 |
ต้น 'พญาคชราช' ที่กำลังบูมกับข้อเท็จจริง...
....................ในช่วงที่ผ่านมามีต้นไม้โตเร็วหลายชนิด ถูกนำมาสร้างกระแสให้โด่งดัง ให้ความหวังกับประชาชนคนทำมาหากินว่าจะสามารถทำรายได้ให้อย่างมากมายมหาศาล ช่วงนี้เองก็มีต้นไม้อีกชนิดหนึ่งที่กำลังเข้ามาอยู่ในความสนใจ นั่นคือ ต้นพญาคชราช สำหรับ ต้นพญาคชราช กรมป่าไม้ โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ได้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไม้ดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลให้กับประชาชนที่จะนำไปปลูก ดังนี้... ต้นพญาคชราช มีชื่อสามัญว่า ปออีเก้ง หรือ อ้อยช้าง และยังมีชื่อสามัญที่เรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น กาลูแปงบูกง (ปัตตานี มาเลเซีย) คำโรง (เขมร-สุรินทร์) คางฮุ่ง (พิษณุโลก) ปอกะด้าง ปอขี้แฮด (ภาคเหนือ) ปอขี้ไก่ (สุโขทัย) ปอขี้แตก (สระบุรี,นครราชสีมา) ปอขี้ลิ้น (หนองคาย) โปง (ปัตตานี-ยะลา) หมีคำราม อ้อยช้าง (ปราจีนบุรี) เหม่ง (จันทบุรี) เป็นต้น พบมีการกระจายพันธุ์ ตามธรรมชาติ โดยขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบตามบริเวณใกล้ลำห้วยทั่วไป พญาคชราชเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15-30 เมตร เป็นไม้ผลัดใบ และผลิใบใหม่พร้อมดอก ลำต้น เปลา ตรง โคนเป็นพูพอน เรือนยอด เป็นพุ่มทรงกลม หรือรูปกรวย ค่อนข้างโปร่ง ตามส่วนต่าง ๆ ที่ยังอ่อนมีขนสีเทาทั่วไป เปลือกสีน้ำตาลอมเขียวอ่อนมีสีเทาแต้มเป็นรอยด่างและมีรอยย่นกระจายทั่วไป เปลือกในเป็นเส้นใยสีน้ำตาลแดง ใบเป็นชนิดใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกัน รูปหัวใจ โคนหยัก เว้า ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เนื้อค่อนข้างหนา และมีขนนุ่มทั่วไป ใบแก่ผิวใบจะเกลี้ยง หน้าใบเขียวเข้มหลังใบเขียวอ่อน ดอกเป็นชนิด ดอกช่อ สีเขียว อ่อน ๆ หรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อ เป็นพวง สั้น ๆ ตามง่ามใบตอนปลาย ๆ กิ่ง เป็นชนิดผลเดี่ยว เป็นประเภทผลแห้ง รูปกระสวยเกลี้ยง ๆ เป็นผลชนิดมีปีกเดียว ลักษณะปีกเป็นกาบบางสีแดงเรื่อ ๆ เป็นกระโดงโค้งยาวประมาณ 10 ซม. หุ้มส่วนหนึ่งของผล ดูคล้ายใบเรือ เมล็ดรูปร่าง กลมรี สีเทาอมน้ำตาลมีลายสีน้ำตาล เมื่อแกะเปลือกอุ้มเมล็ดจะมีสีเหลืองรูปร่างคล้ายเงินจีน เนื้อไม้สีขาวสม่ำเสมอ ไม่มีแก่น เสี้ยนตรง เนื้อหยาบแข็งแรงปานกลางคล้ายไม้งิ้ว ถ้าผึ่งไม่ดีราอาจขึ้น ทำให้เกิดสีดำคล้ำ
จากคุณ :
ญี่ปุ่น35
- [
13 พ.ค. 52 00:07:25
]
|
|
|
|
|