Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
คำเตือนเรื่อง คำแนะนำผิดๆในการเดินท่อระบบประปาในบอร์ดห้องนี้ ติดต่อทีมงาน

บอกกันตรงๆในระยะหลังๆ หากคุณสังเกตให้ดีจะอ่านเจอการแนะนำการต่อท่อประปาที่ผิดๆ( ในความคิดผม )บ่อยและถี่ขึ้นโดยเฉพาะในกระทู้ที่มีปัญหาเรื่อง ระบบประปาภายในบ้าน หรือ บางทีกระทู่ที่ถามก็ไม่เห็นจะเกี่ยวการเดินท่อประปา ?  มักมาจากผู้ที่มีคนยกๆว่าเป็นผู้รู้บ้าง,เป็นกูรูบ้าง  มีการแนะนำเทคนิคการเดินระบบประปาที่ไม่ถูกต้องบ่อยมากๆ  จากแต่ก่อนผมก็หยวนๆปล่อยผ่านๆไป  แต่ในระยะหลังๆเห็นเที่ยวแนะนำไปทั่วจนผมเริ่มแปลกใจไม่เข้าใจว่าในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องในบางกระทู้เช่น ถามเรื่องการเลือกซื้ออ่างจากุสซี่ ก็ยังมีแนะนำขอพ่วงติดเข้าไปอีก  จนผมเริ่มหงุดหงิดกับ ศัพท์เทคนิคภาษาอังกฤษนี้ โดยเฉพาะคำว่า “  LOOP  “ ที่เอามาใช้แบบผิดๆ และ ไม่เข้าใจความหมายจริงๆที่ใช้ในระบบประปา



ก่อนอื่นผมขอออกตัวเอี๊ยดไว้ก่อนว่า  เรื่องระบบประปา และ ปั้มน้ำ ที่ผมแนะนำแสดงความคิดเห็นไปนั้น ผมไม่ใช่กูรู ไม่ใช่ผู้รู้  ที่แอบหากินค่าคอมถังเก็บน้ำหลีงไมค์? และผมก็ไม่ใช่ อับดุล ที่มั่วแนะนำส่งเดชแบบไม่ถูกหลักวิชาช่างแบบนี้ ความรู้ งานช่างประปาเรื่องเหล่านี้ที่ผมรู้มันเป็นความรู้พื้นฐานที่ควรมีของช่างวิชาชีพที่เคยผ่านงานเหล่านี้มา




ระบบ LOOP ในงานประปาจริงๆมีครับ แต่มันเป็นระบบการเดินท่อประปาแบบ ตาข่าย ซึ่งเหมาะสำหรับชุมชนขนาดใหญ่ ระบบตาข่ายมีข้อดี คือมีการไหลของน้ำในท่อจะสม่ำเสมอ และ จะไม่ค่อยมีการตกตะกอนในเส้นท่อด้านปลายๆท่อหากคุณเดินระบบท่อ แบบระบบแขนง และ การซ่อมแซมจุดหนึ่งจุดใดก็ไม่จำเป็นต้องหยุดจ่ายน้ำ โดยสามารถปิดประตูน้ำเฉพาะบริเวณได้ ส่วนข้อเสียของระบบตาข่ายก็คือ ราคาค่าติดตั้งระบบท่อสูงกว่าระบบแขนง อีกทั้งการคำนวณการออกแบบจะยากกว่าระบบแขนง  เวลาซ่อมระบบท่อฯแบบนี้แต่ไม่รู้ตำแหน่งประตูน้ำที่ต้องปิด ก็ไม่สามารถซ่อมได้จนกว่าจะหาเจอ





ส่วนคำว่า LOOP ที่มีในงานระบบจะมีก็ในส่วนเครื่องทำน้ำร้อนพลังแสงอาทิตย์ และ ไฟฟ้าแบบมีถังเก๊บน้ำ,งานชิลเลอร์ระบบแอร์ขนาดใหญ่ ( จะมีเป็นแบบ ระบบปิด /  CLOSE LOOP ACTIVE และ ระบบ เปิด  ,OPEN LOOP ACTIVE )




ซึ่งผมเคยเอาไปตั้งคำถามในวงกลุ่มช่างประปา,ปั้มน้ำ,เจ้าของร้านขายปั้มน้ำในเวิ้งฯ ที่ทำงานเหมางานระบบประปาในด้านนี้  โดยผมได้เอาคำแนะนำระบบ LOOP ห้องชายคา ในพันทิพย์นี้ ไปถกเถียงกันว่ามันเวิร์คจริงแบบที่คนแนะนำว่าไว้จริงหรือไม่ คำตอบเป็นเอกฉันท์คือ มั่วโครตๆ  แถมบางตนก็คอมเมนท์ถามต่อสั้นๆว่า  ไอ้คนแนะนำเนี่ย มันทำงานด้านประปา,ทำงานเกี่ยวกับปั้มน้ำหรือ ? ทำไมถึงกล้าแนะนำมั่วส่งเดชแบบนี้ไปได้อย่างไร ?  ทำไปแล้วน้ำในเส้นท่อที่จุดก็อกน้ำด้านบนมันดีขึ้น แรงขึ้นตรงไหน ?  ที่สำคัญคำแนะนำแบบผิดๆนี้  ในระยะหลังๆมีคนเอาไปลงลิงค์แนะนำออกไปอีกในเว็ปไซท์ต่างๆ  ซึ่งผมกลัวว่ากรณีนี้เดี่ยวจะคล้ายๆกรณีสร้างกระแสเห่อปั้มน้ำเทพๆ  เมื่อ 2 ปีก่อน ที่ตอนนี้ได้หลอกหลอนคนที่ซื้อ เพราะเชื่อคำแนะนำผิดๆ




อย่างแรกที่ควรรู้ ในระบบประปาในบ้านคุณ หากเปิดใช้ก๊อกน้ำที่ชั้น 2 มีน้ำจ่ายออกออกมาได้เพราะอะไร?



 คำตอบคือ มาจากแรงดันน้ำในระบบท่อ  ( มาจากแรงดันท่อประปาที่จ่ายน้ำโดยการประปา หรือ มาจากปั้มน้ำอัตโนมัติ  )



ดังนั้นหากในระบบท่อประปาในบ้านมีการใช้งานพร้อมๆกัน  น้ำในระบบประปาย่อมไหลออกที่ก็อกชั้นล่างแรงกว่าก็อกน้ำชั้นบนเป็นเรื่องปกติครับ  เพราะจุดก๊อกประปาชั้นล่างอยู่ก่อน และ มีแรงดันบรรยากาศของโลกที่น้อยกว่า ( ในส่วนหลังตรงนี้ผมมองว่าไม่มีผลเท่าไร กับบ้าน 2 ชั้น ที่ความสูงฝักบัว ที่ความสูงไม่น่าเกิน 5.0-5.50 เมตรจากพื้นชั้นล่าง)



ดังนั้นต่อให้คุณบ้าจี้เชื่อคำแนะนำทำระบบท่อประปาแบบ LOOP น้ำในชั้นสองก็น้ำที่ออกมาก็ไม่ได้แรงขึ้นมากมาย พูดกันตรงๆ……………………มันไม่คุ้มค่าที่คุณต้องเปิดช่องชาร์ป ตัดต่อเดินท่อ LOOP  เพราะในความเป็นจริงคุณจะตัดต่อท่อที่ชั้น 2 เป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากมากๆ



หากคุณต้องการน้ำประปาชั้นสองของบ้านแรง มันต้องมีองค์ประกอบหลักๆอยู่ 2-3 อย่างคือ




- ปั้มน้ำ ที่จ่ายสูบน้ำได้ตามที่เราต้องการ เช่นเราสมมุติให้เปิดใช้น้ำพร้อมๆกัน 2 จุด( เปิดก๊อกเต็มที่ ) ปั้มน้ำที่ใช้ควรมีความสามารถสูบจ่ายน้ำได้ไม่น้อยกว่า 40-50 ลิตร/นาที




- ขนาดท่อเมนที่เดินขึ้นไปที่ชั้นสองของบ้าน โดยทั่วๆไป บ้านจัดสรรทั่วๆไปจะเดินเป็นท่อ ¾ นิ้ว หรือขนาด 6 หุน ซึ่งเพียงพอในขั้นต่ำในการเป็นท่อเมนประปา ( หากเป็นท่อขนาด 1 นิ้ว จะดีมากในกรณีคุณเลือกกำหนดก่อนเดินระบบประปาในบ้าน )




- แรงดันของระบบประปาในบ้านคุณ หากคุณใช้เป็นปั้มน้ำอัตโนมัติแบรนด์ ญี่ปุ่น แรงดันจะทำงานที่เฉลี่ยที่ 28-30 PSI แต่ถ้าเป็นปั้มน้ำยุโรปเช่น กรุนฟอส จะเซ็ทและทำงานที่เฉลี่ยที่ 35-42  PSI ซึ่งสำหรับบ้าน 2 ชั้นเหลือเฟือครับ



การที่บ้านพักอยู่อาศัย ในหลายๆหลังมีปัญหาเรื่อง แรงดันน้ำที่ห้องน้ำชั้น 2 ไหลอ่อน ส่วนใหญ่ที่เจอมาจาก



- การเลือกใช้ขนาดท่อเมนประปาที่เดินไปจุดห้องน้ำมีขนาดเล็ก และ ใช้ขนาดท่อเท่ากันทั้งหมด คือใช้ท่อประปาขนาด ½  นิ้ว หรือ 4 หุน ทั้งหมด ทำให้เวลาคุณใช้งานห้องน้ำที่จุดชั้น 2 ของบ้าน มีปัญหา เพราะ ท่อประปาขนาด ½ นิ้ว คิดแบบหยาบๆมันเหมาะกับการใช้งานก็อกน้ำแค่ 1 จุดเท่านั้น + การสูญเสียแรงดันในเส้นท่อ และ สูญเสียแรงดันจากข้อต่อ,ข้องอฉาก และ การลดขนาดมาเป็นสายอ่อนแบบสายเฟล็กซ์ขนาด 3/8 นิ้ว ( ยิ่งไปกันใหญ่ ) ใช้กับเครื่องทำน้ำอุ่น และ จุดก๊อกผสมน้ำร้อน-น้ำเย็น พูดง่ายๆถ้าชั้นล่างมีการใช้งานจุดก๊อกน้ำพร้อมๆกันปัญหาจะเลวร้ายมากๆ ชนิดน้ำแทบที่ออกจากฝักบัวเหมือนฉี่เด็ก




การแก้ปัญหาตรงจุดนี้ แบบนี้ จึงมีการแก้ไขแบบบ้านๆที่ปลายเหตุอยู่ 2-3 อย่างคือ



1 ปรับแรงดันปั้มน้ำให้สูงขึ้น ช่วยแก้ปัญหาน้ำไหลแรงขึ้น แต่ถ้าจุดก๊อกน้ำใช้งานชั้นล่าง ก็มีปัญหาฯเหมือนเดิม



2 เปลี่ยนขนาดปั้มน้ำให้ใหญ่ขึ้น สูบจ่ายน้ำมากขึ้น การแก้ไขแบบนี้พาลจะมีปัญหาปั้มน้ำทำงานแบบ สะอึก ตัด/ต่อถี่เพราะจ่ายน้ำได้มากเกินไป ( แต่วิธีช่างประปาท้องถิ่นจะคิดง่ายๆว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง )




3.เดินท่อประปาจุดหลังปั้มน้ำเพิ่มขึ้นไปอีก 1 เส้น  เดินท่อตรงไปเชื่อมที่ท่อประปาในห้องน้ำชั้น 2  การแก้ปัญหาแบบนี้จะคล้ายๆแบบคำแนะนำผิดๆที่เที่ยวแนะนำไปทั่ว แก้ปัญหาเรื่องน้ำไม่แรงในชั้น 2 ได้ครับหากในชั้นล่างของบ้านไม่มีการใช้น้ำ  แต่ถ้าในชั้นล่างมีการใช้งานก๊อกน้ำพร้อมๆกันก็จบเห่เหมือนเดิมในจุดชั้นบนจะไหลอ่อนเหมือนเดิม เพราะน้ำที่สูบจ่ายออกจากปั้มน้ำจะไหลออกไปที่จุดก็อกน้ำชั้นล่างเพราะ แรงดันน้ำในเส้นท่อชั้นล่างมีแรงดันต่ำกว่า  ปั้มน้ำจะทำงานแบบสูบจ่ายน้ำจากตัวปั้มไม่ใช่จากน้ำที่เก็บในถังแรงดัน( ในกรณีคุณใช้ปั้มน้ำแบบมีถังแรงดัน/ถังกลม ) น้ำที่สูบจ่ายย่อมจะไหลออกมาทางจุดก็อกน้ำที่มีแรงดันบรรยากาศที่น้อยกว่า…..แก้ปัญหาไม่ขาดครับ




อีกอย่างการแก้ไขเดินท่อประปาแบบนี้ และ ในทางปฎิบัติทำได้ลำบากครับ เพราะท่อเมนประปาจะอยู่ในช่องชาร์ป ที่ก่ออิฐถือปูนจบไปแล้ว ถึงเดินท่อได้ก็วุ่นวายลำบากในการบรรจบด้วยจ้อต่อสามทาง เพราะท่อประปาห้องน้ำชั้นบนมักจะเดินชิดติดกำแพงแล้วแยกท่อฝังในกำแพงห้องน้ำ  ตัดต่อท่อบรรจบได้ใต้ฝ้าเพดานห้องน้ำชั้นล่าง หรือ ห้องโถงชั้นล่าง น้ำรั่วฝ้าเพดานยิปซั่มชำรุด อย่าลืมรับผิดชอบด้วยนะ ดังนั้นเวลาผมเจอใครที่แนะนำการแก้ไขฯแบบนี้ จะเตือนว่า คุณเห็นหน้างานที่ไปแนะนำแก้ไขหรือยัง ? ถ้ายัง หรือ ไม่เห็นหน้างานจริงๆอย่าแนะนำมั่วส่งเดช มันอันตราย ( รู้ไม่หมด รู้ไม่จริง มันอันตรายพอๆกับการไม่รู้ )




สำหรับผมการแก้ไขปัญหาเรื่อง จุดห้องน้ำชั้น 2 ไหลไม่แรงหากจุดก็อกน้ำชั้นล่างมีการใช้งาน ผมจะแนะนำการแก้ไขให้ทาง เจ้าของบ้านพิจารณาเลือกใช้




1.แยกท่อประปาชั้นบน และ ชั้นล่างในบ้าน ออกจากกันไม่ต่อเชื่อมถึงกัน ( อาจจะมีวาล์วปิด-เปิด เชื่อมถึงกันใช้ในเวลาจำเป็น )




-  ให้ท่อประปาชั้นล่าง ทั้งหมดใช้แรงดันน้ำประปาจากมิเตอร์โดยตรงหากน้ำประปาในพื้นที่นั้นแรง  ส่วนในชั้นบนให้ใช้ปั้มน้ำเดิมที่มีสำหรับห้องน้ำชั้นบนอย่างเดียวไปเลย   วิธีแบบนี้เท่าที่เจอมีน้อยเคสที่จะใช้แบบนี้เพราะ แรงดันน้ำประปาจากมิเตอร์โดยตรงมีแรงดันไม่แรงพอกับเครื่องทำน้ำอุ่น,เครื่องซักผ้าฝาหน้า,ฝาบนถังเดี่ยว ทำงานได้ดี



- เพิ่มปั้มน้ำขนาดเล็ก-กลาง ขนาด 150-200 วัตต์ อีก 1 เครื่อง แยกเฉพาะห้องน้ำชั้นบนไปเลย ( บ้านนี้จะมีปั้มน้ำ 2 เครื่องแยกจ่ายชั้นบน และ ชั้นล่าง ) การแก้ไขปัญหาแบบนี้เหมาะสมที่สุดครับ แต่ก็เคยมีปัญหาเรื่องการเดินท่อประปาเพิ่มจากปั้มน้ำตัวใหม่สำหรับห้องน้ำชั้นบน ที่ชั้นล่างของตัวบ้านไปบรรจบที่ท่อเมนประปาที่เดินท่อไปที่ห้องน้ำชั้นบน




ในบางเคสปัญหาห้องน้ำชั้นบน ผมแก้ไขให้ปั้มน้ำสำหรับห้องน้ำชั้นบน รับน้ำจากปั้มน้ำเดิมซ้อนเบิ้ลอีกชั้นหนึ่ง (ส่วนตัวผมจะเลือกใช้เป็นปั้มน้ำ KIKAWA ปั้มน้ำยี่ห้อนี้มีระบบเซฟตึ้ที่ดีมาก และ ออกแบบดีมาก ที่ไต้หวัน และ ที่ฮ่องกง จะใช้ปั้มน้ำนี้ต่อตรงจากมิเตอร์น้ำการประปาโดยตรง หรือ จากท่อเมนประปาในอาคาร ดังนั้นปั้มน้ำที่เป็นต้นทาง หรือ เป็นปั้มน้ำประธาน จะต้องมีขนาดใหญ่กว่า จ่ายน้ำได้มากกว่าตัวที่ซ้อนต่อเชื่อมท่อรับน้ำเป็นแบบ อันดับด้วยนะครับ ) ปั้มน้ำยี่ห้อนี้ รุ่นนี้มีโฟลสวิทช์ป้องกันเรื่อง น้ำแห้ง,น้ำไม่มีปั้มตัดการทำงาน,มีขนาดเล็กเราสามารถเอาไว้ในห้องน้ำชั้นบน ใต้ตู้อ่างล้างหน้า ซึ่งจะมีเครื่องทำน้ำร้อนซ่อนแอบอยู่ข้างใน อีกอย่างปั้มน้ำรุ่นนี้เราสามารถปรับตั้งแรงดันได้ง่ายๆ และ มีเสียงเวลาปั้มทำงานที่เงียบมากๆ  




2. แก้ไขท่อประปาในบ้าน โดยให้ท่อประปาออกจากปั้มน้ำเปลี่ยนเป็นการเดินจ่ายจุดก็อกน้ำห้องน้ำชั้นบนก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยเดินท่อประปาลงมาจ่ายน้ำที่จุดก็อกน้ำชั้นล่างเป็นอันดับรองลงไป  การแก้ไขปรับปรุงการเดินท่อประปาแบบนี้ แก้ปัญหาเรื่อง การใช้จุดก๊อกน้ำชั้นบน และ ชั้นล่าง พร้อมๆกันโดยปั้มน้ำตัวเดียว และ แถมท่อเมนประปาที่เดินมีขนาดเล็กกว่าทั่วๆไป ที่เวิร์คและแก้ปัญหาได้ดีที่สุดครับ  ปั้มน้ำ>>>เดินท่อจ่ายน้ำก็อกน้ำห้องน้ำชั้นบน>>>แล้วค่อยจ่ายลงมาที่ชั้นล่างใช้งานเป็นอันดับต่อไป  เบสิคง่ายๆ แต่ใช้งานเวิร์คเช่นในตอนเช้าทุกคนในบ้านต่างใช้ห้องน้ำพร้อมๆกันก็ไม่มีปัญหา แบบแต่ก่อน





ผมได้อธิบายอย่างละเอียดแบบ เข้าใจง่ายๆเท่าที่ผมทำได้ก็หวังว่า หากคุณไปเผลอไปเชื่อการแนะนำระบบท่อประปาแบบ LOOP   ที่มีโผล่ไปทั่วกระทู้ที่ถามเกี่ยวกับปั้มน้ำ,ระบบประปา ประเภทไปจิ้มบล็อกเราซิ คุณก็ควรที่จะไตร่ตรองเอาเองว่าหลังอ่านกระทู้นี้คุณจะเลือกตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น

จากคุณ : pinhead2000
เขียนเมื่อ : 13 มี.ค. 54 01:27:28




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com