CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    กล้วยไม้ : สกุลแอริดิส (ไม่มีภาพครับ ดูภาพจาก กระทู้คุณเหมียวสินธร)

    กระทู้ภาพคุณเหมียวสินธร...
    http://www.pantip.com/cafe/jatujak/topic/J4089980/J4089980.html


    หอมกลิ่นกล้วยไม้: สกุลแอริดิส (1)
    สกุลแอริดิส Aerides
    กล้วยไม้สกุลแอริดิส (Aerides) ซึ่งภาษาไทยนิยมเรียกกันว่าสกุลเอื้องกุหลาบนี้ นักพฤกษศาสตร์ชาวโปรตุเกส ชื่อ Loureira เป็นผู้พบ และได้พิมพ์คำบรรยายลักษณะไว้ในหนังสือ Flora Cochinchinensis ในปี ค.ศ.1790 และยังได้รายงานไว้ว่า ได้ค้นพบประมาณ 50 ชนิด ซึ่งมีแหล่งกำเนิดอยู่ในอาณาบริเวณประเทศต่างๆ ในตะวันออกไกล รวมทั้งอินเดียด้วย ส่วนชื่อ Aerides นั้นมาจากภาษากรีก ซึ่งแปลว่า airplants
    กล้วยไม้สกุลกุหลาบนี้ เป็นกล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยล (monopodial) หรือที่จัดอยู่ในประเภทซึ่งมีลักษณะและอุปนิสัยในการเจริญเติบโตและทรงต้นแบบเดียวกันกับกล้วยไม้สกุลแวนด้า (vandaceous) อีกสกุลหนึ่ง
    กล้วยไม้สกุลนี้มีขนาดต้นและดอกกะทัดรัด งามน่ารัก และยังสามารถเลี้ยงให้เจริญงอกงามได้ง่ายในสภาพของสิ่งแวดล้อมในถิ่นต่างๆ ของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ในบรรดากล้วยไม้ประเภทโมโนโพเดี้ยลสกุลต่างๆ ด้วยกันแล้ว กล้วยไม้สกุลกุหลาบเป็นสกุลหนึ่งที่สามารถสังเกตและรู้จักได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะเดือยดอก (spur) ซึ่งมักจะเรียวแหลม หรือปลายงอนมาทางด้านหน้าของดอก แต่ก็มีบางชนิดซึ่งมีเดือยดอกสั้น
    ลักษณะโดยทั่วๆ ไป คือ เป็นกล้วยไม้ที่มีรากอากาศ ลำต้นมีลักษณะแข็ง บางชนิดมีลำต้นสั้น แต่มีใบยาวห้อย เช่น หนวดพราหมณ์ (Aerides mitrata RCHB.F.) บางชนิดลำต้นยาว บิดหรือโค้งงอ หรืออาจแตกแขนงต้นออกไปเป็นหลายยอด จนกระทั่งเกิดเป็นกอใหญ่ ช่อดอกรูปทรงกระบอกงามน่าดู
    มีทั้งชนิดซึ่งมีช่อตั้ง (erect) และชนิดที่มีช่อโค้ง หรือห้อย (drooping of pendulous) ดอกมีเดือยดอก (spur) ซึ่งเกิดจากโคนปากไปบรรจุกับฐานของเส้าเกสร (column foot) มีหลายชนิดซึ่งมีเดือยดอกลักษณะโค้งงอนคล้ายเขาวัว เมื่อผ่าเดือยดอกตามยาวเปิดออกเป็นสองซีก จะพบว่าภายในเป็นโพรงและมีส่วนนูนหรือมีปุ่ม
    นอกจากนั้นที่บริเวณเดือยดอกของบางชนิด ยังมีส่วนซึ่งมีลักษณะคล้ายบานพับ (hinge) จึงทำให้ระหว่างแผ่นปากกับฐานเส้าเกสรสามารถดึงให้อ้าออกได้ ใบมีทั้งชนิดที่มีใบกลม เช่น Aerides mirtata RCHB, F., Aerides vandara และ Aerides cylindrica และชนิดที่มีใบแบนอีกหลายชนิด กลีบดอกบานผึ่งผาย สวยงาม
    โดยทั่วๆ ไปแล้ว กลีบนอกคู่ล่าง (lateral sepals) มักจะค่อนข้างใหญ่กว่ากลีบอื่นเล็กน้อย เส้าเกสรสั้นแต่มีฐานใหญ่และเรียวยาวลงไปยังเดือยดอก เกสรตัวผู้มีหนึ่งคู่ ติดอยู่กับก้าน ซึ่งเรียวแต่ค่อนข้างเหนียว
    กล้วยไม้สกุลนี้มีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติ อยู่ในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียในเขตร้อนหรือกึ่งร้อน ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลขึ้นไปถึงระดับความสูงจากน้ำทะเลหลายร้อยเมตร ตั้งแต่บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรขึ้นไปจนถึงเส้นรุ้งขนานที่ 20 องศาเหนือ
    ประเทศซึ่งพบกล้วยไม้ป่าชนิดต่างๆ ในสกุลนี้ ได้แก่ ประเทศอินเดีย พม่า ไทย ประเทศจีน ตอนใต้อินโดจีน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น
    ซึ่งในประเทศที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ปรากฏว่าที่ได้มีการค้นพบกล้วยไม้สกุลนี้ที่เกิดแล้วตามธรรมชาติ มีไม่ต่ำกว่า 40 ชนิด แต่จะขอกล่าวถึงชนิดที่พบในป่าของประเทศไทย ซึ่งมีประมาณ 12 ชนิด กับชนิดอื่นๆ อีกบางชนิดที่มีในป่าประเทศใกล้เคียง และมีคุณลักษณะที่น่าสนใจ

    แก้ไขเมื่อ 09 ก.พ. 49 11:14:29

    จากคุณ : modelunicorn - [ 9 ก.พ. 49 11:03:42 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป