
สวัสดีวันเสาร์ค่ะ :)

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคเหนือ อีสาน มีวัฒนธรรมอาหารที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ
ลาบ
ลาบ เป็นเมนูอาหารที่คนให้ความนิยมเป็นอย่างมาก ทั้ง ลาบหมู ลาบไก่ ลาบควาย ลาบปลา ลาบนก
วันนี้จึงอยากจะฝากเตือนถึงประชาชนเกี่ยวกับการบริโภค ลาบดิบ

ที่ผ่านมาหลายคนคงได้ยินเรื่อง
โรค หูดับ ที่เกิดจากการบริโภคลาบหมูดิบอยู่เนืองๆ

อาการ
หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococus suis) ที่อยู่ในเนื้อหมูทีไม่ผ่านการปรุงสุก เชื้อแบคทีเรีย Streptococus suis เป็นเชื้อที่อยู่ในโพรงจมูกและต่อมน้ำลายของหมู เชื้อดังกล่าวพบได้ในหมูทั่วไปจนกลายเป็นเชื้อประจำถิ่น เมื่อหมูอยู่ในภาวะเครียด เช่น อยู่ในที่แออัด อากาศชื้นหรือหนาวจากฝนตกหนัก ภูมิคุ้มกันของหมูจะลดลง เชื้อดังกล่าวจึงฉวยโอกาสเข้าสู่กระแสเลือดทำให้หมูป่วยหรือตาย
เชื้อดังกล่าว มีวิธีเข้าสู่คนได้ 2 วิธี คือ 1)เมื่อร่างกายคนมีแผลไปจับต้องหมู
2) กินเนื้อหมูหรือเลือดสด โดยไม่ผ่านกระบวนการปรุงให้สุก
หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายคนแล้วอาจจะทำให้เกิดอาการต่างๆ
โดยอาการทั่วไปจะทำให้มีไข้สูงเฉียบพลัน คลื่นเหียน ปวดศีรษะ หรือหากร้ายแรง อาจทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง
หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทหูจะทำให้การได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลันจนถึงขั้นหูหนวก
ภายหลังที่หายจากอาการป่วยแล้วอาจจะมีความผิดปกติในการทรงตัว
หากเชื้อเข้าปลายระบบประสาทตาจะทำให้ม่านตาอักเสบ ลูกตาฝ่อ หรือตาบอดได้
หรือหากติดเชื้อในกระแสโลหิตเป็นอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
ดังนั้น ควรปรุงประกอบอาหารให้เนื้อสัตว์สุกด้วยความร้อนระดับ 70 องศาเซลเซียส นาน 10 นาที
ส่วนผู้ชำแหละหรือผู้สัมผัสเนื้อสัตว์ ควรสวมถุงมือป้องกันการติดเชื้อทุกครั้ง หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด
หากประชาชนมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะหลังกินหมูดิบภายใน 3 วัน
ให้รีบไปพบแพทย์ด่วนและต้องบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ
หากมาพบแพทย์เร็วจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและหูหนวกได้