Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    ขั้นตอนการเริ่มต้นมีบ้าน

    เห็นเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หลายท่านถามในทำนองว่าเริ่มจากไหนดี เลยคัดมาฝาก ให้เป็นแนวทางค่ะ และยังมีเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจอีกมากนะคะ ตามลิงค์ด้านล่างเลยค่ะ



    ขั้นตอนการเริ่มต้นมีบ้าน
     

    1. สำรวจฐานะรายได้
             การเริ่มต้นที่จะมีบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเองสิ่งแรกต้อง  สำรวจฐานะรายได้  ความมั่นคงในอาชีพของครอบครัวว่า มีรายได้ประจำและรายได้พิเศษ ในแต่ละเดือนเท่าไร แล้วนำไปคำนวณวงเงินสินเชื่อถ้ากรณีมิได้ซื้อบ้านเป็นเงินสด


    2. เลือกแบบขนาดบ้าน และราคาที่เหมาะสม
             ในขณะนี้ท่านได้ทราบวงเงินสินเชื่อที่จะได้รับจากสถาบันการเงิน รวมกับเงินออมของครอบครัวว่ามีเงินทุนที่จะซื้อบ้านในวงเงินเท่าไรในขั้นตอนต่อไปให้ท่านเลือกประเภทของบ้านตามวงเงินที่จะซื้อ

               โดยทั่วไปราคาของที่อยู่อาศัยแต่ละประเภทจะอยู่ในวงเงินประมาณนี้ คือ วงเงินขั้นต่ำ และประเภทที่อยู่อาศัยที่จะซื้อได้


        วงเงินขั้นต่ำ                            ประเภทที่อยู่อาศัย
    200,000 - 350,000                      คอนโดมิเนียม,ทาวน์เฮ้าส์ชั้นเดียว
    350,000 - 800,000                      ทาวน์เฮ้าส์สองชั้น
    800,000 - 1,200,000                   บ้านเดียวชั้นเดียว
    1,200,000 - 3,000,000                บ้านเดียวสองชั้น,อาคารพาณิชย์


             และท่านสามารถหาข้อมูลของบ้านที่จะซื้อได้จากสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ และข้อมูลในเว็บไซต์ต่าง ๆ เมื่อได้บ้านที่ต้องการแล้วควรจะพิจารณาข้อมูลของขนาดจำนวนห้องที่ใช้สอยว่า เหมาะสมกับจำนวนของคนในครอบครัวหรือไม่



    3. กำหนดทำเลที่ตั้ง
             ต่อไปก็พิจารณาทำเล ที่ตั้งว่ามีการคมนาคมสะดวกต่อการเดินทาง ไปที่ทำงาน และสถานศึกษา ของคนในครอบครัว มีรถประจำทางผ่านหลายสายใกล้สิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สถานที่ราชการโรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ทางเข้า - ออกสะดวก เป็นถนนสาธารณะ มีการบำรุงรักษามีระบบระบายน้ำที่ดี ไม่ท่วมขังอยู่ในทำเล ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือ ไม่มีมลภาวะเป็นพิษ


    4. ตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง และสภาพของอาคาร
             การตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง และสภาพอาคารโดยพิจารณาจากใบอนุญาตก่อสร้างอาคารว่าการปลูกสร้างตรงตามที่ได้รับอนุญาต วัสดุก่อสร้างได้มาตรฐาน ไม่มีการชำรุดของโครงสร้างทั้งภายในภายนอกอาคาร หลังคา ฝ้าเพดาน ไม่มีรอยคาบน้ำรั่วซึม ไม่มีปลวกกัดกิน ระบบประปาไฟฟ้า ท่อน้ำทิ้ง อยู่ในสภาพดี การต่อเติมอาคารได้รับการอนุญาติจาก กองควบคุมอาคารถูกต้อง ไม่มีการปลูกสร้าง และต่อเติมล้ำเข้าไปในที่ดินคนอื่น


    5. ตรวจสอบโฉนดที่ดิน แนวเวนคืน และระเบียบข้อบัญญัติควบคุมอาคาร
             จากนั้นขอเอกสารสำเนาโฉนดที่ดินเพื่อนำไปตรวจสอบกับสำนักงานที่ดินเขต ที่รับผิดชอบ โดยข้อตรวจสอบ ระวาง แผนที่ ว่าที่ตั้งที่ดิน ถูกต้อง ติดทางสาธารณะหรือไม่หรือมีภาระผูกพันกับที่ดินแปลงอื่นอย่างไรเช่น ตกเป็นภาระจำยอม มีตะเข็บที่ดินปิดทางอยู่ แล้วมาตรวจสอบสารบัญการจดทะเบียน ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินถูกต้องตรวจสอบว่า มีคำสั่งศาลสั่งอายัดที่ดินไว้หรือไม่ และตรวจสอบแนวเวนคืน เพื่อใช้สร้างถนน แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ฝังท่ออุโมง สะพานกั้นเขตเชื่อมทาง และผลกระทบทางด้านกฎหมายอื่น ๆ


    6. การทำสัญญาจะซื้อจะขาย
             การทำสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อมีความมั่นใจที่จะซื้อบ้านหลังที่เลือกไว้และได้ตรวจสอบดังกล่าวข้างต้นเป็นที่มั่นใจแล้ว ถ้าพร้อมจะซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ทันที ก็สามารถนัดเจ้าของที่ดิน ไปโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดิน โดยใช้ สัญญาซื้อขาย ฉบับสำนักงานที่ดินได้เลยแต่หากต้องใช้ระยะเวลานัดหมายในการโอนกรรมสิทธิ์ เป็นเวลานานหลายวันจำเป็นต้องมีการมัดจำเงินบางส่วนให้กับผู้ขาย จำเป็นจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายกันขึ้น

             หรือในกรณีที่มีการซื้อขายกันแบบผ่อนดาวน์ที่นิยมกันตามโดรงการจัดสรรต่าง ๆ ก็จำเป็นจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายเช่นกันโดยเนื้อหาในสัญญาฯ จะมีระบุ ชื่อ ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้จะซื้อ ผู้จะขายรายละเอียดของบ้าน และโฉนดที่ดิน ราคา จำนวนเงินมัดจำ

             ถ้าแบ่งเป็นงวดให้ระบุวันชำระไว้ด้วย จำนวนเงินที่เหลือในวันโอนกรรมสิทธิ์ กำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ การตกลงชำระค่าธรรมเนียม โอน ภาษี และค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ และอาจมีการตกลงค่าปรับหากผิดนัดผิดสัญญาต่อกันทั้ง 2 ฝ่ายและ ลงนามร่วมกันต่อหน้าพยาน

             ถ้ามีการชำระเงินเป็นเงินสด หรือ เช็ค ให้ระบุชัดเจนด้วยและทำหลักฐานรับเงิน หรือ เช็ค ให้ถูกต้อง



    7. วิธีการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน
             วิธีการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหากเราต้องการซื้อบ้านแต่ไม่มีเงินสดพอ ที่จะชำระได้ ทางสถาบันการเงินต่าง ๆ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนเงิน ส่วนที่ขาด โดยกำหนดรูปแบบการให้สินเชื่อไว้หลายประเภท มีความแตกต่างกัน ตั้งแต่เกณฑ์การให้สินเชื่อ กำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ จากราคาซื้อขายและ/หรือราคาประเมินของธนาคาร

    ตัวอย่างเช่น กำหนดให้กู้ยืมสำหรับซื้อบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ได้ในอัตรา 80%จากราคาซื้อขาย และ/หรือ ราคาประเมินธนาคาร เช่น ราคาบ้าน 1,000,000 บาท กู้ยืมได้ 800,000 บาท

    ความแตกต่างด้านอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาในการผ่อนชำระซึ่งสูงสุดไม่เกิน30 ปี แต่จะต้องรวมอายุผู้กู้แล้วไม่เกิน 65 ปีการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ หลักการจะดูจากฐานะรายได้ ความมั่นคงในอาชีพ ประวัติการออมเงิน บัญชีเงินฝาก เป็นบุคคลน่าเชื่อถือ ไม่มีประวัติ เสียหายในด้านการเงิน และคดีความ

    หลักทรัพย์ประกันคุ้มหนี้ตามเกณฑ์ มีสภาพคล่องในการขายเปลี่ยนมือในกรณีจำเป็นจะต้องมีบุคคลกู้ร่วม จะต้องมีฐานะดีเช่นกันจะเป็นภรรยา หรือญาติ ก็ได้ เพื่อให้ระยะเวลาการกู้ได้ยาวขึ้นใน

    กรณีผู้กู้มีอายุมาก หรือต้องการเพิ่มวงเงินกู้เพิ่มจากเกณฑ์รายได้ ของผู้กู้ขึ้นอีก



    การดำเนินการยื่นขอสินเชื่อ ดังนี้

    การจัดเตรียมเอกสารประกอบการขอสินเชื่อ ใบคำขอสินเชื่อ พร้อมกรอกข้อมูลในแบบฟอร์มให้ครบถ้วน

    - สำเนาบัตรประชาชน
    - สำเนาทะเบียนบ้าน
    - สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
    - สลิปเงินเดือนใบรับรองเงินเดือน
    - บัญชีเงินฝาก,Statement แสดงรายการเงินเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
    - สัญญาจะซื้อจะขาย
    - หลักฐานการผ่อนดาวน์สำเนาโฉนดที่ดินทุกหน้า (เท่าฉบับจริง)
    - ใบเสร็จรับเงิน หรือเอกสารแสดงการชำระหนี้ภาระผูกพัน (ย้อนหลัง 6 เดือน กรณีมีภาระหนี้สิน)
    - หนังสือรับรองทะเบียนนิติบุคคล
    - ทะเบียนการค้าหนังสือบริคณฑ์สนธิ
    - ทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นงบดุล งบกำไรขาดทุน (ย้อนหลัง 3 ปี)

             เมื่อจัดเตรียมเอกสารดังกล่าวครบถ้วน ก็นำไปยื่นกับแผนกสินเชื่อ ของสถาบันการเงินที่ท่าน มีบัญชีเงินฝากอยู่หรือ สาขาที่อยู่ใกล้สถานที่ทำงาน หรือที่ตั้งของบ้านที่ซื้อโดยเมื่อทางธนาคาร ได้รับเอกสารครบถ้วน จะทำการประเมินราคาหลักทรัพย์ โดยท่านจะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการประเมินราคาแล้วแต่ละสถาบันการเงินคิดเรียกเก็บแตกต่างกัน

            เมื่อประเมินราคาเสร็จเรียบร้อย พร้อมกับเอกสาร ได้รับการตรวจสอบรวมถึง ประวัติการเงินของท่านเป็นที่พอใจแล้ว จะอนุมัติในระยะเวลาประมาณ 30 วัน โดยจะมีหนังสือแจ้งมายังท่าน และจะให้ท่านไปลงนามในสัญญากู้เงิน และนัดหมายวันโอนกรรมสิทธิ์ และจดจำนอง



    8. การจัดเตรียมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน และสาธารณูปโภค
             ขั้นตอนการจัดเตรียมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน  เมื่อถึงวันกำหนดโอนกรรมสิทธิ์ฯ และเตรียมการจดจำนองเป็นประกัน สิ่งที่ต้องเตรียมการทางด้านเอกสาร ดังนี้

    ## บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ตัวจริง
    ## ทะเบียนสมรส ตัวจริง โฉนดที่ดิน (ผู้จะขายเป็นผู้ถือไป)
    ## ค่าธรรมเนียมจดจำนอง 1% จากยอดวงเงินกู้
    ## ค่าธรรมเนียมโอน 2.5% จากราคาซื้อขาย
    ## ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% จากราคาซื้อขาย
    ## แคชเชียร์เช็ค เงินชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ (ธนาคารผู้รับจำนองเป็นผู้ถือไป)

             เมื่อไปถึงที่สำนักงานที่ดินตามที่ธนาคารนัดหมาย ก็ยื่นเอกสารสำคัญของผู้ซื้อ และผู้ขาย ให้กับประชาสัมพันธ์และรอหมายเลขคิวและช่องที่จะยื่นเรื่องจดทะเบียนเมื่อได้รับนำเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยื่นตามช่องที่กำหนด รอเรียกชื่อเพื่อลงนามในเอกสารจดทะเบียนซื้อขายที่ดิน และสัญญาจดทะเบียนจำนอง

             เมื่อเรียบร้อย ก็ไปชำระค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ ภาษี และค่าจำนอง รอรับเอกสารที่จดทะเบียนสัญญาซื้อขายที่ดิน และสัญญาจำนองที่เรียบร้อยแล้ว ตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้องอีกครั้ง และชำระเงินให้กับผู้ขายโดยสลักหลังแคชเชียร์เช็ค ให้ผู้ขายลงนามรับเงินต่อหน้าเจ้าพนักงานให้เรียบร้อยเป็นเสร็จการดำเนินการ พร้อมนี้ให้ผู้ขายลงนามมอบโอนไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยด้วย



    ที่มา

    BUDDY HOME

    http://www.ecitizen.go.th/view.php?SystemModuleKey=home&id=59

    จากคุณ : ลูกแม่เกตุ - [ 13 พ.ย. 49 22:22:29 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom