Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
พลิกพงศาวดาร (๑) ติดต่อทีมงาน

พลิกพงศาวดาร

ตอนที่ ๑ สี่แผ่นดินต้น

พ.สมานคุรุกรรม

ตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับของพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฯ บันทึกไว้ว่าพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์ของกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาฯ เมื่อขึ้นครองราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทร บรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว กรุงเทพทาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ ตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๙๓ นั้น มีพระชนมพระพรรษาได้สามสิบเจ็ดพรรษา ได้โปรดให้สร้างพระที่นั่งเป็นปราสาทขึ้นสามองค์ แล้วจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระราเมศวร ขึ้นไปครองเมืองลพบุรี และโปรดให้ สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า หรือขุนหลวงพะงั่ว พระเชษฐาของพระอัครมเหสี ไปครองเมืองสุพรรณบุรี

ครั้งนั้นมีประเทศราชขึ้นอยู่ด้วย ๑๖ เมือง แต่กรุงกัมพูชาไม่ยอมขึ้นด้วย จึงให้เชิญสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระราเมศวร ให้ยกทัพไปปราบปรามเมืองกัมพูชา พระราเมศวรยกพลห้าพัน รอนแรมไปถึงยังไม่ทันได้ตั้งค่าย ก็ถูกพระยาอุปราชของกรุงกัมพูชา ยกมาตีทัพหน้าแตกร่นมาปะทะทัพหลวงแม่ทัพหน้าตายในที่รบ บรรดานายทัพนายกองทัพหลวงที่มีกำลังกล้าหาญ ก็ช่วยกันรบตีกองทัพเขมรแตกหนีไปแล้วพระราเมศวรจึงให้ตั้งค่ายมั่นลงในที่ห่างพระนคร ประมาณ ๒๐๐ เส้นเข้าปล้นพระนครอยู่เป็นหลายครั้ง ก็ตีหักเข้าไปมิได้ จึงมีใบบอกเข้ามากราบทูลสมเด็จพระราชบิดาขอกองทัพไปช่วย

เมื่อมีข่าวมาถึงพระนคร ก็มีพระบรมราชโองการ ให้อัญเชิญสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า จากเมืองสุพรรณบุรี ให้ยกทัพไปช่วย พระบรมราชาธิราชเจ้ายกทัพพลโยธาประมาณหมื่นหนึ่ง ไปถึงกรุงกัมพูชา ช่วยพระราเมศวรผู้เป็นหลาน รบได้ชัยชนะกวาดข้าว ถ่ายครัวชาวกัมพูชา และสิ่งของช้างม้าวัวควาย กลับมาพระนครเป็นอันมาก

สมเด็จพระรามาธิบดีเสวยรัชสมบัติได้ยี่สิบพระพรรษา ก็เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๙๑๒ สมเด็จพระราเมศวรจึงเสด็จจากเมืองลพบุรี ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา อยู่ได้ปีเดียว สมเด็จพระบรมราชาธิราช หรือขุนหลวงพะงั่วผู้เป็นพระเจ้าลุง ก็เสด็จมาจากเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระ ราเมศวรจึงอัญเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติแทน แล้วพระองค์ก็ถวายบังคมลา กลับไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม

สมเด็จพระบรมราชาธิราชขณะนั้นมีพระชนมายุได้หกสิบพรรษา เมื่อเสวยราชย์แล้วก็ยกพลโยธาทัพใหญ่ ไปตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ซึ่งแข็งเมืองอยู่เป็นเวลาหนึ่งปี ให้สงบราบคาบลง เมื่อทรงครองราชย์ได้สิบสามพรรษา ก็เสด็จสวรรคตลงใน พ.ศ.๑๙๒๕ พระเจ้าทองลั่นพระราชโอรสขึ้นเสวยราชย์ได้เพียงเจ็ดวัน สมเด็จพระราเมศวรก็เสด็จมาจากเมืองลพบุรี จับกุมเอาพระเจ้าทองลั่นไปพิฆาตเสียที่วัดโคกพระยา แล้วก็ปราบดาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบไป

อีกสองปีต่อมาสมเด็จพระราเมศวร ได้ยกกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และให้ตั้งค่ายหลวงใกล้คูเมือง ๑๕๐ เส้น ให้นายทัพนาย กองตั้งค่ายล้อม แล้วยิงปืนใหญ่ถูกกำแพงเมืองพังประมาณห้าวา พระเจ้าเชียงใหม่ขึ้นยืนถือพัชนีอยู่บนเชิงเทิน ให้ทหารเอาหนังสือผูกลูกธนูยิงลงมา ในหนังสือนั้นว่า ขอพระราชทานให้งดสักเจ็ดวัน จะนำเครื่องพระราชบรรณาการออกไปจำเริญพระราชไมตรี

พระเจ้าอยู่หัวจึงปรึกษาด้วยมุขมนตรีว่า พระเจ้าเชียงใหม่ให้มีหนังสือออกมาดังนี้ ควรจะงดไว้หรือประการใด มุขมนตรีนายทัพนายกองปรึกษาว่า เกลือกพระเจ้าเชียงใหม่จะเตรียมการมิทัน จึงคิดอุบายมา จะขอพระราชทานให้ปล้นเอาเมืองจงได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่า เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ เขาไม่รบแล้วเราจะให้รบนั้นมิควร ถึงมาตรว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะมิได้คงอยู่ในสัตยานุสัตย์ก็ดี ใช่ว่าจะพ้นมือทหารเรานั้นเมื่อไรมี

ฝ่ายในเมืองเชียงใหม่นั้นก็ตีแตะบังที่กำแพงทลายแล้วนั้นให้ก่อขึ้น ครั้นถ้วนเจ็ดวันแล้วพระเจ้าเชียงใหม่มิได้แต่งเครื่องจำเริญพระราชไมตรีออกมา นายทัพนายกองข้าทหารร้องทุกข์ว่า ข้าวในกองทัพทะนานละสิบสลึงหาที่ซื้อมิได้ จะขอพระราชทานเร่งปล้น พระเจ้าอยู่หัวบัญชาตามนายทัพ ทรงพระกรุณาสั่งให้เลิกกองทัพ เสียด้านหนึ่งให้เร่งปล้น ณ วันจันทร์ เดือนสี่ ขึ้นสี่ค่ำ เพลาสามทุ่มสองบาท เดือนตก เจ้าพนักงานยิงปืนใหญ่น้อยระดมทั้งสามด้าน เอาบันไดหกพาดปีนขึ้นไป พระเจ้าเชียงใหม่ต้านทานมิได้ ก็พาครอบครัวอพยพหนีออก

เพลาสิบเอ็ดทุ่ม ทหารเข้าเมืองได้แต่ นักสร้างบุตรพระเจ้าเชียงใหม่องค์หนึ่งมาถวาย พระเจ้าอยู่หัวตรัสต่อนักสร้างว่า พระเจ้าเชียงใหม่บิดาท่านหาสัตย์มิได้ เราคิดว่าจะออกมาหาโดยสัตย์ เราจะให้ครองราชสมบัติ ตรัสดังนั้นแล้วก็ให้นักสร้างถวายสัตย์ พระเจ้าอยู่หัวก็ให้แบ่งไพร่พลเมืองไว้พอสมควร เหลือนั้นให้กวาดครัวอพยพหญิงชายลงมา ให้นักสร้างลงมาส่งเสด็จถึงเมืองสว่างคบุรี แล้วทรงพระกรุณาให้กลับขึ้นไปครองราชย์สมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่

ต่อมาพระยากัมพูชาก็ยกทัพเข้ามาทางเมืองชลบุรี กวาดต้อนเอาครัวไทยทั้งหญิงชายในเมืองชลบุรีและจันทบุรีไปกรุงกัมพูชา เป็นจำนวนประมาณหกพันเจ็ดพันคน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงจัดทัพให้พระยาไชยณรงค์เป็นทัพหน้าตามไปแก้มือ เมื่อถึงสะพานแยก ชาวกัมพูชาออกมาตีทัพหน้า ก็ได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ทัพของกัมพูชาก็แตกฉานไป ทัพหลวงตามมาตั้งค่ายอยู่สามวัน ก็เข้าตีเอาเมืองกัมพูชาได้

พระยากัมพูชาก็ลงเรือหนี แต่โดนทหารไทยยิงปืนนกสับไปต้องหม้อดินเป็นเพลิงลุกขึ้นในเรือ ตัวพระยากัมพูชานั้นโดดน้ำหนีรอดไป จับได้แต่พระยาอุปราชผู้เป็นบุตร จึงให้พระยาไชยณรงค์คุมพลห้าพันอยู่รักษาเมืองกัมพูชา แล้วกวาดเอาพลเมืองช้างม้า สรรพศาสตราวุธเป็นอันมาก เสด็จคืนพระนครศรีอยุธยา

อยู่มาพระเจ้ากรุงญวน ซึ่งครองราชย์สมบัติอยู่ ณ เมืองตังเกี๋ย ให้ยกพลทหารมาทั้งทัพบกทัพเรือ จะรบเอาเมืองกัมพูชา พระยาไชยณรงค์ออกรบกับญวน สู้กันเป็นสามารถ ชาวเมืองกัมพูชาเห็นทหารญวนน้อย ก็พร้อมใจกันสู้รบ ครั้นเห็นทหารญวนมามากก็ไม่เต็มใจสู้รบ พระยาไชยณรงค์จึงมีหนังสือบอกเข้ามากราบบังคมทูล สมเด็จพระราเมศวรได้ทรงทราบแล้ว โปรดให้มีท้องตราตอบไปว่า ให้พระยาไชยณรงค์ กวาดอพยพพลเมืองแลทัพสรรภาระทั้งปวง กลับมากรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระราเมศวรเสวยราชสมบัติอยู่ได้หกปี ก็เสด็จสวรรคต สมเด็จพระยารามราชบุตร ก็รับราชสมบัติต่อ เมื่อ พ.ศ.๑๙๓๐

###########

จากคุณ : เจียวต้าย
เขียนเมื่อ : 20 มี.ค. 55 07:43:38




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com