Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom


    รองเท้านารีแบบเผือก

    ไปเจอกระทู้น่าสนใจ เลยนำมาให้สมาชิกได้อ่าน เป็นความรู้ที่ดีมากทีเดียว

    ของคุณ Paphmania
    จากเว็บ http://www.digithailand.com/forums/index.php?topic=449.165

    __________________________________________________________

    รองเท้านารีแบบเผือก
    คำนำ

             ในหมู่นักสะสมกล้วยไม้รองเท้านารี ชนิดที่หายากที่สุดและราคาแพงที่สุดย่อมหนีไม่พ้นรองเท้านารีเผือก รองเท้านารีบางชนิดพบต้นเผือกเพียงต้นเดียวเท่านั้น แต่หลายชนิดพบต้นเผือกหลายต้นและได้รับการตั้งชื่อพันธุ์ไว้ด้วย

             สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือความแตกต่างระหว่างคำว่า ‘เผือกขาว’ (alba) (ในสกุลรองเท้านารีใช้ ‘album’ ตามเพศในภาษาละติน) และ ‘เผือก’ (albino) เสียก่อน ดอกไม้ที่ปราศจากสีทุกสีโดยดอกมีเพียงสีขาวเท่านั้น เรียกว่า 'แบบเผือกขาว' แต่ถ้าเป็นดอกไม้ที่ขาดเฉพาะเม็ดสีแดงเท่านั้น ซึ่งทำให้ดอกอาจมีสีเขียว เหลือง ขาว หรือสีเหล่านี้ผสมกัน เรียกว่า 'แบบเผือก' แต่หากยึดตามความหมายทางพฤกษศาสตร์อย่างเคร่งครัดตามคำนิยามของนักพฤกษศาสตร์นามว่า อเมริโก ด็อจชา (Americo DOCHA) แล้วนั้น ลักษณะเผือกในพืชหมายถึงการที่ไม่มีเม็ดสีคลอโรพลาสต์เลย หรือกล่าวง่ายๆ คือเป็นต้นไม้ที่มีใบซีดและเลี้ยงยากกว่าต้นไม้ที่มีใบสีปกติของชนิดพันธุ์นั้น ในอดีตที่ผ่านมา ความสับสนในการใช้คำเหล่านี้เกิดจากการตั้งชื่อพันธุ์ให้รองเท้านารีที่มีดอกสีเขียวหรือเหลืองว่าเป็นเผือกขาว ยกตัวอย่างเช่น Paphiopedilum haynaldianum forma album ซึ่งมีสีเขียวขาว

             นักอนุกรมวิธานมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการจัดระดับอนุกรมวิธานที่เหมาะสมสำหรับดอกไม้ที่สีแตกต่างไปจากสีตามปกติของดอกไม้ชนิดนั้น ว่าควรจะจัดเป็น ‘พันธุ์’ (variety) หรือควรจัดเป็น ‘แบบ’ (forma) มากกว่ากัน ในอดีตที่ผ่านมาจนถึงไม่กี่ปีมานี้นิยมจัดให้ดอกที่มีสีแตกต่างไปจากสีดอกปกติว่าเป็น 'พันธุ์' แต่ในทุกวันนี้ มีแนวโน้มที่จะจัดความแตกต่างของสีดอกให้อยู่ในระดับ 'แบบ' มากกว่า เนื่องจากในมุมมองทางอนุกรมวิธานปัจจุบันนี้ การจำแนกความแตกต่างหรือระบุชนิดและสกุลของต้นไม้จะยึดเฉพาะลักษณะทางสัณฐานเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงสีของดอกแต่อย่างใด นอกจากนี้ตัวอย่างไม้ที่เก็บรักษาไว้ในหอพรรณไม้ (ตัวอย่างอัดแห้ง) ยังไม่สามารถคงสีสันของดอกไม้ไว้ได้อีกด้วย ดังนั้น การบรรยายรองเท้านารีเผือกในหนังสือเล่มนี้จึงจัดอยู่ในระดับ "แบบ" ถึงแม้ว่าโดยสากลแล้วจะนิยมจัดอยู่ในระดับ ‘พันธุ์’ มากกว่า ทุกวันนี้การใช้คำว่า ‘พันธุ์’ กับรองเท้านารีจะใช้เรียกกลุ่มประชากรในชนิดเดียวกันที่มีลักษณะทางสัณฐานต่างกัน

             การตั้งชื่อแบบ พันธุ์ ตามหลักอนุกรมวิธานพืชนั้น จะต้องมีการบรรยายพันธุ์ไม้อย่างเป็นทางการพร้อมคำวินิจฉัยเป็นภาษาละติน ลงตีพิมพ์ในหนังสือที่นักพฤษศาสตร์สามารถเข้าถึงได้โดยทั่วไป และเก็บตัวอย่างที่ใช้เป็นชนิดต้นแบบไว้ในหอพรรณไม้ที่เป็นที่รู้จัก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีขั้นตอนเหมือนกับการบรรยายชนิดใหม่ (new species) ทั้งสิ้น

             เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทุกวันนี้ยังคงมีการใช้ชื่อแบบเผือกที่ยังไม่ได้บรรยายอย่างถูกต้องกับรองเท้านารี

             ในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีชื่อพันธุ์ไม้มากมายที่ยังไม่มีคำบรรยายอย่างเป็นทางการ แต่ชื่อเหล่าได้ถูกนำไปใช้ในการโฆษณาขายพันธุ์ไม้ตามงานแสดงพรรณไม้ต่างๆ เพื่อทั้งกระตุ้นความต้องการและโก่งราคาไม้ด้วย ซึ่งชื่อที่ใช้เหล่านี้ไม่มีคุณค่าใดๆเลย  มีเพียงชื่อไม้ที่ได้รับการบรรยายอย่างเป็นทางการและจัดจำแนกที่ถูกต้องเท่านั้นที่สามารถรับประกันความคาดหวังจากการซื้อไม้ของคนรักกล้วยไม้ได้ เพราะบ่อยครั้งเหลือเกินที่ไม้ที่ขายในนามไม้พันธุ์เผือกขาวนั้น ดอกยังคงมีจุดสีแดงหรือน้ำตาลอยู่เล็กน้อย จึงไม่อาจถือเป็นไม้แบบเผือกหรือแบบเผือกขาวที่แท้จริงได้  จากที่มีการใช้ชื่อกล้วยไม้รองเท้านารีแบบเผือก ตามหลักอนุกรมวิธานอย่างเป็นทางการทั่วโลกนี้น้อยมาก ภาพถ่ายในหนังสือเล่มนี้น่าจะช่วยผู้อ่านได้บ้าง หนังสือเล่มนี้ได้แสดงรูปดอกไม้ไว้หลายต้น เพื่อจะแสดงความหลากหลายของไม้แบบเผือก แต่ในการจัดพิมพ์หนังสือนั้นก็จำต้องเลือกรูปต้นที่ดอกสวยที่สุด ไม่ได้ลงรูปต้นที่ดอกปกติทั่วไปหรือดอกไม่สวยเลย

    โอลาฟ กรุซ

    จากคุณ : เอื้องศรีทอง - [ 8 พ.ค. 50 18:04:19 ]

 
 


ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com | Torakhong.org | GameRoom