ความคิดเห็นที่ 50
บทสรุป....มารู้จักเหล้าหลักๆ และ เด่นๆ กันส่งท้าย นะครับ "Vodka น้ำเมาสำหรับนักดื่มคอพระกาฬ" เมื่อเอ่ยถึงชื่อถึง "แม่น้ำวอลก้า" ย่อมเป็นที่รู้จักแจ้งกันทั่วบ้านทั่วเมือง คือแม่น้ำสาย สำคัญที่ไหลผ่านไปบนแผ่นดินกว้างของประเทศรัสเซีย สองฟากฝั่งของวอลก้าล้วนเคยเป็นทุ่งสังหารของมนุษย์ที่กรำศึกโรมรัน มานับครั้งไม่ถ้วน คำว่าวอดก้า "Vodka"ในภาษารัสเซียเขียน เป็น "Voda" ซึ่งแปลได้ว่า "น้ำ" หรือ "น้ำอมฤตแห่งชีวิต "ตระกูลเหล้าวอดก้าเกือบเป็นสาขาหนึ่งของ เหล้าวิสกี้ ทั้งนี้เพราะวัตถุดิบที่นำมาหมักกลั่นเป็นเหล้าวอดก้าส่วนใหญ่นิยม ใช้ธัญญพืชชนิดต่าง ๆ แม้แต่ระบบการกลั่น เหล้าวอดก้าก็ใช้เครื่องกลั่น แบบคอนตินิวอัสสตีลล์เช่นเดียวกับการกลั่นเกรนวิสกี้ ผิดเพี้ยนต่างกันก็ตรงปรุงแต่งบรรจุขวดเท่านั้น ดีกรีของเหล้าวอดก้าไต่สูงไปถึงขั้น สุดยอดหรือขั้นน้อง ๆ ของแอลกอฮอล์ บริสุทธื์ ในขณะที่เหล้าวิสกี้ถูกปรุงแต่งบรรจุขวดเป็นสุราดีกรี ขนาดกลาง เหล้าวอดก้าเป็น สุราทีมีดีกรีสูงสุด
"Tequila ตากีล่า น้ำเมาจากแดนจังโก้" เหล้าตากีล่าเป็นเหล้ากลั่นที่มีชื่อเสียงอีกตระกูลหนึ่งที่ควรจะจัดอยู่ใน จำพวกเหล้า พิสดารและเป็นสุราที่มีชื่อเสียงโด่งดังของประเทศแม็กซิโก ดินแดนของจังโก้ชักปืนไวที่ว่าพิสดาร เพราะเหล้าตัวนี้ใช้วัตถุดิบในการผลิตแผกเพี้ยนไปกว่าขบวนเหล้าทั้งหลายทั้งปวง ถ้าเป็นเหล้าพื้น ๆ ที่ชนทั่วไปรู้จักเช่นพวกเหล้าวิสกี้ทุกคน ก็กระจ่างใจดีว่าใช้วัตถุดิบจำพวก ธัญญพืชมาทำการผลิต วัตถุดิบพิสดารที่นำมาทำเหล้าตากีล่าก็คือ ต้นตะบองเพชรกลางทะเลทรายในประเทศแม็กซิโก เหล้าตากีล่าถ้าหมักกลั่นมาจากน้ำของต้นตะบองเพชรเพียงอย่างเดียว ก็คงยังไม่ถึงขั้นพิสดาร และแปลกประหลาด มากนักแท้จริง แล้วการทำเหล้าตากีล่าใช้วัตถุดิบ ที่หายากหา เย็นถึง 4 อย่าง ด้วยกัน ซึ่งแต่ละอย่างแทบจะหาจากที่อื่นไม่ได้เลย นอกจากกลางทะเลทราย เช่นนี้เองจึงถึอได้ว่า เหล้าตากีล่าเป็นเหล้าพิสดาร
วิธีดื่มเหล้าตากีล่าให้อร่อย เหล้าตากีล่าชนิดพิเศษหรือชนิดอะเนโว้ ใช้ดื่มโดยวิธีเดียวกับเหล้าวิสกี้ คือจะดื่มแบบเพียว ๆ ผสมน้ำแข็งที่เรียกว่า ออนเดอร์ร็อคก็ได้หรือจะผสมน้ำผสมโซดาเติมน้ำแข็งก็ได้แต่ถ้าให้ดีควรมีส้มหรือ มะนาว ฝานชิ้นบาง ๆ เสียบไว้ข้างแก้วเหล้าด้วย บางคนดื่มเหล้าตากีล่าพิสดารกว่านี้ คือดื่มเพียว ๆ ตามด้วยเกลือป่นเหยาะตามเข้าไปในปากอีกนิดหนึ่งแล้วบีบมะนาวใส่ปากอีก 3-4 หยด ทำให้เกิดความหอมหวามความอร่อยอย่างประทับใจ เหล้าตากีล่าชนิดขาว และชนิดสีทอง โดยปกตินักดื่มทั่วไปมักจะนำไปผสมเป็นเหล้าคอกเทลเหมือนกับรัมขาว สูตรที่ระบือลือชื่อที่สุด ได้แก่ตากีล่าคอกเทลสูตรมาร์การิต้า ซึ่งผสมง่าย ๆ คือนำแก้วคอกเทลเสียบด้วยมะนาวฝาน เติมแกลือลงในแก้วเติมมะนาว เติมเหล้าตากีล่าและเติมน้ำตาลลงไปนิดหนึ่งก็จะกลายเป็นคอกเทลสูตรมาร์การิต้าทันที
"Gin เหล้ายิน น้ำกล้าหาญผสมยา" การผลิตเหล้าเจนีเวอร์ หรือเจนีวา หรือเหล้ายิน เพิ่งจะเริ่มในปลายศตวรรษที่ 16 การทำเหล้าเจนีเวอร์ของชาวดัชในยุคแรก ใช้มอล์ทของข้าวบาร์เลย์ผสมกับวิสกี้ไรย์และหมักกลั่นก็กลั่นด้วยพอทสตีลล์ขนาดจิ๋ว ออกมาเป็นน้ำเหล้าดีกรีขนาดปานกลาง คือ 70 - 85 ดีกรีระบบยุโรปเมื่อปล่อยให้แอลกอฮอล์เย็นตัวลงประมาณ 2-3 วัน ก็จะนำสุราดังกล่าวมาหมักซ้ำกับผลจูนีเปอร์และเครื่องเทศต่าง ๆ พอส่าได้ที่แล้วก็ลำเลียง ไปกลั่นซ้ำอีกหนหนึ่งในประเทศอังกฤษได้มีการผลิตเหล้าพิสดารไปอีกชนิดหนึ่งคือการ ใช้กากน้ำตาล (Molasses) เป็นวัตถุดิบในการ หมักกลั่นเหล้ายิน เมื่อผลิตสำเร็จรูปออกมาจึงเรียกเหล้ายินชนิดนี้ว่า "ไดร์ยิน" หรือเหล้ายินที่มีหวานแต่น้อย ซึ่งได้รับความนิยมจากคอทองแดงในมหานครลอนดอนมากโข ทุกวันนี้ประเทศอังฤษเป็นชาติที่ผลิตเหล้ายินได้มากเป็นอันดับหนึ่ง และเหล้ายินของอังกฤษก็ได้รับความนิยม จากนักเลงสุราสูงสุด
"Rum เหล้ารัม เมรัยจากน้ำอ้อย" เหล้ารัมเป็นสุรากลั่นตระกูลหนึ่งที่มีชื่อเสียงลือลั่น ไม่แพ้ เหล้ากลั่นชั้นยอดเยี่ยมตระกูล อื่นใดในโลก แต่คำว่า " เหล้ารัม " ดูเหมือนจะ ยังไม่เป็นที่คุ้นหูคุ่นตาของนักดื่มชาวไทยมากนัก เมื่อเอ่ยถึงเหล้ารัม
เหล้ารัม เป็นสุรากลั่นที่ผลิตจากวัตถุดิบจำพวกน้ำอ้อย น้ำเชื่อมของน้ำผลไม้และกากน้ำตาลแหล่งกำเนิดของเหล้ารัม อยู่ทางหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ประเทศในแถบทะเลคาริบเบี้ยน อาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาใต้ รัฐที่มีชื่อเสียงในการผลิตสุรารัมเหล่านั้นคือ เปอโตริกา, คิวบา, เดเมอรารา, บาร์บาโดส, ทรินิแดด,ไฮติ, แซนโตโดมิงโก, จาไมก้า, กีอานาของอังกฤษ และ กีอานาของฝรั่งเศส เหล้ารัมที่มีชื่อเสียงล้วนหมักกลั่นและขนย้ายไปจากภูมิภาคแถบถิ่นนี้แทบทั้งสิ้น กำเนิดรัม ได้มีผู้บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของเหล้าว่ามาจากพวกอินเดียนแดง ซึ่งเป็นชาวพื้นฐานในหมู่เกาะอินเดียตะวันตกโดยพวกพ่อหมอผีทำน้ำเชื่อมผลไม้ ให้เป็นเหล้าซึ่งหมักกลั่นจากน้ำศักดิ์สิทธิ์บนภูเขาสูง เพื่อไว้ดื่มกินในวันสำคัญ เมื่อคราวคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้กางเรือใบท่องไปสู่โลกกล้างเป็นครั้งที่ 2 ก็ได้มีโอกาสลิ้มลองเหล้ารัมของพวกอินเดียนแดงดังกล่าวที่เมืองอโซเรส (Azores) บนเกาะ (Barbados) ในปี ค.ศ.1600 นั้นเป็นครั้งแรกที่ชาวตะวันตกรู้จักเหล้ารัม
"Brandy เหล้าบรั่นดี" เหล้าบรั่นดี ได้รับการเอ่ยขานยกย่องว่าเป็นยอดเหล้าของสุรากลั่นทั่งหมดเรียกว่าเลิศล้ำเหนือกว่า สุรากลั่นตระกูลอื่นใดในโลกทั้งสิ้น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเหล้าบรั่นดีนั้นได้แก่องุ่นเพราะปลูกง่ายหาง่ายต้นทุนไม่แพง และ ให้ผลผลิตทางด้านสุรา มาก รสชาติก็เยี่ยม เหล้าบรั่นดีตระกูลคอนยัคและเหล้าตระกูลอาร์มายัค หรือเหล้า บรั่นดีที่ผลิตตามเหลี่ยมมุม อื่นของโลก ก็ล้วนใช้องุ่นในการผลิตบรั่นดีทั้งสิ้นแต่ถ้าใช้ผลไม้สดประเภทอื่น ๆ ในการทำเหล้าบรั่นดีเหล้าที่ผลิตได้จะถูกเรียกว่า ฟรุ้ท บรั่นดี (FRUIT BRANDY) ผลไม้สดต่าง ๆ ที่นิยมนำมาทำ การหมักกลั่นฟรุ้ทบรั่นดีได้แก่ แอ๊ปเปิ้ล ลูกท้อ ลูกแพร เชอรรี่ สตอเบอร์รี่ รัสเบอรรี่ และแบล๊คเบอร์รี่
"Scotch Whisky สก๊อตวิสกี้ น้ำอมฤตบนเกาะอังกฤษ" สก๊อตวิสกี้ (Scotch Whisky) เป็นสุราอหังการที่มีชื่อเสียงเรียงนามระบือลั่นก้องไปทั่วโลก มันไม่เพียงแต่มีสำคัญในด้านเศรษฐกิจต่อสก๊อตแลนด์เท่านั้นแต่ยังมีความหมายอย่างยิ่งยวด สำหรับประเทศสหราชอาณาจักรอีกด้วย อุตสาหกรรมการผลิตสก๊อตวิสกี้ ได้กำเนิดบนที่ราบสูงของสก๊อตแลนด์มาช้านาน และวิวัฒนาการหลักลงฐานมาจนถึงปัจจุบันอย่างมั่นคงอาจจะกล่าวได้ว่า สก๊อตวิสกี้สามารถวางตัวเป็นนักเลงขนาดเบิ้มยึดตลาดสุราในโลกนี้เป็นส่วนใหญ่ คำว่า Whisky เป็นรากศัพท์มาจากคำว่า Uisge beatha (ยูธ บีทธา) ซึ่งเป็นภาษา Gaelic (ภาษาแกลลิก) ที่เก่าแก่ภาษาแกลลิกเป็นภาษาที่ชาวเซลท์ (Celt) ในสก๊อตแลนด์ภาคเหนือใช้พูดกันซึ่ง มีความหมายแปลว่า "น้ำอมฤตแห่งชีวิต" กำเนิดของสก๊อตวิสกี้มาจากพระในศาสนาคริสต์โดยพระในชนบทของประเทศอังกฤษแต่เก่าก่อน พระคุณท่านมิเพียงแต่จะเชี่ยวชาญหลักแหลมในหลักธรรมอย่างแตกฉานเท่านันแต่ยังเป็นเอกทัคคะ ในการต้มเหล้าเถื่อนอีกด้วย แต่สุราดังกล่าวก็แพร่หลายอยู่แต่ในชนบทเท่านั้นชาวเมืองและชาววังส่วนใหญ่ยังสนใจแต่เหล้าไวน์ กล่าวกันว่าสก๊อตวิสกี้เริ่มมีการหมักกลั่นด้วยระบบเครื่องกลั่นทันสมัยโดยนักอุตสาหกรรมมืออาชีพตั้งแต่ปี ค.ศ.1494 ทางภาคเหนือของสก๊อตแลนด์ แถบถิ่นที่ถูกเรียกขานว่า "ไอท์แลนด์" และเริ่มมีการเก็บภาษีสรรพสามิตเกี่ยวกับสก๊อตวิสกี้ในปี ค.ศ. 1944
"American Whisky อเมริกัน วิสกี้" อเมริกันวิสกี้เกิดมาพร้อมกับการกำเนิดชาติ อเมริกาคือเมื่อชาวอเมริกันเริ่มมีประเทศก็มีเหล้าวิสกี้โดยทันที จึงไม่ต้องไปสืบราวเรื่องให้ลำบากเหมือนชาติเก่าแก่อื่น ๆ ร้านขายเหล้าในยุคอเมิกันบุกเบิก มักถูกพวกคาวบอยเรียกว่า "ฮองกี้ท๊อกซาลูนส์" หรือร้านเหล้าเสียงห่านป่าร้องวิสกี้ยุคแรกที่ชาวอเมริกันดื่มกิน ได้แก่ "วิสกี้ดิบ" คำว่าวิสกี้ดิบคือวิสกี้ที่ยังไม่ได้ปรุงแต่ง รสชาติเรียกว่าพอต้มกลั่นจากเตาไฟก็หิ้วมาใส่ขวดขายได้เลยรสชาติทั้งกระด้าง ทั้งบาดคอ และ ขื่นขมสารพัด แต่คาวบอยทั้งหลายก็ถูกใจ
เหล้าวิสกี้ทำจากธัญญพืชนานาพันธุ์ เช่น ข้าวมอล์ทของบาร์เล่ย์ ข้าวโอ๊ต ข้าวไรย์ ข้าวฟ่าง โดยการนำข้าวไปบดแล้วนึ่งแล้วหมักด้วยเชื้อยีสต์ เมื่อส่าได้ที่ก็ทำการกลั่นด้วยเครื่องระบบต่อเนื่อง (Pantent Stills) แต่ถ้าเป็นมอล์ทวิสกี้ก็ต้องกลั่นด้วยเครื่องกลั่นแบบกลั่นทับ (Pot Stills) อเมริกันวิสกี้จะกลั่นด้วยเครื่องกลั่นระบบต่อเนื่องออกมาเป็นแอลกอฮอล์ 95 ดีกรี จากนั้นก็ไปลดดีกรีโดยการผสมน้ำกลั่นบริสุทธิ์ ให้เหลือ ให้เหลือ 40-50 ดีกรี แล้วเก็บบ่มในถังไม้โอ๊กนานกี่ปีนั่นขึ้นอยู่กับชนิดของสุรา หรือประเภทของวิสกี้นั้น ๆ เมื่อเก็บได้ที่ก็นำออกผสมปรุงแต่ง และบรรจุขวดขาย
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบ จาก Yangsing Club
จากคุณ :
Pinyarit
- [
10 ก.ย. 48 09:38:14
]
|
|
|