CafeTech-ExchangePantip MarketChatPantownBlogGangTorakhongGameRoom


    [Aqua Today] พบกระเบนพันธุ์ใหม่ของโลกที่แม่กลอง

    กองทุนสัตว์ป่าโลก ร่วมกับสถาบันสมิทโซเนียน ยืนยันผลพิสูจน์ “กระเบนแม่กลอง”เป็นปลาชนิดใหม่ของโลก หลังจับได้เมื่อปี 2547 จากแม่น้ำแม่กลอง พร้อมตีพิมพ์วารสารวิทยาศาสตร์ Natural History Bulletin of Siam Society เดือนมีนาคม

    ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืด องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (WWF) เปิดเผยว่า หลังจากได้รับมอบปลากระเบนน้ำจืด จากนายกิติพงษ์ จารุธานินทร์ นักเลี้ยงปลาสวยงาม มาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งได้มาจากแม่น้ำแม่กลอง ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตถึงลักษณะที่แตกต่าง และใช้เวลาตรวจสอบร่วมกับ ดร.ไทสัน โรเบิร์ต นักวิจัยอาสาสมัครของสถาบันสมิทโซเนียน เพื่อทำการตรวจสอบเปรียบเทียบกับปลากระเบนชนิดอื่นๆ แล้ว

    ได้ข้อสรุปว่าเป็น กระเบนน้ำจืดชนิดใหม่ของโลก และได้ตั้งชื่อว่า กระเบนแม่กลอง Himantura kittipongi เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายกิติพงษ์ ผู้ค้นพบ ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Natural History Bulletin of Siam Society ฉบับที่ 2005/53 เดือนมีนาคมนี้

    “จากการตรวจสอบเปรียบเทียบ พบว่าปลากระเบนแม่กลอง อยู่ในวงศ์ของปลากระเบนธง (Family Dasyatidae) มีลักษณะที่แตกต่างจากปลากระเบนชนิดอื่นๆ ก็คือ ด้านหลังจะมีสีน้ำตาลเข้มอมเหลือง รอบวงของลำตัว หาง ช่องหายใจ ช่องเหงือกและ ขอบด้านล่างของตัวเป็นสีคล้ำ ส่วนลำตัวมีขนาดใหญ่สุดประมาณ 60 เซนติเมตร และจำนวนของฟันซึ่งมีลักษณะเป็นซี่เล็กๆ บริเวณขากรรไกรล่างมีจำนวนมากถึง 14-15 แถว

    โดยทั่วไปกระเบนแม่กลองจะไม่อาศัยอยู่ในลำน้ำนิ่ง และต้องการแหล่งน้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัย คอยดักจับปู ปลา กุ้ง หอยและสัตว์น้ำซึ่งอยู่ตามหน้าดินเป็นอาหาร โดยแทรกตัวอยู่ใต้ผิวดินท้องน้ำโผล่ขึ้นมาเพียงช่องหายใจกับลูกตา แล้วใช้จะงอยตรงปากจับเหยื่อและกดทับไว้ก่อนกินเป็นอาหาร”ดร.ชวลิต กล่าว

    ผู้เชี่ยวชาญด้านปลาน้ำจืด WWF กล่าวต่อว่า แหล่งอาศัยที่ค้นพบปลากระเบนชนิดนี้มีอยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย คือ แม่น้ำแม่กลองบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี อย่างไรก็ตาม กระเบนแม่กลองก็มิได้ปลอดภัยจากภาวะคุกคามเสียทีเดียว เนื่องจากกระเบนแม่กลองเป็นปลาที่จับได้ง่ายซึ่งมักจะติดอวนชาวบ้านขึ้นมาด้วยความไม่ตั้งใจเสมอๆ

    นอกจากนั้นกระเบนแม่กลองยังออกลูกได้ครั้งละไม่มากนัก ประมาณ 1-2 ตัวต่อครั้ง ต่อ 1-2 ปี อีกทั้งกระเบนเป็นสัตว์น้ำที่อ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ง่าย การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำและกิจกรรมที่สร้างมลภาวะให้กับลำน้ำ ซึ่งยังมีขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องนั้น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบมหาศาลต่อวงจรชีวิตของกระเบนแม่กลอง

    ดร.ชวลิต กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำค่อนข้างสูง แต่ยังขาดการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง อีกทั้งมาตรการการอนุรักษ์และการส่งเสริมด้านการวิจัยทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเลก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมทั้งโอกาสได้รับความสนับสนุนในเชิงนโยบายและการปฏิบัติก็ยังมีไม่มากนัก จึงต้องผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ส่วนของสังคม

    จาก http://www.bangkokbiznews.com/2006/04/12/news_20381653.php?news_id=20381653

     
     

    จากคุณ : ปิติ99 - [ 12 เม.ย. 49 09:56:12 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป