ความคิดเห็นที่ 131
เสาร์สบาย สายๆ มีอาหารสมองมาฝากครับ เรื่องราวน่าจะโยงใยเข้ากับห้องหัวมุมได้บ้าง
Ecological Footprint รอยเท้าทางนิเวศ
ภาวะโลกร้อนกำลังเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความสนใจสูงยิ่ง ทั้งในระดับประเทศ และระดับโลก ถึงกับทำให้ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐ ผู้รณรงค์เรื่องปัญหาโลกร้อนมาเป็นเวลายาวนานได้รับ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปีนี้ แท้ที่จริงแล้วปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมยังมีอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องดิน น้ำ อากาศ พลังงาน และความไม่เท่าเทียมกัน ในสังคม แต่คนส่วนใหญ่ทราบถึงแนวโน้มเกี่ยวกับ วิกฤตสิ่งแวดล้อม และสังคมเท่าใด ทั้งๆ ที่สัญญาณเตือนภัยมีให้เห็นทุกแห่งทั่วโลก
สาเหตุที่มนุษย์เราไม่ตระหนักถึงสัญญาณเหล่านี้อาจเป็นเพราะเรามีชีวิตอยู่สั้นเกินไป หรือมีธุระปะปังในชีวิตมากเสียจนกระทั่ง ไม่มีเวลาที่จะเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และแปลผลจนได้ข้อสรุป Ron Nielsen นักวิจัยด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัย แห่งชาติของออสเตรเลีย ผู้จัดรายการวิทยุ และนักเขียนได้รวบรวมข้อมูลไว้ ในหนังสือชื่อ The Little Green Handbook : Seven Trends Shaping the Future of Our Planet หนังสือขนาด 365 หน้า ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2548 เล่มนี้สรุปข้อเท็จจริงที่สำคัญๆ และชี้ให้เห็นถึง สิ่งที่เราควรทราบและเข้าใจในประเด็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมโลก รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวข้องในด้านกายภาพเศรษฐกิจ สังคม แนวโน้มนโยบาย ความกดดัน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และแนวโน้มของปัญหา ที่อาจก่อวิกฤตกับโลก
ผู้เขียนนำเข้าประเด็นด้วยการตั้ง ข้อสังเกตว่า แม้ในปัจจุบันมนุษย์เราจะร่ำรวยขึ้น แต่ความร่ำรวยนี้มาจากการใช้ทรัพยากรโลก จึงทำให้โลกยากจนลง ตัวการที่ทำให้เกิดปัญหามีหลายอย่างเช่น 1) จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว 2) การใช้พลังงานจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจในระยะยาว 3) การทำเหมืองแร่ทำให้มีการปล่อยกากแร่ ซึ่งมีซัลไฟด์จำนวนมากลงไปในทะเล จนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เป็นต้น
แม้ว่าคนส่วนหนึ่งจะคิดว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการที่จำนวนประชากรโลกมีเพิ่มขึ้น แต่มีผู้แย้งว่าแท้ที่จริงแล้ว จำนวนประชากร มิใช่ปัญหา ปัญหากลับอยู่ที่โลกไม่มีพื้นที่ มากพอให้กับประชากรและความจำกัด ของทรัพยากร ทั้งนี้เพราะไม่มีใครทราบว่าความสามารถในการรองรับประชากรของโลก มีเท่าใดกันแน่เพราะมันขึ้นอยู่กับระดับการใช้ทรัพยากรและขีดความสามารถของระบบนิเวศ
ก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 16 จำนวนประชากรโลกมีเพียงแค่ร้อยล้านคนและเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ กระทั่งถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็เพิ่มเป็น 600 ล้านคน และภายในเวลาเพียง 130 ปี ก็เพิ่มขึ้น 3 เท่า เป็น 2,000 ล้านคน และหลังจากนั้นอีกเพียง 70 ปี ก็เพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านคน การเพิ่มของประชากร จึงคล้ายระเบิดแตก มิใช่แบบทวีคูณ ดังที่ คนส่วนใหญ่เข้าใจกัน จึงทำให้ชาวโลกไม่มี เวลาที่จะวิเคราะห์และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้
นอกจากนี้ เรายังมีความเข้าใจผิด ในเรื่องเกี่ยวกับอัตราการเพิ่มของประชากร คือ 1) การเพิ่มเป็นไปอย่างช้าๆ และสม่ำเสมอ 2) การเกิดเหตุการณ์พิเศษ เช่น สงครามโลกหรือโรคระบาดจะทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 3) การเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากสุขภาพที่ดีขึ้น แต่ความจริงก็คือ 1) การเพิ่มประชากร เป็นผลมาจากความแตกต่างระหว่างอัตราเกิด และอัตราตาย ประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่า จะมีอัตราการเพิ่มประชากรน้อยกว่า ทั้งนี้เพราะอัตรา การเกิดของประเทศพัฒนาแล้วมีเพียง 11 คน ต่อ 1,000 คน ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเกิดของประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมากถึง 24 คน ต่อ 1,000 คน 2) อัตราการเกิดมีความสัมพันธ์กับอัตราการเจริญพันธุ์ อัตราการเจริญพันธุ์ในประเทศกำลังพัฒนาสูงถึง 3.1 ในขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศพัฒนาแล้วเพียงแค่ 1.6 เท่านั้น 3) ส่วนอัตราการตายนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีอัตราการตายสูงถึง 10 คน ต่อ 1,000 คน ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา มีอัตราอยู่ที่ 8 คน ต่อ 1,000 คนเท่านั้น ทั้งๆ ที่ประเทศพัฒนาแล้วมีระบบสาธารณสุข ที่ดีกว่ามาก
ข้อมูลบ่งด้วยว่า อัตราการตายไม่มีความสัมพันธ์กับความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขแต่อย่างใด ที่แปลกไปกว่านั้นคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณสุขและการเพิ่มประชากรจะเป็นไปอย่างผกผันนั่นคือ ยิ่งระบบสาธารณสุข ดีเท่าใด อัตราการเพิ่มของประชากรยิ่งต่ำ เท่านั้น แต่ความสัมพันธ์ระหว่างระบบสาธารณสุข กับอัตราการตายของทารกแรกเกิด กลับมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนั่นคือ ยิ่งระบบสาธารณสุขดีเท่าใด อัตราการตาย ของทารกแรกเกิดยิ่งต่ำเท่านั้น ประเทศร่ำรวย จึงมีอัตราการตายของทารกเพียงแค่ 5-6.6 คน ต่อ 1,000 คน ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา จะมีอัตราตายของทารกสูงถึง 31-88 คน ต่อ 1,000 คน ในปัจจุบันจำนวนเด็กเกิดทั่วโลก นาทีละ 250 คน หรือเท่ากับ 130 ล้านคนต่อปี ในขณะที่อัตราการตายเพียงนาทีละ 100 คน หรือเท่ากับ 50 ล้านคนต่อปีเท่านั้น จำนวนประชากรโลกจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ผู้เขียนได้เสนอการคาดการณ์จำนวนประชากรโลกในอนาคตไว้ 3 ระดับ คือ 1) ระดับต่ำ ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.35 พันล้านคนในปี 2606 และจะค่อยๆ ลดลงเหลือ 8 พันล้านคนในศตวรรษต่อไป 2) ระดับกลาง ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 1 หมื่นล้านคนในปี 2602 และจะขึ้นถึงจุดสูงสุดที่ 10.48 พันล้าน ในปี 2625 และค่อยๆ ลดลงเหลือ 10.3 พันล้านเมื่อสิ้นคริสต์ ศตวรรษที่ 22 3) ระดับสูง ประชากรโลก จะเพิ่มขึ้นเกิน 1 หมื่นล้านคน ในปี 2600 และเพิ่มขึ้นถึง 1.2 หมื่นล้านคน ในปี 2638 โดยประชากรส่วนใหญ่ของโลกถึงกว่า 3 ใน 4 อาศัยอยู่ในเพียง 2 ทวีป คือ เอเชียและแอฟริกา ระหว่างปี 2545-2593 นั้นจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น 1 ใน 3 จะอยู่ในแอฟริกาและครึ่งหนึ่งจะอยู่ในเอเชีย แต่ละปีจำนวนประชากรของเอเชียและแอฟริกาเพิ่มขึ้น 49 และ 20 ล้านคนตามลำดับ ส่วนจำนวนประชากรชาวยุโรปลดลงปีละ 0.7 ล้านคน
ในปัจจุบันประชากร 6 พันล้านคนกระจายอยู่ใน 175 ประเทศทั่วโลก แต่ประชากร 3 พันล้านคนอาศัยอยู่ใน 6 ประเทศเท่านั้น คือ จีน อินเดีย สหรัฐ อินโดนีเซีย บราซิล และรัสเซีย ในปี 2593 จำนวนประชากร 3 พันล้านคนจะอาศัยอยู่ในเพียง 2 ประเทศ คือ จีนและอินเดียเท่านั้น ประเทศที่มีจำนวนประชากรเพิ่มมากที่สุดมีอยู่เพียง 6 ประเทศ คือ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ไนจีเรีย ปากีสถาน และบังกลาเทศ โดย 1 ใน 3 มาจากเพียง 2 ประเทศ คือ อินเดีย และจีน ถึงแม้ว่า อัตราการเพิ่มประชากรของจีนจะต่ำที่สุด และ เท่าๆ กับสหรัฐก็ตาม จีนยังคงมีอัตราการเพิ่มประชากรถึงปีละ 9 ล้านคนในขณะที่สหรัฐมีประชากรเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านคน
การที่โลกมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นไม่เพียงเป็นผลจากมีการเกิดสุทธิเพิ่มขึ้นเท่านั้น อายุขัยของมนุษย์ยังเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ช่วงระหว่างปี 2518-2543 นั้นค่าเฉลี่ยของ อายุขัยประชากร ในประเทศด้อยพัฒนาเพิ่มขึ้นจาก 46 ปี เป็น 53 ปี ในขณะที่ ประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นจาก 72 ปี เป็น 78 ปี และในปี 2593 คาดว่าประชากร ทั่วโลกจะมีอายุขัยมากพอๆ กัน คือ มากกว่า 80 ปี แม้แต่ชาวแอฟริกาทางตอนใต้ของ ทะเลทรายซาฮาราก็จะมีอายุขัยถึง 70 ปี เช่นกัน จึงทำให้สัดส่วนของผู้ที่ต้องอาศัยผู้อื่น เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศร่ำรวย ซึ่งจะมีคนชรามากขึ้นโดยเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 29 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 77 ในปี 2593 ส่วนประเทศในกลุ่มแอฟริกา ทางตอนใต้ทะเลทรายซาฮาราจะมีอัตราของผู้ที่ต้องอาศัย ผู้อื่นลดลงในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษนี้ แต่ในเมื่อประเทศเหล่านั้นยากจน อัตราที่ลดลงก็จะไม่ส่งผลอันใด ในทางบวก
อายุขัยของประชากรโลกมิได้มีแต่เพิ่มขึ้นเท่านั้น มันยังลดลงได้ด้วยจากโรคระบาดต่างๆ เช่น โรคเอดส์ ข้อมูลบ่งว่าในระหว่างปี 2493-2529 ชาวซิมบับเวมีอายุขัยเพิ่มขึ้น จาก 40 ปี เป็น 56 ปี แต่เมื่อโรคเอดส์ระบาด อายุขัยของประชากรในประเทศนี้ก็ลดลงถึง 14-26 ปี จนทำให้อายุขัยของผู้ที่คาดว่า จะติดเชื้อต่างจากผู้ไม่ติดเชื้อถึง 17 ปี นั่นคือ 47 ปี และ 64 ปีตามลำดับ
จากคุณ :
BongKoch
- [
16 ก.พ. 51 10:43:22
]
|
|
|