|
"ชัยวุฒิ เลาวเลิศ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) อธิบายว่ารังนกเป็นผลผลิตจากนกอีแอ่น (นกนางแอ่น นกแอ่นกินรัง) โดยนิยมนำมาปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มรังนก ปัจจุบันรังนกและผลิตภัณฑ์รังนกมีจำหน่ายหลากหลายรูปแบบ ทั้งรังนกแห้ง รังนกกึ่งสำเร็จรูป รังนกสดพร้อมปรุง เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป เครื่องดื่มรังนกผสมโสม เครื่องดื่มรังนกสูตรไม่มีน้ำตาล เครื่องดื่มรังนกผสมคอลลาเจน
ปัจจุบันตลาดทั้งในและนอกประเทศมีความต้องการบริโภครังนกสูงมาก จนรังนกแท้ตามธรรมชาติไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จึงมีผู้ฉวยโอกาสผลิตรังนกปลอมเลียนแบบรังนกแท้จนเกิดคดีความอยู่เนืองๆ เนื่องจากรังนกแห้งจะมีมูลค่าสูงถึงหนึ่งแสนบาทต่อกิโลกรัม ขณะที่รังนกปลอมที่ทำจากยางคารายาจะกิโลกรัมละ 3,000 -4,000 บาทเท่านั้น จนมีผู้หลงเชื่อซื้อรังนกปลอมสูญเงินนับแสนบาท
“จากการตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ โดยใช้วิธีการทางเคมีและเทคนิคอินฟราเรดสเปคโทรสโคปิ สามารถบอกได้ว่ารังนกแท้ที่ทำมาจากรังนกอีแอ่นจะมีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีนสูงกว่า 50% และมีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 22% ขณะที่รังนกปลอมจะมีโปรตีนเพียง 2% แต่จะมีคาร์โบไฮเดรตสูงกว่า 70% นอกจากนั้นรังนกทุกชนิดจะมีรูปแบบของลายพิมพ์อินฟราเรดสเปคตรัมและส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่มีเอกลักษณ์ แตกต่างจากวัตถุชนิดอื่นชัดเจน โดยเฉพาะรังนกปลอมที่ทำจากยางคารายา”
ชัยวุฒิ เผยว่า จากการสุ่มตัวอย่างเครื่องดื่มรังนกที่ร้านขายบางแห่งในกรุงเทพฯ ตามริมบาทวิถีและร้านค้ามาทดลอง พบว่าเป็นของปลอมที่ทำมาจากยางคารายา แป้งข้าวเจ้าและน้ำมันปาล์ม โดยทำรูปร่างให้ดูคล้ายรังนกซึ่งมีขนอ่อนของนกปะปนอยู่ด้วย ทั้งนี้ยางคารายาที่นำมาผลิตเป็นรังนกปลอมจะมาจากต้นสุพรรณิกา (Sterculia urens) มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย โดยยางคารายามีสีขาว สีเหลืองอมชมพูจนถึงสีน้ำตาลเข้ม กลิ่นคล้ายน้ำส้มสายชู รูปร่างไม่แน่นอน ไม่ละลายน้ำ แต่ดูดซับน้ำและพองตัวคล้ายรังนก โดยยางชนิดนี้ใช้ในอาหารได้ปลอดภัยและยังใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การทำฟัน ยา อาหาร สิ่งทอ กระดาษ"
ที่มา ผู้จัดการ
จากคุณ |
:
Hellbluegirl
|
เขียนเมื่อ |
:
29 ก.ย. 54 10:41:30
|
|
|
|
|