CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    ปล่อยไก่ในสวยกล้วยไม้อิอิ

    การผสมพันธุ์กล้วยไม้

    การผสมพันธุ์กล้วยไม้ เกิดขึ้นเมื่อมีการถ่ายละอองเกสร (pollination) ตามด้วยการปฏิสนธิ (fertilization) วัตถุประสงค์การผสมพันธุ์กล้วยไม้ได้มีการทำขึ้นเพื่อ
    1. เป็นการเพิ่มจำนวนต้น ให้มีจำนวนมากขึ้น อาจได้มาจากการผสมตัวเอง (selfing) หรือ การผสมข้ามต้น (crossing) ในชนิดเดียวกัน ซึ่งการผสมตัวเอง มีโอกาสที่จะได้ลูกผสมใหม่ที่ไม่เหมือนต้นแม่ทั้งหมด เพราะองค์ประกอบทางพันธุกรรมของกล้วยไม้จัดเป็น พวก highly heterozygous ทำให้เกิดการกระจายตัวของลักษณะต่างๆอย่างมากมาย หรือถ้าเป็นการผสมข้ามต้นในชนิดเดียวกัน โอกาสที่จะได้ลูกผสมใหม่มีลักษณะแปลกๆ ก็สูงมากขึ้นอีก เช่นการผสมช้างแดงต้น A และช้างแดงต้น B เป็นต้น
    2. เป็นการสร้างชนิดกล้วยไม้ใหม่ๆขึ้นมา ที่มีลักษณะต่างไปจากพ่อและแม่ เป็นการผสมข้ามอีกแบบหนึ่ง แต่วิธีการนี้ เป็นการผสมข้ามชนิดหรือข้ามสกุล (interspecific hybridization หรือ intergeneric hybridization) กล้วยไม้เป็นไม้ดอกที่มีความสามารถในการผสมข้ามสกุลได้มากที่สุด
    ตัวอย่างของการผสมข้ามชนิดเช่น

    Dendrobium formosumเอื้องเงินหลวง     X Den. cruentumเอื้องปากนกแก้ว

                                        Den. Dawn Maree


    Rhynchostylis gigantea var. albaช้างเผือก     X Rhyn. coelestisเขาแกะ




    ตัวอย่างของการผสมข้ามสกุลเช่น

    Vanda    X Ascocentrum

    Ascocenda


    CattleyaX Laelia

    Laeliocattleya

    การเรียกชื่อในกรณีที่เป็นการผสมข้ามชนิด สามารถทำได้ง่าย เนื่องจากชื่อสกุลยังคงเหมือนเดิม โดยชื่อสกุลเขียนเป็นตัวเอน ตามด้วยชื่อลูกผสมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ โดยชื่อลูกผสมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ เขียนขึ้นต้นชื่อด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ตามด้วยตัวพิมพ์เล็ก เช่น ลูกผสมที่ได้มาจาก Den. gouldii X Den. phalaenopsis มีชื่อว่า Den. Jacquelyn Thomas
    ในกรณีของการผสมข้ามสกุล ถ้าเป็นการผสมระหว่าง 2 สกุล ชื่อสกุลใหม่ที่ได้ เป็นการนำชื่อสกุลของพ่อและแม่มาเชื่อมเข้าด้วยกัน เหมือนกับการทำคำสมาสของไทย
    เช่น Arachnis X Vanda ได้สกุลใหม่มีชื่อว่า Aranda
    Phalaenopsis X Doritis ได้สกุลใหม่มีชื่อว่า Doritaenopsis
    นอกจากนั้นแล้ว ในกล้วยไม้ยังมีการผสมข้ามสกุลได้มากกว่า 2 สกุลได้อีกด้วย และในกรณีที่มีการผสมข้ามมากกว่า 3 สกุลขึ้นไป สามารถที่จะตั้งชื่อสกุลขึ้นมาใหม่ได้
    เช่น genus Kirchara ได้มาจาการผสมพันธุ์ของ Epidendrum X Sophonitis X Laelia X Cattleya
    genus Mokara ได้มาจากการผสมพันธุ์ของ Arachnis X Ascocentrum X Vanda เป็นต้น

    หลักการการผสมพันธุ์กล้วยไม้
    โดยทั่วไปแล้ว ต้องมีการเลือกพ่อและแม่พันธุ์ก่อน ต้นที่ใช้เป็นพ่อและแม่พันธุ์ควรเป็นต้นที่มีลักษณะดี อย่างไรก็ตาม การใช้พ่อแม่พันธุ์ที่ดี ไม่ได้เป็นการประกันว่า ลูกที่ได้ต้องมีลักษณะดีทั้งหมด การคัดเลือกต้น นอกจากจะมีลักษณะที่ต้องการแล้วต้องมีการพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การผสมพันธุ์ประสบความสำเร็จ ขั้นตอนในการผสมพันธุ์กล้วยไม้มีดังนี้
    1. ดอกที่จะใช้เป็นแม่พันธุ์ ควรมีอายุการบานอยู่ในช่วงที่เหมาะสม ดอกมีสีสันสดใส และตรวจดูว่าดอกพร้อมที่จะรับเกสรตัวผู้หรือไม่ โดยดูจากแอ่งของเกสรตัวเมีย (stigma) ควรมีน้ำเมือกเหนียวๆ อยู่ (stigmatic fluid) และสังเกตดูด้วยว่ายังไม่มีเกสรตัวผู้เข้าไปปนเปื้อนอยู่
    2. เกสรตัวผู้ที่จะนำมาใช้ในการผสมพันธุ์ ไม่ควรแก่เกินไป สังเกตได้จากฝาปิดเกสรตัวผู้ ควรมีสีขาว สดใส ไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ
    3. การถ่ายละอองเกสร ควรทำในตอนเช้า ช่วง 8:00 - 9:00 น. หรืออาจทำได้ในช่วงที่อากาศไม่ร้อนจัด เพราะอากาศที่ร้อนจัด จะทำให้เกสรตัวผู้และเมียแห้งได้
    4. เมื่อสามารถเลือกดอกที่จะใช้เป็นพ่อและแม่พันธุ์ได้แล้ว และระยะเวลาเหมาะสมที่จะทำการถ่ายละอองเกสร ก็สามารถทำการถ่ายละอองเกสรได้ โดยใช้ไม้จิ้มฟันสะอาด เขี่ยฝาเปิดเกสรตัวผู้ ให้เกสรตัวผู้หลุดออกมา แล้วแตะเกสรตัวผู้ ไปวางบนเกสรตัวเมีย ในบางครั้ง ถ้าเกสรตัวผู้เขี่ยติดได้ยาก แนะนำให้เอาปลายไม้จิ้มฟันไปแตะที่แอ่งเกสรตัวเมียก่อน แล้วนำมาแตะที่เกสรตัวผู้ ทำให้เกสรตัวผู้ยึดติดกับปลายไม้จิ้มฟันได้ดีขึ้น ดอกกล้วยไม้บางชนิด ส่วนของปากเกะกะมาก ก็สามารถเด็ดส่วนของปากทิ้งได้ และเป็นการบอกด้วยว่าดอกนี้มีการผสมเกสรแล้ว ในบางครั้งถ้าเกสรตัวผู้มีขนาดใหญ่มาก สามารถตัดแบ่งได้ โดยใช้มีดสะอาด และในกรณีที่เกสรตัวผู้มีขนาดเล็กมาก อาจใช้เกสรตัวผู้จากหลายดอกจากต้นเดียวกันมาใช้ได้
    5. ทำป้ายแขวนไว้ที่ก้านดอกย่อย โดยเขียนชื่อ แม่พันธุ์ X พ่อพันธุ์ วันที่เดือนปี ที่ทำการผสม
    หลังจากการผสมเกสรไปได้ประมาณ 3 - 4 วัน สามารถตรวจสอบได้ว่า การผสมพันธุ์กล้วยไม้ทำได้สำเร็จหรือไม่ โดยดูจากการขยายขนาดของเส้าเกสร ถ้าการผสมเกิดขึ้นได้ เส้าเกสรจะมีการขยายขนาด และต่อมาจะสังเกตเห็นว่าส่วนของรังไข่ (ก้านดอกย่อย หรือ pedicel) มีการเปลี่ยนสีจากขาวเป็นเขียว และมีการขยายขนาดไปเรื่อยๆ ในกล้วยไม้ โดยทั่วไปแล้ว การปฏิสนธิจะใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องมาจากการงอกของละอองเกสรตัวผู้ใช้เวลานานมาก ในสกุล Vanda ระยะเวลาการงอกของละอองเกสรตัวผู้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และใช้เวลาในการพัฒนาของฝักอีกประมาณ 7 - 10 เดือน ฝักถึงจะแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวฝักและนำเมล็ดไปเพาะได้ กล้วยไม้บางชนิดเช่นเอื้องดินใบหมาก (Spathoglosttis) ใช้เวลาตั้งแต่การถ่ายละอองเกสรจนกระทั่งฝักแก่เพียง 30 - 45 วันเท่านั้น
    อายุการถือฝักของกล้วยไม้บางสกุล ระยะเวลาตั้งแต่มีการถ่ายละอองเกสรจนกระทั่งฝักแก่

    สกุล ระยะเวลา (เดือน)

    Cattleya7 - 10
    Vanda และ ลูกผสม 7 - 10
    Vanda coerulea7 - 10
    Rhyncostylis gigantea14 - 18
    Ascocentrum10 - 14
    Aerides8 - 12
    Dendrobium 7 - 10
    Section Callista, Formosae8 - 12
    Section Phalaenopsis, Spatulata4 - 5
    Spathoglosttis 1 - 1 1/2




    ในกรณีที่ดอกของต้นที่จะนำมาใช้เป็นพ่อพันธุ์บานไม่พร้อมกับดอกของต้นแม่พันธุ์ สามารถที่จะทำการเก็บเกสรตัวผู้ไว้ได้ โดยนำเอาเกสรตัวผู้มาเก็บในขวดขนาดเล็กหรือปลอกหุ้มยา (capsule) พร้อมทั้งเขียนป้ายไว้ เก็บไว้ในตู้เย็นที่แห้ง อาจนำไปใส่ใน desiccator ก่อนแล้วนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น สามารถเก็บรักษาเกสรตัวผู้ได้เป็นปี
    นอกจากนั้นแล้ว ในกรณีที่กล้วยไม้มีอายุการถือฝักที่นาน การใช้เทคนิคทางการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถช่วยย่นระยะเวลาการถือฝักได้ ในบางชนิดสามารถย่นระยะเวลาได้ 3 - 4 เดือน กล่าวคือ นำฝักมาเพาะเมื่อฝักมีการพัฒนาไปได้ระยะหนึ่ง ก็สามารถตัดฝักและนำมาเพาะได้โดยไม่ต้องรอให้ฝักแก่
    หลังจากการทำการผสมพันธุ์กล้วยไม้แล้ว ไม่สามารถเก็บฝักได้อาจมีสาเหตุมาจาก
    1. ลักษณะทางพันธุกรรม ที่ไม่สามารถเข้ากันได้ของคู่ผสมที่เลือกใช้ เนื่องมาจากความห่างไกลของลักษณะทางพันธุกรรม เช่น การผสม Dendrobium X Vanda หรืออาจเกิดมาจากการที่เกสรตัวผู้เป็นหมัน อันเนื่องมาจากจำนวนชุดของโครโมโซมที่ผิดปกติ เช่น 3X หรือ 5X เป็นต้น
    2. ต้นที่คัดเลือกมาเป็นต้นพ่อแม่พันธุ์ไม่เหมาะสม เข้ากันไม่ได้ อาจจะเป็นในรูปโครงสร้างของเกสรตัวผู้หรือเกสรตัวเมียก็ได้
    3. สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม เช่นฝนตกชุก อากาศหนาวเย็น หรือร้อนจนเกินไป
    4. มีโรคหรือแมลงรบกวน
    5. ให้ปุ๋ยหรือสารเคมีเข้มข้นมากเกินไป
    6. น้ำที่ใช้อาจมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสม
    ข้อควรปฏิบัติ
    1. ในการผสมพันธุ์กล้วยไม้ ไม่ควรให้ต้นที่ใช้เป็นแม่พันธุ์ถือฝักมากเกินไป การถือฝักมากทำให้อาหารที่ไปเลี้ยงต้นไม่เพียงพอ ฝักมีการพัฒนาได้ไม่ดี ทำให้ฝักหลุดร่วงได้
    2. กล้วยไม้บางชนิดที่มีความต้องการเรื่องเครื่องปลูก ต้องให้เครื่องปลูกให้เพียงพอ และช่วยพยุงต้นให้อยู่ได้
    3. ควรจะมีการป้องกันฝน ไม่ให้ฝนตกลงมาโดนฝัก หรือแม้แต่การรดน้ำ ก็ไม่ควรให้น้ำโดนฝัก
    4. ดูแลต้นแม่พันธุ์ให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ

    ระบบการตั้งชื่อกล้วยไม้
    การตั้งชื่อกล้วยไม้ มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับผิดชอบการตั้งชื่อกล้วยไม้อยู่ หน่วยงานนั้นมีชื่อว่า International Orchid Commission ซึ่งได้แบ่งออกเป็น 3 หน่วยงานย่อย ทำหน้าที่ในการจำแนกพันธุ์กล้วยไม้ การตั้งชื่อกล้วยไม้ และการขึ้นทะเบียนพันธุ์กล้วยไม้ ในการตั้งชื่อกล้วยไม้ โดยทั่วไปแล้วทำได้อยู่ 2 ระบบด้วยกันคือ
    1. ICBN (International Code of Botanical Nomenclature)
    เป็นการตั้งชื่อกล้วยไม้ในระบบทางพฤกษศาสตร์ ที่ใช้กันเป็นระบบสากล มีชุดชื่อประกอบด้วย ชื่อสกุล (genus) ตามด้วยชื่อชนิด (species) โดยชื่อสกุลเขียนขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์หรือเขียนใหญ่ ตามด้วยชื่อชนิดเขียนด้วยตัวเล็กแล้วขีดเส้นใต้กำกับ หรือพิมพ์โดยใช้ตัวเอน หรือที่รู้จักกันในชื่อวิทยาศาสตร์ (Latin name) เช่น Dendrobium lindleyi

    2. ICNCP (International Code of Nomenclature for Cultivated Plant)
    เป็นการตั้งชื่อกล้วยไม้ที่มนุษย์ได้ทำการคัดเลือกหรือได้มาจากการผสมพันธุ์

    วิธีการเขียนและตั้งชื่อกล้วยไม้ที่ถูกต้อง
    1. กล้วยไม้พันธุ์แท้
    การเขียนชี่อเป็นไปตามระบบสากลคือใช้ สกุลตามด้วยชนิด อย่างที่ใช้ใน ICBN ถ้าหากสายพันธุ์ในธรรมชาติการเขียนก็จะเติมชื่อ สายพันธุ์เข้าไปเช่น Cymbidium lowianum var. concolor โดยแต่ละชื่อมีความหมายดังนี้ Cymbidium คือ ชื่อสกุล (generic name) lowianum คือชื่อชนิด (specific epithet) และ concolor คือชื่อสายพันธุ์ (varietal epithet) และถ้าในกรณีที่มีการคัดเลือกสายพันธุ์มาเป็นสายต้น ก็สามารถเขียนได้ดังนี้ Cymbidium lowianum var. concolor 'Picardy' โดยมีชื่อสายต้น (cultivar epithet) เพิ่มต่อท้ายอีกหนึ่งชื่อ การเขียนสายพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สามารถเขียนโดยใช้ระบบเดียวกันกับการเขียนชื่อชนิด แต่ถ้าเป็นสายต้นนั้น การเขียนต้องขึ้นต้นด้วยตัวพิมพ์ใหญ่แล้วตามด้วยตัวพิมพ์เล็ก พร้อมกับการใส่เครื่องหมายจุลภาคกำกับด้วย
    2. กล้วยไม้ลูกผสมที่เกิดในธรรมชาติ
    ในบางครั้งมีการพบลูกผสมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ การเขียนชื่อให้เขียนเช่นเดียวกับการเขียนชื่อวิทยาศาสตร์ เพียงแต่ให้เติมเครื่องหมาย X ไว้หน้าชื่อชนิด เช่น Cymbidium Xballianum โดยมีความหมายของลำดับชื่อดังนี้ Cymbidium คือ ชื่อสกุล (generic name) Xballianum คือชื่อลูกผสมที่ได้มาจากการผสมข้ามของกล้วยไม้ในสกุล Cymbidium ในธรรมชาติ
    ในขณะที่ถ้าการผสมข้ามในธรรมชาติเกิดจาก 2 สกุลผสมข้ามต้นกัน วิธีการเขียนจะเขียนให้เครื่องหมาย X อยู่ด้านหน้าชื่อสกุลที่เกิดใหม่ เช่น X Laeliocattleya leeana
    2. กล้วยไม้ลูกผสม
    การเขียนชื่อกล้วยไม้ลูกผสมมีหลักการเขียนดังนี้ ชื่อแรกให้เป็นชื่อสกุล ตามด้วยชื่อลูกผสม (grex epithet) การเรียกชื่อลูกผสมโดยรวม จะเรียกว่า grex name เช่น Dendrobium Icy Pink โดยมีความหมายของลำดับชื่อดังนี้ Dendrobium คือ ชื่อสกุล และ Icy Pink คือชื่อลูกผสมที่ตั้งขึ้น (grex epithet) และในบางครั้งอาจมีชื่อสายต้นตามชื่อลูกผสมอีกก็ได้ เช่น Dendrobium Icy Pink 'Sakura' โดย 'Sakura' คือชื่อสายต้นของลูกผสมพันธุ์นี้

    ข้อมูลจากเว๊ป  http://web.agri.cmu.ac.th/hort/course/359405/ferti.html

    แก้ไขเมื่อ 31 ม.ค. 49 09:08:52

    จากคุณ : นายเมฆนรก - [ 31 ม.ค. 49 09:04:18 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป