Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    รอยร้าว !!! ที่ไม่ควรมีในบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสอง .... อย่างเด็ดขาด ครับ

    รอยร้าวที่ไม่ควรมีในบ้านมือสอง  ถ้ามีไม่ควรซื้ออย่างเด็ดขาด  ถ้ามีในบ้านมือหนึ่งก็ไม่ควรโอนเช่นเดียวกัน

    รอยร้าวเฉียงๆที่ผนังจากมุมล่างซ้าย ไปมุมขวาบน (หรือกลับกัน)

    รอยร้าวแบบนี้แสดงว่าโครงสร้างมีการบิดตัว มักจะเกิดเพราะเสาของบ้าน เรามีการทรุดตัวที่แตกต่างกัน และคานที่รัดเสาก็พยุงเสาเอาไว้ให้อยู่ในระนาบเดียว กันไม่ได้ อาจจะเป็นเสาซ้ายมือทรุดตัวมากกว่าเสาขวามือ หรือเสาขวามือทรุดตัวลง มากกว่าเสาซ้ายมือก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เสาที่ทรุดลงก็พยายามจะดึงโครงสร้างอื่นให้ ตามลงไป ส่วนโครงสร้างอื่นก็ไม่ค่อยจะยอมตามไปง่ายๆ ผนังซื่งเป็นตัวกลางของ การชักขะเย่ออยู่ก็เลยทนไม่ไหว เกิดอาการแตกร้าวขึ้น

    การแตกร้าวแบบนี้ หากเป็นรอยเพียงเล็กๆสั้นๆก็ยังไม่เป็นไร แต่ต้องเอา ดินสอขีดกาเอาไว้ (พร้อมลงวันที่) เพื่อบันทึกว่าจะมีการแตกร้าวขยายตัว (ทั้งทาง ยาวและทางกว้าง) หรือไม่ หากการแตกร้าวนั้นหยุดตัวไม่ขยายออกไป ก็ไม่เป็น อันตรายอะไรนักหนา แต่ถ้าหากว่ารอยแตกร้าวนั้นมีอาการลามตัวอย่างรวดเร็ว และ เป็นรอยที่กว้างและยาว (บางครั้งจะเห็นอิฐของผนังโผล่ออกมาเป็นก้อนเชียว) ก็ แสดงว่าอาคารบ้านเรือนของเรา ป่วยเป็นไข้ไม่เบาแล้ว รีบไปปรึกษาหาทางแก้ไขกับ วิศวกรโครงสร้างดีกว่า


    http://se-ed.net/winyou2/100_1000_4/300.htm

    ............................................................................................

    เห็นรอยร้าวที่หัวเสา ต้องรีบไปทำประกันชีวิตซักกี่บาท

    รอยร้าวที่นับว่าเป็นอันตรายที่สุดอย่างหนึ่งในบ้านของเราก็คือ รอยร้าว ลักษณะเฉียงๆที่หัวเสา ตรงส่วนที่คานไปติดกับเสาทั้งสองด้าน อาจจะเป็นรอยเฉียง ที่ปลายคานหรือที่หัวเสาเลยก็ได้ อาการแบบนี้ แสดงว่า คานตัวนั้นไม่สามารถ จะรับ น้ำหนักได้ เกิดแรงเฉือนขึ้น และคานอาจจะหลุดออกจาก หัวเสา ครั้นเมื่อ คานหลุด

    ออกจากหัวเสา ระบบโครงสร้าง ก็วิบัติ อาจจะทำให้อาคารทั้งหลัง พังราบลงมานอน กับพื้น และ อาจจะเกิดขึ้น อย่างรวดเร็ว จนเราหนีออกจากบ้านไม่ทัน

    หากเราเห็นอาการร้าวแบบนี้แล้ว มีสองทางเลือกสำหรับเรา ทางเลือกแรก ก็คือ รีบวิ่งไป ติดต่อกับ บริษัทประกันชีวิตไว้ เพื่อไม่ให้ คนรุ่นหลัง ต้อง ลำบากเรื่อง ทรัพย์สิน หรือ ทางเลือกที่สองก็คือ รีบไปปรึกษาวิศวกรโครงสร้าง ให้ท่านมาตรวจ อาการ ให้คำแนะนำ และ แก้ไขอย่างทันท่วงที

    http://se-ed.net/winyou2/100_1000_4/301.htm
    ..........................................................................................

    รอยร้าวที่กลางคาน มักจะเกิดจากอะไร อันตรายถึงชีวิตหรือไม่

    รอยร้าวเป็นสิ่งคู่บ้านคู่อาคาร เพราะแทบจะไม่มีอาคารบ้านเรือนหลังไหน เลยที่จะไม่มีรอยร้าว แต่รอยร้าวบางอย่างเป็นรอยร้าวที่อาจจะมีอันตรายกับเราได้ เช่น รอยร้าวที่กลางคาน ที่เป็นรอยร้าวอันเกิดขึ้นจากคอนกรีต ไม่ใช่ปูนฉาบที่มีรอย ร้าวเป็นแนวตั้ง ตั้งฉากกับแนวนอนของคานที่ตรงกลางของคาน หากร้าวมากหน่อย จะเห็นเป็นรอยร้าวที่ด้านใต้คานจะกว้าง (อ้า) มากกว่าตอนช่วงบนของคาน อาการ แบบนี้แสดงว่า คานตัวนั้นต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ จึงเกิดการแอ่นตัวลงมาเป็น แนวโค้ง พอแอ่นตัวก็จะทำให้คอนกรีตแตกแยกออกเป็นรอยที่เห็น สิ่งที่น่าจะทำ แรกสุดก็คือวิ่ง (เบาๆ) ขึ้นไปดูข้างบนว่าตรงบริเวณของคานตัวนั้น เราวางอะไร หนักๆทับเอาไว้หรือไม่ หากวางของหนักเอาไว้ ก็ต้องรีบเอาน้ำหนักนั้นออกโดยเร็ว และคานจะมีโอกาสกลับเข้าที่เดิมได้บ้าง แต่หากสำรวจแล้ว ไม่มีน้ำหนักอะไรวางไว้ เป็นกรณีพิเศษเลย ก็แสดงว่าคานตัวนั้นอาจจะรับน้ำหนักของระบบโครงสร้างของ ตัวเองก็ยังไม่ได้ ปัญหาจึงอาจจะไม่ได้อยู่ที่การใช้งานของเรา ต้องมีการตรวจสอบ โดยผู้รอบรู้ต่อไป

    ปัญหาการผิดปกติของโครงสร้างนี้ เป็นสาเหตุเริ่มต้นของอาคารวิบัติ กรุณา อย่านิ่งนอนใจ ต้องปรึกษากับวิศวกรโครงสร้างเสมอ เพื่อประโยชน์สุขของตัวเราเอง

    http://se-ed.net/winyou2/100_1000_4/299.htm

    ............................................................................................

    รอยร้าวตามยาวใกล้ท้องคาน หมายถึงอะไร

    รอยร้าว ที่เป็นรอยตามยาวที่คานคอนกรีตเสริมเหล็กบริเวณด้านล่างใกล้ ท้องคาน เป็นเส้นยาวต่อๆกัน หมายความว่า เหล็กในคาน ของท่านที่เสริมเป็นเหล็ก ด้านล่างของคาน น่าจะเป็นสนิม หรือ ความหนา ของคอนกรีต ที่หุ้มเหล็กในบริเวณนั้น มีความหนา ไม่ตามกำหนด (มักจะเกิดจาก การเทคอนกรีตแล้วไม่ได้ตรวจสอบ ลูก ปูน รองเหล็กเส้นไม่ได้ระดับ) ความชื้นก็อาจจะผ่านเข้าไปถึงตัวเหล็กเส้น แล้วทำให้ เหล็กเส้น ด้านล่างนั้น มีปัญหา รอยร้าว เพราะ เหล็กล่างมีปัญหานี้ จะทำให้ คานตัวนั้น รับแรงดึงได้น้อยลง อย่า พยายามแก้ไขเอง ถ้าไม่เป็นเรื่องจำเป็น เร่งด่วน ปรึกษาวิศวกรโครงสร้างหน่อย จะปลอดภัยกว่า หากเป็นเพียงเล็กน้อย วิศวกรท่านอาจจะให้เพียงสกัดคอนกรีต ออก ปรับแต่งเหล็กเส้น ให้มีคุณภาพแล้ว ก็หล่อ สารใหม่ เข้าหุ้มเหล็กเอาไว้ หาก อาการหนัก ท่านก็อาจจะ ให้มีการทุบรื้อ และ ทำคานตัวนั้นใหม่ ก็ได้

    http://se-ed.net/winyou2/100_1000_4/308.htm

    จากหนังสือ ร้อยพันปัญหาในงานก่อสร้าง เล่ม4 ฉบับหมอบ้าน
    โดย ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ 8 กันยายน 2542
    ( อ.ยอดเยี่ยม ฯ เป็นอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ฯ )
    .........................................................................

    การเลือกซื้อบ้านมือสอง


    จุดที่ต้องสังเกตเมื่อต้องเลือกซื้อบ้านมือสอง
    1. สอบถามถึงประวัติของตัวบ้าน เช่น สร้างมากี่ปี มีแบบพิพม์เขียวหรือไม่ ใครเป็นผู้ออกแบบ ใครเป็นผู้ก่อสร้าง ใครเป็นเจ้าของเดิม  ย้ำว่าข้อมูลทุกอย่างมีความสำคัญและ  สามารถนำมาเป็นข้อมูลประกอบการแก้ปัญหาตัวบ้านได้ในภายหลัง


    2. ดูด้วยสายตาโดยรอบตัวบ้าน    เพื่อให้แน่ใจว่าตัวบ้านไม่เอียงหรือทรุดตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง    หากพบว่าตัวบ้านเอียง ให้คาดคะเนได้เลยว่า  ตัวฐานรากใต้ดินมีปัญหา    ซึ่งค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงพอควร


    3. สภาพงานทาสีบนผนังทั้งภายใน ภายนอกว่ามีสีหลุดล่อนเป็นแผ่นๆ  หรือสภาพขึ้นราหรือไม่   บางครั้งอาจพบว่าคุณภาพของสีเดิมแย่มากจนมองเห็นรอยแตกลายงาบนผนังได้  ถ้าเจอสภาพแบบนี้ก็คงจะต้องเตรียมเงินค่าทาสีใหม่ทั้งหลังไว้ได้เลย


    4. ดูสภาพปูนฉาบบนผนังก่ออิฐ   โดยใช้สันเหรียญขูดหนักๆบนผิวผนัง  หากเป็นอาคารเก่าประเภทอายุ 30 ปีขึ้นไป   เราจะพบว่าปูนฉาบจะหลุดร่วงลงมาเป้นผงแป้ง  ถ้าเป็นแบบนี้ก็ควรเตรียมค่าสกัดผิวปูนฉาบ และฉาบปูนใหม่ทั้งหลัง


    5. สำหรับบ้านที่มีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก   ในสังเกตเสา  คาน  และผนังก่ออิฐ  โดยทั่วไปว่ามีรอยแตกรอยร้าวหรือไม่   หากพบว่ามีรอบแตกร้าวรูปฟ้าผ่าเป็นแนวเฉียง  45  องศา   ให้คาดคะเนไว้ว่าโครงสร้างเสาและฐานรากน่าจะมีปัญหา   ซึ่งจะนำไปสู่การทรุดเอียงของตัวบ้านได้   และการแก้ปัญหาลักษณะนี้ก็ค่อนข้างยากเช่นกัน   ขอแนะนำให้เปลี่ยนไปเลือกดูบ้านหลังอื่นๆจะดีกว่า


    6.  สำหรับบ้านที่มีโครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก  ให้สังเกตดูขนาดเสาบ้านที่เหมาะสม  เช่น  บ้านสองชั้นเสาก็ควรมีขนาด Ø   20 x 20  เซนติเมตร   และบ้านสามชั้น  เสาก็ควรมีขนาดอย่างน้อย  Ø  25 x 25  เซนติเมตรจึงจะดี


    7.  สำหรับบ้านที่โครงสร้างพื้นชั้นล่างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก   ให้ดูว่าพื้นชั้นล่างมีการแอ่นตัวหรือไม่    และให้สังเกตดูรอบๆพื้นที่ห้องว่ามีรอยแตกบริเวณมุมผนังชนผิวพื้นหรือไม่  หากพบว่ามี  ให้คาดคะเนว่าพื้นห้องดังกล่าวเป็นพื้น ค.สล.ชนิดวางบนดินและดินใต้บ้านอาจเป็นโพรงดิน    จึงส่งผลให้เป็นพื้นทรุดตัวตามกันลงไป  การแก้ปัญหาแบบนี้ต้องทุบพื้นใหม่  บดอัดดินให้แน่แล้วเทพื้นใหม่อีกครั้ง  แต่ทางที่ดีเลือกบ้านแบบที่ใช้พื้นวางบนคานจะสบายใจกว่า


    8. หากพบว่าไม้พื้นมีอาการโก่งตัว  บิดตัวระเบิดขึ้นมา  หรือพบว่ามีคราบน้ำเหนียวผุดขึ้นมาระหว่างรอยยาแนวกระเบื้อง   ให้คาดคะเน ว่าใต้อาคารมีความชื้นมากจนซึมทะลุขึ้นมาบนพื้นคอนกรีต  ให้เตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับแก้ไขด้วยการรื้อวัสดุปูพื้นออกแล้วทาน้ำยาป้องกันความชื้นก่อนปูผิวพื้นใหม่


    9. สำหรับงานไม้ต่างๆ  เช่น วงกบ  หน้าต่าง  ประตู  ราวบันได  บัวพื้น ตลอดจนถึงโครงสร้างที่เป็นไม้  เช่น เสา  คาน  ตง  ให้ตรวจดูว่ามีปลวก  มอด  แมลงเข้าไปเจาะทำลายมากแค่ไหน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่ไม่มีคนอยู่   ปลวกมักเข้าไปทำรังอยู่เป็นอันมาก


    10. ดูคราบรอยรั่วในจุดต่างๆ ดังนี้
    - รอบวงกบหน้าต่าง  ประตู
    - ดูฝ้าเพดานชั้นบนสุดของบ้านว่ามีคราบน้ำรั่วที่เกิดจากหลังคารั่วหรือไม่
    - ดูฝ้าเพดานใต้พื้นห้องน้ำชั้น 2 –3 ขึ้นไป  หากพบว่ามีคราบน้ำรั่ว  แสดงว่าท่อระบายน้ำที่พื้นห้องน้ำรั่วซึม
    - ดูฝ้าไต้ชายคารอบนอกบ้านว่าคราบรอยรั่วหรือไม่
    - ดูผนังห้องน้ำด้านนอกและด้านในว่ามีคราบน้ำรั่วตามแนวการเดินท่อบ้างหรือไม่
    - หากตัวบ้านมีระเบียงหรือ กันสาดบริเวณชั้น 2  ให้สังเกตผูฝ้าเพดานใต้บริเวณดังกล่าวว่ามี คราบน้ำรั่วซึงหรือไม่


    11. ดูระบบน้ำดีด้วยการปิดก๊อกน้ำทุกตัวในบ้านแล้วตรวจดูมิเตอร์น้ำ   หากตัวเลขบนมิเตอร์วิ่งแสดงว่ามีจุดนั่วในระบบท่อน้ำดีแน่นอน


    12. ตรวจดูสภาพสุขภัณฑ์ต่างๆว่าใช้งานได้ตามปกติหรือไม่   และหากสภาพทรุดโทรมมากก็ต้องซ่อมแซมกันตั้งแต่ในจุดเล็กๆ  เช่น  แหวนยางต่างๆ  จนถึงการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์  เช่น ก๊อกน้ำและวาล์วต่างๆเป็นต้น


    13. ตรวจดูสภาพฉนวนหุ้มสายไฟว่ากรอบแตกหรือไม่  และหากเป็นบ้านที่ยังไม่ถูกตัดไฟ  ก็ให้ทดลองเปิดเบรกเกอร์จ่ายไฟเข้าสู่ระบบ  แล้วดูว่าระบบไฟฟ้าแสงสว่างยังทำงานตามปกติหรือไม่   แต่สภาพอาคารเก่าๆที่อายุ  30 ปีขึ้นไปก็ควรเปลี่ยนสายไฟใหม่ทั้งระบบจะดีกว่า


    14. สังเกตดูแนวรั้วบ้านว่าเอียง  ทรุด  ล้ม  หรือบิดเบี้ยวไปหรือไม่  หากพบว่ามีและต้องซ่อมแซม   ก็ต้องประเมินว่าต้องมีงานทุบรื้อรั้วในแนวนั้นออกไป และซ่อมแซมฐานรากใหม่  แล้วจึงจัดทำรั้วขึ้นมาใหม่


    15. สุดท้าย  นอกจากดูตัวบ้านแล้วก็อย่าลืมดูสภาพแวดล้อมด้วยว่าบริเวณข้างเคียงติดกับอะไร  เช่น  พื้นที่อาจไปติดกับแนวนไม้รกทึบ   หรือพื้นที่การค้าประเภทอู่เคาะพ่นสี  ก็จะสร้างมลภาวะต่อครอบครัวเราได้เหมือนกัน  

    ข้อมูลทั้งหมดนี้จากหนังสือ “คู่มือปลูกบ้าน”   โดย คุณศักดา  ประสานไทย   โดยสำนักพิมพ์บ้านและสวน

    และจากคุณ : หนูเป็นผู้ช่วยเค้าค่ะ--> (NBF)   - [ 6 ก.ย. 49 14:38:53 ]

    แก้ไขเมื่อ 21 พ.ค. 50 19:02:56

    จากคุณ : Learn and Live - [ 21 พ.ค. 50 19:01:59 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom