ลักษณะเนื้อหาในการบรรยาย จะมีลักษณะที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปใช้ได้จริงค่ะ อย่างเช่น
ผู้ให้คำแนะนำ : ท่านอาจารย์ทาคาโย มารูยามา ผู้อำนวยการสถานบันวิจัยครอบครัวศึกษาแห่งโตเกียว ผู้รับคำปรึกษา Ms. Saeko อายุ 29 ปี จ. Chiba Q : ทำอย่างไรดี พี่น้องทะเลาะกันเป็นประจำ? ลูกชายอายุ 2 ขวบ อยากได้ของของพี่สาว (5 ขวบ) ทุกอย่าง พี่สาวที่คอยปกป้องของของตัวเองกับน้องชายที่ร้องไห้โวยวายเมื่อไม่ได้ดั่งใจตัวเอง จะทะเลาะกันและแย้งของกันเป็นประจำ ทุกๆ วันจะต้องคอยดุคนพี่ว่า เป็นพี่ก็ให้น้องยืมซิ ส่วนคนน้องก็จะดุว่า อย่าเอาแต่ใจซิ ดิฉันคิดอยู่เสมอว่า อยากพูดดีๆ โดยไม่ดุ แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะพูดจาอย่างไรดีกับทั้งคนพี่และคนน้องค่ะ A : ความรักของคุณแม่ ปลูกสร้างจิตใจที่ดีงามของลูก สำหรับคุณแม่แล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่ทุกข์ใจอย่างยิ่งที่ต้องเห็นสภาพที่ลูกๆ สุดที่รักทะเลาะกัน ซึ่งเข้าใจความรู้สึกของคุณแม่ที่ดุลูกเป็นอย่างยิ่ง แต่การที่ลูกชายต้องการของทุกอย่างของพี่สาวนั้น หากดูจากด้านพัฒนาการแล้ว จะเป็นเรื่องปกติธรรมดา ช่วงอายุ 2-3 ขวบ จะมีพัฒนาการที่เรียกว่า สัญชาตญาณการเอาแต่ใจเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการเอาแต่ใจที่ไม่มีเจตนาร้ายแต่อย่างใด เด็กในวัยนี้ จะมีความคิดว่า ของของตัวเองก็คือของของตัวเอง ของของคนอื่นก็คือของของตัวเองเช่นกัน ดังนั้น จึงไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อันนี้เป็นของ พี่สาว อันนี้เป็นของ ตนเอง พอไม่ได้ของนั้นมาดั่งใจก็จะร้องไห้กระจองอแง ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะลูกชายมีนิสัยเอาแต่ใจตัวเองอย่างแน่นอน แต่หากปล่อยทิ้งไว้เช่นนี้ พัฒนาการทางด้านสังคมจะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น การอบรม จึงมีความจำเป็นในเวลาเช่นนี้ สิ่งที่คุณแม่ควรทำ คือ บอกกับลูกชายว่า อันนี้เป็นของพี่นะ ถ้าอยากได้ต้องพูดว่า ขอยืมหน่อยครับ นะครับ แล้วคุณแม่ก็พูดพร้อมๆ กับลูก เมื่อพี่ให้ยืม ก็พูดพร้อมๆ กับลูกว่า ขอบคุณครับ แล้วบอกลูกว่า ดีจังเลยนะ ที่พี่ให้หนูยืม รักษาให้ดีนะ ณ จุดนี้ ลูกจะได้เรียนรู้เรื่อง การขอร้อง และ การขอบคุณ ไปพร้อมๆ กัน และบางครั้ง การบอกกับลูกว่า วันนี้ไม่ได้นะ ลูกเป็นเด็กดีนี่ ลูกต้องรอได้ซิ ด้วยใจที่เปี่ยมไปด้วยความรัก เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ถึงความอดกลั้นก็สำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ หากคิดถึงความรู้สึกของผู้เป็นพี่แล้ว คำพูดเพียงคำเดียวว่า เพราะเป็นพี่ เท่านั้น ย่อมจะไม่ทำให้พี่สาวยื่นของให้น้องชายยืมได้อย่างเต็มใจ แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็คงลังเลเหมือนกัน การที่พี่สาวไม่ยื่นของให้น้องนั้น ย่อมหมายความว่าสิ่งของสิ่งนั้นมีความสำคัญต่อคนเป็นพี่มาก และหากพี่สาวยื่นของให้น้องยืมได้ นั่นก็เท่ากับว่าพี่สาวสามารถเข้าใจความรู้สึกของน้องชายได้ เมื่อนั้น ขอให้คุณแม่เอ่ยชมพี่สาวด้วยนะคะว่า ของสำคัญไม่ใช่หรือ ให้น้องยืมได้หรือ สมกับเป็นพี่สาวจริงๆ เลยนะ หากทำได้เช่นนี้ พี่สาวก็จะเกิดความรัก และ เรียนรู้ถึงการให้ความเมตตาต่อน้องชายได้นะคะ ขณะนี้ พี่สาวและน้องชายอยู่ระหว่างการเรียนรู้ถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และทำความเข้าใจซึ่งกันและกันด้วยการแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาโดยผ่านการทะเลาะกัน ดังนั้น การทะเลาะกันระหว่างพี่น้องนั้น จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดีเสมอไป ลูกๆ นั้น จะเป็นคู่ที่ดีที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ พร้อมๆ ไปกับผูกสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ดังนั้น ขอให้คุณแม่เฝ้าดูลูกๆ อย่างสบายใจนะคะ
แปลจาก นิตยสาร Yakushin ฉบับเดือนมิถุนายน 2554 แปลโดย : มยุรี มุกดาทอง
จากคุณ |
:
Papa=Rin=Mama (Papa=Rin=Mama)
|
เขียนเมื่อ |
:
วันเกิด PANTIP.COM 55 12:42:21
|
|
|
|