ความคิดเห็นที่ 15
คู่ ... โดย อารยา เส็งสาธุ ค่าเฉลี่ย: 3.6 จำนวนผู้ประเมิน: 5 โดย anonymous
นอกเหนือไปจากความต้องการขั้นพื้นฐานตามปัจจัย ๔ แล้ว ในช่วงชีวิตหนึ่งของคนเรา สิ่งที่ต้องการก็ คือการมีคู่ครองที่ดี เพื่อสร้างครอบครัวที่มีความสุขต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะคุณผู้หญิงทั้งหลายต่างก็ใฝ่ฝันที่จะได้แต่งงานแต่งการ ออกเรือนไปสร้างครอบครัวกับคู่ครองของตน ผู้เขียนเองก็อยากแต่งงานแต่ก็ยังไม่มีใครมาสู่ขอเสียที ได้แต่ทอดถอนใจว่า เฮ้อ
.เรานี่สงสัยจะขายไม่ออก
เอาละค่ะ ระหว่างที่รอให้ใครมาขอ เรามาพิจารณาถึงพิธีมงคลสมรสหรือพิธีแต่งงานในสมัยก่อนกันดีกว่า เอ แต่ถ้าจะพูดถึงขั้นตอนของพิธีนี้ หลายคนอาจจะเบื่อแล้วก็ได้ เราลองเปลี่ยนประเด็นใหม่ มาดูสิว่าในพิธีแต่งงานสมัยก่อน มีลูกเล่นอะไรที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีการบ้าง
อย่างที่ทราบกันดีว่าพิธีแต่งงานเป็นเรื่องของการครอง "คู่" ฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องมีคู่ ดูอย่างเช่นเดือนที่จะถือฤกษ์แต่งงานก็ต้องเป็นเดือนคู่ (นับตามเดือนไทยนะคะ) อย่างเดือน ๒, ๔, ๖ และ ๑๐ ที่เว้นเดือน ๘ ไปเพราะอยู่ในช่วงเทศกาลสำคัญทางศาสนา คือวันอาสาฬหบูชา และต่อเนื่องด้วยวันเข้าพรรษา จึงเลื่อนมานับเดือน ๙ แทน เพราะเสียงพ้องกับคำว่า "ก้าว" ถือเป็นเคล็ดว่าจะได้ก้าวหน้ารุ่งเรือง ต่อมาก็นับเดือน ๑๑ เป็นเดือนแต่งงานด้วย ทั้งนี้ถึงแม้ว่าเดือน ๑๑ จะเป็นเดือนคี่ แต่เนื่องจากมีเลข ๑ อยู่สองตัวก็คือมีคู่นั่นเอง ส่วนเดือน ๑๒ อันเป็นเดือนคู่นั้น ไม่นิยมแต่งงานเลย เพราะสมัยก่อนตรงกับช่วงน้ำหลาก ข้าวปลาอาหารไม่บริบูรณ์ ทั้งยังตรงกับช่วงติดสัดของสุนัขอีกด้วย แต่สำหรับในสมัยนี้เข้ายุคสมัยที่ผู้คนรุ่นใหม่ "ไม่ถือ" อะไรกับสาระแห่งวัฒนธรรมอีกต่อไปแล้ว อยากจะแต่งตามสะดวกเมื่อไรก็แต่ง
นอกเหนือจากเดือนแล้ว ก็มาถึงเรื่องการจัดขันหมาก พูดว่าขันหมากก็แสดงว่าในขันต้องมีหมาก แต่จะเป็นขันไหนกันล่ะ ขันหมากที่ใช้ในขบวนนั้น จะต้องจัดเป็น ๒ อย่าง คือ ขันหมากเอก และ ขันหมากโท เดิมทีเขาจัดให้มีขันหมากเอก ๑ ขัน ขันหมากโท ๒ ขัน แต่เพื่อความลงตัวของ "คู่" ต่อมาจึงจัดขันหมากเอกเพิ่มอีก ๑ ขัน ส่วนขันหมากโทจะเพิ่มเท่าไรก็ได้แต่ต้องเป็นคู่
ขันหมากเอก นั้นใส่หมากพลูที่จัดจีบไว้ ใส่สินสอดและเงินทุน (ขออธิบายสักเล็กน้อย สมัยก่อนเงินทุนที่ว่าก็คือเงินที่พ่อแม่ของแต่ละฝ่าย ให้กับลูกตนเองไว้เป็นทุนทำกิน คนละอย่างกับสินสอดซึ่งเป็นเงินที่มอบให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นค่าน้ำนม) ใส่ของอันเป็นมงคล อย่าง ถั่ว งา ข้าวเปลือก ใบเงินใบทอง เชื่อตามคติว่าจะได้เจริญงอกเงยอุดมสมบูรณ์ โดยต้องมีฝาปิด หุ้มผ้าลายและใช้ผ้าไหมรัดไว้
ขันหมากโท ถือว่าเป็นบริวารขันหมาก ใส่ของใช้อย่าง ผ้าไหว้สำหรับผีบรรพบุรุษ หรือพ่อแม่ของฝ่ายหญิงเท่านั้น อันนี้ก็ต้องจัดเป็นคู่เช่นกัน (คนละอย่างกับผ้ารับไหว้ของคู่บ่าวสาวที่จะมอบให้ญาติและแขกเหรื่อนะคะ) ใส่อาหาร จำเพาะว่าจะต้องดิบ ไม่ว่าจะเป็นหมู หรือไก่ เพื่อจะได้นำไปทำให้ "สุก" อันพ้องกับคำว่า "สุข" ที่บ้านเจ้าสาว และใส่ผลไม้อันได้แก่ มะพร้าวอ่อน กล้วยน้ำว้า ส้มโอ, ใส่เหล้า จะเหล้าขาวเหล้าสีก็แล้วแต่, ต้นไม้ให้คู่บ่าวสาวปลูกร่วมกัน อันได้แก่ ต้นกล้วยต้นอ้อย ตามความเชื่อว่าความรักจะได้สดชื่นหอมหวานมีลูกหลานเต็มบ้าน ต้นหมาก ต้นพลู ต้นมะพร้าว (ที่เพิ่งงอกมาจากผลแก่) ให้เกิดความเจริญก้าวหน้ารุ่งเรือง, และของสำคัญอีกประการที่จะขาดไม่ได้ คือขนมแต่งงาน อันมีขนมกง (รูป ๑) ขนมทองเอก (รูป ๒) ขนมชะมด ขนมสามเกลอ (รูป ๓) ขนมโพรงแสม (รูป ๔) ขนมรังนก ปัจจุบันหาได้ยาก มีเพียงบางอย่างที่ยังพอหากินได้ ที่ลานขายขนมไทยใน ดิ โอ สยาม พลาซ่า ซึ่งผู้เขียนจะแวะไปชิมอยู่บ่อย ๆ และความที่หาคนทำยาก จึงหันมาใช้ทองหยิบทองหยอด ขนมชั้น ขนมถ้วยฟู ขนมหม้อแกง ข้าวเหนียวแก้ว คนไทยที่มีเชื้อสายจีนก็ใช้ขนมเครื่องจันอับแทน คนไทยแท้รุ่นต่อมาเห็นก็ตามอย่างโดยไม่ได้พิจารณาให้ถ่องแท้
มีหลักฐานบันทึกในหนังสือ ๑๐๐ ปี พระยาอนุมานราชธน และ หนังสือแต่งงานบ่าวสาวของไทย โดยท่านเสฐียรโกเศศ กล่าวไว้ตรงกันว่า ทั้งขนมชะมด และขนมสามเกลอถือเป็นขนมเสี่ยงทาย โดยตอนหนึ่งในหนังสือ ท่านเสฐียรโกเศศ กล่าวไว้ว่า
"ขนมชะมดหรือขนมสามเกลอ เขาถือเป็นขนมเสี่ยงทายในพิธีแต่งงาน คือ เอาขนมปั้นกลม ๆ ยังไม่ได้ทอดน้ำมันมา ๓ ลูก เอามือจับให้ตัดกันอย่างก้อนเส้า เอาลงชุบแป้ง แล้วค่อยค่อยผจงวางลงในกระทะน้ำมันทอด ถ้ายังติดกันอยู่ดีทั้ง ๓ ลูก ก็หมายความว่า คู่บ่าวสาวที่แต่งงานกันนี้จะอยู่กันด้วยดีตลอดจนมีลูกเต้าด้วย ถ้าหลุดหรือแตกไปจากกันเสียลูกหนึ่ง ยังติดกันอยู่เพียง ๒ ลูก ก็หมายความว่า มีลูกยากหรือไม่มี ถ้าแตกหรือหลุดออกหมดทั้งสามลูก ก็หมายความว่า จะอยู่ด้วยกันไม่ยืดยาว เหตุนี้ลางทีเพื่อให้แน่ใจ เขาจึงใช้ไม้เสียบยึดไว้เพื่อไม่ให้หลุดไปจากกัน อันเป็นวิธีจะเรียกว่า เลี่ยง หรือ โกง ก็เห็นจะได้"
ขนมชะมดนั้นทำจากถั่วเขียวนึ่งสุก อันนี้หากินไม่ได้แล้ว ส่วนขนมสามเกลอทำจากแป้งข้าวเหนียว ถ้าใครได้ไปเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ ๒๘ ที่ผ่านมา คงจะเห็นและได้ชิมขนมสามเกลอซึ่งตั้งร้านอยู่ตรงทางเข้าโซน B ด้านถนนราชสีมา และขนมรังนกนั้นเป็นคนละอย่างกับมันรังนก ถือได้ว่าขนมที่โบราณมาก เพราะไม่ปรากฏหลักฐานถึงรูปพรรณ วัตถุดิบ และวิธีทำแต่อย่างใด ผู้เขียนพยายามหาภาพมาขยายจินตนาการของชาว XAAP เท่าที่จะหาได้
แม้ว่าพิธีนี้จะเป็นงานมงคลชวนให้สนุกสนานรื่นเริงก็ตาม กระนั้นก็มีข้อห้ามอันถือเป็นเคล็ดอยู่หลายประการเช่น ห้ามหญิงหม้าย และสาวแก่ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ร่วมยกของในขบวนขันหมาก ส่วนผู้ที่ร่วมขบวนขันหมาก เมื่อรับของมาแล้วห้ามวางลงโดยเด็ดขาด จะต้องยกหรืออุ้มไว้จนกว่าจะไปถึงบ้านเจ้าสาว ห้ามก่อการทะเลาะวิวาทในงาน และห้ามทำข้าวของแตกหักเสียหาย เพราะถือเป็นลางไม่ดีต่อชีวิตคู่ของบ่าวสาว แต่ถ้าหากสุดวิสัยมีข้าวของแตกหัก ก็ไม่ให้ทักหรือพูดถึงแต่อย่างใด แต่ให้รีบเก็บออกไปทิ้งเสียให้พ้นจากบริเวณงาน เป็นการแก้เคล็ด
อาหารคาวต้องห้ามก็ ได้แก่ ต้มยำ ต้มผัก แกงบอน เพราะชื่อไม่เหมาะกับงานมงคลนัก และห้ามทำข้าวต้ม เนื่องจากเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงแขกในงานศพ
ขนมที่ไม่ใช้ในพิธีนี้ คือ ขนมต้มแดง ต้มขาว เพราะเป็นขนมที่ใช้ในการบวงสรวงพิธีทางไสยศาสตร์
พิธีแต่งงานเป็นพิธีที่ครื้นเครงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลายกขันหมาก ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมงานมาหลายครั้ง ที่จัดตามประเพณีไทยแท้ก็มี ที่ประยุกต์เอาวัฒนธรรมจีนมาใช้โดยไม่รู้เรื่องก็มี จะว่าไปแล้วปัจจุบันคนที่จะรู้จริง หรือเข้าใจวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้งจริง ๆ หายากมาก เพราะแต่ละคนมีความสนใจที่ไม่เหมือนกัน บางคนมีความรู้ความชำนาญแต่ถ่ายทอดความรู้นั้นไม่เป็น หรือบางทีถ่ายทอดเป็น แต่คนที่รับช่วงความรู้นั้นไม่สนใจนัก ก็ทำอย่างไม่ถูกต้อง และถ่ายทอดความรู้ผิดๆ นั้นต่อไป ผู้เขียนเคยได้ยินคุณย่าพูดให้ฟังอย่างนี้บ่อยๆเมื่อยังเด็ก และเห็นจริงเมื่อโตขึ้น มีผู้ใหญ่หลายคนที่ไม่รู้ประเพณีที่ถูกต้อง ทำตามที่ได้รับถ่ายทอดมาโดยไม่เข้าใจความหมาย ถึงแม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไป ขั้นตอนและพิธีแต่งงานอาจจะต่างไป อย่างไรเสียเราเป็นชนชาติที่มีอารยะทางวัฒนธรรม อย่าได้ลืมขนบประเพณีอันเป็นตัวตนเราไปเสียทั้งหมดก็แล้วกัน เหลือติดเอาไว้บ้าง
.นะ
อ้างอิงข้อมูล : ธนากิต, ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย, ชมรมเด็ก, กทม., ๒๕๓๙. จันทร์ ไพจิต ป.๙, ประมวลพิธีมงคลของไทย, วัฒนาพานิช, กทม., ๒๕๒๐. ภาพ : นิตยสารแม่บ้านทันสมัย เดือนสิงหาคม (ปักษ์หลัง) ๒๕๓๕. http://www.xaap.com/thai/resource/article/main_list_article.asp?catid=381&rid=959
จากคุณ :
ว่านน้ำ
- [
16 เม.ย. 51 15:11:51
]
|
|
|