ความคิดเห็นที่ 1
อ่านเล่น หุหุ . ลูกผสมโคเนื้อญี่ปุ่น สู่การสร้างโคขุนคุณภาพให้เกษตรกรไทย
ในการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ เพื่อให้ได้โคพันธุ์ดีที่มีคุณภาพสมบัติเด่น โดยเฉพาะในแง่ของเนื้อโคคุณภาพนั้น กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสายพันธุ์หนึ่งที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการ นั่นก็คือ การสร้างโคลูกผสมจากสายพันธุ์โคเนื้อญี่ปุ่น เพื่อให้เป็นเนื้อโคขุนคุณภาพสูง ญี่ปุ่นนั้นมีเนื้อโกเบ อันเป็นเนื้อโคขุนคุณภาพสูง ที่มีราคาจำหน่ายถึงกิโลกรัมละ 10,000 บาท กรมปศุสัตว์จึงได้พยายามศึกษาวิจัยเพื่อสร้างโคลูกผสมที่ให้คุณภาพเนื้อเช่นเดียวกับเนื้อโกเบ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร
สำหรับโคเนื้อญี่ปุ่น หรือเรียกว่า วางิว (Wagyu, wa แปลว่า พื้นเมือง gyu แปลว่า โค) ส่วนใหญ่เป็นโคที่มีสีดำ (Black Japanese Cattle) คล้ายกับโคเนื้อพันธุ์แองกัส (Angus) ซึ่งเป็นโคเนื้อสายพันธุ์ยุโรป มีเขา มีขนาดของลำตัวส่วนท้าย (Rump) และขาเล็กกว่าโคแองกัส โคพ่อพันธุ์เมื่อโตเต็มที่อาจมีน้ำหนักมากกว่า 900 กิโลกรัม
ในงานโคเนื้อแห่งชาติ ประจำปี 2548 ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้นำโคลูกผสมทาจิมะ อันเป็นสายพันธุ์โคเนื้อญี่ปุ่นไปจัดแสดงให้ผู้สนใจได้ชมกันที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์ตาก โดย นายยอดชาย ทองไทยนันท์ ผู้อำนวยการศูนย์ ได้กล่าวถึงความเป็นมาในการนำพันธุ์โคเนื้อญี่ปุ่นเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยว่า
"สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับน้อมเกล้าถวายฯ โคเนื้อญี่ปุ่นสายเลือดทาจิมะ (Tajima) จากรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น เป็นโคพ่อพันธุ์ และได้พระราชทานให้กรมปศุสัตว์เพื่อใช้ในการรีดน้ำเชื้อ ผลิตเป็นน้ำเชื้อแช่แข็ง ที่ศูนย์วิจัยการผสมเทียมปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ใช้ในการขยายพันธุ์ โดยนำไปผสมเทียมกับโคแม่พันธุ์เรดซินดิ (Red Sindhi) จำนวน 33 ตัว ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ลำพญากลาง ในระหว่างปี 2533 ถึง 2534"
ผอ.ยอดชาย กล่าวอีกว่า โคลูกผสมพันธุ์ทาจิมะที่เกิดขึ้น กองบำรุงพันธุ์สัตว์ ได้นำไปทดสอบและขยายพันธุ์ต่อ โดยนำไปผสมกับโคพันธุ์ต่างๆ เช่น โคเนื้อพันธุ์อเมริกันบราห์มัน (American Brahman) โคนมพันธุ์โฮลสไตน์ฟรีเชี่ยน (Holstein Freisian) และมอบหมายให้สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์สกลนครเลี้ยงดู รวมทั้งโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ขอรับการสนับสนุน เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรเป็นอาชีพเสริมในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
ในปี 2544 กรมปศุสัตว์ได้จัดทำโครงการวิจัยและทดสอบพันธุ์และกระจายพันธุ์โคลูกผสมทาจิมะขึ้นที่จังหวัดสกลนครเพื่อกระจายพันธุ์โคลูกผสมทาจิมะไปสู่เกษตรกรรายย่อย รวมทั้งศึกษาคุณภาพซากโคลูกผสมทาจิมะ ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น
ขณะนี้ทุกอย่างกำลังถูกเก็บข้อมูลเพื่อนำไปสรุปผลถึงความเป็นไปได้ในการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงต่อไป
โคเนื้อสายพันธุ์ญี่ปุ่น ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงปี พ.ศ. 2373 ถึง 2388 โดยการสร้างสายพันธุ์เลือดชิด (Inbred strains) ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศญี่ปุ่น ด้วยวัตถุประสงค์ไว้ใช้แรงงาน มาจนถึงวันนี้จึงได้สายพันธุ์โคที่ให้เนื้อคุณภาพสูง ซึ่ง ผอ.ยอดชาย ได้สรุปให้ฟังถึงลักษณะรูปร่างของโคเนื้อญี่ปุ่นว่า
1. ขนปกคลุมร่างกายสีดำเป็นลักษณะเด่น และเป็นโคสีดำที่มีจุดขาวที่เต้านมหรือบริเวณส่วนท้ายของลำตัว หรือลักษณะที่มีขนสีขาวบนผิวหนังสีดำ จะเป็นลักษณะที่เกษตรกรจะชื่นชอบมากกว่าโคที่มีสีดำเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม จุดสีขาว สีน้ำตาลและสีทอง ก็สามารถปรากฏให้เห็นได้
2. ขนาดร่างกายเล็ก ความสูงที่วัดที่อก ของโคเพศเมียจะอยู่ระหว่าง 115 ถึง 118 เซนติเมตร ส่วนโคเพศผู้ จะอยู่ระหว่าง 123 ถึง 125 เซนติเมตร
3. ส่วนกลางของลำตัวจะกางออก ซี่โครงแข็งแรง ส่วนขาหลังและลำคอจะบาง
4. ขนและหนังจะมีคุณภาพดี ขนหยักเป็นลอน เขามีสีเขาอมฟ้า เนื้อเขาละเอียดเรียบและกลม ร่างกายได้สัดส่วน ข้อต่อ เส้นเอ็นแข็งแรง กีบเท้ามั่นคง เคลื่อนไหวอย่างสง่างาม
5. โคสาวจะผสมพันธุ์และให้ลูกตัวแรกเมื่ออายุประมาณ 24 เดือน โคเพศผู้เริ่มใช้ผสมพันธุ์เมื่ออายุ 3 ปี และเมื่ออายุได้ 5 ปี โคพ่อพันธุ์สามารถผสมแม่พันธุ์ได้ 80 ตัว ต่อปี
6. ความสามารถในการทำงาน เช่น ลากเกวียนหรือบรรทุกน้ำหนักลดลง
7. ความสามารถในการให้ผลผลิตน้ำนม ประมาณ 3.3 กิโลกรัม ต่อวัน ความยาวระยะรีดนม (lactation period) ประมาณ 116 วัน อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการให้น้ำนมจะแปรปรวนในแต่ละตัว
8. น้ำหนักร่างกายและประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร (feed efficiency) ต่ำ แต่ให้เนื้อคุณภาพสูงที่มีไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ (marbling) มาก
ทำไม เนื้อโคญี่ปุ่นจึงมีรสชาติดี ผอ.ยอดชาย กล่าวว่า
"เนื่องจากมีความนุ่มเพราะมีไขมันแทรกมาก มีสัดส่วนของกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) ต่อสัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (monounsaturated fatty acid) ต่ำ เมื่อบริโภคจึงมีไขมันติดลิ้นน้อย โคพันธุ์แท้เพศผู้ขุนจะมีไขมันที่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับซากโคพันธุ์อื่นที่มีน้ำหนักเท่ากัน"
"ดังนั้น ผลผลิตที่ได้จะสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ โคเพศผู้และเพศเมียที่จะนำไปขุนระยะสุดท้ายน้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ราคาตัวละ 119,000 บาท ราคาโคเพศผู้ขุนคุณภาพดี น้ำหนัก 700 ถึง 740 กิโลกรัม จะมีราคาประมาณ 340,000 บาท ดังนั้น เนื้อโคพันธุ์ญี่ปุ่นขุนได้ชื่อว่าเป็นเนื้อที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ทั้งในภัตตาคารญี่ปุ่นและร้านจำหน่ายเนื้อในประเทศญี่ปุ่น" ผอ.ยอดชาย กล่าว
นี่จึงเป็นอีกเรื่องราวหนึ่งของสายพันธุ์โคเนื้อจากประเทศญี่ปุ่นที่กรมปศุสัตว์ ได้นำเข้ามาศึกษาทดลอง และอีกไม่นานคงมีข้อสรุปที่แน่นอนให้เกษตรกรได้เลือก เพื่อก้าวไปสู่อาชีพที่มั่นคงต่อไป
**สายพันธุ์โคของญี่ปุ่น
สำหรับการสร้างพันธุ์โคในประเทศญี่ปุ่นนั้น ผอ.ยอดชาย ได้เล่าให้ฟังว่า การสร้างสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการตรึงสายเลือดเพื่อสร้างพันธุ์ใหม่ รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดให้มีการจดทะเบียนและการคัดเลือกพันธุ์ ตามโครงการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อญี่ปุ่น (Improved Japanese Cattle) ในปี พ.ศ. 2452 ซึ่งการคัดเลือกพันธุ์ได้คัดเลือกลักษณะที่ดีหรือเหนือกว่าทั้งจากพันธุ์พื้นเมืองเดิมและพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และโคที่ได้จากการผสมข้ามพันธุ์กับพันธุ์ต่างประเทศ มีลักษณะปรากฏ(phenotype) ที่แปรปรวนมาก
ถึงแม้ว่าจะมีเป้าหมายของการคัดเลือกลักษณะแต่ละลักษณะที่แน่นอนและมีหน่วยงานหรือองค์กรที่รับผิดชอบที่สร้างขึ้น แต่น้ำเชื้อแช่แข็งของโคพ่อพันธุ์บางตัวถูกนำไปใช้ในต่างพื้นที่ ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าในโคเนื้อญี่ปุ่นยังคงมีความแปรปรวนมากในระดับของกลุ่มย่อยของสายพันธุ์ (sub breed group) และเนื่องจากสภาพพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นมีความแตกต่างกันมาก ตลอดจนการคัดเลือกลักษณะต่างๆ ของโคที่เข้มงวดในแต่ละพื้นที่ ทำให้มีการจัดสายเลือด (bloodlines) ขึ้นใหม่ โดยการใช้ลักษณะรูปร่างภายนอกเป็นตัวกำหนด สายเลือดหลักใหญ่ 3 สายเลือด คือ
1. สายฟูจิโยชิ (Fujiyoshi) จากพื้นที่โอกายาม่า (Okayama) ลักษณะโดยทั่วไป ร่างกายได้สมดุลดี ลูกโคจะมีอัตราการเจริญเติบโตดีและให้เนื้อที่มีคุณภาพดี เขตพื้นที่ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และโคมีประวัติของลักษณะต่างๆ ที่ได้สมดุลดี จะถูกค้นหา และโคสายเลือดนี้ได้เริ่มในตำบลโทมาดะ(Tomada) ในเขตพื้นที่โอกายาม่า(Okayama)
2. สายทาจิริ (Tajiri) หรือ ทาจิมะ(Tajima) จากพื้นที่เฮียวโก (Hyogo) เป็นโคที่สืบสายเลือดจากโคพ่อพันธุ์ที่ชื่อว่า ทาจิริ เกิดในปี พ.ศ. 2482 ที่ตำบลมิกาตะ (Mikata) เขตพื้นที่เฮียวโก (Hyogo) โคพ่อพันธุ์ตัวนี้มีอิทธิพลในการขยายพันธุ์ไปทั่วพื้นที่เฮียวโก กล่าวได้ว่าสายพันธุ์ย่อยๆ ทุกสายในพื้นที่นี้ล้วนเกี่ยวพันกับพ่อโคทาจิริ
โคสายเลือดนี้มีชื่อเสียงในเรื่องของลักษณะที่เลี้ยงดูง่าย เชื่อง และลักษณะนี้ถูกถ่ายทอดไปยังโคพ่อพันธุ์และโคแม่พันธุ์จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโคพ่อพันธุ์ที่ชื่อว่า ตาฟูกุโดอิ(Tafukudoi) มีบางสายพันธุ์ย่อยได้ถูกผสมพันธุ์แตกแขนงย่อยออกจากสายเลือดทาจิริ และสร้างสายเลือดขึ้นใหม่ เช่น ในพื้นที่มิยาซากิ (Miyazaki) เกาะกิวชิว (Kyushu) และคาโกชิมะ(Kagoshima) เนื่องจากมีความต้องการที่จะปรับปรุงโคในเรื่องของลักษณะที่เลี้ยงดูง่ายและเชื่อง จึงได้นำโคสายเลือดทาจิริเข้าไปใช้ในแผนการผสมพันธุ์ การกระทำเช่นนี้จึงส่งผลให้เป็นการปรับปรุงโคเนื้อพันธุ์ญี่ปุ่นได้รับการพัฒนาทั่วทั้งประเทศ
โคสายเลือดทาจิริมีพันธุกรรมที่ดีเลิศในเรื่องคุณภาพเนื้อและไขมันแทรกในกล้ามเนื้อ แต่เป็นโคที่มีโครงสร้างของร่างกายเล็ก และมีอัตราการเจริญเติบโตช้า พื้นที่เฮียวโกเป็นพื้นที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา และไม่กว้างขวางมากนัก โคที่มีลักษณะเชื่อง เลี้ยงดูง่าย จึงเป็นประโยชน์ในการใช้แรงงาน เนื้อโคขุนที่มีชื่อเสียงมากที่ผลิตในพื้นที่นี้ก็คือ เนื้อโกเบ (Kobe beef) และเนื้อมัทซึซากะ (Matsuzaka beef) ก็ได้จากโคสายเลือดนี้
3. สายเคดากะ (Kedaka) จากพื้นที่ทอทโทริ (Tottori) โคสายเลือดถูกปรับปรุงพันธุ์ขึ้น ในเขตพื้นที่ทอทโทริ (Tottori) จากโคพ่อพันธุ์ที่มีชื่อว่า เคดากะ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2502 จากสายพันธุ์ย่อยไอโกะ(Eiko) โคสายเลือดนี้จึงเป็นโคที่แตกแขนงจากโคสายเลือดไอโกะ
ลักษณะประจำสายเลือดเป็นโคที่มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี โครงสร้างร่างกายใหญ่ แนวหลังแข็งแรง และรูปร่างโดยทั่วไปได้สัดส่วน ผิวหนังค่อนข้างหลวม
โคพ่อพันธุ์ที่เกิดจากเคดากะถูกนำไปใช้ในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีแนวโน้มทางด้านพันธุกรรมสูง ในลักษณะการเจริญเติบโตดี และเนื้อมีคุณภาพสูง รวมทั้งการมีลักษณะรูปร่างที่ดี การจัดการเลี้ยงดูที่ง่าย เชื่อง และมีความสมบูรณ์พันธุ์ดี จึงถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงพันธุ์อย่างแพร่หลาย การปรับปรุงพันธุ์ด้วยโคสายเลือดเดากะดำเนินการในพื้นที่มิยาซากิ (Miyazaki) และคาโกชิม่า(Kagoshima)
http://www.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=0510150748&srcday=2005/07/15&search=no
จากคุณ :
ว่านน้ำ
- [
24 เม.ย. 50 20:21:26
]
|
|
|