ความคิดเห็นที่ 4
ขออนุญาตนะคะ รู้สึกเข้าใจและเห็นใจท่านจขกท.มากๆค่ะ
แต่ข้อเท็จจริงที่แสนขมขื่นคือ ในทางปฎิบัตินั้นหากผู้ใดมีประวัติการชำระเงินล่าช้า หรือเห็นได้ว่ามีความสามารถในการชำระหนี้ลดลงจนต้องเกิดกระบวนการการประนอมหนี้ ส่วนใหญ่แล้วก็ถือว่าประวัติทางการเงินด่างพร้อยแล้วค่ะ
ดังนั้นผู้ประเมินของสถาบันการเงินนั้นๆ จะมองว่าผู้กู้น่าจะมีปัญหา จึงมีกระบวนการประนอมหนี้เกิดขึ้น และถือว่าบุคคลนั้นอยู่ในกลุ่มเสี่ยง จึงอาจไม่มีการพิจารณาให้กู้ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียค่ะ คือพูดง่ายๆ บางที่เค้าดูกันถึงประวัติการชำระล่าช้ากันเลยทีเดียว
เพราะนั่นจะแสดงถึงวินัยทางการเงิน ซึ่งเค้าจะไม่สนว่าคุณจะมีความจำเป็น เดือดร้อนอะไรที่ชำระล่าช้า หรือหยุดชำระเงินในหนี้ดังกล่าว เพราะถ้าเอาเงื่อนไขตรงนี้มายกแย้งกันได้ ก็คงจะมีคนอ้างความจำเป็นกันทั้งหมดค่ะ
ผู้ให้กู้หรือสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ(เครดิตบูโร) จะสามารถตรวจสอบประวัติ ทางการเงินของผู้ที่จะกู้ได้ โดยหนังสือยินยอมที่คุณเซ็นไว้นั่นแหล่ะค่ะ
และในปัจจุบัน สถาบันการเงินจะมีข้อกำหนดในการรับพิจารณาผู้กู้แตกต่างกันไปตามแต่ละแห่ง....... แต่ก็จะไม่หนีจากหลักการนี้เท่าไหร่นะคะ ดังนั้นจะBL หรือล่าช้า จะให้หรือไม่ให้ขึ้นอยู่กับกระบวนการพิจารณาของเจ้าของเงินเค้า (บางทีเจ้าหน้าที่อารมณ์ดี ปล่อยเรื่องผ่าน แต่หัวหน้าไม่เอาด้วยก็ลำบากค่ะ) เพราะฉะนั้นเราจะไปบังคับไม่ได้ หรือคิดเอาเองฝ่ายเดียวว่ามันไม่น่ามีปัญหาไม่ได้ค่ะ
หวังว่าคงไม่โกรธกันนะคะ ที่ต้องเรียนชี้แจงให้เข้าใจมูลเหตุกันก่อน..
ทีนี้มาเข้าเรื่องกันค่ะ.. ดิฉันอยากให้ลองศึกษาข้อมูลรายละเอียดซึ่งระบุในสัญญาจะซื้อจะขายให้ดี รวมถึงที่ตัวยิบๆด้วยค่ะ ว่าเงื่อนไขหรือเหตุแห่งการผิดสัญญานั้นจะมีองค์ประกอบหรือเหตุปัจจัยใดบ้าง อันนี้ถือเป็นสาระสำคัญ โดยเฉพาะเงื่อนไขหรือหมายเหตุใดๆ(ถ้ามีระบุ)ที่ทางโครงการจะไม่คืนเงินจอง
มีข้อสังเกตตรงที่ว่า ทางโครงการได้แจ้งกับทางคุณจขกท.ว่าปิดบังข้อมูลอันเป็นเหตุผิดข้อตกลงและ เป็นเหตุผลในการเลิกสัญญาและไม่คืนเงินจอง.... ไม่ทราบว่าตอนที่ได้กรอกข้อความลงไปในหนังสือสัญญาหรือเอกสารแนบท้ายประกอบสัญญา ได้มีการไม่ได้บอกข้อมูลทางภาระหนี้ใดๆหรือเปล่าคะ เพราะนั่นจะเป็นจุดที่เค้าจะถือเอาเป็นการปกปิดข้อมูลค่ะ ทางโครงการจะสามารถอ้างเอาเหตุนี้ เพื่อไม่คืนเงินค่ะ และโดยธรรมชาติของเค้า เค้าจะถือว่าถ้าคุณเป็นฝ่ายผิดสัญญา เขาก็มีสิทธิริบเงินมัดจำหรือเงินจองได้ตามกฎหมาย
ข้อเท็จจริงที่ปวดใจอีกเรื่องคือ เมื่อเงินไปอยู่ที่เค้าแล้ว เค้าก็ลอยตัวค่ะ นั่งยิ้มแล้ว ดังนั้นถ้าคุณจขกท.เห็นว่า การที่เค้ายึดเงินจองไปนั้น มันไม่ถูกต้อง และยุติธรรมกับคุณ ก็ต้องไปฟ้องร้องเพื่อเรียกเงินคืนค่ะ
จึงควรพิจารณาจนแน่ใจแล้วว่าคุณจขกท.มิได้กระทำการใดๆ อันผิดจากข้อสัญญาหรือเป็นไปตาม เงื่อนไขหมายเหตุ หรือข้อความแนบท้ายสัญญา ก็ให้ดำเนินการชี้แจงกับทางนิติกรของโครงการก่อนเป็นเบื้องต้น เพื่อหาทางออก โดยการขอคืนเงิน ก็ต้องบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายนั้นเสียก่อน แต่การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยผู้จองนั้น จะสามารถทำได้หรืออยู่ในเงื่อนไขหรือเปล่า จึงต้องกลับไปดูข้อความในสัญญาก่อนค่ะ ว่ามีประการใดหรือไม่ที่ได้ระบุไว้ให้ถือเป็นเหตุให้สามารถบอกเลิกสัญญาได้
ยกเว้นเสียแต่เป็นกรณีที่มีความผิดในสาระสำคัญของทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ เช่น โครงการไม่สามารถก่อสร้างเสร็จทัน หรือไม่สามารถมอบโอนได้ภายในวันที่ระบุตามสัญญา หรือโฆษณาให้ข้อมูลที่ผิดไปจากสภาพจริง เป็นต้น
หากการเจรจาไม่เป็นผล หรือหาตัวคนตัดสินใจชัดเจนไม่ได้ ค่อยแต่งทนาย โดยเอาเอกสารสัญญา และเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมดไปปรึกษาดูวามเป็นไปได้ หากไม่สามารถจะมีภาระเรื่องการจ้างทนายได้ให้ติดต่อไปที่สภาทนายความ จะมีทนายความอาสามาดูแลรับเรื่องและดำเนินการให้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (ยกเว้นค่าอากร ธรรมเนียม เล็กน้อยที่เกี่ยวข้องกับงานเอกสาร) สภาทนายความ ส่วนงานให้ความช่วยเหลือ ติดต่อตามนี้ค่ะ aid@lawyerscouncil.or.th หรือ โทร. 0-2629-1430 ต่อ 111, 112, 113, 148 *** สายด่วน 1167 ****
**กรุณาเตรียมเอกสาร+ข้อเท็จจริงไว้ให้มากที่สุด พอทางทนายนัดพบก็หอบไปทั้งหมดที่มีนะคะ
ซึ่งเคสนี้ถ้าถึงต้องฟ้องกัน ก็จะไปเจอกันที่ศาลผู้บริโภค ซึ่งไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนใดๆ ศาลจะให้คู่กรณีเจรจาไกล่เกลี่ยรอมชอมกันก่อน โดยมีคนกลางคือเจ้าหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือและร่วมนั่งพิจารณา หากคุยกันไม่ได้ก็ค่อยเข้าสู่ขบวนการพิจารณา ระยะพิจารณาความประมาณ 1 เดือน ถ้าไม่มีการขอเลื่อนพิจารณาจากคู่กรณี
หรืออีกทางหนึ่งคือ ไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับสคบ. ซึ่งเค้าก็จะเชิญคู่กรณีไปเจรจาไกล่เกลี่ย โดยหากทางโครงการไม่เล่นด้วยหรือคุยกันไม่รู้เรื่อง สคบ.จะเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้พิจารณาเพื่อดำเนินคดีแทน ซึ่งหากคณะกรรมการเห็นชอบแล้ว คุณก็จะไม่ต้องเสียเงิน ค่าทนายความและค่าธรรมเนียมศาล รวมทั้งสามารถเรียกร้องดอกเบี้ยในระหว่างที่เค้ายึดเงินจองของคุณไปด้วยค่ะ โทร. สอบถามรายละเอียดได้ ที่ หมายเลข 1166 (ไม่รู้ว่าจะโได้เรื่องหรือไม่นะคะ เพราะตอนนี้สคบ.ไปอยู่ไหนแล้วก็ไม่ทราบ เพราะทำเนียบถูกยึด)
** ขอย้ำว่าให้ศึกษาข้อสัญญาให้ถี่ถ้วนก่อนนะคะ จะได้ไม่เสียเวลาเปล่าค่ะ **
ปล. หากเซลล์หรือโครงการมายื่นข้อเสนอคืนเงินจองด้วยวิธีพิศดาร เช่นการสวมรอยสิทธิ์ผู้ซื้อ หรือเล่นแร่แปรธาตุอันใด อย่าได้ยินยอมรับเงื่อนไขเป็นเด็ดขาดนะคะ มิฉะนั้นคุณอาจกระทำผิดเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกันหลอกลวงสถาบันการเงินค่ะ
ย้ำอีกครั้งให้ชัดๆว่า ... ถ้าคุณไม่ได้ทำผิดข้อสัญญาใดๆ และในใบสัญญาระบุข้อความว่า จะคืนเงินจองให้ทั้งหมด โดยมิได้มีเงื่อนไขประการใดสอดแทรกหรือต่อท้ายสัญญาอันเป็นเหตุที่จะไม่คืนเงินจองด้วยประการต่างๆ และมีการลงนามประทับตรารับรองชัดเจนเปิดเผยจากคู่สัญญา ศาลจะพิจารณาให้คืนเงินจองค่ะ เว้นเสียแต่ว่ามีการกระทำอันเป็นการเจตนาปกปิดข้อมูล หรือให้การอันผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งหากมีการระบุในสัญญาว่ากรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดสัญญาข้อตกลง อันนี้คงต้องคุยกันยาวค่ะ
** เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัว ผิดถูกประการใดคงต้องให้ท่านอื่นช่วยเสริมค่ะ
สงสัยเมื่อคืนง่วง พิมพ์ผิดบานเลย ฮ่าๆๆๆ ว่าแต่ว่าโน็ตบุีคนี่ไม่เหมาะแก่การพิมพ์อะไรเยอะๆจริงๆวุ้ย
แก้ไขเมื่อ 18 ต.ค. 51 06:30:13
แก้ไขเมื่อ 18 ต.ค. 51 06:21:10
แก้ไขเมื่อ 18 ต.ค. 51 06:20:14
จากคุณ :
ถึกสมร ขจรอึด
- [
18 ต.ค. 51 01:41:29
]
|
|
|