Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com


    เรื่องเล่าตำรับคุณชาย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ...วัฒนธรรมอาหารในสังคมไทย

    ไปอ่านเจอในมติชนมาครับ เลยเอาเกร็ดความรู้มาฝากเพื่อน พี่ๆ น้า อากัน

    ได้ความรู้เกี่ยวกับอาหารเยอะเลยนะครับลองอ่านดู แถมตอนท้ายคุณชาย

    ถนัดศรีเล่าเกี่ยวกับอาหารในวังไว้ด้วยครับ น่าสนใจมาก ลองอ่านดูนะครับ

    ....................................................................................

     



    เล่าขานตำนานศาลายา ครั้งที่ 3 ตอน 'เปิดตำรับ   สำรับศาลายา' จัดขึ้นที่เรือนไทย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2551 สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีไทย-สากล ขับร้อง ได้ปาฐกถานำเรื่อง  'วัฒนธรรมอาหารในสังคมไทย' ไว้อย่างน่าสนใจ

    คุณชายถนัดศรี ผู้สร้าง 'เชลล์ชวนชิม' นับเป็นปูชนียบุคคลทางด้านอาหาร เป็นนักชิมที่มากด้วยประสบการณ์ เกิดในวัง โตในวัง และมีครอบครัวในวัง

    ตลอดอายุที่ผ่านมา 82 ปีของคุณชายถนัดศรี จึงเป็นเสมือนการเล่าขานตำนานอาหารให้คนรุ่นหลังฟังอย่างเอ็นดู

    "ยิ่งแก่ไม่รู้งานมันเข้าอย่างไร ที่จริงคนอายุ 82 เขาควรจะนั่งหายใจทิ้งแล้วนะ แต่ผมนั่งหายใจทิ้งไม่ได้ ประเดี๋ยวก็มา ประเดี๋ยวก็มา ยิ่งตอนได้ศิลปิน  แห่งชาติ ทั่วสารทิศก็จองงานเลี้ยง ผมก็บอกว่ามีแต่อาหารกลางวันกับอาหารค่ำ ต่างก็ทยอยจองกันมา อาหารเย็นบางทีก็ยืดเยื้อไปจนกระทั่งถึง 2 ยาม ขอเรียนตามตรงว่าเวลานี้ เหนื่อยเต็มที เหนื่อยในการกินครับ"

    "แล้วก็อายุมากเข้าแล้ว เรื่องอาหารต่างๆ นานานี่ ลดน้อยถอยลงมากเลยทีเดียว เพราะว่าทางญี่ปุ่น เขาบอกว่าคนที่จะอายุยืนต้องประกอบด้วย 2 ประการ คือ 1.รับประทานอาหารที่เป็นปลา 2.ร้องเพลงวันละ 3 เพลง"

    คุณชายถนัดศรี เกริ่นนำอย่างอารมณ์ดี พร้อมกับเข้าเรื่องอาหารว่า

    "ส่วนเรื่องอาหารการกินนั้น ผมคุ้นกับอาหารชาวบ้านดี ก็อยากจะเรียนให้ทราบว่า วัฒนธรรมทางด้านอาหารของเรามันมีที่มา     ตั้งแต่มีเอกสารอ้างอิงก็คือ ในสมัยอยุธยา ทางบาทหลวงฝรั่งเศสที่เข้ามาในเมืองไทย เช่น บาทหลวงเดอ แดร์ ลูแบร์ ที่เห็นอะไรก็จะจดไว้หมด วิถีชีวิตของคนไทยในสมัยนั้นเป็นอย่างไร ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีคนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารหลายพวก หลายเหล่า มีจีน มีญี่ปุ่น มารับราชการจนได้เป็นออกญาภิมุข      เป็นเจ้าเมือง คนที่มาจากตะวันออกกลาง ก็คือต้นตระกูล   บุนนาค เฉก อาหมัด คำว่าเฉก ก็มาจากคำว่า  ชีค ก็คือหัวหน้าเผ่า ลากเข้าเป็นภาษาไทย ก็คือ เฉก ท่านก็เลยกลายเป็น เฉกอาหะหมัด ตระกูลบุนนาคนั้นเป็นตระกูลใหญ่ และมีวงศ์วานออกไปอีกไม่รู้อีกกี่ตระกูลด้วยกัน และตระกูลบุนนาคนี้นำเอาอาหารจากตะวันออกกลาง คือ  ข้าวหมกไก่ เอาเข้ามา"

    คุณชายถนัดศรีกล่าวว่า ในสมัยก่อนจะมีการแบ่งอาหารเป็น อาหารไทยแท้ อาหารไทยที่มีอิทธิพลของอาหารต่างชาติเข้ามาปะปน   และต่อมาเป็นอาหารที่รวมกันหมดแล้วในสมัยรัชกาลที่ 5

    "ในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ ท่านทรงเก่งในเรื่องการทำครัว ถ้าได้อ่านพระราชนิพนธ์กาพย์ห่อโคลง  ชมเครื่องคาวหวานของรัชกาลที่ 2 ท่านจะเห็นได้ว่ามีอาหารการกินมากมายเหลือเกิน นั่นเป็นอาหารที่รวมเอาอิทธิพลของอาหารต่างชาติเข้ามารวมเป็นอาหารไทย"

    "อาหารไทยที่แท้จริงนั้น ตามที่เดอ แดร์ ลูแบร์ เขาบอกเอาไว้ว่า คนไทยเราจะกินคือ ปิ้งย่าง แล้วถนอมอาหารด้วยการตากแดด เช่น ปลากรอบ แล้วก็มีต้ม ในสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักที่จะเอา  มะพร้าวมาทำเป็นอาหารคาว คนที่เอามะพร้าวมาทำเป็นอาหาร  คาวได้นั้นคือ ตระกูลบุนนาค มีอาหารของตะวันออกกลางที่ใช้  นมเปรี้ยวคือข้าวหมกไก่ มาเมืองไทย คนไทยไม่กินสัตว์ใหญ่    ไม่กินนม ไม่รู้จักเลย นมควายก็ไม่มีใครแย่ง ให้ลูกควายมันกิน   แต่คนที่มาจากตะวันออกกลางไม่มีนม ก็เลยเอากะทิคั้นให้ข้นๆ  ใช้แทนนมวัวนมควายทำข้าวหมกไก่ จึงได้ชื่อว่า coconut milk ตระกูลบุนนาคจึงได้ชื่อว่าใช้กะทิมาใส่อาหาร"

    "อาหารแต่ดั้งเดิมของเรานี้ก็มีแต่ปลาเป็นพื้น เพราะสัตว์ใหญ่เราไม่กินนะครับ มีปลาเป็นพื้นเลย ไก่นั้นในตอนหลังถึงกิน    ไม่อย่างนั้นไม่กิน ถือว่าบาป จะกินปลาเท่านั้นเอง ในสมัยนั้นเดอ แดร์ ลูแบร์ จึงบอกว่าจะต้องมีปลา จะเป็น  ปลาย่าง ปลาแห้งก็เอามาทำต้มโคล้ง มีต้ม มีจิ้น จิ้นนี่    

    ก็เป็นการถนอมอาหาร เป็นปลาร้า ปลาแจ่ว อันนี้ทำเอาไว้รับประทานได้นานๆ มีคำถามว่าการถนอมอาหารต้องใช้เกลือ เครื่องแกงของเราต้องมีกะปิ อยุธยา ลพบุรี อยู่ลึกเข้าไปเอาเกลือมาจากไหน ในคำให้การชาวกรุงเก่าได้ระบุไว้ว่า พวกของทะเล พวกอาหารเค็ม เกลือ กะปิ มาจากแม่กลอง ที่สมัยก่อนเรียกว่าบางช้าง มาจากแม่กลองโดยเฉพาะเลยทีเดียว แล้วก็จะมีพ่อค้าแม่ค้าเอาเกลือ ของเค็มมาจากทางแม่กลอง มาขายอยู่ที่ท้ายวัดพนัญเชิง อันนี้ทำให้เราได้รู้ว่า เอาเกลือมาหมักทำปลาร้าก็มาจากที่แม่กลองนี่เอง ก็ทำให้เรารู้ว่าเราใช้น้ำปลาอย่างไร เพราะว่าน้ำปลาเกิดจากการหมัก ไม่ว่าจะเป็นปลาสร้อยหรือจะเป็นปลาทะเล ก็จะเป็นน้ำปลาที่เอร็ดอร่อยขึ้นมา"

    จากคุณ : เทพนิทรา - [ 15 มี.ค. 52 00:33:17 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com