ตอนที่ ๓ อาหารที่ใส่ในบาตร
การบิณฑบาตวันแรกของชีวิตโดยอาศัยเดินตามหลวงพี่บัญญัติไป
ภิกษุอ่ำ ได้รับการใส่บาตรจากญาติโยมแค่เพียง ๔ รายและรายละ
เล็กน้อย เพราะญาติโยมที่ใส่บาตรหลวงพี่บัญญัติเหล่านั้นไม่ทันจะ
ได้รู้ว่า วันนี้มีภิกษุใหม่มาเพิ่มอีก ๑ ราย
แต่หลวงพี่บัญญัติท่านบอกกับ ภิกษุอ่ำ ว่า
..."ถึงเพียงสี่ราย ก็พอกินมิใช่หรือ"
ซึ่งก็จริง...ผู้ที่เป็น "ภิกษุบวชใหม่" ของวัดชลประทาน เมื่อได้ออก
บิณฑบาต ไม่ว่าจะได้อะไรมามากน้อยเท่าไหร่จะต้องนำสิ่งที่ได้มา
รวมกันก่อน โดยเมื่อกลับจากบิณฑบาต ภิกษุใหม่ทุกรูปจะตรงมา
ที่ลานหินโค้ง แล้วแยกสิ่งของออกเป็นพวกๆดังนี้
พวกที่เป็นข้าวสุกไม่ได้ใส่ถุง ญาติโยมผู้ใส่บาตรเขาใช้ทัพพีตักใส่
ลงในบาตรมา ไปไว้ในกะละมังสะอาดใบหนึ่ง
พวกที่เป็นข้าวสุกที่บรรจุถุง ญาติโยมผู้ใส่บาตร เขาหยิบถุงข้าวใส่
ลงในบาตรมา (แบบถุงมีมากกว่า) เอาไว้อีกทางหนึ่ง
กับข้าวที่เป็นถุง จะแยกใส่กะละมัง ไว้อีกทางหนึ่ง
ของหวานน้ำดื่มและผลไม้ จะแยกใส่กะละมัง ไว้อีกทางหนึ่ง
หลังจากนำสิ่งที่บิณฑบาตได้มารวมกันไว้เช่นนี้แล้ว แต่ละรูปก็ต้อง
ตักข้าว (หรือหยิบถุงข้าว) ใส่บาตรของตนไม่ให้มากไปหรือน้อยไป
ต่อจากนั้นก็หยิบถุงแกง ขนม ผลไม้ ของกินอื่นเพียงเท่าที่คาดว่าจะ
"ฉันได้อิ่มพอดี" ใส่ในบาตรของตนแล้วกลับไปนั่งฉันบนลานหินโค้ง
ใต้ต้นไม้
คำว่า "อิ่มพอดี" หมายถึง ไม่เหลือ และไม่หิวจนกว่าจะถึงมื้อหน้า
...ถ้าตักมากไป ของเหลือ ก็จะอายเขา ด้วยเป็นผู้เห็นแก่กิน
...ถ้าตักน้อยไป กินไม่อิ่ม ก็จะต้องทนหิว ด้วยไม่รู้การประมาณตน
ว่าตนต้องกินเท่าไหร่จึงจะพอดี
หลวงพี่สมชายท่านจะกำกับพวกเราเสมอๆว่า
"ไม่เติม ไม่ปรุง" (คือ ที่วัดไม่เตรียมเกลือหรือน้ำปลาให้)
หมายเหตุ
ตอนที่ ๑ เมื่อหนุ่มอ่ำบวช
http://www.pantip.com/cafe/isolate/topic/M10448462/M10448462.html
ตอนที่ ๒ เส้นทางบิณฑบาต
http://www.pantip.com/cafe/isolate/topic/M10450696/M10450696.html