ความคิดเห็นที่ 5
อักษร F
Facial Swelling (หน้าบวม) ส่วนมากอาการหน้าบวมมักเกิดเนื่องจากแพ้บางอย่าง เช่น แพ้วัคซีน, แพ้ยา, หรือแพ้สิ่งมีพิษ เช่น แมลงหรือพืชพิษ ในแมวอาการหน้าบวมที่พบบ่อยเกิดเนื่องจากเจ้าของให้ยาแก้ไข้ประเภทพาราเซตามอล ซึ่งเป็นพิษกับตับแมวและเป็นสาเหตุการตายในแมวมาก ถ้าอาการแพ้ไม่มากอาการจะหายไปเอง ในรายที่แพ้จนเกิดอาการช๊อกต้องทำการช่วยชีวิต ถ้าถูกแมลงมีพิษต่อยต้องรีบเอาเหล็กไนออก ถ้าแพ้ไม่มากก็ให้กินยาแก้แพ้ได้ แต่ในแมวที่กินยาพาราเซตามอลเข้าไปให้รีบส่งสัตวแพทย์เพื่อทำการรักษา
Fan Belt Injuries (อุบัติเหตุจากสายพานพัดลมรถ) ในช่วงที่อากาศเย็นมาก ๆ หรือทางตอนบนของประเทศที่มีอากาศเย็นมาก ๆ แมวมักชอบเข้าไปนอนในห้องเครื่องรถยนต์เพื่อความอบอุ่น ช่วงหน้าหนาวท่านควรเปิดฝากระโปรงรถเพื่อดูว่าแมวของท่านไม่ได้เข้าไปนอนหลับอย่างสบายในนั้นก่อนที่จะทำการสตาร์ทเครื่องยนต์ แต่ถ้าเกิดลืมแล้วสงสัยว่ามีแมวในห้องเครื่องให้รีบดับเครื่องทันที รีบนำแมวออกจากห้องเครื่องแล้วพยายามปลอบแมวให้หายตกใจ ระวังแมวกัดด้วยนะครับ ส่วนมากแล้วแมวมักจะถูกสายพานปั่นจนหนังหลุด ให้ห่อตัวแมวด้วยผ้าสะอาดแล้วรีบนำส่งสัตวแพทย์ทันที
Fever (มีไข้) อุณหภูมิปกติของสัตว์จะอยู่ราว 100.5 102.5 องศาฟาเรนไฮต์ การสัมผัสตามท้องหรือหัวของสัตว์แล้วสรุปว่าสัตว์มีไข้ไม่ถูกต้อง ต้องวัดทางทวารหนักเท่านั้น ในรายที่ไข้ต่ำกว่า 104.5 องศาฟาเรนไฮต์ ให้สังเกตดูอาการว่าสัตว์ไข้ลดเองหรือไม่ ดูว่าสัตว์เลี้ยงของท่านกินอาหารและดื่มน้ำเป็นปกติหรือเปล่า วัดอุณหภูมิอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 104.5 องศาฟาเรนไฮต์ให้รีบพาสัตว์ไปพบสัตวแพทย์ รวมทั้งสังเกตว่าสัตว์เลี้ยงมีอาการอื่น เช่น ฝี, มีก้อนผิดปกติตามตัวหรือไม่, ปัสสาวะมีเลือดปนหรือปวดเบ่งปัสสาวะบ่อย, จามหรือหายใจลำบาก ฯลฯ รวมทั้งสังเกตว่ากินอาหารและดื่มน้ำตามปกติหรือไม่เพื่อจะได้บอกอาการกับสัตวแพทย์ได้ถูกต้อง
Fish Hook Injuries (เบ็ดเกี่ยวปาก) ถ้าสัตว์เลี้ยงกินเบ็ดเข้าไปให้รีบนำส่งสัตวแพทย์เพื่อเอาเบ็ดออก ถ้ากลืนลงท้องไปแล้วอย่าดึงสายเบ็ดที่ติดอยู่กับตัวเบ็ดออกเองเพราะอันตรายมาก ต้องผ่าตัดเอาออกเท่านั้น ถ้าเบ็ดเกี่ยวอยู่กับผิวหนังภายนอกท่านอาจจะเอาออกเองได้ โดยดันปลายเบ็ดให้ผ่านผิวหนังออกมาอย่าใช้วิธีดึงเบ็ดออก จากนั้นตัดส่วนโคนเบ็ดที่เป็นที่ร้อยสายเบ็ดออกแล้วจึงดึงเบ็ดออก แล้วใส่ยาบาดแผลสด ถ้าเบ็ดเป็นสนิมให้รีบพาไปพบสัตวแพทย์พร้อมกับเบ็ดที่ดึงออกแล้ว
Fleas (หมัดกัด) หมัดกัดไม่ใช่กรณีฉุกเฉิน ส่วนมากหมัดจะทำให้เกิดอาการแพ้, เป็นตัวนำพยาธิ์ตัวตืด และอาจทำให้โลหิตจาง ถ้ามีหมัดมาก ๆ ให้ปรึกษาสัตวแพทย์ การกำจัดหมัดค่อนข้างยากและค่าใช้จ่ายแพงเนื่องจากยาแพง
Flea Product Toxicity (อาการพิษจากยากำจัดหมัด) ยาทารักษาหมัดเป็นยาที่ค่อนข้างได้ผลดีซึ่งมักเป็นยาสำหรับสุนัข เจ้าของสัตว์มักเข้าใจผิดว่าใช้ในแมวได้ด้วยเป็นผลให้เกิดอาการพิษจากยาที่รุนแรง เช่น ยาในกลุ่ม Perm ethrin หรือ Pyrethrin ในขนาดที่สูงเป็นพิษกับแมว อาการเป็นพิษจะเร็วค่อนข้างมากทันที่ที่ได้รับยาแมวจะแสดงอาการ น้ำลายยืด, กล้ามเนื้อสั่นหรือกระตุก, ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการชัก ถ้าแมวมีอาการเช่นนี้ภายหลังการใช้ยากลุ่ม Permethrin หรือ Pyrethrin ให้ล้างตัวแมวด้วยสบู่หรือแชมพูอ่อน ๆ เพื่อเอายาออก และลดการดูดซึมของยา ห้ามใช้แชมพูฆ่าเห็บหมัดในการล้างตัวเด็ดขาด รวมทั้งห้ามใช้น้ำอุ่นอาบเนื่องจากเส้นเลือดจะขยายและทำให้ยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดมากขึ้น จากนั้นรีบนำส่งสัตวแพทย์ ซึ่งแมวจะต้องได้รับสารน้ำและยาคลายกล้ามเนื้อ กรณีเช่นนี้แมวต้องอยู่โรงพยาบาล
Fly Strike (แมลงกัดต่อย) สัตว์เลี้ยงที่อยู่นอกบ้านอาจพบกับแมลงที่มีพิษ แมลงเป็นสิ่งที่ก่อความรำคาญให้สัตว์มากที่สุด โดยเฉพาะที่ขอบของใบหู การโดนแมลงกัดมาก ๆ จะทำให้เกิดแผลและมีเลือดออกที่ขอบของใบหู ให้ล้างบริเวณที่แมลงกัดด้วยไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์แล้วทาด้วยยาใส่แผลสด เจ้าของอาจต้องทายากันแมลงให้สัตว์เลี้ยง แต่ถ้าใบหูมีอาการอักเสบมากให้พาไปหาสัตวแพทย์
Foreign Bodies (สิ่งแปลกปลอม) สิ่งแปลกปลอมคือสิ่งที่ไม่ใช่อาหารที่สัตว์กินเข้าไป ซึ่งอาจไปอุดตันทางเดินอาหารทำให้สัตว์ป่วย สัตว์ที่กินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปมักมีอาการที่ทางเดินอาหาร ถ้าเห็นสัตว์กินสิ่งแปลกปลอมเข้าไปให้พยายามทำให้อาเจียนแล้วพาส่งสัตวแพทย์ แต่ต้องดูด้วยว่าการทำให้อาเจียนแล้วเป็นอันตรายหรือไม่ ถ้าสัตว์ไม่กินอาหาร, น้ำลายยืด, มีอาการอาเจียน และมีอาการผิดปกติของทางเดินอาหารให้รีบนำส่งสัตวแพทย์ บางครั้งอาจพบว่าสัตว์กินสิ่งแปลก ๆ เข้าไป เช่น หิน, ขดลวด, ตะปูตอกแถบรัดสายไฟ แล้วเห็นโผล่ออกมาทางก้น อย่าพยายามดึงออกให้ปรึกษาสัตวแพทย์ก่อน
Fractures (กระดูกหัก) กระดูกหักมักเกิดเนื่องจากอุบัติเหตุ เช่น รถชน, ตกจากที่สูง, ขาขัดกับลวดกรง หรือถูกเตะ ถ้าพบสัตว์เลี้ยงกระดูกหักให้พยายามให้สัตว์เลี้ยงสงบ, จำกัดการเคลื่อนไหว ถ้ามีบาดแผลให้ใช้ผ้าสะอาดพันปิดไว้ สัตว์ที่กระดูกหักมักเจ็บปวดมากควรระวังการกัดจากสัตว์เลี้ยงด้วย โดยผูกปากหรือใส่ขลุมปากก่อน และเคลื่อนย้ายสัตว์ด้วยความระมัดระวัง โดยให้สัตว์อยู่ในท่าเหยียดขา
จากคุณ :
yuki san
- [
18 ต.ค. 50 01:52:51
]
|
|
|