Le Cordon Bleu สาขาประเทศไทย
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 กันยายน 2548 18:11 น.
ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ประธานกิตติมศักดิ์ บมจ.ดุสิตธานี กำลังรับไหว้จากมร.อังเดร คอยโทร
http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9480000131928
มร.อังเดร คอยโทร ประธานสถาบันเลอ คอร์ดอง เบลอ กำลังจรดปากกาเซ็นสัญญา
ชนินทธ์ โทณวณิก กรรมการบริหารโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิต กำลังเซ็นสัญญาก่อตั้ง เลอ คอร์ดอง เบลอ ดุสิต อะเคเดมี่ ออฟ เวิล์ด ควิซีน
คงไม่มีใครจะปฏิเสธได้ว่าศิลปะของการครัวหรือปากะศิลป์ของโลกตะวันตกนั้น ชื่อเสียงของการครัวแบบฝรั่งเศสเป็นที่รู้จักกันมาช้านานกว่าชาติใดๆทั้งสิ้น เพราะการครัวในแบบของฝรั่งเศสนั้นสามารถสืบประวัติขึ้นไปได้ช้านานมาหลายศตวรรษ โดยการเลี้ยงฉลองที่สำคัญที่สุดที่จะต้องมีการตระเตรียมทั้งอาหารและเครื่องดื่มที่สำคัญที่สุดมาจากการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง LOrdre des Chevaliers du Saint Esprit ซึ่งกษัตริย์แห่งฝรั่งเศสพระราชทานให้กับพระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลสำคัญ โดยเริ่มครั้งแรกในยุคของกษัตริย์ Henri III ในปีค.ศ.1578 และถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงค.ศ.1789
ในแต่ละครั้งที่มีผู้ได้รับพระราชทานเหรียญตราชั้นสูงนี้ ผู้ได้รับจะถือเป็นเกียรติยศอย่างสูง จึงต้องมีการจัดงานเลี้ยงฉลองอย่างเอิกเกริก จะต้องมีการระดมพ่อครัวผู้มีฝีมือมาปรุงอาหารมื้อสุดพิเศษ โดยคัดเลือกทั้งวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงอาหารไปจนถึงเครื่องดื่มและเมรัยต่างๆอย่างพิถีพิถันเพื่องานฉลองนี้ และด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ประดับอยู่บนแถบแพรสีน้ำเงิน จึงเรียกงานฉลองนี้ด้วยถ้อยคำสั้นๆ ตามสีของแถบแพรนี้ว่า Le Cordon Bleu และเมื่อใดที่เอ่ยชื่อนี้ขึ้นมาก็เป็นที่เข้าใจว่าเป็นงานฉลองที่มีอาหารมื้อสุดยอดนั่นเอง
ต่อมาในปีค.ศ.1895 ได้มีการเปิดโรงเรียนการครัวเป็นครั้งแรกที่มหานครปารีส โดยใช้ชื่อว่า Le Cordon Bleu ตามสัญลักษณ์ของงานเลี้ยงมื้อสำคัญ และเปิดดำเนินการสอนในปีถัดมาที่อาคารบนถนน Saint Honore ใกล้ๆ Palais Royal ชึ่งอยู่ใกล้ๆกับพระราชวังลูฟว์ร์ บนฝั่งขวาของแม่น้ำแซนน์ และเริ่มมีการใช้เตาไฟฟ้ามาใช้ในการสอนการทำครัวสมัยใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่โก้เก๋และทันสมัยเป็นที่สุด เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดควันไฟและกลิ่นไหม้อย่างที่ปรุงอาหารด้วยฟืน
ผู้ให้ความรู้ทางด้านการครัวนั้นจะใช้วิธีเชิญพ่อครัวที่มีชื่อเสียงที่สุดจากแคว้นต่างๆของฝรั่งเศส ซึ่งได้รับความเชื่อถือจากชนชั้นสูงและชนชั้นศักดินาในยุคนั้นมาเป็นผู้สอนในอาหารชนิดต่างๆ ทั้งอาหารคาว หวานและขนม ไปจนถึงขนมปังซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาหารทุกมื้อ
หนึ่งในพ่อครัวที่ได้รับเชิญมาให้ความรู้คือ Henri-Paul Pellapat ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของการครัวสมัยใหม่ของฝรั่งเศส จึงทำให้ชื่อเสียงของสถาบันแห่งนี้ขจรขจายไปทั่วยุโรป จนทำให้นักเรียนจากประเทศต่างๆเดินทางมายังปารีสเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ โดยมีการบันทึกไว้ว่านักเรียนต่างชาติคนแรกเป็นชาวรัสเซีย โดยเข้าเรียนในปีค.ศ.1897 หรือหนึ่งปีหลังจากเปิดโรงเรียนแห่งนี้ และนักเรียนต่างชาติคนแรกจากเอเชียคือชาวญี่ปุ่น ที่เข้าเรียนในปีค.ศ.1905 แปดปีหลังจากเปิดสอน
บุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการสอนที่โรงเรียนการครัวนี้อีกคนหนึ่งคือ Auguste Escoffier พ่อครัวผู้มีฝีมือจากแคว้น Provence ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ที่ได้กลายเป็นครูสอนคู่กับ Pellapat ให้กับสถาบันแห่งนี้ถึง 32 ปี ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงให้กับ Le Cordon Bleu จนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นสถาบันที่ครอบครัวผู้มีฐานะทั่วยุโรปนิยมส่งบุตรหลานสตรีมาเรียนที่นี่ เพื่อที่จะได้รับความรู้และปลูกฝังรสนิยมให้เป็นสตรีที่มีความรู้และความสามารถในเรื่องของการเรือน อันเป็นคุณสมบัติของกุลสตรีในสมัยนั้น
ในปีค.ศ.1933 ศิษย์สองคนของ Pellapat คือ Dione Lucas และRosemary Hume ได้รับการสนับสนุนให้เปิดสถาบันการครัวที่ลอนดอน โดยใช้ชื่อว่า LEcole Du Petit Cordon Bleu ขึ้นในย่าน Victoria โดยสอนเป็นภาษาอังกฤษ และหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง Elizabeth Brassart ได้เข้าดำเนินการต่อโดยย้ายโรงเรียนมาอยู่ที่ 31 Marleybone Lane และเริ่มใช้ผู้สอนเป็นพ่อครัวผู้มีชื่อเสียงจากประเทศอื่นๆ และจากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้ต้องย้ายสถาบันอีกครั้งมายังบ้านเลขที่ 114 บนถนนเดียวกันซึ่งมีเนื้อที่กว้างขวางกว่า
จากนั้นชื่อเสียงของ Le Cordon Bleu โด่งดังข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงสหรัฐอเมริกา โดยที่ Pentagon ได้เลือกสถาบันแห่งนี้เป็นที่ฝึกการครัวให้ทหารในกองทัพอเมริกันในปีค.ศ.1945 จนทำให้ Julia Child นักการครัวและนักจัดรายการอาหารทางโทรทัศน์ของอเมริกา ได้นำวิธีการสอนแบบ Le Cordon Bleu ไปเผยแพร่ซึ่งถือว่าเป็นรายการยอดนิยมที่สุด
และงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน Le Cordon Bleu มากที่สุดคือการที่สถาบันนี้ได้เป็นผู้เตรียมอาหารกลางวันในงานบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระราชินี อลิซาเบทที่ 2 โดยอาหารจานที่สร้างชื่อเสียงให้ก็คือ อาหารที่ปรุงด้วยไก่กระทงชื่อCoronation Chicken นั่นเอง
ชื่อเสียงของ Le Cordon Bleu Paris ได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อภาพยนตร์อเมริกันชื่อ Sabrina แสดงนำโดยดาราสาวผู้มีชื่อเสียง Audrey Hepburn แสดงเป็นเด็กสาวลูกผู้ดีมาศึกษาวิชาการครัวชั้นสูงและใช้ชีวิตในมหานครปารีส ได้ก่อให้เกิดความนิยมกับเด็กสาวที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ไปทั่วโลกให้เอาอย่าง ทำให้เด็กสาวในยุคนั้นล้วนเลือกที่จะศึกษาวิชาการเรือนจาก Le Cordon Bleu ไม่ว่าจะเป็นที่ปารีสหรือลอนดอน ตามความถนัดทางภาษาที่ตนมี
จากจำนวนของนักเรียนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจนสถานที่เริ่มคับแคบ ไม่เพียงพอต่อชั้นเรียน ในปีค.ศ.1984 ทำให้ผู้ถือหุ้นของ Le Cordon Bleu Paris คือ Andre J. Cointreau ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการสุรา Remy Martin ,Cognac และ Cointreau ได้ย้ายสถาบันมายังฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนน์ไม่ไกลจากหอไอเฟลนักที่ 8 Rue Leon Delhomme ทำให้ย่านนั้นเปลี่ยนจากย่านสงบเงียบ กลายเป็นย่านที่คึกคักในเวลาต่อมา
และนอกเหนือไปจากการสอนวิชาการครัวชั้นสูงของฝรั่งเศสแล้ว สถาบันการครัว Le Cordon Bleu Paris ยังได้เพิ่มหลักสูตร การจัดการภัตตาคาร และการบริหารธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย ทำให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารต่างเดินทางมาศึกษากันอย่างมากมาย จนต้องขยายกิจการไปยังต่างประเทศเช่น ประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและเกาหลี ซึ่งล้วนได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในแต่ละประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากคติเพียงสั้นๆของ Le Cordon Bleu นั่นคือการสอนให้รู้จัก LArt de Vivre หรือ ศิลปะในการใช้ชีวิต ซึ่งแน่นอนว่าอาหารการกินที่ถูกปรุงอย่างประณีตและพิถีพิถันคือหัวใจสำคํญนั่นเอง
ใช่แต่เพียงผู้ที่อยู่ในธุรกิจอาหารและโรงแรมเท่านั้นที่ผ่านการศึกษาจากสถาบันนี้ หากแต่บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับผู้นำก็เข้าศึกษาที่สถาบันนี้มาแล้วเช่น ประธานาธิบดี Jacque Chirac แห่งฝรั่งเศส Ronald Reagan Jr. Dustin Hoffman ดาราฮอลลีวูดเจ้าบทบาท ที่ล้วนชื่นชมการบริการในแบบ Silver Service ที่มีอยู่ในหลักสูตรของ Le Cordon Bleu ด้วยเช่นกัน
สำหรับสถาบันแห่งนี้ก็มีคนไทยที่ได้ไปศึกษาจนได้ความรู้มาดำเนินกิจการร้านอาหารที่มีชื่อเสียงของกรุงเทพฯก็มี ม.ร.ว.ดัจฉราพิมล ตุงคนาค เจ้าของร้านอาหาร กัลปพฤกษ์ ถนนประมวล จบการศึกษาจาก Le Cordon Bleu Paris ยังมี สุมัณฑนา โมกขเวส เจ้าของร้านอาหาร The Cup ที่ Rajada Complex และ อัจฉรา เชี่ยวสกุล เจ้าของร้านอาหารครัวแม่ยุ้ย ซอยราชครู ทั้งคู่จบจาก Le Cordon Bleu London
และล่าสุด Le Cordon Bleu Paris ก็ได้ตกลงใจกับดุสิต เครือโรงแรมชั้นนำของไทย ร่วมกันเปิดเลอ คอร์ดอง เบลอ ดุสิต อะเคเดมี่ ออฟ เวิลด์ ควิซีน ซึ่งเป็นสถาบันสอนศิลปะการทำอาหารแห่งแรกในกรุงเทพฯ และยังตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ทั้งนี้จะเปิดสอน 2 แห่งคือ ที่อาคารพาณิชย์ดุสิตธานี และเปิดสอนระดับปริญญาตรี หลักสูตรนานาชาติ ที่วิทยาลัยดุสิตธานี ซึ่งคาดว่าจะเปิดได้ทันปีการศึกษา 2549
คงอีกไม่นานนักที่เราคงได้เห็นมาตรฐานของการครัวสมัยใหม่ ที่จะพัฒนารูปแบบของอาหารไทย ให้เป็นไปในแนวทางสู่โลกสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานของภัตตาคาร โรงแรม และการท่องเที่ยวของไทย ที่จะสร้างรายได้และงานจำนวนมหาศาลให้กับคนไทยในอนาคตอันใกล้ เพราะคนไทยได้ชื่ออยู่แล้วในเรื่องของการบริการที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นที่ประทับใจผู้มาเยือนไปแล้วทั่วโลก มิใช่หรือ
----------------------------------------------------------------------------------
มีใครจะไปเรียนมั้ยคะ
แก้ไขเมื่อ 22 พ.ย. 48 23:35:33
จากคุณ :
สาวดอยสอยดาว
- [
22 พ.ย. 48 23:34:18
]