ขุนช้าง - ขุนแผน ฉบับ นิทานข้างกองฟาง # ๑๑ แต่งงาน
|
|
พ่อแม่พี่น้องที่เคารพ ขอรับ เช้าแล้ว ตื่นเถิดขอรับ แล้วมานั่งล้อมวง ฟังนิทานข้างกองฟางกันต่อ . . .
โดยปล่อยจินตนาการตามกระผมไป ถึงตอนที่ขบวนเกวียน สู่ขอ แม่พิมพิลาไลย มาหยุดอยู่ ณ ท้ายสวน บ้านของ แม่ศรีประจัน ที่เมืองสุพรรณบุรี ตั้งแต่ค่ำวานนี้แล้ว . . . . .
ครั้นเช้าขึ้นมา แม่ทองประศรี ก็บงการ ให้จัดกระบวน ไปขอลูกสาวเขาทันที บทกลอนสำนวนนี้ท่านที่เคยจบ ป.๗ ในหลักสูตรเก่า (หลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. ๒๕๐๓) ก็คงจะได้เคยอ่าน และเรียน มาโดยทั่วกัน ดังนี้ ขอรับ
ครั้นรุ่งแจ้ง แสงสาง สว่างหล้า ทองประศรี ตื่นตา หาช้าไม่ ล้างหน้า ตำหมาก ใส่ปากไว้ นั่งเคี้ยว ไบ่ไบ่ แล้วตรองการ
จึงร้องเรียก ตาสน กับตาเสา ยายมิ่ง ยายเม้า เป็นเพื่อนบ้าน ปรึกษา ตูข้า จะขอวาน คิดอ่าน ขอลูกสาว ศรีประจัน ฯ
ครั้น แม่ศรีประจัน เชื้อเชิญ ให้เพื่อนเก่า เข้าบ้านแล้ว ก็ปฏิสันถารกัน ด้วยความที่ไม่ได้พบหน้าค่าตากันมา หลายปี
แล้วจึงถาม แม่ทองประศรี ว่า ที่มาหาฉันครั้งนี้ มีธุระอะไรหรือ
แม่ทองประศรี พอได้โอกาสดังนั้น จึงเริ่มการเจรจาทันที โดยใช้สำนวนอย่างที่ กระผมอยากจะขอบันทึกไว้ เป็นหลักฐานอีกครั้งหนึ่ง ในถ้อยคำการขอลูกสาวเขา ดังนี้ ขอรับ
จะขอพันธุ์ ฟักแฟง แตงน้ำเต้า ที่ออเจ้า ไปปลูก ในไร่ข้า ทั้งอัตคัต ขัดสน จนเงินตรา จะมา ขายออแก้ว ให้ช่วงใช้
อยู่รองเท้า นึกว่า เอาเกือกหนัง ไม่เชื่อฟัง ก็จะหา ประกันให้ ได้บากบั่น มาถึงเรือน อย่าเบือนไป จะได้ ฤาไม่ได้ ให้ว่ามา ฯ
แม่ศรีประจัน พอได้ฟัง ก็หัวเราะ พลางว่า
ยายทองประศรีเอ๋ย เราก็เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สาว ๆ มีอะไรก็ว่ากันมาตรง ๆ ดีกว่า ซึ่งถ้าจะต้อง ยกลูกสาวให้ลูกชายเพื่อนแล้วละก้อ ไม่ได้ขัดข้องดอก . . .
แต่ว่าไอ้หนูของเธอนั่นน่ะ มันสำมะเลเทเมา กินเหล้ากินยา เล่นเบี้ยเสียโบกบ้างหรือเปล่า
เพราะ
" ถึงยากจน อย่างไร ก็ไม่ว่า แต่พร้าขัด หลังมา จะยกให้ "
คือขอให้เป็นคนทำมาหากิน ขยันขันแข็งเถิด ก็เท่านั้นแหละ
คราวนี้ ก็ถึงตาของ ตาสน ตาเสา ยายเม้า ยายมิ่ง บ้างแล้วครับ
เฒ่าแก่เพื่อนบ้านทั้งสี่ ที่แม่ทองประศรีขอร้องมาให้เป็นเพื่อน ก็เลยเล่าความหลัง ให้แม่ ศรีประจัน เตือนความจำ ว่า
ว่านอน สอนง่าย ชายฉลาด ทั้งรูปทรง ก็สะอาด สำอางศรี รุ่นหนุ่ม น้อยจ้อย เรียบร้อยดี ความชั่วไม่มี สักสิ่งอัน
เมื่อเป็นเณร ก็เทศน์ มัทรีได้ เพราะเจาะ จับใจ ดีขยัน เมื่อปีกลาย คุณยาย เป็นเจ้ากัณฑ์ วันนั้น เจ้าพิม ยังชอบใจ
เปลื้องผ้า ออกบูชา ซึ่งกัณฑ์เทศน์ เกิดเหตุ เพราะขุนช้าง มันทำให้ เปลื้องผ้า ทับผ้า เจ้าพิมไว้ คุณยาย จำไม่ได้ หรือไรนา ฯ
ที่ว่าเปลื้องผ้านั้น ก็คือ ผ้าขาวสไบเฉียง ที่พาดทับแพรสไบ อีกชั้นหนึ่ง เป็นธรรมเนียมของการเข้าวัดทำบุญ ของคนสมัยก่อนนะ ขอรับ พ่อแม่พี่น้อง ไม่ต้องตกอกตกใจไป
พอพูดถึงพ่อเณรเสียงหวาน ที่เทศน์กัณฑ์มัทรี แม่ศรีประจัน ก็เลยร้องอ๋อ . . . . .
และในที่สุด เมื่อตกลงกันได้แล้ว แม่ศรีประจัน ก็เรียกสินสอดถึง
หนึ่งพันสองร้อยบาท ซึ่งเท่ากับสิบห้าชั่ง
พร้อมขันหมาก และผ้าไหว้สำรับหนึ่ง
กับให้ปลูกเรือนหอ ห้าห้อง ฝากระดาน
คือมีเสาใหญ่ หกคู่ และมิใช่ฝาขัดแตะจากตอก
แล้วก็กำหนดงาน ในเดือนสิบสอง วันเสาร์ ขึ้นเก้าค่ำ เปนฤกษ์มงคล . . .
เมื่อแม่เฒ่าทั้งสอง ปรองดอง ตกลงกันได้แล้ว
ก็เป็นอันว่า ต้องปลูกเรือนขึ้นมาที่ สุพรรณนี้ อีกหลังหนึ่ง นอกจากที่ แม่ทองประศรี ได้สั่งเสียไว้ ให้ปลูกที่ เมืองกาญจน์ ไว้นั้นแล้ว หลังหนึ่ง
แต่ก็คงไม่กระไรนักดอก ก็รักเสียอย่างนี่นา ถึงเรียกอีกสักสิบหลัง ก็คงจะสู้อยู่หรอก . . .
พอถึงจุดนี้ กระผมก็อดไม่ได้ ที่จะต้องขออนุญาต นำวิธีต่อเรือนไทย ในสมัยนั้น จากฉบับหลวง ยกขึ้นมาประกอบความ อีกแล้ว
เพราะหากนานไป ก็อาจจะไม่มีใครรู้ว่า เครื่องเรือนไทยนั้น เขามีศัพท์แสง เฉพาะตัว อย่างไรกันบ้าง
ครานั้น จึงโฉม เจ้าพลายแก้ว ครั้นถึง กำหนดแล้ว จึงนัดหมาย บอกแขก ปลูกเรือน เพื่อนผู้ชาย มายังบ้าน ท่านยาย ศรีประจัน
ให้ขุดหลุม ระดับชัก ปัก เสาหมอ เอาเครื่องเรือน มารอ ไว้ที่นั่น ตีสิบเอ็ด ใกล้รุ่ง ฤกษ์สำคัญ ก็ทำขวัญ เสาเสร็จ เจ็ดนาที
แล้วให้ลั่น ฆ้องหึ่ง โห่กระหน่ำ ยกเสา ใส่ซ้ำ ประจำที่ สับ ขื่อ พรึง ติด สนิทดี ตะปูตี ยก เสาดั้ง ตั้งขึ้นไว้
ใส่ เต้า จึงเข้า แปลาน พลัน เอา จันทัน เข้าไปรับ กับ อกไก่ พาด กลอน ผ่อนมุง กันยุ่งไป จั่ว ใส่ เข้า ฝาเช็ดหน้า อึง ฯ
ถึงตรงนี้ กระผมผู้เล่านิทานเอง ก็ยังคงจะต้องขอความรู้ จาก ท่านสถาปนิก หรือ ท่านวิศวกร บ้างเหมือนกันแหละ ขอรับ ว่า
ฉบับหลวงตอนนี้ ที่กระผมยกมานั้น มันแปลว่ากระไรกันบ้าง
ไม่ว่าจะเป็น เสาหมอ แปลาน จันทัน หรือ อกไก่ ฯลฯ
ก็ตาม
ถ้าท่านผู้ใดมีความรู้ ก็กรุณาบอกมาหน่อยเถิดครับ จะได้เป็นวิทยาทานแก่เด็กรุ่นหลังด้วย . . .
เมื่อเรือนหอเสร็จ ก็ถึงกระบวนขันหมาก ซึ่งเอิกเกริกมโหฬารเต็มที่
เพราะยกไปด้วย กระบวนเรือกัญญา
คือเรือยาวที่มีศาลาเล็กกลางลำ คล้ายเรือดั้งในพระราชพิธีนั่นแหละ ขอรับ
แถมยังมีมโหรีวงใหญ่ ใส่เรือไปเสียอีก
ก็ไม่ทราบว่า แม่ทองประศรี แกขนใส่เกวียนมากาญจนบุรี หรืออย่างไร ?
พอดำเนินการ ขั้นตอน ยกขันหมาก เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็ถึงเวลาเลี้ยงดูปูเสื่อกันละ . . . . .
คาดว่าจะเชิญแขกกันทั้งเมืองเลยทีเดียว โดยเฉพาะแขกคนสำคัญ ที่พลายแก้วใช้ อ้ายไทย ผู้เป็นบ่าว ให้ไปเชิญถึงเรือนเป็นพิเศษ . . . . .
ซึ่งก็คือ . . . นายขุนช้าง นั่นเอง ! พอขุนช้างได้ทราบข่าว ก็แทบช็อค แต่ก็พยายามหักใจ ถึงยังไง ๆ มันก็เป็นเพื่อน . . .
ว่าแล้ว ก็แข็งใจแต่งตัวไปร่วมงาน ตามที่ฉบับหลวงท่านว่าไว้ ดังนี้ ขอรับ
ครั้นถึง ที่อยู่ เจ้าพลายแก้ว เพื่อนบ่าว มาแล้ว นั่งพร้อมหน้า จึงชวนกัน นั่งกิน รินสุรา เมามาย พูดจา กันอึงไป
เจ้าพลายแก้ว จึงว่า เจ้าเกลอเอ๋ย อย่าถือเลย ที่นางพิม เรารักใคร่ รู้ว่าเป็น คนรักเอ็ง กูเกรงใจ เอ็นดู จงให้ เสียแก่เรา ขุนช้าง ฟังว่า ทำหน้าเก้อ นิจจาเกลอ ดอกหาไม่ ไม่ให้เจ้า เ เ ม้ น เ อ็ ง . . . ไ ม่ รั ก . . . กู จั ก เ อ า . . . ว่าแล้วกินเหล้าเมาสำราญ ฯ
ฟังผาด ๆ แล้ว ก็คล้าย ๆ กับว่า นายขุนช้าง แกก็มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ดีอยู่ หรอกนะ ขอรับ
เมื่อเพื่อนมีความสุข ก็มีมุทิตาจิตด้วย . . .
. . . แต่ถ้าลองสังเกตลึก ๆ ดูสิ ขอรับ . . . . .
" เ เ ม้ น เ อ็ ง . . . ไ ม่ รัก . . . กู จั ก เ อ า "
ใครจะไปรู้ได้ว่า ในอนาคตข้างหน้า นั้น
อีตาขุนช้าง แกยังมั่นคง ต่อคำพูดที่แกได้ลั่นวาจาไว้ ในวงเหล้างานแต่งงานพลายแก้ว ในวันนั้น อย่าง สาหัส ขนาดไหน . . . . .
และพอถึงตอนนั้น กระผมจะได้เล่าให้พ่อแม่พี่น้องฟังเองแหละขอรับ ว่า เรื่องราวมันจะโกลาหลกันอย่างไรบ้าง . . . . .
กลับมาเข้าเรื่องดีกว่า ขอรับ คิดวุ่นวายไปไย เวลามันยังมาไม่ถึง . . .
ก็ว่าถึง เรือนหอ ซึ่งจะเสร็จแล้ว ขันหมากก็จะเปิดแล้ว กินเลี้ยงก็แล้ว แต่ก็ยังส่งตัวไม่ได้ดอก ขอรับ
เพราะเจ้าบ่าวจะต้อง
"อยู่หอ รองาม ถึงสามวัน"
(อันนี้มิใช่ฉบับหลวงหรอก ขอรับ แต่ป็นสำนวนของ ท่านอาจารย์ ภิญโญ ศรีจำลอง ผู้เขียนเรื่องชุด นายหนังตะลุง "พริ้ง พระอภัย" อันเลื่องลือ เมื่อหลายปีมาแล้ว)
พอครบกำหนดสามวันแล้ว แม่ศรีประจัน ก็พา แม่พิมพิลาไลย มาส่งที่เรือนหอ แล้วก็มีการส่งตัวและอบรมกัน ดังนี้ ขอรับ
โอ้เจ้าพิม นิ่มนวล ของแม่เอ๋ย เจ้าไม่เคย ให้ชาย สเน่หา ร้อยชั่ง จงฟัง คำมารดา นี่คู่เคย ของเจ้ามา แต่ก่อนแล้ว
ร้อยคน พันคน ไม่ดลใจ จำเพาะ เจาะได้ เจ้าพลายแก้ว แม่เลี้ยงไว้ มิให้ อันใดแพว แต่แนวไม้ เปรียะหนึ่ง ไม่ต้องตัว
ครั้นเติบใหญ่ จะไป เสียจากอก แม่วิตก อยู่ด้วยเจ้า จะเลี้ยงผัว ฉวยขุกคำ ทำผิด แม่คิดกลัว อย่าทำชั่ว ชั้นเชิง ให้ชายชัง เนื้อเย็น จะเป็น ซึ่งแม่เรือน ทำให้เหมือน แม่สอน มาแต่หลัง เข้านอก ออกใน ให้ระวัง ลุกนั่ง นบนอบ แก่สามี อย่าหึงหวง จ้วงจาบ ประจานเจิ่น อย่าก่อเกิน ก่อนผัว ไม่พอที่ แม่เลี้ยงมา หวังว่า จะให้ดี จงเป็นศรี สวัสดิ์สุข ทุกเวลา ฯ
ก็น่าประทับใจ ในรายละเอียด ที่ แม่ศรีประจัน สอนลูกสาวอยู่หรอก ขอรับ แต่กระผม มาสะดุดเล่น ๆ อยู่นิดหนึ่ง
ตรงที่ แม่ศรีประจัน พูดคล้ายกับ จะขู่พลายแก้วไว้ว่า ลูกสาวฉัน ฉันเลี้ยงมาราวกับไข่ในหิน ที่ว่า
"แม่เลี้ยงไว้ มิให้ อันใดแพว แต่แนวไม้ เปรียะหนึ่ง ไม่ต้องตัว"
ซึ่งถ้ากระผมเป็น พ่อพลายแก้ว เจ้าบ่าว แล้วก็กำลังนั่งพับเพียบเรียบร้อย ฟังอบรมอยู่อย่างนั้น
กระผมคงต้องถึงขนาดที่ว่า กัดริมฝีปากกลั้นหัวเราะ กันเลยทีเดียวแหละ ขอรับ . . .
. . . . . ก็เพราะกรณีใดเล่า ที่ทำให้เณรแก้ว ผ้าเหลืองร้อน จนต้องสึกออกมาขอ นี่ยังไง ขอรับ
" . . . น้อยฤา รอยไม้ เป็นริ้วริ้ว เออนี่ผูก มือหิ้ว เจียวหรือนี่ จึงยับย่อย เป็นรอย ทั่วอินทรีย์ ฟ้าผี่ นิ้วน่อย พลอยเป็นแนว . . ."
แต่ตอนนี้ถึงจะขำ พ่อแม่พี่น้อง ก็อย่าหัวเราะดังไป ขอรับ . . .
สองคนนั้น เขาจะขาดความสงบ ไว้เราพบกันคราวหน้าดีกว่านะ ขอรับ . . .
. . . จุ๊ . . . จุ๊ . . . . . !
จากคุณ |
:
พจนารถ๓๒๒
|
เขียนเมื่อ |
:
9 ก.ค. 53 22:55:46
|
|
|
|