Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
..... จาก การสมสู่ของกล้วยไม้..... ติดต่อทีมงาน

จากการสมสู่ของกล้วยไม้ ถึงกรณีทุ่นดำกับรัชกาลที่ ๖ - ไพร่แขนขาว

โดย ไพร่แขนขาว

มนุษย์เรานี่คิดดูบางทีก็แปลก รังเกียจภาพการสมสู่ของเผ่าพันธุ์ตัวเอง หาว่าน่าบัดสีบัดเถลิง ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่หากเป็นการสมสู่ของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำอย่างพืชพันธุ์ กลับเห็นว่าเป็นสิ่งสวยงาม เวลาเห็นดอกไม้ก็รู้สึกสดชื่นโรแมนติก

ลมพัดมาพาดอกไม้ไหวกระเพื่อม เกสรตัวผู้เบียดสีเกสรตัวเมีย แมลงน้อยผุดโผล่เข้าออกหลุมงามอันแสนหวานพัวพันคู่เกสรนั้นให้สมอารมณ์หมายบรรลุภารกิจแห่งชีวิต

ความงาม ความหอม และความหวานของดอกไม้ไม่เพียงจะล่อแมลงได้เท่านั้น แต่ยังหลอกมนุษย์ให้ลุ่มหลงจนตกเป็นเครื่องมือในการผสมพันธุ์พืชเหล่านั้นให้แพร่กระจายหลากหลายสายพันธุ์ออกไปทั่วสารทิศ

ดอกไม้คือการร่วมเพศของพืช แต่มนุษย์กลับนำมาใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่เกิดยันตาย เหตุใดการร่วมเพศของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำถึงมีสถานะสูงส่งถึงกับนำไปเป็นเครื่องบูชากันได้ แต่การร่วมเพศของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงอย่างมนุษย์ถึงมีสถานะต่ำต้อย ทั้งๆ ที่ส่วนโค้งส่วนเว้าของมนุษย์นั้นก็มีความงดงามดังปรากฏให้เห็นจากประติมากรรมเปลือยต่างๆ ที่มีอยู่ไม่น้อย

“ไพร่แขนขาว” เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบดูการสมสู่ของพืช โดยเฉพาะต้นกล้วยไม้ แม้ว่าจะมิได้เป็นมืออาชีพทางด้านนี้ก็ตาม แต่อย่างไรเสียก็ย่อมต้องรู้จักชื่อเสียงของปรมาจารย์กล้วยไม้อย่างท่านศาสตราจารย์ระพี สาคริก

เมื่อลองท่องอินเตอร์เน็ทเพื่อหาความรู้เรื่องกล้วยไม้ ก็มีโอกาสได้เข้าไปในเว็บไซต์ http://rapee.org เป็นเหตุให้พบเอกสารเก่าชิ้นหนึ่งโดยบังเอิญ คือ “อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก)” http://rapee.org/rapeebook006

เอกสารชิ้นนี้เขียนโดย ขุนตำรวจเอก พระมหาเทพกษัตรยสมุห (เนื่อง สาคริก) ผู้เป็นบิดาของศาสตราจารย์ระพี สาคริก เป็นบันทึกความคิดเห็นและบันทึกข้อเท็จจริงตามเข้าใจในฐานะข้าราชสำนักคนหนึ่งในรัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไม่ทางหนึ่งก็ทางใดแต่มิใช่ทางด้านกล้วยไม้โดยตรงเป็นแน่

“ไพร่แขนขาว” ได้ลองอ่านดูเห็นว่ามีเรื่องหนึ่งที่สมควรนำมากล่าวซ้ำ ณ เวลาอันเป็นปัจจุบันนี้ คือ กรณีการโต้แย้งวิพากษ์วิจารณ์กันไปมาระหว่าง “พระยาวินัยสุนทร” (ทุ่นดำ) กับ “รัชกาลที่ ๖” (อัศวพาหุ)

เรื่องมีอยู่ว่า . . .

รัชกาลที่ ๖ ทรงใช้พระนามแฝง “อัศวพาหุ” เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ “พิมพ์ไทย” ฉบับวันที่ ๒๘ เมษายน – ๓ มิถุนายน ๒๔๕๘ ชักชวนประชาชนให้ล้อมรั้วทางทะเลด้วยการสร้างเรือรบถวาย ปรากฏว่ามีผู้เขียนบทความคัดค้านกันหลายคน หนึ่งในนั้นคือ “ทุ่นดำ” ซึ่งเป็นนามปากกาของ “นายพลเรือตรี พระยาวินัยสุนทร พระธรรมนูญทหารเรือ” (วิม พลกุล) การโต้ตอบกันทำติดต่อกันเป็นแรมปีทำให้หนังสือพิมพ์เหล่านั้นขายดีมาก

การที่มีข้าราชการออกมาโต้แย้งพระมหากษัตริย์เช่นนี้ ย่อมทำให้เสนาบดีเจ้าสังกัดไม่พอใจ แสดงอาการสอพลอ เสนอขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปลดพระยาวินัยสุนทรออกจากราชการ นับเป็นโทษแห่งการแสดงความเห็นรักชาติบ้านเมือง


ในหนังสือ “วชิราวุธานุสรณ์” หน้า ๒๐๖ พระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) ได้เล่าว่า

   "อยู่มาวันหนึ่ง เวลาประมาณ ๑๑ น. เศษ ผมได้ขึ้นไปบนพระที่นั่งชั้นล่างบังเอิญพบกับพระยานรรัตน์ราชมานิต ซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่วัดเทพศิรินร์ ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เป็นหัวหน้ามหาดเล็กห้องพระบรรทม กำลังเชิญแฟ้มหนังสือราชการที่ทรงสั่งการเสร็จแล้ว ไปส่งให้กรมราชเลขานุการดำเนินการ ท่านได้เล่าให้ผมฟังว่า

   ในเช้าวันนั้นตอนเสด็จออกจากห้องพระบรรทมมาถึงห้องทรงพระอักษรที่ชั้น ๒ ของพระที่นั่งพิมานจักรี ได้ทรงหนังสือราชการที่บรรดาเสนาบดีส่งมาขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยทรงสั่งการอยู่นั้น พอทรงไปถึงเรื่องที่เสนาบดีกระทรวงทหารเรือขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตปลดพระยาวินัยสุนทร พระธรรมนูญทหารเรือออกจากราชการ ฐานปฏิบัติราชการไม่ก้าวหน้านั้น ก็ทรงใช้พระหัตถ์ตบโต๊ะทรงพระอักษรดังลั่น พร้อมกับมีพระกระแสรับสั่งว่า

   “ใครเป็นผู้รู้ดีว่าฉันจะไล่พระยาวินัยออกจากราชการ คนดีๆ อย่างนี้ ฉันต้องเลี้ยงไว้ใช้ เขาดีกว่าคนจำพวกที่คอยแต่สอพลอเห็นเจ้านายทำอะไรก็ชมว่าดีไปเสียหมดทุกอย่าง คนดีอย่างนี้ฉันชอบ”

   แล้วก็ทรงหยิบปากกาหมืกแดงทรงเขียนข้อความลงในนั้น ซึ่งเจ้าคุณนรรัตน์ได้อ่านในตอนรับจากพระหัตถ์มาแล้วว่า

   “ไม่อนุญาตให้ปลดพระยาวินัยฯ ออกจากราชการพระธรรมนูญทหารเรือ และอนุมัติให้ ให้สายสพายปถมาภรณ์มงกุฎไทยเปนบำเหน็จความชอบในการกล้าแสดงความคิดเห็นที่เปนประโยชน์แก่ตัวฉันและชาติ”


ในหนังสือ “อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”” หน้า ๓๓๒ – ๓๓๓ เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันทน์) ได้บันทึกไว้ว่า

   "ครั้นเมื่อเรือรบหลวงพระร่วงแล่นเข้ามาสู่น่านน้ำไทยจนได้เฉลิมฉลองแล้ว ต่อมาถึงคราวพระราชพิธีฉัตรมงคล รัชกาลที่ ๖ คือวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๓ นายพลเรือตรี พระยาวินัยสุนทรเจ้ากรมพระธรรมนูญทหารเรือ ก็ได้รับพระราชทานตราทุติยจุลจอมเกล้า คือ เรียกกันเป็นสามัญว่าแขวนคอสีชมพู พร้อมด้วยพานทองเป็นเกียรติยศ พร้อมด้วยพระราชกระแสร์แผ่วๆ คณะพระยาวินัยเข้าไปรับพระราชทานและทรงคล้องดวงตราให้พระยาวินัยว่า

   “วิม (พระยาวินัยนามเดิมวิม สกุลพลกุล เป็นเปรียญ ๖ ประโยค ฝ่ายธรรมยุตติกนิกาย วัดพิชัยญาติการาม และเนติบัณฑิตสยาม)* นี่แสดงว่าข้ามิได้ผูกโกรธ หรือพยาบาทเจ้าในการที่เจ้าเขียนหนังสือเล่นงานข้า แต่ข้าถือว่าเจ้าได้ช่วยข้าแสดงความคิดเห็นในการปกครองบ้านเมือง เพื่อให้ได้ดำเนินไปด้วยดี ข้าขอขอบใจ”

ในหนังสือ “อนุสรณ์ “ศุกรหัศน์”” หน้า ๓๓๖ เสวกโท จมื่นมานิตย์นเรศได้กราบบังคมทูลถามรัชกาลที่ ๖ ว่า “ก็เคยกริ้วว่าพระยาวินัยเป็นทุ่นดำคัดค้านบทความของอัศวพาหุให้ลั่นไป ก็เหตุไฉนทุ่นดำจึงได้พานทอง”

ท่านกลับตอบด้วยสีพระพักตร์เอิบอิ่มว่า

   “เฮ่ย เจ้ายังไม่รู้อะไร คนเรามันต้องแยกหน้าที่กันให้ออกให้ดีซีวะ บางทีข้ากำลังฉุนที่มีคนมาขัดคอ มันก็พลุ่งขึ้นมา แต่เมื่อนึกถึงว่าเขาก็เป็นคนไทย เป็นนักกฎหมาย เป็นเปรียญ เขาก็ได้บวชได้เรียนมา ก็ย่อมจะรู้จักผิดชอบชั่วดี จริงอยู่ ดาวิน (ทรงหมายถึงพระยาวินัย)* มีเพอซันแนลลิตี้เป็นนักเลง แต่ก็ชอบความรู้เขา มีหลักดีๆ ข้าก็นึกว่าเขาคงหวังดีต่อชาติอย่างเดียวกับข้า เขามีความคิดเห็นอย่างไรที่เขานึกว่าของเขาถูก เขาก็พูดออกมาอย่างเปิดเผยอย่างนี้ ข้าชอบ ดีกว่าไปแอบซุบซิบ ก่อเรื่องอย่างอ้ายพวกขี้ขลาดตาขาว มือไม่พาย เอาตีนราน้ำ คนเขียนหนังสือพิมพ์ ข้าเห็นว่าเขามีสปอร์ตติง สปิริตดีกว่าพวกต่อหน้าว่ามะพลับ ลับหลังว่าตะโก ซึ่งเชื่อไม่ได้ ไม่จริงต่อใคร อีกอย่างหนึ่งการเขียนหนังสือก็เป็นเกมส์ชนิดหนึ่งอย่างเล่นบิดเลียดหรือเทนนิส เราต้องมีคู่เล่นที่มีมือทัดเทียมกันจึงจะสนุก แต่อย่าโกงกันนะ ถ้าเล่นซื่อๆ โดยฝีมือ แพ้ชนะไม่สำคัญหรอกวะ สนุกดีนัก ถ้าไปโดนมือสวะ อ่อนๆ (สมัยนั้นมีคำอย่างนี้ใช้แล้ว และในหลวงโปรดใช้บางโอกาสเหมือนกัน)* เข้าแล้ว หมดรส หมดสนุก เลิกดีกว่า แต่โดนมือเล็งๆ แรงๆ เราไปแรง เขามาแรง บางทีนึกฉุนแต่แล้วสนุกพิลึกละเอ็ง”

จากคุณ : กราสิก
เขียนเมื่อ : 22 ก.ค. 54 18:47:35




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com