Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เอาประโยชน์ของเพกามาฝากค่ะ (ค้นจาก Google) ค่ะ  

ไปค้นข้อมูลมาจาก Google  ค่ะ  คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์บ้างนะคะ

เพกาเป็นพืชที่ขึ้นได้ทุกภาคของประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oroxylum indicum (L.) Vent. อยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆดังนี้ เพกา ( กลาง ) มะลิดไม้ , มะลิ้นไม้ , ลิดไม้ ( เหนือ ) หมากลิ้นฟ้า , บักลิ้นฟ้า , บักลิ้นงู , ลิ้นไม้ , ลิ้นฟ้า ( อีสาน )หมากลิ้นก้าง , หมากลิ้นช้าง ( ฉาน – เหนือ ) กาโด้โด้ง ( กะเหรี่ยง – กาญจนบุรี ) ดอก๊ะด๊อกก๊ะ , ดุแก ( กะเหรี่ยง – แม่ฮ่องสอน ) เบโก ( มาเลย์ – นราธิวาส )

เพกาจัดเป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ใบเป็นใบประกอบขนาดใหญ่ มีช่อดอกขนาดใหญ่สีม่วงแดงออกดอกที่ยอดโดยก้านช่อดอกจะยาวชูสูงขึ้นไปบนท้องฟ้า ผลเป็นฝักแบนรูปร่างคล้ายลิ้น ยาว 40 – 120 ซม. กว้าง 6 – 10 ซม.สีน้ำตาลดำ เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีกภายในมีเมล็ดแบนมีปีกบางใสสีขาวเป็นจำนวนมาก เมื่อลอยไปตกที่ไหนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมก็สามารถจะเจริญเติบโตเป็นต้นได้

เพกาเป็นพืชที่มีการใช้เป็นยาสมุนไพรมาแต่โบราณโดยตำรายาแผนโบราณกล่าวไว้ว่ามีสรรพคุณต่างๆดังนี้

เปลือกต้นมีรสฝาด เย็น และขมเล็กน้อยจึงมีสรรพคุณฝาดสมาน รักษาน้ำเหลืองให้หายเป็นปกติ ดับพิษโลหิต ขับลมในลำไส้ แก้ท้องร่วง แก้บิด ขับเสมหะ บำรุงโลหิต ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำสารสกัดจากเปลือกต้นไปทดลองในสัตว์พบว่าสามารถลดการอักเสบได้ ถ้าท่านผู้อ่านจะลองใช้เปลือกต้นเพกาเพื่อลดอาการบวมฟกช้ำ ( อาการอักเสบ ) ก็นำเปลือกต้นฝนกับน้ำปูนใสนำน้ำที่ได้ไปทาบริเวณที่มีอาการ ถ้าจะใช้เพื่อรักษาฝีก็นำน้ำที่ได้ไปทารอบๆฝี

ส่วนดอกนำไปต้มหรือลวกรับประทานกับน้ำพริก สำหรับฝักอ่อนซึ่งมีรสขมดังนั้นก่อนรับประทานต้องนำไปเผาให้ผิวนอกไหม้เกรียมและขูดผิวที่ไหม้ออกหรือนำไปต้มแต่วิธีนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันที่ต้องทำเช่นนี้เนื่องจากเมื่อสุกจะช่วยลดความขมลงได้จากนั้นนำไปรับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริก , ลาบ , ก้อย , ยำ หรือนำไปหั่นเป็นฝอยตามขวางชิ้นเล็กๆปรุงเป็นแกง , ผัด , หรือยำตามชอบใจ นอกจากจะเป็นอาหารที่มีรสชาติอร่อยแล้วเพกายังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรอีกด้วย

รากเพกา สรรพคุณบำรุงธาตุ กระตุ้นน้ำย่อย แก้ท้องร่วง แก้อักเสบฟกช้ำ

ฝักอ่อน มีสรรพคุณขับลม ดังนั้นท่านผู้อ่านที่รับประทานฝักอ่อนเป็นอาหารนอกจากจะได้รับประทานอาหารที่อร่อยแล้วยังรู้สึกสบายท้องอีกด้วยค่ะ

เมล็ดแก่ สรรพคุณช่วยระบาย นอกจากนี้คนไทยและคนจีนยังนำเมล็ดแก่ที่แห้งของเพกาไปทำเป็น “ น้ำจับเลี้ยง “ เพื่อดื่มแก้ร้อนในและเมล็ดยังช่วยลดอาการไอขับเสมหะโดยใช้เมล็ดครั้งละ ½ - 1 กำมือ ( หนัก 1.5 – 3 กรัม ) ใส่น้ำประมาณ 300 มิลลิลิตร ต้มไฟอ่อนๆพอเดือดนานประมาณ 1 ชั่วโมง รับประทานวันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหายถ้าอาการไม่ดีขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ใกล้บ้านนะค่ะ

จากคุณ : กุหลาบสีส้ม
เขียนเมื่อ : 12 มี.ค. 53 10:31:48




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com