Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
บันทึกของผู้เฒ่า (๙๑) ติดต่อทีมงาน

บันทึกของผู้เฒ่า (๙๑)

บันทึกเรื่องงานเขียนหนังสือช่วงสุดท้ายต่อเป็นตอนที่ ๑๔

๑๒ ก.ค.๕๑

เมื่อวานเป็นวันเสาร์ มีนัดอย่างกะทันหันที่พงหลี ต้องเอาต้นฉบับไปให้บรรณาธิการหญิง ซึ่งเพื่อนในถนนนักเขียนแนะนำ เขาสนใจสามก๊ก จึงเอาปกิณกะสามก๊ก ชุดที่ ๒ ไปให้ และแถมชุดฉากชีวิตไปด้วย เขาจะพิจารณาส่งให้สำนักพิมพ์อัมรินทร์พิจารณาต่อไป บก.ก็เป็นนักเขียนอยู่ในถนนนักเขียนเหมือนกัน ตัวเขาเองก็มีเรื่องสั้นรวมอยู่ในเล่มแล้ว สองสามชุด เป็นความหวังใหม่ของปีนี้

๑๘ ก.ค.๕๑

เมื่อสองวันก่อน บก.ที่รับเรื่องปกิณกะสามก๊ก กับฉากชีวิตไปพิจารณา บอกว่าทางบริษัทเห็นว่าสามก๊กมีมากมายแล้ว ขอเรื่องจีนอื่น ๆแทน ก็เตรียม คนดีแผ่นดินซ้อง ไว้ให้ แต่ต้องนัดวันอีกทีหนึ่ง

๒๓ ก.ค.๕๑

ตอนบ่ายไปที่ร้านอาหารบัว ตรงข้ามกรมทหารราบที่ ๑๑ ตามที่นัดไว้กับ บก.ว่าจะเอาต้นฉบับที่ส่งไปเมื่อ ๑๑ ก.ค.มาคืนและเอาเรื่องใหม่ไปเปลี่ยน เมื่อพบกันแล้วก็ได้รับฟังเหตุผลว่า ปกิณกะสามก๊กนั้น เขาว่าเวลานี้เรื่องสามก๊กมีมากมายหลายสำนวนแล้ว ของดไว้ก่อน ส่วนเรื่องฉากชีวิตนั้น เป็นเป็นเรื่องเฉพาะตัวหรือส่วนตัวเกินไป ไม่ค่อยเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้อ่านควรจะรู้เท่าไร และผู้เขียนก็ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งเราคิดไว้นานแล้วว่าจะเป็นเช่นนี้ จึงแน่ใจว่าต้องเก็บไว้พิมพ์เอง สำหรับแจกงานศพอย่างแน่นอนเท่านั้น

ส่วนเรื่องที่เอาไปให้ใหม่ก็คือ คนดีแผ่นดินซ้อง หวังว่าจะเอา เปาบุ้นจิ้น ไปล่อคนอ่านเผื่อว่าจะมีผู้สนใจบ้าง แต่ก็ทำใจได้จึงฝากไว้เลยว่า ถ้าจะไม่เอาก็ไม่ต้องมาบอก ถ้าให้ไปรับเงินจึงค่อยบอก และตั้งใจไว้ว่า ถ้าได้เงินจากเรื่องนี้ ก็จะเอาไปพิมพ์ฉากชีวิตทันที ถ้าไม่ได้ก็คงต้องรอไปจนถึง ปี ๒๕๕๔

๑๙ ก.ย.๕๑

เมื่อวันก่อนเพื่อนส่งข่าวว่า กระทรวงการคลังได้อนุมัติ ให้จ่ายเงินช่วยค่าครองชีพของข้าราชการบำนาญ จากเงินบำนาญตกทอดแล้ว

ความตั้งใจที่จะพิมพ์เรื่องสั้น ชุดฉากชีวิต ของเพทาย ยังค้างอยู่เพราะว่าจะเอาเงินค่าเรื่อง เล่มสุดท้ายที่เผื่อจะได้แต่ก็ไม่ได้ คราวนี้ได้เงินบำนาญตกทอด ก็ว่าจะใช้เงินจำนวนนี้พิมพ์หนังสือแจกงานศพ ตรงตามความมุ่งหมายพอดี

๒๐ ก.ย.๕๑

เวลานี้ต้นฉบับหนังสือ “เรื่องเล่าของคนวัยทอง” จัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเมื่อรับเงินก็จะได้สั่งพิมพ์ทันที เพราะยังไม่แน่ว่าเมื่อไร แต่อย่างช้าไม่เกิน ม.ค.๕๒ โรงพิมพ์นานาการพิมพ์เจ้าเก่า คำนวณว่าหนังสือหนา ๑๑๒ หน้า จะพิมพ์เท่ากับ จำนวนที่เหลือของ “สิ่งที่ยังเหลืออยู่” ไม่เกิน ๗๐๐ เล่ม

๒ ต.ค.๕๑

วันนี้ก็ได้เอาต้นฉบับไปให้โรงพิมพ์แล้ว ถ้าเรียงพิมพ์เสร็จก็จะโทร.มาบอก ให้ไปเอามาตรวจปรู๊ฟราวอาทิตย์หน้า

๑๐ ต.ค.๕๑.

นึกขึ้นมาได้ว่า พรุ่งนี้ ๑๑ ต.ค.๕๑ ครบ ๖๐ปีของการเขียนหนังสือ ควรจะบันทึกอะไรไว้เป็นที่ระลึก ก่อนที่จะเกษียณ นักเขียนใหญ่หลายท่านบอกว่า นักเขียนไม่มีวันเกษียณ คงเขียนได้เรื่อยไป ถ้ามีวัตถุดิบที่จะเขียน แต่เราไม่มีความสามารถถึงเพียงนั้น จึงคงจะต้องพอแค่นี้

จาก ต.ค.๙๑ ถึง ต.ค.๓๔ เป็นเวลา ๔๓ ปี เขียนหนังสือมาประมาณ ๒๐๐ ชิ้น เป็นเรื่องสั้นของ เพทาย จำนวน ๖๕ เรื่อง และเริ่มเรียบเรียงนิยายอิงพงศาวดารจีน เรื่องแรกคือ สามก๊ก

จาก ต.ค.๓๔ ถึง ต.ค.๕๑ เป็นเวลา ๑๘ ปี มีผลงานเขียนจำนวน ๗๓๒ ชิ้น เป็นเรื่องสั้นของ เพทาย จำนวน ๖๐  ตอน นิยายอิงพงศาวดารจีน เรื่องสามก๊ก  ของ เล่าเซี่ยงชุน  จำนวน ๒๑๔   ตอน  นอกนั้นเป็น นิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องอื่น ๆ ของ เล่าเซี่ยงชุน, พลิกพงศาวดารไทย และ ย้อนอดีต ของ  พ.สมานคุรุกรรม, บันทึกของคนเดินเท้า ของ เทพารักษ์, คุ้ยวรรณคดีไทย ของ ฑ.มณฑา, ความหลังริมคลองเปรม และความหลังโคนต้นไทร ของ วชิรพักตร์, รวมทั้งเรื่องอื่น ๆ ของ เจียวต้าย นามปากกาที่ใช้ในอินเตอร์เนต

กับมีผลงานรวมเล่ม  ๙ เล่ม

ทั้งหมดที่บันทึกนี้เป็นผลงานที่ลงพิมพ์ในวารสารต่าง ๆ ทั้งสิ้น รวมเวลาที่เป็นนักเขียนอิสระ ๑๘ ปี มีผลงานมากกว่านักเขียนสมัครเล่น ๔๓ ปี เป็นจำนวนกว่าสามเท่า ซึ่งได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ตนเองเป็นอย่างยิ่ง ไม่เสียแรงที่รักการอ่านการเขียนมาตลอดชีวิต ความสำเร็จเพียงแค่นี้อาจจะน้อยไปในความคิดของคนอื่น แต่มากที่สุดเท่าที่เราจะสามารถทำได้แล้ว

ส่วนหนังสือที่พิมพ์เองสำหรับแจกเมื่อถึงวาระสำคัญนั้น มีอยู่อีก ๖ เล่ม คือ

ชีวิตที่มีกำไร พ.ศ.๒๕๓๓ ฉลองยศ พันเอก ๒๕๓๔ ครบรอบ ๖๐ ปี ๒๕๓๕ เกษียณอายุราชการ

 
 

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 1 ก.พ. 54 05:22:12




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com