคุมระยะเวลาในการกินอาหารไม่ควรเกิน 30-40 นาที บางครั้งการเดินตามป้อนข้าวลูกหรือลูกเล่นไปกินไปเป็นชั่วโมง จะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่ายการกินอาหารและไม่มีวินัยด้านเวลาเกิดขึ้น

ไม่ควรเล่นของเล่นบนโต๊ะอาหาร ไม่เปิดหรือดูโทรทัศน์ขณะกินอาหาร เพราะเด็กจะถูกดึงความสนใจ เพราะง่ายต่อการกระตุ้นต่อสิ่งเร้า ทำให้ขาดความสนใจต่ออาหารที่อยู่ตรงหน้า และจะเกิดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม

8). ไก่งามเพราะขน หากจนใจ..ต้องรู้ที่จะเติมแต่ง (รูปลักษณ์ รสชาด อาหาร)

จัดแจง แต่งหน้าให้จิ้มลิ้ม อาหารบางชนิดบางอย่างที่เด็กอาจไม่ชอบ เช่น ผัก อาจใช้วิธีที่ฉลาดเปลี่ยนรูปร่างหน้าตาให้น่ารัก น่ากิน เช่นผักชุบแป้งทอดหรือเรียกว่าผักสีทองบางครั้งการเปลี่ยนหน้าตา รูปแบบ ก็ช่วยเปลี่ยนรสชาดและบรรยากาศ ทรรศนคติ ในการกินอาหารให้สนุกขึ้น บางบ้านจับผักบุ้มต้มพันเป็นปมบอกเป็นตัวโน้น ตัวนี้ ตั๊กกะแตนเอย หนอนงอตัวเอย ก็ช่วยให้เด็กเกิดจินตนาการและสนุกกับการกินไปด้วย

9). เสริม (Vitamin) นิด..ต้องคิดปรึกษาแพทย์

ต้องบอกว่า...วิตามินไม่ใช่คำตอบหลักเวลาเด็กไม่กินข้าว หรืออาหาร แต่บางครั้งก็อาจช่วยในบางภาวะ เช่น เด็กมีภาวะขาดธาตุเหล็กมีผลทำให้ลิ้นเลี่ยน ต่อมรับรสที่ลิ้น รับรสชาติไม่ดีกินอาหารไม่อร่อย พอเสริมให้จนหมดภาวะขาดธาตุเหล็ก หรือโลหิตจางดีขึ้น เด็กก็มักกินอาหารได้ "บางทีกินจนเรียกว่าพายุบุแคมทีเดียวคุณหมอ" (แม่เด็กรายหนึ่งเล่าให้ฟังอย่างออกรสชาดิ) เด็กกินอร่อยขึ้นเหมือนการเปิดสวิทช์ไฟไงงั้น ส่วนยากระตุ้นกินอาหารที่เคยใช้กันในสมัยก่อนกลับพบว่าเป็น "อันตราย" เพราะอาจทำให้กินได้ เด็กอ้วนขึ้นแต่จะไม่สูง จึงไม่ควรใช้ ถ้าจะใช้ แพทย์มักเลือกยาที่ไม่มีอันตรายและอาศัยผลข้างเคียงที่ไม่มีอันตราย เช่น เลือกการกระตุ้นให้อยากอาหารจากยาภูมิแพ้ในขนาดต่ำๆ สามาถใช้ได้แต่ต้องให้แพทย์สั่งด้วยเหตุผลว่าจำเป็นต้องใช้จริงๆเท่านั้น

สำหรับ 9 Steps ช่วยคิด... พิชิตเรื่องกินยากสำหรับเจ้าตัวเล็ก นั้นหากคุณพ่อคุณแม่ทำได้ น่าจะได้ผลราว 3 ใน 4 ของผู้ป่วย ส่วนใหญ่ที่ไม่สำเร็จเพราะ ใจไม่แข็งพอ และย่อหย่อน กลับไปใช้วิธีแบบเดิมๆ เพราะมีความวิตกกังวลสูงมาก ห้ามใจตนเองไม่ได้ บางรายก็เพราะทำไม่นานพอ พอเริ่มจะดีเป็นนิสัยก็หยุดไป บางทีก็แอบล่มเรือเสียกลางคันเสียก่อน แต่ก็พบว่าราว หนึ่งในสามของผุ้ป่วยที่ทำตามคำแนะนำที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว เด็กก็ยังไม่ยอมกินข้าว กลุ่มนี้ต้องบอกว่าปราบเซียนทำอย่างไรน้ำหนักก็ไม่ขึ้น ตกเกณฑ์ไปตลอดทั้งทั้งที่ไม่มีสาเหตุหรือโรคทางกาย อื่นๆ ก็ต้องใช้วิธีสุดท้าย คือต้องสวดมนต์ ...เอ้ย ...ทำใจครับ เพราะโดยส่วนใหญ่หลาย ๆ รายพอไม่บังคับไม่เข้มงวดกวดขัน ไม่สนใจ เด็กกลับกินได้ดีเองก็มีมานักแล้ว บางทีกลับมาเจอหมออีกทีมาเจอกันอีกทีอ้วนท้วนเชียวครับ จำเกือบไม่ได้ หรือว่าช่วงแรกอาหารที่บ้านไม่อร่อยก็ไม่รู้ ..คริคริ "ดังนั้นเรื่องปัญหาการกินของเด็กนั้นจริงๆแล้วก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด และอาจนับว่าเป็นยาดำ(ปัญหาโลกแตก..ปัญหายาก) ในบางครั้งสำหรับพ่อแม่และกุมารแพทย์ทีเดียวครับ

ส่วนปัญหาถัดมาที่คุณพ่อคุณแม่ถาม

ที่กลัวว่าลูกเราจะ hyper หรือคำเต็มๆว่า Hyperactive นั้น น่าจะเป็นซนซะมากกว่า เพราะเป็นเด็กผู้ชายวัยขนาดนี้ อะไรก็ใหม่สำหรับหนูไปหมดหล่ะครับ อีกทั้งพลังงานเหลือเฟือเอามากๆ ต้องใช้หรือปลดปล่อยให้หมด แต่หากซนขึ้นชื่อว่าหัวร้างข้างแตก กระดูกหัก อันนั้นค่อยน่าสงสัย แต่หากเด็กรู้จักรอ มีสมาธิได้สั้นๆ รู้จักฟัง หอม กอด ง้อหรือมีสังคม ก็นับว่าปกติสำหรับวัยนี้นะครับคอยสังเกตุไปก่อนได้ ส่วนอาการฝันหรือตื่นกลางคืนร้องนั้น น่าจะสัมพันธ์กับการเล่นที่มากในช่วงกลางวัน แต่มีภาวะหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มนี้ คือ Night Terror หรือ Sleep Terror คล้ายๆฝันร้ายแต่ถ้าฝันร้าย (Nightmare)มักจะเกิดตอนใกล้ช่วงตื่น

ที่ไม่เหมือนภาวะ Sleep Terror ก็คืออายุน้อยไปหน่อยครับ โดยส่วนใหญ่ภาวะนี้มักจะพบช่วง 2-6 ปี พบได้ราว 15 % ของเด็ก จะร้องมากหลังหลับไปได้สักช่วง 2 ใน 3 ของการนอน ถ้าเป็นภาวะที่บอกนี้มักจะร้องมาก เหมือนตกใจกลัวอย่างมาก เหงื่อออก หายใจและหัวใจเต้นเร็ว เด็กจะดูคล้ายๆตื่น แต่จริงแล้ว จะมึนๆงง ร้องและจำพ่อแม่ไม่ได้ ไม่รู้สึกตัว ซึ่งมักจะเกิดราว 5-30 นาที ในบางรายมีอาการเดินละเมอซะด้วย ที่เรียกว่า Night Walker การช่วยคืออย่าตกใจ ไม่ต้องปลุกดูให้แน่ใจว่าเด็กปลอดภัย เพราะถ้าปลุกเด็กจะรู้สึกกลัว และไม่เป็นสุข สั่น รู้สึกไม่สบาย วิธีที่ดีที่สุดคือช่วยให้เขากลับไปหลับอย่างสบาย เช่นดูว่า ฉี่เปียกแฉะหรือไม่หากมีก็เปลี่ยนซะครับ ตบก้น ลูบหลังเบาๆ จนเด็กกลับไปหลับได้ หากภาวะ Night or Sleep Terror เกิดขึ้นบ่อยหรือมี Night Walker หรือเดินละเมอแล้วเสี่ยงต่ออันตรายมาก อาจปลุกเด็กให้ตื่นก่อนเวลาที่จะเกิดอาการสามารถช่วยได้ครับ

ซึ่งโดยสรุปดูแล้วของลูกคุณน่าจะเป็น จากสาเหตุแรกมากกว่า เล่นมาก เต็มเหนี่ยวช่วงกลางวัน ทำให้ร้องไห้ คล้ายละเมอกลางคืน ไม่ต้องปลุกเช่นกัน ช่วยให้เขาหลับได้ต่อ เช่น จัดท่านอนให้สบาย อย่าให้เปียกแฉะ กล่อม ไม่ควรให้กินนม เพราะจะตื่นขึ้นมาทุกคืนครับ (เพราะจะหิวหล่ะครับทีนี้ หากให้กินแบบนี้ทุกคืน) โดยปกติภาวะนี้จะดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นครับ ไม่จำเป็นต้องหาวิตามินหรือยานอนหลับช่วยหรอกครับ

จากคุณ : myhim
เขียนเมื่อ : 8 ก.ย. 55 10:08:03




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com