 |
ความคิดเห็นที่ 7 |
เข้ามาเติมกระทู้ ครับ ผมไม่ใช่นักเรียนเกษตร แต่มาจากลูกพระวิษณุ แต่ผมมีความคุ้นเคย กับครอบครัวนี้และให้ความเคารพเป็นอาจารย์อีกหนึ่งท่านจึงขอนำประวัติ มาลงให้สมาชิกได้อ่าน (คำสดุดีอนุสาวรีย์ อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ)
คุณพระช่วงฯผู้บุกเบิกแม่โจ้
Phra Chuang Kashetra (Nai Chuang LOCHAYA)*
วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2476
คุณพระช่วงฯ ได้เดินทาง ถึงจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการจัดตั้งสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ
คุณพระช่วงฯได้ศึกษาสภาพพื้นที่และเส้นทางการคมนาคมเพื่อไปหมู่บ้านแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย แต่มีผู้รู้เส้นทางน้อยมาก แต่จากความรู้ที่ได้รับมาจาก ม.จ. สิทธิพร ฯ พอสรุปได้ว่า สามารถเดินทางโดยรถยนต์ไปถึงอำเภอสันทราย ( 10 กม.) จากนั้นมีแต่ทางเกวียนแคบๆ ไปได้ด้วยม้า จักรยานใช้ไม่ได้เพราะทางเป็นทรายมาก เดินทางด้วยเท้าประมาณ 2 ชั่วโมง เส้นทางลัดที่สุดไปตามทางเกวียนเลาะแนวคันคลองส่งน้ำเหมืองแม่แฝกที่กำลัง ขุดและตบแต่งยังไม่แล้วเสร็จ
อีก 2 วันต่อมา วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2476 คุณ พระช่วง บุกเข้าดงแม่โจ้ เดินทางโดยรถยนต์ยี่ห้อ ดอจช์ เป็นกะบะบรรทุก 6 ล้อ ของกรมตรวจกสิกรรม เดินทางถึงที่ว่าการอำเภอสันทราย นายอำเภอสันทรายให้ยืมม้าเป็นพาหนะพร้อมคนนำทาง เดินทางไปตามทางเกวียนไปตามมูลดินคันคลองชลประทาน เดินทางชั่วโมงกว่าก็เข้าถึงดงไม้และป่าโปร่งที่เรียกว่า ดงแม่โจ้ มีพื้นที่กว้างประมาณ 800 ไร่ มีหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ชายป่า ประมาณ 10 หลังเรือน
ดงแม่โจ้แห่งนี้มิได้มีสิ่งดีงามอะไรที่พอจะเป็นสิ่งที่ยั่วเย้า ยวนใจให้คิดที่จะมาอยู่และคิดตั้งหลักปักกิจการงานอะไรขึ้นเลย เพราะสภาพของดินจัดว่าเป็นดินเลว ขาดแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของพืชอย่างมาก
แต่คุณพระช่วง ท่านก็พอใจในที่ดินผืนนี้
ท่านเคยพูดว่า “ ดินไม่สำคัญเท่าน้ำ ถ้ามีน้ำพอเพียง เนื้อดินจะเลวอย่างไรก็สามารถแก้ไขได้”
คุณพระช่วงฯได้ เริ่มต้นก่อสร้างที่ทำการสถานีกสิกรรมภาคพายัพ บ้านพักเจ้าหน้าที่ และคอกสัตว์
มีเจ้าหน้าที่ 6 คน ตลอดทั้งคนงาน เป็นคณะบุคคลรุ่นบุกเบิก และก่อตั้งสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพโดยมีคุณพระช่วงฯ เป็นหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ
วันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2476 ม.จ. สิทธิพร ฯ อธิบดีกรมตรวจกสิกรรม เสด็จมาทรงปลูกต้นยาสูบต้นแรกเป็นปฐมฤกษ์ลงบนผืนดินของแม่โจ้
คุณพระช่วงฯ ท่านตั้งปณิธานไว้อย่างแน่วแน่ว่าในการทำงานครั้งนี้ “ จะไม่มีการผิดพลาดล้มเหลวได้เลย”
ต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2477 ฯพณฯ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้มีบัญชาให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือขึ้นที่ดง แม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ใช้สถานที่ข้างเคียงติดกับด้านใต้ของสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ
แล้วแต่งตั้งให้ พระช่วงเกษตรศิลปการดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือที่ตั้งขึ้นใหม่ด้วย กระทรวงธรรมการมีนโยบายให้โรงเรียนเปิดสอนนักเรียนให้ทันในปีการศึกษา พ.ศ. 2477
โรงเรียนมีแต่โครงการและตัวบุคคลคนที่จะทำงานเท่านั้นโดยส่งครูมาช่วยทำงาน อีก 4 ท่าน และให้เปิดรับนักเรียนให้ทันในวันที่ 17 พฤษภาคม 2477 ให้คุณพระช่วงยืมเงินทดรองจ่ายมาเป็นจำนวน 3,000 บาท (สามพันบาท) เป็นค่าก่อสร้างอาคารเรียน เรือนพัก โรงครัว และโรงเลี้ยง
นักเรียนรุ่นแรก เป็นนักเรียนจากจังหวัดแพร่ เริ่มมารายงานตัวตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2477
วันที่ 17 พฤษภาคม 2477 นักเรียนเดินทางมาครบตามจำนวน 46 คน (ภายหลังมาอีก 2 คน รวม 48 คน)
มาจากแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ แพร่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย น่าน พิษณุโลก ชลบุรี และ พระนคร ในจำนวน 48 คนนี้ มีนักเรียน ชื่อ บุญศรี วังซ้าย จากจังหวัดแพร่รวมอยู่ด้วย แต่มาในนามนักเรียนทุนจังหวัดเชียงใหม่คนที่ 22
วันที่ 7 มิถุนายน 2477 โรงเรียนฯจัดให้มีพิธีไหว้ครู เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น.
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากจังหวัดเชียงใหม่ร่วมงานพิธีไหว้ครู อาทิ พระยาอนุบาลพายัพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด
เจ้าราชภาคีนัย ณ เชียงใหม่ หัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่
ขุนจรรยาวิฑูร ธรรมการจังหวัดเชียงใหม่
ขุนพิจารย์ประชากิจ นายอำเภอสันทราย
หลวงอิงคศรีกสิการ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคอิสาน โนนวัดและเป็นหัวหน้าสถานีทดลองกสิกรรมภาคอิสาน
เป็นพิธีไหว้ครูที่มีความสำคัญยิ่งต่อสถาบันการศึกษาเกษตรภาคเหนือของประเทศไทย คือ “ เกษตร-แม่โจ้” นับตั้งแต่นั้นมา
ประวัติโดยย่อ
อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ เดิมชื่อ ช่วง โลจายะ เกิดวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 ที่บ้านแช่ ตำบลพระประแดง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บิดาเป็นนายทหาร เรือ ชื่อ เรือเอกหลวงศรีพลแผ้ว
เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในปี
พ.ศ. 2460 เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นนักเรียนที่เรียนได้คะแนนยอดเยี่ยม ได้นั่งโต๊ะพระราชทานหน้าชั้น มีครูฝรั่งเป็นครูสอนใช้ภาษาอังกฤษตลอดระดับชั้นมัธยมปลาย
พ.ศ. 2462 ได้รับทุนกระทรวงธรรมการไปเรียนต่อต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกา แต่เป็นช่วงสงครามจึงต้องไปเรียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ก่อน จนในปี พ.ศ. 2464 จึงได้เดินทางไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน เมืองเมดิสัน สหรัฐอเมริกา
พ.ศ. 2467เรียนจบปริญญาโททางเลี้ยงสัตว์ คุณพระช่วงฯ เป็นผู้สำเร็จปริญญาโททางการเกษตรคนที่ 2 ของประเทศสยาม
พ.ศ. 2475 ได้เลื่อนยศเป็น อำมาตย์โท และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระช่วงเกษตรศิลปการ เป็นการพระราชทานบรรดาศักดิ์ รุ่นสุดท้าย ก่อนมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง
พ.ศ. 2476 คุณพระช่วงฯ ก่อตั้งสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพแม่โจ้และ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานี
พ.ศ. 2477 คุณพระช่วงฯก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือแม่โจ้
พ.ศ. 2478 เปิดรับแผนกมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมรุ่นแรกที่แม่โจ้
พ.ศ. 2479 พระช่วงฯ ลาบวชที่วัดราชา กรุงเทพ อาจารย์หลวงอิงคศรีกสิการมารักษาราชการแทนอาจารย์ใหญ่
พ.ศ. 2481 ตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่แม่โจ้ อาจารย์พระช่วงฯ เป็นผู้อำนวยการ
วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2481 อาจารย์พระช่วงฯ ย้ายไปดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมเกษตรและการประมง
อาจารย์จรัด สุนทรสิงห์ มารักษาราชการแทนอาจารย์ใหญ่
คุณพระช่วงฯ เป็นอธิบดีกรมเกษตรและการประมงเป็นเวลา 10 ปี จนถึง พ.ศ.2492 จากนั้นย้ายไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ ถึง ปี พ.ศ. 2494
ต่อมาด้วยความผกผันทางการเมือง คุณพระช่วงฯย้ายไปดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารการเกษตรเป็นเวลา 3 ปี
พ.ศ. 2498 คุณพระช่วงฯได้รับการแต่งตั้งไปเป็นทูตวัฒนธรรมและผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา
พ.ศ 2502 คุณพระช่วงฯ ครบเกษียณอายุราชการ
พ.ศ. 2512 คุณพระช่วงฯได้รับการยกย่องจาก “ ลูกแม่โจ้” ให้เป็น “ บิดาเกษตรแม่โจ้”
พ.ศ. 2518 คุณพระช่วงฯ ได้รับโปรดเกล้าเป็นนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีการเกษตร (แม่โจ้)
คุณพระช่วงฯ ได้เสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2531รวมอายุได้ 89 ปี
เมื่อสมัยที่คุณพระช่วงฯ เป็นอาจารย์ใหญ่ และเป็นผู้อำนวยการฯ อยู่ที่ แม่โจ้นั้น ท่านได้เน้นพร่ำสอนลูกศิษย์ให้เป็นผู้มีหลักยึดมั่นในการทำงาน 3 ประการ คือ
1. Esprit de corps (มีความรักหมู่คณะ)
2.Sense of Responsibility (มีความรู้สึกรับผิดชอบ) หมายความว่า เมื่อได้รับมอบให้ทำอะไรแล้ว ถือเป็นหน้าที่ๆ ต้องขวนขวายทำจนสำเร็จ และจะมิยอมทอดทิ้งเป็นอันขาด
3. ใช้หลัก โฟร์ซีส์ 4 Cs ซึ่งเป็นหลักการบริหารงานตามหลักเศรษฐศาสตร์
1) Cooperation (การร่วมมือกัน) 2) Coordination (การถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน)
3) Correlation (การประสานงานกัน)
4) Collaboration (การช่วยเหลือกัน)
ในการทำงานนั้น อาจารย์พระช่วงฯ ถือว่า ตนมิใช่นายงาน หากเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทาง คอยบอกทาง ให้แก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ จึงมิลำบากใจแก่ผู้ปฎิบัติ
วันนี้เป็นวาระครบรอบ ปีที่ 72 แห่งการก่อตั้งสถาบันการศึกษาเกษตรแห่งแรกของภาคเหนือ ที่ผ่านมาแม้จะได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนและเปลี่ยนชื่อสถาบันมาหลายครั้ง จนมาเป็น
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในปัจจุบัน จากแรกเริ่มด้วยจำนวนนักเรียนเพียง 48 คน ครูอาจารย์ 5 ท่าน มาเป็นนักศึกษามากกว่า 13,000 คน ครูอาจารย์และบุคลากรมากกว่า 800 คน ในปี พ.ศ. 2548 ที่ผ่านมา
พวกเราทั้งหลายได้พร้อมใจกันมาทำพิธีในเช้าวันนี้ เพื่อสดุดียกย่อง คุณงามความดี ของท่านอาจารย์ อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ ผู้ก่อตั้งบุกเบิกสร้างแม่โจ้ และเป็นบิดาเกษตรแม่โจ้ ของพวกเรา ดังที่ได้กล่าวโดยสรุปในเบื้องต้น
คำจารึกที่ฐานอนุสาวรีย์มีใจความว่า
บิดาเกษตรแม่โจ้
อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ
(ช่วง โลจายะ) ม.ว.ม., ป.ช.
M.Sc. ( Univ. of Wisconsin) U.S.A.
กส.ด. (กิตติมศักดิ์) ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน
ทษ.ด. (กิตติมศักดิ์)
สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้
ชาตะ 20 กรกฎาคม 2442
มรณะ 10 มกราคม 2531
เป็นผู้บุกเบิกก่อตั้ง
สถาบันการศึกษาเกษตร อาทิ
14 ส.ค. 2476 – สถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพแม่โจ้
17 พ.ค. 2477 – โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้
(7 มิ.ย. 2477) – วันพิธีไหว้ครูและเริ่มต้นการเรียน
17 พ.ค. 2478 – แผนกมัธยมวิสามัญเกษตรกรรมแม่โจ้
“ ไม่มีพระช่วงฯ ไม่มีแม่โจ้ ”
(หมดคำจารึกที่ฐานอนุสาวรีย์)
ท่านผู้มีเกียรติ์
ข้าพเจ้า ในฐานะผู้อ่านประวัติและคำกล่าวสดุดีอนุสาวรีย์ อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมในพิธีวางพวงมาลาในเช้าวันนี้ ขอขอบคุณ ศิษย์เก่าแม่โจ้ นักศึกษาแม่โจ้ปัจจุบัน ท่านอธิการบดี อาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นายกสมาคมศิษย์เก่าฯ และกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ ที่ได้ช่วยกันรักษาสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ให้คงอยู่ตลอดไป ขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งหนึ่ง
สวัสดี
***
(เรียบเรียงจาก ประวัติอาจารย์พระช่วงเกษตรศิลปการ หนังสือ เกษตร-แม่โจ้ ที่ระลึกเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเกิด ครบรอบปีที่ 82 ของ อำมาตย์โท พระช่วงเกษตรศิลปการ (ช่วง โลจายะ) 20 กรกฎาคม 2524)
สงวน จันทร์ทะเล เรียบเรียง/ยกร่าง/พิมพ์
1 มิถุนายน 2549
อ่านคำย่อให้เต็ม/
กส.ด. (กิตติมศักดิ์) กสิกรรมและสัตวบาลดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ทษ.ด. (กิตติมศักดิ์) เทคโนโลยีการเกษตรดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้
M.Sc.( Univ. of Wisconsin) U.S.A. = Master of Science, University of Wisconsin, United States of America.
*ภาษาอังกฤษเขียนตามวารสารสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน
Updated: August 17, 2006
Maintained page by Sanguan Chantalay July 23, 2006 ขอขอบคุณ ผู้เรียบเรียงข้อมูลประวัติท่านอาจารย์คุณพระช่วงฯ
แก้ไขเมื่อ 18 ก.ค. 52 19:34:29
จากคุณ |
:
julapolb (julapolboon)
|
เขียนเมื่อ |
:
18 ก.ค. 52 19:31:46
|
|
|
|
 |