Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ล้างหนี้ก้อนโต ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง  

ล้างหนี้ก้อนโต ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง  
รายงานโดย :วรธาร ทัดแก้ว: วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552

มีโอกาสได้เดินทางไปดูสวนธงไชย-ไร่ทักสม ของ ธงไชย คงคาลัย ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก กับสำนักงานชุมชนพอเพียง

สวนนี้เป็นที่ตั้งของ “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมดุลและการพึ่งพาตนเองชาวบ้าน” ซึ่งใครอยากรู้เรื่องวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรแบบพึ่งพาตนเอง ให้มาเรียนรู้ที่ศูนย์นี้เจ้าของศูนย์กล้ารับรองว่าสามารถพึ่งพาตนเองได้จริง ใครที่มีหนี้ก็ปลดหนี้ได้จริง โดยเขาท้าว่าหนี้ 1 ล้านบาท สามารถล้างได้ใน 2 ปีด้วยที่เพียง 1 ไร่

ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ฯ ดังกล่าวได้ขยายเครือข่ายออกไปเป็น 11 ศูนย์ ใน 11 จังหวัดทั่วทุกภาค และได้รับการยกเป็นศูนย์การเรียนรู้ของสำนักงานชุมชนพอเพียงในเวลานี้ด้วย

ก่อนไปรู้คร่าวๆ มาว่าเจ้าของสวนธงไชยฯ เป็นหนี้ธนาคารกว่า 50 ล้านบาท ปัจจุบันก็ยังเป็นหนี้อยู่ แต่หนี้จำนวนมหาศาลได้ถูกปลดเปลื้องไปมากแล้วเหลือแค่กว่า 10 ล้านต้นๆ โดยเขาใช้เวลาเพียง 7 ปี จากการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่โดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ใครๆ ก็มีสิทธิเป็นหนี้

พูดถึงการเป็นหนี้คนเราเป็นได้ง่ายนิดเพียงแค่วินาที แต่เมื่อพูดถึงการใช้หนี้ก็ต้องว่าเป็นภาระหนัก เพราะบางครั้งหาเงินมาใช้หนี้ไม่ทันเวลาที่เจ้าหนี้กำหนด บางทีไม่รู้จะหาเงินมาจากไหนและโดยวิธีอะไร ฉะนั้นจึงเห็นว่าบางคนเมื่อไม่มีเงินใช้หนี้ก็ล้างหนี้ด้วยวิธีที่ผิด ซึ่งมีให้เห็นมากครั้งในสังคมไทย

แต่สำหรับ “ธงไชย” ที่เป็นชาวสงขลาโดยกำเนิด แต่ได้ย้ายมาตั้งรกรากทำมาหาเลี้ยงชีพที่นครนายก และเป็นคนแรกที่เลี้ยงไก่บนบ่อปลาของประเทศ เล่าชีวิตก่อนที่จะเป็นหนี้ว่า เคยทำงานที่บริษัทส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่มาก่อน 9 ปี ตอนนั้นมีการนำเอาแนวคิดเรื่องการประกันราคาเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงไก่เนื้อส่งเข้าบริษัท โดยเขาได้รับผิดชอบให้คุมเรื่องไก่ครบวงจร ทั้งการขาย อาหารไก่ เป็นต้น ต่อมาได้เห็นว่าการเลี้ยงไก่ในช่วงนั้นยังไปได้สวยในปี 2529 จึงลาออกจากงานมาเลี้ยงไก่ด้วยตัวเอง

“ต้องกู้เงินจากธนาคาร โดยเลือกวิธีการเลี้ยงในเล้าบนบ่อปลา 36 บ่อ เริ่มต้นจากหลักหมื่นตัวเป็นหลักแสน และขึ้นไปเป็นหลักล้าน อาหารเลี้ยงก็ใช้อาหารเม็ดผลิตจากโรงงาน แรกๆ ก็พอไปได้ แต่ตอนหลังมาพลาดท่า และพลาดในจังหวะที่ลงไก่เป็นหลักล้านตัว ปรากฏว่าถูกน้ำท่วมหนักนาน 75 วัน ในปี 2534 ทำให้สิ้นเงินไป 30 กว่าล้านบาท แต่ไม่ยอมแพ้ธนาคารให้กู้ต่ออีก 20 ล้านปรากฏปี 2538 โดนน้ำท่วมสูญเงินไปทั้ง 20 ล้านบาท” ธงไชยผู้มีใบหน้าแจ่มใสเล่าอดีตอันชอกช้ำ

หลวงพ่อปัญญาฯ ให้สติ

กำลังจะเป็นเศรษฐีรอมร่อ แต่ชีวิตพลิกกลับมาเป็นหนี้ธนาคารกว่า 50 ล้านบาท ระหว่างกำลังคิดอยู่ว่าจะทำอย่างไรดี ได้ไปพบหลวงพ่อปัญญานันทะพระอาจารย์ที่วัดชลประทานรังสฤษฏ์ อธิบายความรู้สึกคับแค้นใจให้ท่านฟัง...

“ตายแน่แล้วอาจารย์ ท่านว่าไม่ตายหรอก เกิดมาไม่ได้เอาอะไรมา ว่าวขึ้นสูงย่อมถูกลมต้านเป็นธรรมดา ลูกศิษย์วัดชลประทานฯ ต้องสู้ ห้ามพูดว่ายอมแพ้ ก็ถามท่านว่าหมดเงินขนาดนี้จะเอาอะไรสู้ ท่านว่าต้องสู้...สู้ไหม ก็บอกท่าน สู้ครับอาจารย์ แต่ขอถามคำถามคำเดียว ทำอย่างไรผมไม่ต้องซื้อปุ๋ย ไม่ต้องซื้อยา ไม่ต้องซื้ออาหารสัตว์ และผมก็เลี้ยงได้ด้วย เพียงแค่ท่านพูดว่าความรู้อยู่ในธรรมชาติ ใครค้นหาเจอก่อนคนนั้นชนะ ในอดีตเมืองไทยไม่ได้ซื้ออะไรเลย บ้านเธออยู่ริมทะเลสาบใช้อะไรเลี้ยง ทำให้ผมนึกได้ว่าการเลี้ยงสัตว์สมัยก่อนไม่ได้ใช้อาหารเม็ดเหมือนในระบบทุน” อาจารย์ธงไชย ผู้มีความในใจที่อยากบวชในตอนนั้นเล่าความหลัง

เศรษฐกิจพอเพียง...โรงอาหารสีเขียว

หลังกลับมาจากวัดก็หันไปอ่านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสอนให้พึ่งตนเอง เริ่มเรียนรู้ทดลองทำเกษตรทฤษฎีใหม่ด้วยตัวเอง เนื่องจากไม่มีสถานที่ให้เขาได้เรียนรู้

ธงไชย เริ่มต้นด้วยการสร้างโรงอาหารสัตว์ โรงยาสมุนไพร โรงปุ๋ยสีเขียวขึ้นมาในสวนของเขา บางคนได้ยินคำนี้อาจคิดว่าเขาสร้างโรงต่างๆ เหล่านี้ด้วยอิฐ หิน ปูน ทราย ความจริงไม่ใช่เลย เพราะโรงเหล่านั้นก็คือ การที่เขาปลูกพืช 7 ระดับตามคันบ่อด้วยแนวทางของเกษตรทฤษฎีใหม่

พืช 4 ระดับล่างนั้น สามารถใช้เป็นอาหารทั้งคนและสัตว์ ได้แก่ พืชไม้หัว ไม้หน้าดิน ไม้น้ำ ส่วนอีก 3 ระดับบน เป็นไม้บำนาญชีวิตเพื่อชีวิตในยามแก่ เช่น ยาง เต็ง ประดู่ ตะเคียน ชิงชัง เป็นต้น ซึ่งไม้เหล่านั้นเขาบอกว่าถ้าราคาต้นละ 1 หมื่นบาท 1 ไร่ ก็จะได้เงินถึง 5 ล้านบาท

ธงไชย บอกว่า การปลูกพืช 7 ระดับดีกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพราะจะทำให้เกษตรกรมีพืชเพื่อรับประทานตลอด สัตว์ที่เลี้ยงไว้ก็มีอาหารด้วย และที่สำคัญยังมีไม้ที่เป็นบำนาญชีวิตอีกด้วยไม่ต้องกลัวลำบากในยามแก่เฒ่า

เลิกเลี้ยงไก่เนื้อมาเลี้ยงกุ้งปลา

จากที่เลี้ยงไก่ด้วยอาหารเม็ดแล้วเป็นหนี้กว่า 50 ล้านบาท ธงไชย ได้เปลี่ยนมาเลี้ยงปลาและกุ้งแทน แล้วอาหารเม็ดที่เคยใช้ก็เลิกใช้เด็ดขาดหันมาใช้พืช ผัก ผลไม้ หญ้า หอยเชอรี่ ปลา เป็นต้นมาผลิตเป็นอาหารสัตว์สีเขียว ปุ๋ยสีเขียว (ปุ๋ยอินทรีย์) ยาสีเขียว (จากสมุนไพร) แทนโดยกระบวนการจุลินทรีย์ กล่าวคือจะต้องผ่านการหมัก

ด้วยต้นทุนเพียงน้อยนิดไม่สูงลิบเหมือนตอนที่เลี้ยงไก่เนื้อที่ต้องซื้อทั้งพันธุ์ไก่ ทั้งยาและอาหารเม็ด ทำให้เขาเริ่มมีเงินเก็บและเริ่มการใช้หนี้ในปี 2544 เป็นต้นมาจนปัจจุบันเหลือหนี้แค่กว่า 10 ล้านบาทต้นๆ

“เมื่อผมสร้างโรงอาหาร โรงยา โรงปุ๋ยสีเขียว แล้วก็เลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ทำให้ผมเริ่มมีเงินใช้หนี้ เพราะไม่ต้องไปซื้อยา ปุ๋ย และอาหารเม็ดอีกต่อไป เพราะยา อาหาร ปุ๋ยผมทำใช้เองจากพืชที่ปลูกไว้ ถึงวันนี้ใช้หนี้ไปแล้ว 40 กว่าล้าน ด้วยเวลา 7 ปี ปัจจุบันเหลือแค่ 10 ล้านเศษๆ โดยที่ธนาคารไม่เคยทวงแม้แต่ครั้งเดียว” ธงไชย เล่าอดีตอย่างภาคภูมิ

ที่ 1 ไร่เดียว...รวย รอด

ที่ดิน 1 ไร่ ทำให้เกษตรกรปลดหนี้และร่ำรวยได้ด้วยต้นทุนแค่ 7,000 บาท ธงไชย กล่าวว่า วิธีก็คือใช้ระบบโฟร์อินวัน คือ ปลูกข้าว 1 ไร่ในบ่อ แล้วเลี้ยงปลาอีก 3 ชนิด คือ ปลานิล ปลายี่สก ปลานวลจันทร์ หรืออีกโฟร์อินวัน คือ ปลูกข้าว 1 ไร่ในบ่อ แล้วเลี้ยงกุ้งขาว กุ้งก้ามกราม และปลานิลหมัน

ที่ต้องเป็นปลานิลหมันนั้น ธงไชย บอกว่าปลานิลหมันจะไม่ค่อยกินกุ้งเหมือนปลาอื่นๆ และการจะได้ปลานิลหมันก็ต้องผ่านการคัดก่อนที่จะนำไปปล่อยในบ่อ

สำหรับต้นทุน 7,000 บาทนั้น ประกอบด้วย ค่าพันธุ์กุ้ง 3 หมื่นตัว ตัวละ 3 สตางค์ 900 บาท พันธุ์ปลานิลหมัน 1,000 ตัว ตัวละ 40 สตางค์ 400 บาท กุ้งก้ามกราม 1,500 ตัว 1,000 บาท ดำนา 200 บาท สูบน้ำเข้าบ่อ 1,500 บาท รวม 4,000 บาท นอกนั้นเป็นค่าอาหารจุลินทรีย์ทำจากปลา หอยเชอรี่ หน่อกล้วย ผลไม้ เป็นต้น ไม่เกิน 3,000 บาท รวม 7,000 บาท

ธงไชย กล่าวถึงผลผลิตที่เคยได้ว่า กุ้งขาว 3 หมื่นตัว ถ้า 100 ตัวต่อกิโลกรัม กิโลกรัมละ 100 บาท จะได้เงิน 3 หมื่นบาท ปีหนึ่ง 3 รอบได้เกือบ 1 แสนบาท บางรุ่นกุ้งแพงได้รอบละแสน แต่ก็ไม่บ่อยนัก เพราะกุ้งไม่ได้แพงตลอด

“นี่เฉพาะกุ้งขาวไม่นับกุ้งก้ามกรามและปลา ส่วนข้าวถ้าจังหวะดีๆ ฝนไม่ตกเยอะ ถ้าได้ 70 ถังต่อไร ปีหนึ่ง 3 รุ่น 150 ถัง แต่ผมคิดแค่ 100 ถัง ข้าวก็จะได้ 1 แสนบาท ผมมีเครื่องสีข้าวซ้อมมือไม่ต้องขายข้าวเปลือก แต่ทำเป็นข้าวซ้อมมือขายถังละ 7,000 บาท”

เอาดีทางนี้...เลิกอาหารเม็ด

ธงไชย กล่าวว่า เกษตรกรที่เลี้ยงปลา หมู กุ้ง ไก่ ถูกทำร้ายทุกวันนี้ เพราะไปใช้อาหารเม็ดที่ต้องใช้ทุนสูง ดังนั้นผู้ที่จะมาเอาดีทางเกษตรทฤษฎีใหม่จะต้องเลิกซื้ออาหารเม็ดเด็ดขาด แล้วหันมาพึ่งตนเองด้วยการเรียนรู้ในเรื่องจุลินทรีย์อันเป็นกระบวนการผลิตอาหารสัตว์สีเขียวใช้เอง

“ทุกคนต้องรู้เรื่องจุลินทรีย์ ทำอาหารสัตว์ใช้เองได้ ไม่ต้องซื้ออาหารเม็ด ไม่ต้องใช้สารเคมี ปลา กุ้งผมไม่เคยใช้อาหารเม็ดแต่ใช้หยวกกล้วย ผัก พืช ผลไม้ ปลา มาหมักจุลินทรีย์เป็นอาหาร จึงทำให้ผมมีเงินใช้หนี้ที่ตอนนี้ใช้ไปแล้ว 40 กว่าล้าน หากมองกลับกันถ้าไม่มีหนี้ผมก็จะมีเงิน 40 กว่าล้าน และอาจมากกว่านั้นถ้าเริ่มต้นที่ไม่มีหนี้”

เกษตรกรเป็นหนี้เพราะ 4 สาเหตุ

สาเหตุที่ทำให้เกษตรกรไทยเป็นหนี้และยากจนนั้น เจ้าของสวนธงไชยฯ บอกว่ามาจาก 4 สาเหตุ คือ 1.การใช้ปุ๋ยเคมี ชาวนาทุกวันนี้ส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเคมี 2.การใช้อาหารเม็ดเลี้ยงสัตว์ 3.การใช้ยาเคมี และ 4.การไม่ยอมจัดการในเรื่องของพลังงาน

เกษตรกรไทยควรลองเปลี่ยนวิธีคิดเดิมๆ หันมาพึ่งตัวเองด้วยการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเราสามารถกำหนดราคาเองได้ด้วย

“อย่างผมมีกล้วย ผมกำหนดราคาหวีละ 5 บาท ถ้าเหลือ ไม่มีใครซื้อ ก็เอาไปเป็นอาหารสัตว์ หรือในตลาดขายเท่าไรเราก็ขายเท่านั้น เช่น กุ้ง ตอนไหนที่ราคาดีเราก็ได้ราคาดี ตอนไหนราคาตก เกษตรกรเดินแถวประท้วงเราก็ชะลอการจับกุ้งไว้ก่อนรอให้ราคาดีค่อยจับมาขายก็ไม่เสียหาย นี่แหละคือความยิ่งใหญ่ของเกษตรทฤษฎีใหม่คือต้องกำหนดราคาเองได้”

ทุกวันนี้ธงไชยกับภรรยาแม้จะยังเหลือหนี้ที่ต้องชำระกว่า 10 ล้านบาท แต่ชีวิตของเขาก็มีความสุข เพราะเขาเชื่อว่าได้เดินมาถูกทางตามที่พ่อหลวงทรงสอนไว้อย่างภาคภูมิใจ

จากคุณ : ภูมิพัฒน์
เขียนเมื่อ : 17 ส.ค. 52 15:14:48




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com