Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    จับได้ ไล่ทัน ผู้รับเหมา ก่อนคิดสร้างบ้าน ซื้อบ้าน

    ก่อนคิดสร้างบ้านหรือซื้อบ้าน ควรมีความรู้เรื่องงานก่อสร้างบ้าง เพื่อจะได้ไม่โดนช่างตัวแสบหรอก  

    จากประสบการณ์จริงของการสร้างบ้าน ซึ่งได้ถามอาจารย์ ผู้รับเหมาที่ดี และศึกษาจากหนังสืองานก่อสร้างต่าง ๆ พอจะสรุปสาระสำคัญ ๆ แบบง่าย ๆ ได้ดังนี้

    เสาเข็ม
    -ต้องไม่มีรอยร้าว
    -ต้องมี มอก. รับรองคุณภาพ
    -ต้องมี วดป. ที่ผลิต
    -ต้องมีเหล็กแผ่นสำหรับเชื่อมต่อเสาเข็มกรณีที่ต้องต่อเสาเข็ม
    -อายุเสาเข็มที่นำมาใช้ต้องได้ 30 วัน เป็นอย่างน้อย
    วิธีการสังเกต การตอกเสาเข็มของรถปั้นจั่น
    -ขนาดของตุ้มที่ตอกต้องมีน้ำหนักพอเหมาะกับขนาดของเสาเข็ม
    -เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเสาเข็มแต่ละต้นนั้นตอกถึงดินดานจริง วิธีการสังเกต คือ เมื่อถึงขั้นตอนเช็คโบฯ ให้ดูที่สลิงยึดตุ้มที่รถปั้นจั่น ขณะตอกสลิงต้องหย่อนเหมือนตอนที่เริ่มตอก ผู้รับเหมาบางรายที่ใช้เสาเข็มสั้นไปและไม่ยอมต่อเสาเข็ม เขาจะให้วิธีให้รถปั้นจั่นตอกไม่เต็มที่ คือ ขณะตอกสลิงจะตึง เพื่อที่จะให้ดูว่าเสาเข็มต้นนั้นตอกไม่ลงแล้ว
    -ต้องตั้งเสาเข็มให้ตรงตำแหน่งหมุด โดยใช้ตลับเมตรวัด อย่าใช้สายตากะระยะ(ส่วนใหญ่จะไม่ใช้ตลับเมตรวัดกัน) เพราะจะทำให้เสาเข็มไม่ตรงศูนย์กลาง ซึ่งมีผลกับการรับน้ำหนัก
    -เวลาตอกเสาเข็มต้องไม่เอียง วิธีดูว่าตรงไหม คือ ให้หาเหล็กเส้นยาวประมาณ 1.5 เมตร งอปลายบน 90 องศา ยาวประมาณ 30 ซ.ม. จากนั้นตอกเหล็กเส้นลงบนดิน ห่างจากเสาเข็ม 15-20 เมตร หาเชือกหรือเอ็นผูกกับตุ้มเหล็กหรือหิน แล้วนำไปผูกกับปลายเหล็กเส้นที่งอไว้ จากนั้นก็เล็งผ่านเชือกหรือเอ็น มองไปทางเสาเข็มที่จะตอก เสาเข็มต้องขนานกับเชือกหรือเอ็นที่เราทำไว้  ต้องทำแบบนี้ 2 จุด อีกจุดหนึ่งที่ต้องทำคือ ประมาณ 90 องศาจากแนวแรก แล้วเล็งเหมือนเดิม

    เหล็กเส้น

    เหล็กเส้นมี 2 ชนิด คือ เหล็กเส้นกลม และ เหล็กเส้นข้ออ้อย  เหล็กเส้น 2 ชนิดนี้ มีทั้งแบบเหล็กเต็มกับเหล็กไม่เต็ม  เหล็กเต็มคือ เหล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางได้ขนาดตามที่กำหนดไว้ เช่น เหล็ก 4 หุน เวลาวัดจริงก็ต้องได้ 4 หุน ส่วนเหล็กไม่เต็มก็คือ เหล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ได้ขนาดตามที่กำหนด ถ้าไม่กำหนดยี่ห้อเหล็ก ผู้รับเหมาส่วนมากจะใช้เหล็กไม่เต็ม เพราะราคาถูกกว่า
    เหล็กเต็มที่ใช้กันคือเหล็ก บลส. ของเครือซีเมนต์ไทย วิธีสังเกต ให้ดูที่เหล็กเส้นว่ามีตัวอักษร “บลส.” หรือไม่ ถ้ามีถือว่าใช้ได้ ส่วนเหล็กข้ออ้อย (บลส.) จะมีแบบ sd 30 และ sd 40  เหล็ก sd 40 จะรับแรงดึงได้ดีกว่าเหล็ก sd 30 ราคาต่างกันนิดหน่อย เหล็กต้องไม่เป็นสนิมห้ามทาสีกันสนิมหรือเช็ดด้วยน้ำมันเด็ดขาดเพราะว่าปูนจะไม่เกาะกับเหล็ก


    เหล็กฐานราก เสา คาน

    เมื่อผูกเหล็กเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฐานราก เสา คาน เหล็กนั้นจะต้องไม่มีส่วนใดถูกดิน และต้องห่างจากดินอย่างน้อย 5 ซ.ม.  เหล็กจะต้องไม่ติดกับแบบหล่อเสา คาน (ไม่ว่าจะเป็นแบบไม้ หรือ เหล็ก) เหล็กต้องห่างจากแบบประมาณ 1 นิ้ว  โดยการใช้ลูกปูนหนุนตรงจุดที่เหล็กติดกับไม้แบบ
    การทำลูกปูน ใช้ปูน+ทราย+น้ำ หล่อเป็นสี่เหลี่ยม ขนาด 5 ซ.ม. x 5 ซ.ม. x 1 นิ้ว ตรงกลางเสียบลวดไว้สำหรับผูกติดกับเหล็ก
    เหล็กปลอก คือ เหล็กที่รัดรอบเหล็กเสาหรือคาน เวลาผูกต้องสลับเหล็กปลอกไม่ให้ส่วนที่งอตรงกัน
    เหล็กปลอก ต้องงอปลายอย่างน้อย 5 ซ.ม.
    ถ้าต้อง ต่อเหล็ก ต้องต่อเกยกันประมาณ 1 เมตร งอปลายทั้ง 2 เส้น ถ้าเชื่อมด้วยยิ่งดี
    การผูกลวดต้องผูกให้แน่น

    คอนกรีต

    คอนกรีตที่ให้เทฐานราก เสา คาน ควรจะใช้คอนกรีตผสมเสร็จของ cpac คอนกรีตที่ผสมเองจะรับแรงอัดได้น้อยกว่ามาก ที่ให้ใช้ของ cpac เพราะว่า ของเขาจะไม่โกงส่วนผสม มีการทดสอบกำลังอัด และมีใบรับรองผลของคอนกรีตแต่ละคัน แต่เราต้องบอกทาง cpac ว่าให้เก็บลูกปูนให้ทดสอบกำลังอัดด้วย และออกใบรับรองด้วย  
    คอนกรีตผสมเสร็จห้ามเติมน้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้กำลังอัดน้อยลง (ผู้รับเหมาะส่วนมากจะให้คนขับรถ cpac เติมน้ำให้เหลว เพื่อที่จะได้เทคอนกรีตง่าย เมื่อแกะแบบแล้ว เสา คาน จะสวยเรียบ) คอนกรีตผสมเสร็จจะไม่เหลวมาก ขณะเทคอนกรีตต้องมีเครื่องจี้ปูนด้วย เพื่อที่จะทำให้ฟองอากาศในเนื้อคอนกรีตลอยออก และทำให้คอนกรีตแน่น แต่ต้องจี้เป็น คือ ต้องจี้ตามแนวตั้งเท่านั้น ห้ามเอียง ห้ามถูกเหล็ก การจี้แต่ละจุดนานประมาณ 5 วินาที ถ้านานจัดจะทำให้หินตกอยู่ข้างล่าง ปูน ทรายจะลอยอยู่ด้านบน ทำให้ เสา คาน รับแรงได้ไม่ดีเท่าที่ควร ถ้าไม่มีเครื่องจี้ปูน ก็ให้หาเหล็ก หรือ ไม้ กระทุ้งคอนกรีตขณะที่กำลังเท และใช้ฆ้อนหรือไม้เคาะข้างแบบไปพร้อม ๆ กันด้วย
    ฐานราก เสา คาน พื้น ควรได้รับการบ่มด้วยน้ำอย่างน้อย 7 วัน วิธีการบ่มคือ ใช้พลาสติกหรือกระสอบป่านห่อหุ้มเสา คาน แล้วราดน้ำให้ชุ่มตลอดเวลายิ่งดี ส่วนพื้นให้หาดินเหนียวมาป้องรอบ ๆ พื้น แล้วขังน้ำไว้ หรือใช้กระสอบป่านคุมที่พื้นแล้วราดน้ำให้ชุ่ม
    บ่มคอนกรีตก็เพื่อให้น้ำระเหยออกไปช้าที่สุด แล้วจะได้เสา คาน พื้นที่รับแรงได้ดี ถ้าไม่บ่มเสา คาน พื้น จะทำให้การรับน้ำหนักหายไปประมาณครึ่งหนึ่ง
    ต้องเสียบเหล็กหนวดกุ้งที่เสาก่อนการเทคอนกรีตทุกครั้ง เหล็กหนวดกุ้งคือเหล็ก 2 หุน ยาว 40 ซ.ม. เสียบโผล่ออกจากเสาบริเวณที่มีการก่ออิฐ เสียบห่างกัน 40-60 ซ.ม.  เสียบเหล็กเพื่อยึดผนังไม่ให้ล้มสร้างความแข็งแรงให้กับผนัง  ผู้รับเหมาบางรายไม่เสียบเหล็กขณะเทคอนกรีต มักจะมาเจาะเสาเพื่อเสียบเหลักทีหลังหรือไม่เสียบเลยก็มี

    ผนังก่ออิฐ

    ล้างพื้นบริเวณที่จะก่ออิฐให้สะอาด ต้องแช่อิฐในน้ำสะอาดเพื่อลดฟองอากาศในก้อนอิฐ(เวลาก่ออิฐ ๆ จะไม่ดูดน้ำปูนจากปูนก่อ) ช่างส่วนใหญ่จะไม่แช่อิฐ แต่จะใช้น้ำพรมอิฐแทน เพราะก่อง่ายไม่ล้ม ปูนก่อไม่กัดมือแต่ผนังไม่แข็งแรง ขณะก่ออิฐต้องมีเอ็นขึงแนวตั้งและแนวนอน ผนังจะได้ไม่เอียง อิฐแต่ละก้อนควรห่างกันอย่างน้อย 1.5 ซ.ม.

    อ่านต่อ ภาค 2

    จากคุณ : amata-idea - [ 1 ส.ค. 51 21:51:30 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom