Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    ** กะปิ – งาปิ – เยื่อเคย ชื่อนี้มีตำนาน **

    กะปิ แทบทุกบ้านต้องรู้จักกะปิเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นส่วนประกอบของอาหารไทยหลายประเภท เช่น น้ำพริกกะปิ ข้าวคลุกกะปิ กุ้งผัดกะปิ หรือเป็นเครื่องผสมในการทำอาหารต่างๆ กะปิทำจากกุ้งตัวเล็กๆนำมานวดกับเกลือ ตากแดด และตำให้ละเอียด ทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

    ที่มาของคำว่ากะปิ มีที่มาจากการกร่อนเสียงลงของชาวมอญ ซึ่งเรียกตามอย่างพม่าว่า “งาปิ” โดยมีรากศัพท์มาจาก “งา” แปลว่า ปลา “ปิ” แปลว่า ทับ ซึ่งก็คือ ปลาทับ คือการถนอมอาหารอย่างชาวพม่า ต่อมามีการทำด้วยกุ้งตัวเล็กก็ยังเรียกงาปิ เช่นกัน

    สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประพาสเขาสามร้อยยอด ระหว่างทางเสด็จหยุดพักถึงตำบลหนึ่ง เจ้าพนักงานจัดเตรียมเครื่องเสวยช้า ชาวเขาจึงทูลเกล้าถวายกะปิ จึงทรงสั่งให้นำข้าวคุลกกับกะปิเสวย จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “เขาเสวยกะปิ” ปัจจุบันอยู่แขวงสามพระยา เขตชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

    ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ สังคมไทยสมัยนั้นเรียกกันตามอย่างภาษาพม่าว่า “งาปิ” กันเต็มบ้านเต็มเมือง ซึ่งไม่ทรงโปรด จึงทรงมีพระบรมราชโองการเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๖ ประกาศติดไว้ที่หน้าพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ ประกาศให้ทั่วพระราชอาณาจักรเรียกกันเสียใหม่ เรียกกะปิว่า “เยื่อเคย”  เรียกน้ำปลาว่า “น้ำเคย”

    ทั้งนี้การประกาศออกไปเช่นนี้ ทำให้คนไม่ดีเกิดการรีดไถเอาเปรียบชาวบ้าน โดยแสร้งแปลความว่า “ห้ามมิให้ใช้คำว่ากะปิ และให้เรียกเยื่อเคย” ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนเสียค่าปรับเป็นการใหญ่ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระบรมราชโองการประกาศซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “โปรดเกล้าฯให้เรียกกะปิน้ำปลาตามอย่างโบราณ”

    ชาวสยามบริโภคกะปิเป็นจำนวนมาก สามารถเก็บภาษีเยื่อเคย ได้ปีละ ๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งขึ้นตรงต่อกรมพระคลังสินค้า การค้าขายกันตวงเป็นทะนาน และปั้นเป็นลูกๆขายกัน

    ครั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ คำว่า “เยื่อเคย” กลายเป็นคำสุภาพ ใช้กันในหมู่ชาววัง ซึ่งใช้กันสลับไปมากับ “กะปิ”  ซึ่งกะปินี้รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเสวยข้าวคลุกกะปิ เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรป  
    "เหลือกะปิน้ำตาลติดก้นขวด  เอามาปนกับมะนาวบีบ พริกป่นโรยลงไปหน่อยคลุกข้าวกินกับหมูแฮม  แลกับฝรั่ง เพลินอิ่มสบายดี  คงเหมือนเปิดปากถุง ใส่ลงไปหายพร่อง  ไม่มาตันอยู่หน้าอกเช่นขนมปังกับเนื้อเลย"

    อีกทั้ง ม.จ. หญิงจงจิตถนอม ดิศกุล ทรงทำกะปิพล่าถวายพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่พอพระราชหฤทัยถึงกับทรงขอเสวยซ้ำในวันรุ่งขึ้น  และได้พระราชทานรางวัลเป็นสร้อยข้อมือ ๑ เส้น พร้อมด้วยพระราชดำรัสว่า "ข้าได้กินน้ำพริกของเจ้า ทำให้ข้ารอดตายไปได้"

    ดังนี้กะปิ เป็นเพียงการถนอมอาหารอย่างหนึ่งเป็นประเภทการดองด้วยเกลือ  สิ่งเล็กๆนี้ครั้งหนึ่งเคยมีประวัติตามที่ได้กล่าวมา

     
     

    จากคุณ : หนุ่มรัตนะ - [ 23 ก.พ. 52 11:38:41 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com