 |
มะพร้าวกะทิ 2 พันธุ์ใหม่...ทั้งเตี้ย ทั้งหอม
|
|
..........................นับเป็นข่าวดีที่ กรมวิชาการเกษตร ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวกะทิลูกผสมพันธุ์ใหม่ 2 พันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้คณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร พิจารณาประกาศเป็นพันธุ์แนะนำของกรมวิชาการเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก เพื่อการค้า นายสมชาย วัฒนโยธิน นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ทีมนักวิจัยเริ่มปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวลูกผสมกะทิที่สวนผลิตพันธุ์มะพร้าว ลูกผสมคันธุลี ศูนย์วิจัยยางสุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2538 โดยได้รับความร่วมมือจากสวนมะพร้าวกะทิพันธุ์แท้ของบริษัท อูติเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน จำกัด อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ซึ่งสนับสนุนพ่อพันธุ์มะพร้าวกะทิสายพันธุ์แท้ 1 พันธุ์ จำนวน 44 ต้น นำมาผสมกับแม่พันธุ์มะพร้าว 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์น้ำหอม สายพันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย สายพันธุ์มลายูสีแดงต้นเตี้ย สายพันธุ์ทุ่งเคล็ด และสายพันธุ์เวสท์อัฟริกันต้นสูง พันธุ์ละ 100 ต้น เบื้องต้นได้สายพันธุ์มะพร้าวลูกผสม กะทิ ชื่อย่อ NHK, YDK, RDK, TKK และ WAK ซึ่งทีมนักวิจัยได้ทำการทดลองปลูกพร้อมคัดเลือกสายพันธุ์เรื่อยมากระทั่งปี 2549 พบว่า มะพร้าวลูกผสมกะทิ 2 พันธุ์มีความโดดเด่นและมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพ คือ YDK และ NHK ซึ่งเหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเพิ่มรายได้ สำหรับสายพันธุ์ YDK เป็นมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิระหว่างมลายูสีเหลืองต้นเตี้ย (พันธุ์แม่) กับมะพร้าวกะทิสายพันธุ์แท้ (พันธุ์พ่อ) มีลักษณะ เด่น คือ ออกจั่นและติดผลเร็วขณะที่ ต้นเตี้ย (สูงจากพื้นที่ดินประมาณ 50-60 เซนติเมตร) หลังปลูกประมาณ 4 ปี ก็เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ให้ผลผลิตสูง เฉลี่ย 1,902 ผล/ไร่/ 3 ปีแรก (ช่วงอายุ 4-7 ปี) คิดเป็นรายได้ 28,008 บาท/ไร่ ถ้าแหล่งปลูกปลอดจากมะพร้าวธรรมดา จะมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 34,002 บาท/ไร่ ขึ้นอยู่กับระบบการจัด การสวน ส่วนสายพันธุ์ NHK เป็นมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมกะทิระหว่างพันธุ์น้ำหอม (พันธุ์แม่) กับกะทิสายพันธุ์แท้ (พันธุ์พ่อ) มีลักษณะเด่น คือ ออกจั่นเร็ว ให้ผลผลิตเป็นมะพร้าวกะทิที่มีกลิ่นหอมทั้งน้ำและเนื้อ จำนวน 55% ของจำนวนต้นที่ปลูก โดยให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,064 ผล/ไร่/3 ปีแรก (อายุ 4-7 ปี) ซึ่งต้นมะพร้าวลูกผสมกะทิจำนวนดังกล่าว สามารถใช้พัฒนาพันธุ์มะพร้าวกะทิน้ำหอมต้นเตี้ยได้โดยใช้เทคนิคการผสมพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ และใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงคัพภะ (Embryo culture) เข้ามาช่วยในการเพาะเลี้ยงผลมะพร้าวกะทิน้ำหอม ก็จะได้ต้นพันธุ์มะพร้าว กะทิน้ำหอม 100%
จากคุณ |
:
ญี่ปุ่น35
|
เขียนเมื่อ |
:
4 ส.ค. 53 00:25:31
|
|
|
|  |