Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
การต่อเติมอาคาร ติดต่อทีมงาน

เนื่องจากมีบางกระทู้ มีปัญหาเกี่ยวกับการต่อเติมอาคาร  ผมจึงขออนุญาตท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย นำบล็อกที่เขียนไว้บางเรื่อง มาลงในกระทู้ เพื่อเป็นข้อมูล ความคิดเห็น และการตัดสินใจ ของผู้เกี่ยวข้อง ที่ไม่ได้เข้าไปอ่านบล็อก  ดังนี้ ครับ


เกี่ยวกับเรื่องการต่อเติมอาคาร  เป็นเรื่องสืบเนื่องจากกระทู้เกี่ยวกับการต่อเติมอาคาร หรือปัญหาด้านโครงสร้าง เช่น ต่อเติมห้องนอน ห้องทำงาน ห้องครัว ผนังมีรอยร้าว หรือเปลี่ยนวัสดุก่อผนัง เป็นต้น  มักมีคำถามว่า จะใช้เสาเข็มกี่ต้น มีขนาดและความยาวเท่าไร โครงสร้างของอาคารต่อเติม จะเป็นแบบไหน จะเชื่อมติดกับโครงสร้างของอาคารเดิม หรือแยกโครงสร้างออกจากกัน จะแก้ไขโครงสร้างอย่างไร เป็นต้น  คำถาม ต่าง ๆ เหล่านี้ จะมีผู้แสดงความคิดเห็นหลากหลาย ทั้งในเชิงสร้างสรรและไม่สร้างสรร ซึ่งเป็นไปตามวุฒิภาวะของท่านเหล่านั้น  ผมขออนุญาตแสดงเฉพาะกรณีของความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรร ซึ่งมีลักษณะพอสังเขป ดังนี้

-- โต้เถียงกันระหว่างผู้แสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน

-- อย่าเชื่อคำตอบในนี้ ( ยุ่งล่ะครับ เพราะหมายความว่า ท่านเจ้าของกระทู้ต้องไม่เชื่อความคิดเห็นนี้ด้วย ) ( ฮา ) ๕๕๕

-- ถ้าแนบใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม มาด้วย จึงน่าเชื่อถือ ( ยุ่งหนักขึ้นไปอีก เพราะผู้แสดงความคิดเห็น คงไม่ได้เป็นวิศวกร กันทุกท่าน จะเรียกว่าสองมาตรฐานหรือไม่ ) ( ฮาได้อีก ) ๕๕๕

-- ผู้แสดงความคิดเห็น ไม่ได้อยู่ในบ้านนั้น ถ้าเป็นอะไรไป จะไม่มีใครรับผิดชอบ ( นี่ น่าจะเสี่ยงที่สุดนะครับ สำหรับผู้แสดงความคิดเห็น เพราะต้องไปอยู่ในบ้านนั้นด้วย เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ) ( ขอฮาอีกครั้ง ) ๕๕๕

ความคิดเห็นเหล่านี้ ไม่ควรเกิดขึ้น ในโลกของสังคมแห่งการแบ่งปัน  ถ้าแต่ละท่านแสดงความคิดเห็นโดยตรงต่อท่านเจ้าของกระทู้ และไม่พาดพิงความคิดเห็นท่านอื่น ในลักษณะเสียดสี โต้เถียง หรือท้าทาย ผู้แสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ดังที่ผมพบมาในบางกระทู้  ผมมั่นใจว่า ท่านเจ้าของกระทู้ ย่อมมีวิจารณญาณ ในการรวบรวมความคิดรวบยอด และสังเคราะห์เป็นข้อสรุปที่ดีที่สุด สำหรับท่านเจ้าของกระทู้ได้  ความคิดเห็นเหล่านี้ ที่หนักที่สุด คือ อย่าเชื่อคำตอบในนี้  เมื่อมีความคิดเห็นเป็นเช่นนี้ ทุกท่านที่แสดงความคิดเห็น จะรู้สึกเช่นไร  สำหรับผม ถือว่าไร้มารยาทมาก  ทำให้ผมค่อนข้างจะไม่แสดงความคิดเห็นอีกต่อไป

จึงทำให้ผมตัดสินใจเขียนเรื่องการต่อเติมอาคาร ขึ้นมา เพื่อให้ท่านทั้งหลาย ได้พิจารณาเป็นข้อมูล ในการต่อเติมอาคารของท่าน


เนื้อหา ประกอบด้วย สาเหตุของการต่อเติม การกำหนดประเภทของฐานราก การกำหนดระยะห่างระหว่างฐานรากใหม่และฐานรากเดิม มีภาพปลากรอบ ( ภาพประกอบ ) ( ขออนุญาตใช้ศัพท์วัยรุ่น เพื่อกระชากวัยลงมา ให้ใกล้เคียงกับท่านทั้งหลาย ) ( ฮา ) ๕๕๕ เพื่อความเข้าใจ

หากบทความนี้ มีประโยชน์ต่อท่านทั้งหลาย ผมขออำนาจคุณพระรัตนตรัยและอานิสงส์ของการเผยแพร่ความรู้นี้ อุทิศให้มารดาและบิดาตลอดจนญาติพี่น้องทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว จงมีความสุขและความเจริญในภพภูมิใหม่ด้วย เทอญ


สาเหตุของการต่อเติม

การต่อเติมอาคาร มีสาเหตุมาจาก อาคารเดิมมีพื้นที่ใช้สอยไม่เพียงพอ ต่อการใช้งาน หรือความ ต้องการ จึงจำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่ใช้สอย ด้วยการต่อเติมอาคาร เช่น ต่อเติมห้องนอน ห้องทำงาน หรือห้องครัว เป็นต้น อาคารที่ต่อเติม ไม่จำเป็นต้องเป็นอาคารชั้นเดียว อาจเป็นอาคารหลายชั้น ก็ได้ ขึ้นอยู่กับจำนวนพื้นที่ใช้สอยที่ต้องการ พื้นที่ว่างของที่ดิน และ พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ รวมทั้งข้อกำหนดของท้องถิ่น เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุดของการต่อเติมอาคาร คือ การกำหนดประเภทของฐานราก และระยะห่างระหว่างฐานรากใหม่และฐานรากเดิม เพื่อป้องกันฐานรากเกยกัน เนื่องจากอาคารต่อเติม จะมีกระบวนการออกแบบ เช่นเดียวกับการออกแบบอาคารใหม่ทั้งหลัง แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ

--  อาคารต่อเติมจะอยู่ชิดกับอาคารเดิม เสมือนเป็นอาคารหลังเดียวกัน  ดังนั้น โครงสร้างพื้น บริเวณชิดอาคารเดิม จะเป็นโครงสร้างแบบคานยื่นและเสาลอย  และ

--  แยกโครงสร้างของอาคารแต่ละหลังออกจากกัน เพื่อให้การทรุดตัวของอาคารแต่ละหลัง เป็นอิสระต่อกัน  ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้ระบบโครงสร้างและความแข็งแรงของวัสดุ เช่นเดียวกับอาคารเดิม  ทั้งนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีของวัสดุ มีการวิจัยและพัฒนา ในด้านการรับกำลังที่สูงขึ้น

การกำหนดประเภทของฐานราก

ฐานรากของอาคารต่อเติม จะเป็นฐานแผ่ คือฐานรากถ่ายน้ำหนักให้ดิน หรือฐานรากเสาเข็ม คือฐานรากถ่ายน้ำหนักให้เสาเข็มและเสาเข็มถ่ายน้ำหนักให้ดิน นั้น จะขึ้นอยู่กับขนาดของน้ำหนัก ที่ถ่ายลงให้ฐานราก สภาพชั้นดิน และการตัดสินใจของวิศวกรโครงสร้าง

การหาขนาดของฐานแผ่ จะอยู่ที่ขนาดของน้ำหนักที่ถ่ายลงให้ฐานราก เทียบกับความสามารถในการรับแรงแบกทาน ( bearing ) ของดิน กรณีไม่มีเอกสารรับรองผลการทดสอบ  กฏกระทรวง ซึ่งออกตามความใน พรบ. ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดกำลังแบกทานของดินประเภท ต่าง ๆ จะต้องไม่เกินค่า ดังนี้

๑ ดินอ่อนหรือถมไว้แน่นตัวเต็มที่     ๒ ตัน / ตารางเมตร
๒ ดินปานกลางหรือทรายร่วน          ๕ ตัน / ตารางเมตร
๓ ดินแน่นหรือทรายแน่น               ๑๐ ตัน / ตารางเมตร
๔ กรวดหรือดินดาน                      ๒๐ ตัน / ตารางเมตร
๕ หินดินดาน                              ๒๕ ตัน / ตารางเมตร
๖ หินปูนหรือหินทราย                   ๓๐ ตัน / ตารางเมตร
๗ หินอัคนีที่ยังไม่แปรสภาพ           ๑๐๐ ตัน / ตารางเมตร

การหาจำนวนเสาเข็มของฐานรากเสาเข็ม จะอยู่ที่ขนาดของน้ำหนักที่ถ่ายลงให้ฐานราก เช่นเดียวกับฐานแผ่ ต่างกันตรงที่เทียบกับความสามารถในการรับน้ำหนักปลอดภัยของเสาเข็ม ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพของชั้นดิน

กรณีฐานรากเสาเข็ม จะมีข้อบังคับเกี่ยวกับระยะทางระหว่างเสาเข็มและอาคารข้างเคียงต่างเจ้าของ จะต้องมีระยะทางไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตร หากระยะทางน้อยกว่านี้ จะต้องใช้เสาเข็มเจาะ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาค่าก่อสร้างที่สูงขึ้น การใช้เสาเข็มตอกหรือเสาเข็มเจาะ ของอาคารต่อเติม ไม่จำเป็นต้องใช้ขนาดและความยาวเท่าอาคารเดิม เนื่องจากการแยกโครงสร้างของอาคารแต่ละหลังออกจากกัน เพื่อให้การทรุดตัวของอาคารแต่ละหลัง เป็นอิสระต่อกัน ดังกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

การกำหนดระยะห่างของฐานราก

การกำหนดระยะห่างระหว่างฐานรากอาคารต่อเติมและฐานรากอาคารเดิม จำเป็นต้องมีแบบก่อสร้างเดิม เพื่อตรวจสอบขนาดและตำแหน่งของฐานราก รวมทั้งเสาเข็มของอาคารเดิม เพื่อป้องกันฐานรากเกยกัน ดังกล่าวไว้ข้างต้นแล้ว

กรณีฐานแผ่ จะกำหนดจากเส้นมุมลาดของมวลดิน ที่ระดับฐานแผ่ของอาคารเดิม ซึ่งมุมลาดของมวลดิน คือ มุมที่มากที่สุด วัดจากแนวนอน ซึ่งมวลดินสามารถคงรูปอยู่ได้ตามธรรมชาติ โดยไม่พังทลายลงมา เรียกว่า มุมลาดของมวลดินตามธรรมชาติ ( angle of repose ) โดยปกติ มีค่าเท่ากับมุมเสียดทานภายในระหว่างเม็ดดิน ( มุม [sci:phi] ) ตำแหน่งของฐานแผ่และการขุดหลุมฐานราก จะต้องอยู่เหนือแนวเส้นมุมลาดนี้

จากคุณ : thitiwat
เขียนเมื่อ : 22 ม.ค. 54 12:03:22




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com