 |
ความคิดเห็นที่ 2 |
การรองน้ำฝน
ปัญหาการปนเปื้อนของน้ำฝนจากมลพิษอื่นๆในอากาศ มีน้อยมาก ไม่มีผลที่จะทำให้น้ำฝนใช้บริโภคไม่ได้ นอกเสียจากว่ามลพิษในอากาศนั้น มีมากจนใช้หายใจไม่ได้ ก็อาจจะทำให้น้ำฝนใช้บริโภคไม่ได้ การรองน้ำฝนในขณะที่ฝนเริ่มตกใหม่ๆ โดยเฉพาะในตอนต้นฤดูฝน จะทำให้ได้น้ำฝนที่ไม่ค่อยสะอาด เนื่องจากหลังคายังสกปรกอยู่ ควรปล่อยให้ฝนตกลงมาชะล้างฝุ่นละอองในอากาศ และพื้นหลังคาที่ใช้รองน้ำฝน ให้สะอาดสักระยะหนึ่งก่อน การรองน้ำฝนควรจะรองในตอนที่ฝนตกหนักๆ หรือตอนที่มีพายุดีเปรสชั่นเข้า จะได้น้ำฝนที่สะอาดที่สุด
จากวัฏจักรของน้ำตามธรรมชาติ จะพบว่าน้ำฝนเป็นน้ำที่สะอาดที่สุด เมื่อน้ำฝนตกถึงพื้นดินก็จะค่อยๆ สกปรกมากขึ้น มีการ ชะเอาดินโคลนเข้าไป หากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมก็จะมียาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืชเพิ่มเข้าไป เมื่อไหลไปในคลองในแม่น้ำ ก็จะมีโอกาสสกปรกมากยิ่งขึ้น เมื่อลำน้ำนั้นไหลผ่านโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะต้องรับน้ำเสียและสารเคมีจากโรงงาน เมื่อไหลผ่านตัวเมืองหรือชุมชน ก็ต้องรับน้ำจากท่อระบายน้ำและสิ่งปฏิกูลต่างๆจากชุมชนนั้น ฉะนั้นน้ำธรรมชาติที่สะอาดที่สุดก็คือ น้ำฝนที่รองเอาไว้ก่อนตกถึงพื้นดิน
น้ำฝนที่เก็บไว้ในโอ่งหรือแท้งค์น้ำ อาจมีจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคปะปนอยู่ ซึ่งจะมีจำนวนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความระมัดระวังในการเก็บ การรักษา และการนำน้ำฝนนั้นมาใช้ ภาชนะเก็บน้ำที่สะอาดและมีฝาปิด การระวังไม่ให้มีสิ่งสกปรกตกลงไปในน้ำ การใช้ขันที่สะอาดและล้างมือให้สะอาด ก่อนที่จะจุ่มลงไปตักน้ำขึ้นมาใช้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาความสะอาดของน้ำฝนได้มาก
การดื่มน้ำฝน
วิธีนำน้ำฝนไปดื่มมีหลายวิธี ผู้ที่ไม่พิถีพิถันในเรื่องความสะอาดของน้ำที่จะดื่ม และเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานเชื้อโรคได้สูง อาจจะดื่มน้ำฝนโดย ใช้ขันตักน้ำฝนในโอ่งไปดื่มโดยตรง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เคยดื่มน้ำฝนวิธีนี้เป็นประจำ หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานสูง สำหรับผู้ที่พิถีพิถันขึ้นมาหน่อยไม่อยากที่จะดื่มน้ำที่มีมดมีลูกน้ำเข้าไป ด้วย ก็อาจจะใช้ผ้าขาวบางมากรองเสียชั้นหนึ่งก่อน จึงนำไปดื่ม แต่ถ้าจะให้สะอาดปราศจากเชื้อโรค ก็ต้องเอาไปต้มให้เดือด แต่การต้มน้ำนี้ นอกจากจะเปลืองไฟเปลืองแก๊สและไม่สะดวกแล้ว ยังต้องระมัดระวังการถูกน้ำร้อนลวกด้วย นอกจากนี้รสชาติของน้ำฝนที่ไม่ได้ต้ม ยังอร่อยกว่าน้ำฝนที่ต้มแล้ว คนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมการต้มน้ำฝนสำหรับดื่ม แต่ตามหลักอนามัยแล้ว น้ำที่ดื่มเข้าไปควรจะปราศจากเชื้อโรค และเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการต้มน้ำให้เดือด จะเป็นการฆ่าเชื้อโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่มีอีกวิธีหนึ่ง ที่สามารถทำให้น้ำฝนสะอาดปราศจากเชื้อโรคได้โดยไม่ต้องต้ม นั่นคือวิธีกรองด้วยระบบ Slow Sand Filter (ทรายกรองช้า) ซึ่งเป็นระบบกรองน้ำที่มีอยู่ในธรรมชาติ และถูกนำมาใช้กับระบบประปาที่มีแหล่งน้ำดิบ ที่เป็นน้ำใสและมีคุณภาพสูง มานานกว่าศตวรรษแล้ว ปัจจุบันได้มีผู้ประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำระบบ Slow Sand Filter สำหรับใช้กรองน้ำฝนประจำบ้านแล้ว เครื่องกรองน้ำฝนนี้ เป็นเครื่องที่ทำขึ้นได้ไม่ยาก ผู้ที่มีหัวเป็นช่างสักเล็กน้อย ก็สามารถทำเองได้ โดยเสียเงินซื้อวัสดุไม่เกิน 500 บาท วัสดุก็หาซื้อได้ไม่ยากแม้ในต่างจังหวัด ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องกรองน้ำฝนนี้ สามารถหาอ่านได้ใน วารสารน้ำ ของการประปาส่วนภูมิภาค ฉบับเดือน มิถุนายน 2534
เครื่องกรองน้ำฝนนี้จะต่างจากเครื่องกรองน้ำประปาก็ตรงที่ เครื่องกรองน้ำประปาจะเป็นเครื่องที่ต้องต่อเข้ากับท่อประปา ภายในจะมีไส้กรองสำหรับกรองตะกอน และมีการใช้สารเคมีเช่น ถ่านกัมมันต์(Activated Carbon) และสารเรซิ่น(Resin) ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนไส้กรองและสารเคมีเป็นประจำ แต่เครื่องกรองน้ำฝนนี้ไม่ต้องต่อเข้ากับท่อประปา ใช้ตักน้ำฝนจากโอ่งมาใส่เครื่องกรองได้เลย ภายในเครื่องไม่มีการใช้สารเคมี มีแต่ทรายธรรมชาติ ซึ่งเมื่อทำการบ่มทรายเรียบร้อยแล้ว จะสามารถกรองเชื้อโรคออกจากน้ำฝนได้ เครื่องกรองน้ำฝนนี้ใช้งานง่าย ไม่ต้องมีการบำรุงรักษาเป็นประจำ การกรองน้ำฝนหากตักเอาแต่น้ำใสๆ ไม่ตักเอาตะกอนก้นโอ่งใส่เข้าไปกรองด้วย เครื่องกรองน้ำฝนนี้จะสามารถใช้ได้นานกว่า 10 ปี โดยไม่มีการอุดตันของหน้าทราย ไม่ต้องล้างทรายกรอง ยิ่งใช้นานประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรคยิ่งเพิ่มขึ้น
น้ำประปา
น้ำประปานับเป็นน้ำดื่มที่คนส่วนใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในเมืองใช้ดื่มกิน สารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตน้ำประปา มีมากกว่า 30 ชนิด จำนวนสารเคมีที่ใช้จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของแหล่งน้ำดิบ ที่นำมาใช้ผลิตน้ำประปา ถ้าแหล่งน้ำดิบมีคุณภาพต่ำก็ต้องใช้สารเคมีหลายชนิด แต่อย่างน้อยที่สุดสารเคมีที่การผลิตน้ำประปาจะขาดไม่ได้คือ คลอรีน ซึ่งใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำ แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ น้ำบาดาล และน้ำผิวดิน
สารเคมีที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาจากน้ำบาดาลจะมีไม่มากนัก เพราะน้ำบาดาลส่วนใหญ่ที่ใช้ผลิตน้ำประปาจะมีคุณภาพดี ใส่คลอรีนอย่างเดียวก็ใช้ได้แล้ว น้ำบาดาลบางแห่ง ที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ก็จำเป็นต้องใส่สารเคมีเพิ่มเข้าไปอีก เช่น น้ำบาดาลที่เป็นน้ำกระด้าง ก็จำเป็นต้องใส่ปูนขาวและโซเดียมคาร์บอเนต หรือใช้สารเรซินช่วยแก้ความกระด้าง ส่วนแหล่งน้ำที่เป็นน้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร อ่างเก็บน้ำ บึง สระ ก็จะต้องใช้สารเคมีมากขึ้น ตามความสกปรกของแหล่งน้ำนั้น สารเคมีที่ต้องนำมาใช้กับน้ำผิวดินแทบทุกชนิด คือ สารส้ม ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้สำหรับการตกตะกอน ทำให้น้ำใสขึ้น
และในกรณีที่ตะกอนในน้ำเป็นตะกอนที่มีน้ำหนักเบา ก็อาจจะมีการใส่สารสังเคราะห์ที่เรียกว่า Polymmer เพื่อช่วยให้การตกตะกอนง่ายขึ้น รวมทั้งการใส่คลอรีนเพื่อทำลายสารอินทรีย์หรือตะไคร่ในน้ำ จุนสีหรือ Copper Sulfate ก็เป็นสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ในการทำลายตะไคร่น้ำในวงการประปา ในกรณีที่น้ำมีความเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสม ก็จะมีการใส่ปูนขาวเข้าไปช่วย แหล่งน้ำผิวดินบางแห่งมีความสกปรกมาก มีปริมาณแมงกานีสสูง ก็อาจจะต้องใส่ด่างทับทิมเข้าไปช่วยแก้ไข น้ำที่มีกลิ่นมีสีก็จะใช้ถ่านกัมมันต์เข้าไปฟอกสีดูดกลิ่นออก เมื่อน้ำผ่านการตกตะกอนและกรองจนใสดีแล้ว ก็จะต้องใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนที่จะจ่ายออกไปให้ผู้ใช้น้ำต่อไป
คุณภาพของแหล่งน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปา นับวันจะยิ่งมีคุณภาพต่ำลงทุกที เพราะมลภาวะทางน้ำที่ยากต่อการควบคุม ได้เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาจะถูกเพิ่มขึ้นจากการใช้สารเคมีที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากการลงทุนในการสร้างระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อพยายามทำให้น้ำประปาเป็นน้ำที่มีคุณภาพดื่มได้ ทั้งที่ปริมาณของน้ำประปาที่ถูกใช้เป็นน้ำดื่มหรือน้ำบริโภคมีเพียง 1%เท่านั้น ส่วนน้ำประปาอีก 99% ถูกใช้เป็นน้ำอุปโภค หมายความว่า ในบ้านทั่วๆไป จะใช้น้ำประปาวันละประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ ประมาณ 1,000 ลิตร น้ำประปา 1,000 ลิตรนี้ จะถูกใช้เป็นน้ำดื่ม, น้ำหุงข้าว ต้มแกง ประมาณ 10 ลิตร ที่เหลืออีก 990 ลิตร จะถูกใช้เป็นน้ำล้างชาม, ซักผ้า, อาบน้ำ, ถูบ้าน, ล้างรถ,รดต้นไม้, ชักโครก, ฯลฯ
ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพดีเท่าน้ำสำหรับการบริโภค การทำน้ำประปาให้เป็นน้ำที่มีคุณภาพสำหรับการบริโภค จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทำน้ำประปาให้มีคุณภาพเพียงแค่ให้เป็นน้ำอุปโภค หลายเท่า และการใช้น้ำที่บริโภคได้ ไปใช้เพื่อการอุปโภค ก็เป็นการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้นเมื่อมลภาวะในแหล่งน้ำดิบมีมากขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ที่ทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพดีพอสำหรับการบริโภค หรือผลิตได้ในราคาค่าน้ำที่ผู้ใช้น้ำประปาจะยอมรับได้ การผลิตน้ำประปาในตอนนั้น ก็คงจะทำให้มีคุณภาพเพียงเป็นน้ำสำหรับอุปโภคเท่านั้น ส่วนน้ำบริโภคหากไม่มีน้ำฝน ก็คงต้องพึ่งน้ำดื่มบรรจุขวดโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง
หากการประปาสามารถรองน้ำฝนมาผลิตน้ำประปาได้ ก็จะไม่ต้องใช้สารเคมีมากและจะได้น้ำประปาที่สะอาดที่สุด แต่ก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะการผลิตน้ำประปาต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ต่อให้สร้างหลังคาคลุมหมดทั้งเมือง ก็รองน้ำฝนได้ไม่พอผลิตน้ำประปา การประปาจึงจำเป็นต้องใช้แหล่งน้ำ ที่สามารถให้น้ำได้ในปริมาณมากๆ ติดต่อกันตลอดทั้งปี เช่น น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ หรือน้ำบาดาล จึงทำให้การใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากในการผลิตน้ำประปา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงแม้จะมีการยืนยันว่า น้ำประปาปลอดภัยดื่มได้จากก๊อก แต่ก็คงจะมีผู้ที่รองน้ำประปาจากก๊อกมาดื่มโดยตรง ไม่มากนัก นอกจากเป็นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจริงๆ เพราะคนส่วนใหญ่จะดื่มน้ำประปา โดยการนำไปต้มก่อน หรือไม่เช่นนั้น ก็มีการใช้เครื่องกรองน้ำประปา และคงจะมีจำนวนไม่น้อย ที่กรองด้วยเครื่องกรองน้ำประปาแล้ว ยังนำไปต้มอีก จึงจะนำมาดื่ม
จากคุณ |
:
ไร้แก่นสาร
|
เขียนเมื่อ |
:
17 พ.ย. 52 22:37:36
|
|
|
|
 |