.....................มะม่วงมหาชนก เป็นพันธุ์ที่ได้จากต้นที่ปลูกโดยการเพาะเมล็ด (พ่อแม่มะม่วงพันธุ์ซันเซทกับพันธุ์หนังกลางวัน) ที่สวนของอาจารย์ประพัฒน์ สิทธิสังข์ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดย คุณเดช ทิวทอง นำไปทดลองปลูกไว้ที่สวน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และพบว่ามีต้นมะม่วงต้นหนึ่ง เจริญเติบโต มีใบใหญ่ ให้ผลยาวคล้ายพันธุ์หนังกลางวัน แต่ผลสุกกลับมีสีผิวเหลืองอมแดง มีสีส้มคล้ายพันธุ์ซันเซท จึงสันนิษฐานเกิดการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์โดยบังเอิญ จึงได้ตั้งชื่อมะม่วงพันธุ์นี้ว่า "มะม่วงมหาชนก"
ประเทศไทยถือว่าเป็นต้นกำเนิดของ มะม่วงมหาชนก เป็นมะม่วงลูกผสมระหว่างมะม่วงพันธุ์ซันเซท และมะม่วงหนังกลางวันซึ่งมีรสชาติรับประทานดิบจะเปรี้ยว รับประทานสุกจะหวาน ลูกผสมดังกล่าวก่อให้เกิดเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวของมะม่วงมหาชนก ทั้งรูปลักษณะผล รสชาติที่โดดเด่นออกไปกลายเป็นทางเลือกของตลาดผู้บริโภค
จากข้อมูลข้างต้น มะม่วงมหาชนก ได้รับการยอมรับว่าเป็นพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักเพื่อการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศและหลักตามวิชาการ นอกจากนี้ ลักษณะเด่นพิเศษของมะม่วงมหาชนกมีลักษณะภายนอกสีผิวสวย (สีแดงแก้มแหม่ม) รสชาติดี แต่ไม่ต้านทานโรคแอนแทรกโนส และหากในแหล่งที่ปลูก มีมะม่วงอื่นออกดอกติดผลตลอดปี มะม่วงมหาชนก ก็จะออกดอกติดผลตลอดปีเช่นกัน
การปลูกมะม่วงมหาชนกออกดอกติดผลได้ดีตั้งแต่ริมทะเลหัวหิน จนถึงที่สูง 1,200 เมตร (ตรงบริเวณยอดดอยแม่จ๋อง) อายุเก็บเกี่ยว ประมาณ 120 วัน
ทางด้านการตลาดในขณะผู้ส่งออกมุ่งทั้งโซนยุโรปและตลาดด้านเอเชีย ด้วยการพยายามสร้างฐานลูกค้ารายใหม่ๆ และกระจายผลผลิตของพี่น้องชาวเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ มะม่วงมหาชนก นอกจากถูกส่งออกในรูปแบบสดแล้วยังถูกส่งออกไปในรูปแบบแปรรูป โดยเฉพาะทางด้านประเทศญี่ปุ่นกำลังได้รับความนิยมอย่างสูง มีปริมาณการส่งออกเติบโตอย่างรวดเร็วอาจเป็นเพราะรสชาติถูกใจตลาดดังกล่าว
ผู้ส่งออกทราบดีว่า มะม่วงมหาชนก ถือว่าเป็นผลไม้ที่ต้องรับประทานสุกเป็นหลัก เนื่องจากมีรสชาติหวาน แต่อย่างไรก็ตามไม่สามารถสู้มะม่วงน้ำดอกไม้ได้ เนื่องจากผู้บริโภครู้จักมาเป็นเวลานานแล้ว ฉะนั้น หลักทางการตลาดต้องมีกลยุทธ์นำเสนอ มะม่วงมหาชนกกลายเป็นเบอร์รอง ได้มีการปรับรูปแบบด้วยการนำเนื้อมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ จึงได้มีการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ทางโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยท่านแก้วขวัญ วัชโรทัย เป็นผู้อำนวยการโครงการ ให้ฝ่ายวิจัยพัฒนา อันมี คุณหญิงมารศรี เดชะกำพุช เป็นหัวหน้า ได้นำมะม่วงมหาชนกทดลองทำเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์ต่างๆ กระบวนการวิจัยพบว่า ผลผลิตจากมะม่วงมหาชนกสามารถแปรรูปได้หลากหลาย เช่น น้ำมะม่วง แยมมามาเลท ไอศครีม เซอร์เบท เค้ก โดนัท พาย ท็อฟฟี่ มะม่วงกวน เจลกึ่งวุ้น กัมมี่แบร์ นอกจากนี้ ผลการวิจัยทดลองยังพบว่าเนื้อสุกมะม่วงมหาชนกปั่นละเอียดแช่แข็ง ยังสามารถเก็บไว้ได้นานข้ามปีพร้อมนำมาแปรรูปได้ทันทีโดยคุณภาพยังคงสดเหมือนเดิม
การแบ่งขนาดผล ขนาดผลกลาง ในระดับเกรดซี น้ำหนักผลอยู่ที่ 251-350 กรัม
- ขนาดใหญ่ ในระดับเกรดบี น้ำหนักผลอยู่ที่ 351-400 กรัม
- ขนาดจัมโบ้ ในระดับเกรดเอ น้ำหนักผลอยู่ที่ 401-500 กรัม
- ขนาดยักษ์ ในระดับเกรดเอเอ น้ำหนักผลอยู่ที่ 501 กรัม ขึ้นไป
การผลิตเพื่อการส่งออกมะม่วงมหาชนก ถือว่ามีความสำคัญต้องควบคุมคุณภาพ เริ่มตั้งแต่สวนจนถึงผู้ส่งออกจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค เนื่องจากโอกาสทางการตลาดต่างประเทศเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่าการส่งออกมะม่วงมหาชนกมีปริมาณมากขึ้น นั่นหมายถึงมีความต้องการสูงขึ้นจากต่างประเทศ แต่เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตมะม่วงมหาชนกในประเทศยังน้อยอยู่ สาเหตุเนื่องจากชาวเกษตรกรยังไม่ค่อยมั่นใจตลาดมากนัก
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรหลายรายเริ่มสนใจหันมาลงทุนสวนมะม่วงมหาชนกมากขึ้น ผู้ส่งออกก็เริ่มมองหาโอกาสขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้นเช่นกัน สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการคือมะม่วงมหาชนกที่มีคุณภาพ
ฉะนั้น อันดับต่อไปนี้จะกล่าวถึงมาตรฐานการปลูกมะม่วงมหาชนกเพื่อการส่งออกทั้งระบบ เพราะนั่นหมายถึงชื่อเสียงของประเทศไทย การไม่ยอมรับและขาดความน่าเชื่อถือจากตลาดต่างประเทศส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรทุกคน ดังนั้น หนังสือฉบับนี้จึงได้บรรจุเรื่องราวการผลิตมะม่วงมหาชนกเพื่อการส่งออกเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และตัวอย่างในการปฏิบัติ
.....................คำถามบ่อยๆ ที่พี่น้องชาวเกษตรกรผู้ผลิตมักจะถามว่า
- "ตลาดมะม่วงมหาชนกดีหรือไม่"
- "ตลาดจะเติบโตมากน้อยแค่ไหน"
- "ถ้าผลิตมากๆ จะล้นตลาดหรือไม่"
ตลาดมะม่วงมหาชนก ในประเทศเยอรมนี อังกฤษ เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ พบว่ามีลูกค้ายอมรับในเรื่องของสินค้าในฐานะเป็นสินค้าใหม่จนกระทั่งหมดฤดู
ตลาดฝรั่งเศส เป็นตลาดที่นิยมมะม่วงมหาชนก เนื่องจากกลุ่มลูกค้าอพยพย้ายถิ่นมาอาศัยในประเทศจำนวนไม่น้อยมาจากเอเชีย ดังนั้น พฤติกรรมการบริโภคมะม่วงจึงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจ และได้รับการตอบรับที่ดี แต่เนื่องจากเป็นผู้บริโภคที่มีคุณภาพชีวิตสูง การนำเสนอสินค้าอย่างมะม่วงมหาชนกต้องทำด้วยความรอบครอบ ความนิยมมะม่วงมหาชนกเพราะมีสีสันสวยงาม รสชาติหอมหวาน จึงเป็นที่นิยม
ตลาดตะวันออกกลาง เช่น สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นประตูการค้าที่เข้าสู่หลายประเทศแถบตะวันออกกลาง เป็นตลาดการขายส่งขนาดใหญ่ การนำสินค้ามะม่วงมหาชนก จำเป็นต้องปรับภาพให้เหมาะสมกับตลาดและการแข่งขัน เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีสีสันสะดุดตา ราคาที่ไม่สูงจนเกินไป ดังนั้น การตั้งราคาต้องคำนึงถึงการแข่งขันกับมะม่วงจากอินเดีย
ตลาดญี่ปุ่น เป็นที่มีกระบวนการผลิต ต้องผ่านกระบวนการอบไอน้ำ เป็นตลาดที่มีรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยเฉพาะความสะอาดและความปลอดภัยในเรื่องของสารพิษตกค้าง ถือว่าญี่ปุ่นเข้มงวดที่สุดในขณะนี้ แต่เป็นสิ่งที่ท้าทายผู้ส่งออกและเกษตรกรที่ตั้งใจผลิตมะม่วงมหาชนกให้มีคุณภาพเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต
ตลาดรัสเซีย เป็นตลาดที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากเป็นประตูทางเศรษฐกิจที่สามารถเปิดประตูอีกกว่า 10 ประเทศ ในกลุ่มที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ก่อนการล่มสลาย และประเทศเหล่านี้อยู่ระหว่างเอเชียกับยุโรป วัฒนธรรมและพฤติกรรมการบริโภคที่ปรับตัวไปตามภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างน่าจับตามอง ตลาดรัสเซียตอบรับและยอมรับในคุณภาพและราคามะม่วงมหาชนก
ตลาดจีน ประเทศจีนเปรียบเสมือนรวงผึ้งขนาดใหญ่ จีนแบ่งเป็นมณฑลๆ ดังนั้น การเปิดเขตการค้าเสรีของประเทศหมายถึงสามารถส่งผลไม้เข้าไปได้ แต่กฎระเบียบในแต่ละมณฑลยังมีปัญหา การส่งมะม่วงมหาชนกเข้าไปขายในจีนต้องใช้ราคาและจำนวนเป็นตัวหลัก การแข่งขันทำให้การลดราคาจนก่อให้เกิดไม่มีมาตรฐาน ทำอย่างไรก็ได้ขอให้ราคาถูกกลายเป็นปัญหาตามมา
ตลาดอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีภูมิอากาศเส้นศูนย์สูตรเดียวกัน เวลาเท่ากัน แต่การพัฒนาคุณภาพสินค้าต่างกัน มีทั้งคนรวย คนจน ปานกลาง การจัดระดับสินค้าเหมาะสมยังสามารถทำได้ ต่อรองการชำระเงินได้ โอกาสทางการตลาดโตวันโตคืน มะม่วงมหาชนก คือมะม่วงที่แปลกใหม่ สามารถทำตลาดไม่ยาก แต่แนวทางการพัฒนาที่ดีขึ้นเป็นตัวชี้วัดในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ดังนั้น คิดจะทำการค้าระยะยาว ราคาต้องสมเหตุสมผลกับคุณค่า เป็นแรงจูงใจให้เกิดการตัดสินใจซื้อ
ฉะนั้น ขอให้ศึกษาเงื่อนไขของแต่ละบริษัทที่ส่งออกให้ดี เพื่อความสำเร็จของชาวเกษตรกรเอง ที่สำคัญคือ อย่าขายผลผลิตมะม่วงมหาชนก รุ่น เอฟ 5 เด็ดขาด เนื่องจากผลผลิตจะเพี้ยนทั้งรสชาติและสีผิว และบริษัทหลายๆ แห่งจะไม่รับซื้ออย่างเด็ดขาด อย่าลืมว่าผู้ส่งออกทุกรายจะต้องเช็คประวัติแหล่งสายพันธุ์มะม่วงมหาชนกจากแหล่งโดยตรง ฉะนั้น ทุกสวนต้องรักษาคุณภาพตั้งแต่พันธุ์ต้นกล้าไปจนถึงการบำรุงรักษาและการเก็บเกี่ยวตามกำหนด
ที่มา http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05074011051&srcday=&search=no
จากคุณ :
ญี่ปุ่น35
- [
9 ต.ค. 51 01:41:08
]