ความคิดเห็นที่ 4 |
คัดมาจากเวป บ้านและสวนค่ะ
ไม้ใหญ่...ไหม? Q : ต้นใหญ่ไปไหม? A : ลักษณะของต้นไม้จะแยกตามขนาดของทรงพุ่มและลักษณะเรือนยอด ซึ่งมีรายละเอียดเหมาะสมกับพื้นที่ใหญ่เล็ก ดังนี้
สวนในพื้นที่แคบ เช่น พื้นที่สวนริมรั้ว หรือพื้นที่หลังบ้านเล็กๆ ขนาดกว้างประมาณ 2.50-3 เมตรสามารถเลือกใช้ ไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 2.50-6 เมตร และมีลักษณะเรือนยอดสัมพันธ์กับพื้นที่ คือ เรือนยอดแคบ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางทรงพุ่มไม่เกิน 6 เมตร เช่น อโศกอินเดีย ศรีตรัง จำปี
สวนพื้นที่ขนาดกลาง ได้แก่ สวนในบ้านจัดสรรที่มีเนื้อที่ 70-120 ตารางวา อาจเป็นสวนหน้าบ้าน สวนหลังบ้าน หรือบริเวณลานจอดรถ สามารถเลือกใช้ ไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 6-15 เมตร และมีขนาดเรือนยอดปานกลาง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-10 เมตร เช่น ปีบ แคนา สุพรรณิการ์ อินทนิล ประดู่ ตีนเป็ดน้ำ น้ำเต้าต้น
สวนพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น บ้านที่มีพื้นที่กว้างกว่า 120 ตารางวา สวนสาธารณะหรือไม้ริมถนน สามารถเลือกใช้ ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงตั้งแต่ 15 เมตรขึ้นไป และมีเรือนยอดกว้าง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 10 เมตร เช่น หางนกยูงฝรั่ง หูกระจง สัตบรรณ
Q : ถ้าอยากปลูก จะกะระยะปลูกอย่างไรดี ? A : โดยปกติไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกทั่วไปจะมีขนาดทรงพุ่มเมื่อโตเต็มที่กว้างประมาณ 7-8 เมตร ดังนั้นระยะปลูกควรอยู่ห่างจากอาคารอย่างน้อยประมาณ 5 เมตร เพื่อป้องกันรากดันตัวโครงสร้างของอาคาร และกิ่งก้านที่แผ่ดันหลังคา หรือรางน้ำ หากปลูกชิดกำแพงมากเกินไป ลำต้นจะเอนหาแสงทำให้รูปทรงไม่สวยงาม หากปลูกริมรั้ว หรือแนวกำแพง ควรปลูกห่างจากกำแพงอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อป้องกันระบบรากดันคานหรือเสารั้ว จนเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะไม้ที่มีเรือนยอดขนาดใหญ่และมีระบบรากแข็งแรง เช่น จามจุรี ชมพูพันธุ์ทิพย์ หางนกยูงฝรั่ง ไทร ยางอินเดีย และทองหลาง ไม่ควรเลือกปลูกชิดรั้วหรือตัวอาคารโดยเด็ดขาด
กรณีที่ยังไม่ได้ปลูกบ้าน แต่อยากปลูกต้นไม้ไว้ก่อน อย่างน้อยควรวางผังคร่าวๆว่าตำแหน่งบ้านจะอยู่ตรงไหน กว้างยาวเท่าใด และปลูกเพื่อจุดประสงค์อะไร
Q : อยากได้ไม้ใหญ่ แต่พื้นที่จำกัด ต้องทำอย่างไร? A : หากต้องการปลูกต้นไม้ชนิดนั้นจริงๆ คุณพอมีทางจำกัดการเจริญเติบโตของต้นไม้ได้ ดังนี้
1.ควบคุมการเจริญเติบโตของราก ทำได้ 2 วิธีคือ
1.1การปลูกต้นไม้แบบฝังกระถาง สำหรับไม้ที่ไม่ใหญ่มาก สามารถเลือกฝังเลย หรือทุบก้นกระถางออกก่อนก็ได้ เพื่อไม่จำกัดการเจริญเติบโตมากจนเกินไป
1.2 การสร้างกระบะปลูกต้นไม้ สำหรับไม้ที่ใหญ่เกินกว่าจะปลูกลงในกระถาง เพื่อให้ต้นไม้เจริญได้เฉพาะตำแหน่งและพื้นที่ที่กำหนดไว้ สามารถทำได้ทั้งการก่อกระบะบนผิวดิน หรือฝังไว้ใต้ดิน โดยทั่วไปแล้ว การเจริญเติบโตของทรงต้นจะสัมพันธ์กับการแตกทรงพุ่ม ทำให้เราสามารถบังคับทรงพุ่มให้มีขนาดที่ต้องการได้
2.การตัดแต่งทรงต้น เบื้องต้นนั้นเมื่อต้นไม้ถูกตัดกิ่งด้านข้างออก อาหารที่สะสมอยู่จะไปเลี้ยงส่วนที่เหลือคือส่วนยอด ต้นก็จะเจริญตามความสูงได้ดีขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อต้นถูกตัดส่วนยอดออก อาหารก็จะถูกส่งไปเลี้ยงที่กิ่งด้านข้าง ต้นก็จะเจริญเติบโตทางด้านข้างมากขึ้น ผู้ปลูกจึงสามารถบังคับการเจริญเติบโตของต้นไม้ให้มีขนาดหรือรูปทรงต่างๆ ได้ตามต้องการโดย
2.1การตัดแต่งเพื่อบังคับรูปทรง เช่น ตะแบก เสลา อินทนิลน้ำ ขณะที่ยังมีขนาดเล็ก ต้นจะแตกกิ่งก้านจำนวนมาก ลำต้นไม่แข็งแรง จำเป็นต้องตัดกิ่งทางด้านข้างออกให้หมด เพื่อให้โคนต้นโปร่ง เหลือเฉพาะกิ่งด้านบน และเรือนยอดจะได้รูปทรง ส่วนบางต้น เช่น ประดู่ ชมพูพันธุ์พิทย์ ขณะต้นยังเล็กจะเจริญตามความสูงค่อนข้างมากและไม่ค่อยแตกกิ่งก้านด้านข้าง ซึ่งมีผลทำให้ต้นสูง วิธีแก้ไขคือตัดยอดให้ได้ความสูงตามที่ต้องการ จากนั้นต้นก็จะแตกกิ่งทางด้านข้างเพิ่มขึ้น
2.2การตัดแต่งกิ่งเพื่อบังคับขนาด กรณีที่ปลูกไม้ต้นในพื้นที่จำกัด เช่น ริมถนนที่มีสายไฟหรือบริเวณสิ่งก่อสร้าง เมื่อต้นไม้มีขนาดใหญ่เกินไปจนก่อให้เกิดความเสียหาย เราสามารถตัดแต่งให้ได้ทรงพุ่มตามขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ ทั้งนี้ควรคำนึงถึงชนิดของต้นไม้ด้วย และควรปฏิบัติในช่วงฤดูหนาวหรือขณะที่ต้นกำลังผลัดใบ จะช่วยให้เห็นกิ่งก้านที่ต้องการตัดได้ชัดเจน และสะดวกต่อการปฏิบัติงาน
ระบบรากใหญ่อาจมีปัญหากับโครงสร้าง
สัตบรรณ เรือนยอดปานกลางค่อนข้างกว้าง สูงประมาณ 20-30 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 7-10 เมตร ปัญหาที่พบ >> ระบบรากแข็งแรง ทำให้เกิดปัญหากับโครงสร้าง วิธีแก้ไข >> ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมระบบราก / สร้างกระบะใต้ดินเพื่อจำกัดการเจริญเติบโต หูกระจง เรือนยอดปานกลางค่อนข้างกว้าง สูงประมาณ 15-20 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 10-15 เมตร ปัญหาที่พบ >> ระบบรากแข็งแรง ทำให้เกิดปัญหากับโครงสร้าง วิธีแก้ไข >> ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมระบบราก / สร้างกระบะใต้ดินเพื่อจำกัดการเจริญเติบโต
หางนกยูงฝรั่ง เรือนยอดกว้าง รูปร่ม สูงประมาณ 10-18 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 10-25 เมตร ปัญหาที่พบ >> ระบบรากแข็งแรง ทำให้เกิดปัญหากับโครงสร้าง / ลำต้นใหญ่ / ใบและดอกร่วงมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาอุดตันระบบระบายน้ำ วิธีแก้ไข >> ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมระบบราก / สร้างกระบะใต้ดินเพื่อจำกัดการเจริญเติบโต
มีการแตกกิ่งก้าน สร้างปัญหาในพื้นที่
ปีบ เรือนยอดปานกลาง สูงประมาณ 15-25 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 10-15 เมตร ปัญหาที่พบ >> ระบบรากแข็งแรง ทำให้เกิดปัญหากับโครงสร้าง / ใบและดอกร่วงมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาอุดตันระบบระบายน้ำ / มีต้นอ่อนงอกออกมาจากรากใต้ดิน ตามระยะทรงพุ่ม วิธีแก้ไข >> ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมระบบราก / สร้างกระบะใต้ดินเพื่อจำกัดการเจริญเติบโต
ชมพูพันธุ์ทิพย์ เรือนยอดปานกลางค่อนข้างกว้าง สูงประมาณ 8-18 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 8-12 เมตร ปัญหาที่พบ >> ระบบรากแข็งแรง ทำให้เกิดปัญหากับโครงสร้าง / ใบและดอกร่วงมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาอุดตันระบบระบายน้ำ / กิ่งเปราะ แตกหักง่าย วิธีแก้ไข >> ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมระบบราก / สร้างกระบะใต้ดินเพื่อจำกัดการเจริญเติบโต
ประดู่ เรือนยอดปานกลางค่อนข้างกว้าง เรือนยอดทรงกลม สูงประมาณ 10-20 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 8-10 เมตร ปัญหาที่พบ >> ใบและดอกร่วงมาก อาจก่อให้เกิดปัญหาอุดตันระบบระบายน้ำ / แผ่กิ่งก้านกว้าง แตกกิ่งเกะกะ วิธีแก้ไข >> ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมการแตกกิ่ง
พรรณไม้ที่สามารถปลูกลงกระถางได้
ตีนเป็ดน้ำ เรือนยอดปานกลาง สูงประมาณ 5-7 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 8-10 เมตร ปัญหาที่พบ >> ยางมีพิษ ไม่ควรปลูกในสนามที่มีเด็ก วิธีแก้ไข >> ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมระบบราก / ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมการแตกกิ่ง
หมากเขียว ปาล์มแตกกอ สูงประมาณ 3-6 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 1.50-2 เมตร ปัญหาที่พบ >> แตกกอเจริญเต็มกระถาง
รำเพย เรือนยอดแคบ ทรงแจกัน สูงประมาณ 2-3 เมตร ขนาดทรงพุ่มประมาณ 1.50-2.50 เมตร ปัญหาที่พบ >> ยางมีพิษ ไม่ควรปลูกในสนามที่มีเด็ก วิธีแก้ไข >> ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมระบบราก / ตัดแต่งทรงต้นเพื่อช่วยควบคุมการแตกกิ่ง
เรื่อง : อรรถ จากเวป บ้านและสวน
จากคุณ |
:
Toom-bs
|
เขียนเมื่อ |
:
11 มิ.ย. 53 10:52:30
|
|
|
|