ความคิดเห็นที่ 5
โยเกิร์ต อาหารอายุวัฒนะ หยาดพิรุณ นุตสถาปนา http://www.bangkokbiznews.com/scitech/2004/0405/news.php?news=column_12545374.html
อยากมีอายุยืนยาวสักร้อยปี แถมมีสุขภาพแข็งแรงไหม ลองไปถาม ชาวบัลแกเรีย อาจได้เคล็ดลับดูแลสุขภาพง่ายๆ ที่เป็นคำตอบอาจทำให้ผู้ผลิตอาหารบางรายยิ้นแป้น เพราะเคล็ดลับ อายุยืนของ ชาวบัลแกเรียอยู่ที่ โยเกิร์ต อาหารพื้นเมืองที่รับประทานสืบต่อกันมานานตั้งแต่ก่อนคริสตกาล แล้วอะไรล่ะ..ที่ทำให้โยเกิร์ต ทรงอิทธิพลได้ถึงขนาดนั้น
วิภาพรรณ ปณิธานธรรม ผู้จัดการอาวุโสด้านวิชาการโภชนาการทารกและผลิตภัณฑ์อาหาร บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด เฉลยว่าเป็นเพราะเจ้าแบคทีเรียที่มีอยู่ในโยเกิร์ตนั่นแหละ โยเกิร์ต หรือ นมเปรี้ยว เป็นอาหารนมที่เกิดจากการนำนมสดมาหมักด้วยแบคทีเรียแลคติกสายพันธุ์จำเพาะจนข้นเหนียวและมีรสเปรี้ยว ในผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต 1 ถ้วย เต็มไปด้วยแบคทีเรียกว่า 3,000 ล้านตัว ได้ยินอย่างนี้ หลายคนคงร้องยี้ แต่แบคทีเรียที่ว่าถือเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ยิ่งต่อร่างกาย หรือที่เรียกกันว่า ?โพรไบโอติก? (Probitics)
สร้างสมดุลให้จุลินทรีย์ คำจำกัดความสั้นๆ ของโพรไบโอติก ก็คือ จุลินทรีย์ที่มีชีวิต เมื่อกินเข้าไปแล้วจะเกิดผลดีต่อผู้รับประทาน โดยจะเข้าไปปรับปริมาณของประชากร จุลินทรีย์ในร่างกายให้อยู่ในสภาวะที่สมดุล ?จริงๆ แล้วโพรไบโอติก เป็นคอนเซปต์ที่ มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยก่อนคริสต์ศักราช มีการใช้นมเปรี้ยวที่ผ่านการหมักแล้วมารักษาโรคของทางเดินอาหาร จะสังเกตได้ว่าคนทิเบต และบัลแกเรีย มีอายุยืนเป็นร้อยปี มีสุขภาพดี ไม่เป็นโรคทางเดินอาหาร หรือลำไส้ สาเหตุก็เพราะโยเกิร์ตเข้าไปช่วยให้ระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่ายทำงานดีขึ้น?
วิภาพรรณ อธิบาย พร้อมดึงข้อมูลวิทยาศาสตร์มานำเสนอ ปริมาณจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในระบบทางเดินอาหารของเรามีประมาณ 400-500 ชนิด รวมจำนวนประชากรทั้งหมดราว 100 ล้านล้านตัว ซึ่งมีมากกว่าจำนวนเซลล์ในร่างกายเสียอีก โดยในกระเพาะอาหารจะมีน้อยหน่อย เพราะมีภาวะเป็นกรด พอลงไปถึงลำไส้เล็ก ปริมาณจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหลักหมื่น-ล้านตัว แต่เมื่อไปถึงในลำไส้ใหญ่แล้ว จะมีจุลินทรีย์มากเป็นล้านล้านตัว ได้แก่ พวกแบคทีรอยเดส, ไบฟิโดแบคทีเรีย, คลอสทริเดีย และที่มากสุด ก็คือ แลคโตแบซิไล
จากการวิเคราะห์อุจจาระคนเรา พบว่ามีจุลินทรีย์อยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ จุลินทรีย์ก่อโรค พวกพาโธเจน ที่ก่อให้เกิดพิษ ท้องเสีย และโรคติดเชื้อในร่างกาย กลุ่มที่สองคือ จุลินทรีย์สุขภาพ ได้แก่ แลคโตแบซิไล ยูแบคทีเรีย ไบฟิโดแบคทีเรีย สามารถป้องกันโรคติดเชื้อ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และมีประโยชน์ต่อโภชนาการ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ จุลินทรีย์ฉวยโอกาส ได้แก่ เอ็นทีโรค็อกไค, อี.คอไล, สเตรปโตค็อกไค และแบคทีรอยเดส เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเราอ่อนแอ จุลินทรีย์ในกลุ่มนี้จะช่วยซ้ำให้อาการหนักขึ้นไปอีก
กำจัดจุลินทรีย์ฝ่ายอธรรม แล้วมีทางเป็นไปได้ไหมที่จะกำจัดจุลินทรีย์ตัวร้ายออกจากร่างกาย? วิภาพรรณ บอกว่าสิ่งที่ควรทำคือ การเพิ่มปริมาณประชากรจุลินทรีย์ที่ดี เพราะจุลินทรีย์ในกลุ่มนี้จะสร้างกรดอะซิติกและแลคติกขึ้นมา เมื่อมีภาวะเป็นกรด พวกจุลินทรีย์ก่อโรคก็จะไม่ทำงาน และจุลินทรีย์ฝ่ายธรรมะยังสร้างสารพวก IgA ที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน เพิ่มการกำจัดเชื้อของโรค รวมทั้งแย่งอาหารของจุลินทรย์ก่อโรคด้วย ขณะเดียวกัน ยังทำหน้าที่ช่วยย่อยอาหารได้อีกต่างหาก เพราะใช่ว่าอาหารทุกอย่างที่เรารับประทานเข้าไปจะย่อยได้หมดภายในกระเพาะอาหาร ยังมีบางส่วนที่หลุดรอดไปยังลำไส้เล็ก และลงไปถึงลำไส้ใหญ่
ถ้าเป็นโปรตีน เมื่อถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ก่อโรค ก็จะกลายเป็น AMINES NH4 สารชนิดนี้เป็นสารพิษ เมื่อถูกดูดซึมในลำไส้ใหญ่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ ถ้าเป็นไขมันที่ย่อยไม่หมด เมื่อถูกย่อยด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช่จุลินทรีย์สุขภาพ จะเกิดพวกไกลซีน ทัวรีน กรดน้ำดี สารเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวที่เซลล์ของลำไส้ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งลำไส้ได้ มีเพียงคาร์โบไฮเดรตเท่านั้น เมื่อผ่านไปถึงลำไส้ใหญ่จะถูกย่อยโดยจุลินทรีย์สุขภาพ ทำให้ได้กรดแลคติกและพวกที่เป็นพลังงานให้กับผนังลำไส้ และช่วยในการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมา? ผู้จัดการอาวุโสด้านวิชาการโภชนาการของเนสท์เล่ อธิบาย จึงไม่แปลกที่เธอจะบอกว่าทุกคนจำเป็นต้องมีจุลินทรีย์สุขภาพในร่างกายให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการหมักของโปรตีน หรือไขมันที่เหลือมาจากลำไส้เล็ก
โพรไบโอติกที่มีคุณลักษณะที่ดี มีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ต้องไม่ก่อโรค ไม่ปล่อยสารพิษ และสามารถผ่านกรดที่อยู่ในกระเพาะอาหาร น้ำดี ลำไส้เล็ก และลงไปถึงลำไส้ใหญ่ได้โดยที่ยังคงมีชีวิตอยู่ ที่สำคัญต้องเป็นเชื้อกลุ่มเดียวกันกับที่มีอยู่ในลำไส้มนุษย์ วิภาพรรณ ให้ข้อสรุป และเพิ่มเติมว่า จุลินทรีย์ที่พบบ่อยมี 2-3 กลุ่ม ได้แก่ ไบฟิโดแบคทีเรียที่พบมากในทารกแรกเกิด ได้แก่ B.lactis B.longum B.breve ส่วนในผู้ใหญ่ก็จะเป็น แลคโตแบซิลไล ได้แก่ แอล.อะซิโดฟิลัส, แอล. คาเซอิ, แอล. บัลการิคัส, แอล. จีจี และสเตรปโตคอกคัส เทอร์โมฟิลัส
สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นิยมนำโพรไบโอติกไปเป็นส่วนผสมร่วม นอกจากโยเกิร์ตแล้ว ก็คือ นมผงดัดแปลงสำหรับทารก ช่วยป้องกันเด็กจากอาการอุจจาระร่วง และติดเชื้อได้ รวมทั้งยังป้องเรื่องการแพ้อาหาร นอกจากนี้ ยังมีอยู่ในผลิตภัณฑ์นม และอาหารอื่นๆ เช่น น้ำผลไม้ ผลิตภัณฑ์นมถั่วเหลือง และเข้าไปช่วยทางด้านปศุสัตว์ได้ด้วย มาถึงตรงนี้ คงสงสัยกันแล้วว่าต้องกินในจุลินทรีย์ที่ดีในปริมาณแค่ไหนล่ะ ถึงจะพอเหมาะกับร่างกาย ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการรายนี้ ตอบว่าปริมาณจุลินทรีย์ที่จะช่วยสุขภาพให้ดีได้นั้น จะต้องมีประมาณ 3,000 - 10,000 ล้านตัว และโยเกิร์ต 1 ถ้วยโดยทั่วไป จะมีจุลินทรีย์ราว 3,000 ล้านตัวขึ้นไป เราควรรับประทานโยเกิร์ตทุกวัน เพราะจุลินทรีย์สุขภาพ เมื่อครบ 8 ชั่วโมง ปริมาณจะลดลง ดังนั้นต้องทานไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ทานทุกวัน ก็ต้องทานเป็นระยะ เพราะ 8 วันเชื้อจุลินทรีย์จะหมดไป?
ให้อาหารจุลินทรีย์ แต่ใช่ว่าจะมีแค่โยเกิร์ตเท่านั้นที่เป็นพระเอก ยังมี ?พรีไบโอติก? (Prebiotics) นางเอกคนดีที่คอยช่วยเสริมให้การทำงานของจุลินทรีย์สมบูรณ์ขึ้น เพราะเป็นอาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ ที่จะช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีผลดีต่อระบบขับถ่ายของร่างกาย เพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและเหล็กให้ดีขึ้น สารอาหารที่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก ได้แก่ โอลิโกฟรุกโตส ซึ่งมีอยู่ในพืช เช่น หัวชิกอรี หัวหอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง และกล้วย สามารถส่งเสริมให้จุลินทรีย์สุขภาพมีการเจริญเติบโต เพิ่มจำนวนและแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะชนิดไบฟิโดแบคทีเรีย และแลคโตแบซิไล คุณสมบัติที่ทำให้พรีไบโอติกกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์ในร่างกายได้ ก็เพราะไม่สามารถถูกย่อยได้หมดที่ลำไส้ส่วนบน ทำให้ผ่านไปยังลำไส้ใหญ่และเข้าไปมีผลเจาะจงส่งเสริมการเติบโตของจุลินทรีย์ในลำไส้ใหญ่บางชนิด
ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลดีจริงๆ เราก็ควรจะรับประทานทั้งโพรไบโอติก และพรีไบโอติกควบคู่กันไป แต่บางคนอาจบอกว่าทนกลิ่นโยเกิร์ตไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก ทางออกที่ง่ายที่สุด คือ ผสมผลไม้ ถั่ว หรือน้ำสลัด ซึ่งอาจช่วยให้เราได้รับแบคทีเรียได้อย่างไม่ผะอืดผะอมมากนัก โยเกิร์ตเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เพราะคงไม่มีอะไรที่ดีกว่าการที่คุณทานทุกอย่างแล้ว คุณสามารถขับถ่ายออกมาได้ง่ายๆ การที่คนบัลแกเรียมีอายุยืน ไม่เป็นมะเร็งลำไส้ เพราะมีจุลินทรีย์ที่ดีช่วยในการขับถ่าย การทำงานของร่างกายเป็นไปปกติ ไม่เป็นโรคลำไส้ ไม่มีการก่อเซลล์ลำไส้มากขึ้นจนกลายเป็นมะเร็ง ด้วยเหตุนี้ ถ้าคิดจะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุดก็คือ จุลินทรีย์ที่เราสามารถเสริมด้วยการรับประทานโยเกิรต์เข้าไป และถ้าได้กล้วยแกล้มอีกสักผลก็ยิ่งดีใหญ่?
จากคุณ :
เจซอง
- [
9 มี.ค. 50 14:54:06
]
|
|
|