Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
สมุนไพรกำจัดเห็บ ติดต่อทีมงาน

เนื่องจากตอนนี้มันบุกบ้านและน้องหมาของเรา มากันเป็นกองทัพน่าขนลุกกำจัดเท่าไรก็ไม่หมด จึงไปหาอ่านแล้วได้บทความดีๆมาดังนี้ค่ะ
จากเวบhttp://news.enterfarm.com/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B9%87%E0%B8%9A.html

เวลามองตามสุนัขจรจัดที่กำลังเดินบนท้องถนนหรือสวนสาธารณะ สิ่งที่พบเห็นบ่อย ครั้งที่สุดก็คือ
ขณะที่เจ้าตูบเดินๆ อยู่นั้น เพียงไม่กี่ฮึดใจพวกมันก็จะหยุดเพื่อหย่อนบั้นท้ายลงพื้น แล้วตวัดขาหลังเกาหูยิกๆ ตรงนั้นบ้าง
ตรงนี้บ้าง บางตัวใช้ปากกัดเนื้อหนังตัวเองเพื่อลดอาการคัน

เจ้าตูบจำนวน มากมีอาการคันถึงขั้นขนหลุดเป็นหย่อมๆ หลายตัวไร้ขนจนกลายเป็นสุนัขหนังกลับ
หลายตัวรุนแรงจนผิวหนังเหวอะหวะ เกิดบาดแผลอย่างน่าสงสาร หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “หมาขี้เรื้อน”
ซึ่งอาการนี้ ไม่เพียงแค่พบได้กับสุนัขข้างทางเท่านั้น แต่สุนัขลูกรักประจำครอบครัวหรือ
แม้แต่เจ้าแมวเหมียวก็สามารถเกิดโรคนี้ได้ และพวกมันก็เสี่ยงกับการถูกเจ้าของรังเกียจ หรือทอดทิ้งในที่สุด

ตัวการสำคัญของอาการคันเหล่านี้ก็คือ “ไรเรื้อน” ปรสิตตัวเล็กๆ 8 ขา ซึ่งมีอยู่หลายชนิด
และเป็นที่มาของโรคผิวหนังในสุนัขที่แตกต่างกัน คือ ขี้เรื้อนแห้ง และ ขี้เรื้อนเปียก
แม้ว่าโรคผิวหนังอาจเกิดจากเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย แต่โรคผิวหนังสุนัขที่สัตวแพทย์พบมากที่สุดก็คือ เจ้าไรเรื้อนเหล่านี้
แต่ด้วยความก้าวหน้าทางสัตวแพทยศาสตร์ ยารักษาโรคสำหรับสุนัขย่อมมีมากขึ้น มีทั้งชนิดฉีด หยอด ทา และให้สุนัขกิน
คลีนิครักษาสัตว์ก็พบเห็นได้ง่ายกว่าอดีต แต่ผู้เลี้ยงบางท่านที่ประสบปัญหานี้ แต่ไม่สะดวกไปพบสัตวแพทย์
ก็สามารถรักษาโรคเรื้อนให้สุนัขได้ด้วยการใช้ของใกล้ตัว มีตัวอย่างจากคำบอกเล่าของผู้เลี้ยงที่นำมาทดลองใช้แล้วได้ผล เช่น

ยารักษาเรื้อนสุนัขสูตรยาสามัญประจำบ้าน ใช้ยาเหลือง หรือยารักษาแผลสดที่คุ้นเคยในชื่อ “เบตาดีน”
ทาบริเวณที่เป็นเรื้อน จากนั้นทาซ้ำด้วยยาม่วง หรือยารักษาอาการปากนกกระจอกสำหรับเด็ก ทาทุกวันจนกว่าจะหาย

สูตรครัวหลังบ้าน ใช้สำลีชุบน้ำหน่อไม้ดองหรือน้ำมันมะพร้าวทาบริเวณที่เป็นเรื้อนทุกวัน

สูตรกรมปศุสัตว์ ใช้น้ำมันเครื่องที่ใช้แล้ว 10 ส่วน ผสมกับกำมะถันก้อนเหลือง บดละเอียด 1 ส่วน

การบูร หรือลูกเหม็น บดละเอียด 1 ส่วน เส้นยาสูบหรือยาฉุนสับละเอียดอีก 1 ส่วน ผสมให้เข้ากัน
ทาส่วนที่สุนัขเป็นขี้เรื้อน วันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น ประมาณ 3-4 วัน หรือจนกว่าจะหาย

แต่อีกภัยร้ายสำหรับสุนัขรวมถึง ผู้เลี้ยง ที่นับเป็นอีกปัญหาสำคัญและควรระวังอย่างมากไม่แพ้ไรเรื้อน
โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนนี้ก็คือ “เห็บ”

เห็บ ถูกจัดอันดับให้เป็น “สัตว์ผีดิบ” มีประสิทธิภาพในการดูดเลือดอันดับต้นๆ ของสัตว์ดูดเลือดทุกชนิดบนโลก
ขนาดโตเต็มที่ของมัน ประมาณ 3 มิลลิเมตร แต่สามารถดูดเลือดจนตัวคล้ายเม็ดลูกเกดของมันขยายตัวได้ถึง 4 เท่า
ซึ่งผู้เลี้ยงสุนัขขนยาวอาจมองเห็นเจ้าเห็บเหล่านี้ได้ลำบาก แต่หากสุนัขมีอาการคันแล้วลองใช้มือลูบตามเนื้อตัวสุนัข
จะรู้สึกสะดุดที่มือ และเมื่อแหวกขนสำรวจดูแล้วจะเห็นได้ชัดเจน โดยเจ้าเห็บที่กำลังดูดกลืนเลือดเจ้าตูบแสนรักอยู่นั้นก็คือ
เห็บตัวเมีย ที่จะถอนตัวจากสุนัขเมื่ออิ่มจัดเท่านั้น จากนั้นมันก็จะไต่ขึ้นที่สูงตามซอกมุมต่างๆ ภายในบ้าน
เพื่อออกไข่ขยายพันธุ์อีก 2,000 ฟอง กลายเป็นฐานทัพเห็บตัวอ่อนที่พร้อมจะลุยกระโจนดูดเลือดสุนัข
ในอีก 1 เดือน ข้างหน้า

วงจรชีวิตของเห็บ ในวัยอ่อน มีเพียง 6 ขา ตัวเล็กแต่รวดเร็วจนผู้เลี้ยงอาจไม่ทันสังเกต มันจะแทรกตัวตามไรขนเพื่อกินเลือด
สุนัข อย่างน้อย 2-3 วัน จากนั้นจึงจะปล่อยตัวดิ่งพสุธาแล้วไปหามุมลอกคราบตามซอกกำแพงเป็นตัวกลางวัย
ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าและครบ 8 ขา ก็จะกระโจนปฏิบัติการณ์ดูดเลือดสุนัขเพื่อกลับมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยอีก ครั้ง
แต่ละช่วงวัยจะเจริญเติบโตได้ดีหากมีอุณหภูมิและความชื้นในอากาศที่พอเหมาะ

ไม่เพียงแค่เห็บจะดูดกินเลือดสุนัขจนผ่ายผอม อ่อนเพลีย นำสู่การเกิดโรคโลหิตจาง ผิวหนังอักเสบ
หรือติดเชื้อแทรกซ้อนจนเป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตเท่านั้น ในประเทศไทยยังพบว่าเห็บสุนัขลุกลามดูดเลือดสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ
แม้กระทั่งงู และที่ร้ายแรงกว่านั้นก็คือ การเข้าไปซ่อนตัวและดูดเลือดในหูคนอย่างที่เคยเป็นข่าวอันน่าขนลุกมาแล้ว

แต่เหตุเพราะเห็บจัดเป็นพาราไซต์ที่มีเปลือกยืดหยุ่นแข็งแรง การกำจัดเห็บจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่เหมาะกับการดึงถอนจาก
ตัวสุนัขทีละตัว เนื่องจากอวัยวะของเห็บที่แทงลงผิวหนังสุนัขเพื่อดูดเลือด หรือไฮโปสโตม มีลักษณะยาวคล้ายกระบองหนาม
ที่ติดแน่นกับผิวหนัง เพราะความแหลมคมผสมน้ำลายที่เห็บปล่อยมาทำปฏิกิริยาร่วม หากผู้เลี้ยงดึงออกในขณะที่เห็บยังดูดเลือด
ไม่อิ่มตัว ไฮโปสโตม จะฝังอยู่ในผิวหนังกลายเป็นตุ่มแข็ง หรือไม่ก็จะทำให้ผิวหนังสุนัขหลุดติดมากับตัวเห็บด้วย

ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องกำจัดเห็บด้วยยาสังเคราะห์ฤทธิ์แรง ราคาสูง และส่งผลข้างเคียงกับสุนัขเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด
แต่จากผลงานวิจัย เรื่อง “การพัฒนาสมุนไพรเพื่อใช้ภายนอกในทางสัตวแพทย์” โดย รศ.ดร.น.สพ. ณรงค์
จึงสมานญาติ และคณะฯ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า มีพืชไทย 16 ชนิด
ที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเห็บได้ และพบวิธีสกัดแบบง่ายที่เกษตรกรหรือผู้เลี้ยงสุนัขสามารถทำได้เอง
สามารถกำจัดเห็บสุนัข หมัด เหา รวมถึงเห็บโคได้ด้วย โดยมีชนิดและขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

เมล็ดน้อยหน่า บดเมล็ดน้อยหน่าให้เป็นผง แช่ด้วยน้ำที่มีแอลกอฮอล์ 1 ใน 10 ส่วน (10%แอลกอฮอล์)
โดยใส่แค่พอท่วมผงเมล็ดน้อยหน่า แช่ทิ้งค้างคืนไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นจึงค่อยกรองคั้นเก็บส่วนน้ำ แล้วใช้ 10%
แอลกอฮอล์หรือน้ำ เทล้างผงเมล็ดน้อยหน่า อีก 2 ครั้ง ด้วยปริมาตรเท่าเดิม จากนั้นกรองคั้นส่วนน้ำมารวมกันเป็นสูตรเข้มข้น
ใช้ฉีดพ่นฆ่าเห็บบนตัวสัตว์ได้ทั้งเห็บตัวอ่อนและเห็บตัวแก่ พ่นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์

วิธีที่ดีที่สุดให้ฉีด ฆ่าเห็บตัวอ่อนเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้เห็บที่ขึ้นตัวสัตว์ใหม่นั้นดูดเลือดสุนัข
จนเจริญตัวเป็นตัวแก่ โดยเฉพาะในโค เห็บที่ขึ้นใหม่จะเป็นเห็บตัวอ่อนเท่านั้น จึงสามารถเจือจางสารสกัดสูตรเข้มข้นที่ได้
อีก 300 เท่า เพื่อฆ่าเฉพาะตัวอ่อนเห็บอย่างเดียว ที่จะขึ้นใหม่จากพื้น สำหรับเห็บสุนัขต้องใช้สูตรเข้มข้นทุกครั้ง
เพราะเห็บที่ขึ้นใหม่ จะเป็นทั้งเห็บตัวอ่อน เห็บตัวกลางวัย และเห็บตัวเต็มวัย
ไม่ใช่เฉพาะเห็บตัวอ่อนอย่างเดียวเหมือนของเห็บโค

เมล็ดมันแกว บดเมล็ดมันแกวให้เป็นผง เติมน้ำ 2 เท่า ของน้ำหนักผงเมล็ดมันแกว ต้มนาน 20 นาที
ขณะต้มคอยเติมน้ำให้เท่าเดิม อย่าให้น้ำแห้ง กรองส่วนน้ำมาเก็บไว้ในตู้เย็น 7-20 วัน
แล้วจึงนำมาผสมน้ำอีก 220 เท่า ฉีดพ่นฆ่าเห็บตัวอ่อนบนตัวโค สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง หรือผสมน้ำ 5 เท่า
สำหรับฉีดพ่นเห็บตัวแก่ไม่ให้ออกไข่ ทั้งของสุนัขและโค

น้ำมันตะไคร้ แกง โดยการกลั่นใบตะไคร้แกงด้วยไอน้ำ ด้วยชุดกลั่นสำหรับเกษตรกร ใบตะไคร้แกงสด 10 กิโลกรัม
กลั่นน้ำมันได้ 40 ซีซี ผสมด้วยแอลกอฮอล์ (95%) 16 เท่า ใช้ฉีดฆ่าเห็บตัวอ่อนบนตัวโคและสุนัข
ถ้าต้องการพ่นฆ่าเห็บตัวแก่ไม่ให้ออกไข่ด้วย ให้ผสมน้ำมันตะไคร้แกงด้วยแอลกอฮอล์ได้เพียง 4 เท่า
ฉีดพ่นบนตัวโคและสุนัขสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ห้ามพ่นเข้าตาสัตว์ เนื่องจากผสมกับแอลกอฮอล์
เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้แสบตา หากถูกตาสัตว์จะทำให้กระจกตาขุ่นและเป็นแผลได้

ทางที่ดีให้พ่นตาม ซอกมุม หลุม ของพื้นบริเวณที่สัตว์นอนหลับ ซึ่งเห็บโคจะปล่อยตัวลงพื้น 1 ครั้ง
เพื่อวางไข่ที่พื้น ส่วนเห็บสุนัขจะปล่อยตัวลงพื้นในขณะสุนัขนอนหลับ เพื่อลอกคราบ 2 ครั้ง
(เห็บตัวอ่อนดูดกินเลือดอยู่บนตัวสุนัข 4-5 วัน จะปล่อยตัวลงพื้น คลานหาซอกมุม หลุม ที่ปลอดภัย
เพื่อลอกคราบเป็นตัวกลางวัย แล้วขึ้นตัวสุนัขใหม่ดูดกินเลือดอีก 4-5 วัน
แล้วปล่อยตัวลงพื้นเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยขึ้นสุนัข ดูดเลือดและผสมพันธุ์กันแล้วปล่อยตัวลงพื้นอีก 1 ครั้ง
เพื่อวางไข่ ประมาณ 2,000 ฟอง ต่อตัว หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ ไข่เห็บจะฟักออกมาเป็นตัวเห็บอ่อน
คลานขึ้นสุนัขตัวใหม่

น้ำมันตะไคร้หอม ใช้ชุดเครื่องกลั่นด้วยไอน้ำสำหรับเกษตรกร ได้น้ำมัน 70 ซีซี จากใบตะไคร้หอมสด 10 กิโลกรัม
นำน้ำมันตะไคร้หอมที่กลั่นได้มาผสมด้วยแอลกอฮอล์ (95%) 12 เท่า ใช้ฉีดฆ่าเห็บตัวอ่อนบนตัวโคและสุนัข
ถ้าต้องการพ่นฆ่าเห็บตัวแก่ ให้ผสมน้ำมันตะไคร้หอมด้วยแอลกอฮอล์ได้เพียง 3 เท่า ฉีดพ่นตามซอกมุม หลุม
ของพื้นบริเวณที่สัตว์นอนหลับ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ถ้าจะพ่นที่ตัวสัตว์ต้องห้ามพ่นเข้าตา เนื่องจากผสมกับแอลกอฮอล์ เช่นเดียวกัน

น้ำมันจากเปลือกผลส้ม บีบน้ำมันจากเปลือกผลส้มโอลูกเล็กๆ ที่เกษตรกรเด็ดทิ้ง ในกรณีที่ติดผลอ่อนมากเกินไป
หรือบีบน้ำมันจากเปลือกผลส้มที่ซื้อมารับประทาน โดยบีบให้น้ำมันพุ่งใส่ขวดปากกว้าง
แล้วดูดเก็บเฉพาะน้ำมันซึ่งลอยอยู่บนส่วนที่เป็นน้ำ นำมาผสมด้วยแอลกอฮอล์ (95%) 10 เท่า
ของปริมาตรน้ำมัน ใช้ฉีดพ่นฆ่าเห็บโค หรือสุนัข ได้ทั้งตัวอ่อนและตัวแก่ ถ้ามีเปลือกผลส้มจำนวนมาก
ใช้วิธีการบีบเห็บด้วยไฮโดรลิกหรือโดยการกลั่นด้วยไอน้ำ

มะขามเปียก เป็นสารสกัดจากพืชที่มีฤทธิ์อ่อนที่สุดใน 6 ชนิดนี้ สกัดด้วยการแช่มะขามเปียกในน้ำ
หรือใน 10% แอลกอฮอล์ โดยใช้น้ำหรือ 10% แอลกอฮอล์ในปริมาตร 5 เท่า ของน้ำหนักมะขามเปียก
แช่ค้าง 1 คืน แล้วเทเฉพาะสารละลายมาใส่ขวดฉีดพ่นฆ่าเห็บตัวแก่
ตัวเห็บจะถูกสารสกัดจากน้ำมะขามเปียกกัดเป็นแผลตาย การใช้ 10% แอลกอฮอล์แช่สกัดจะทำให้สารละลายที่สกัดได้ไม่มีเชื้อราขึ้นด้วย

สำหรับ คนรักสุนัขที่กำลังประสบปัญหาเหล่านี้ สามารถทดลองนำไปใช้กับสุนัขแสนรักดูได้
แต่ระวังอย่าให่เข้าตาสุนัขตามที่ระบุไว้ และที่ละเลยไม่ได้ก็คือ การกำจัดเห็บตามซอกหลืบ
รอยแตกตามกำแพง หรือมุมบ้านต่างๆ และหมั่นทำความสะอาดบ้านและสุนัขอยู่เสมอ

อุราณี ทับทอง uranee@matichon.co.th
วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 21 ฉบับที่ 456

แก้ไขเมื่อ 19 เม.ย. 54 10:08:10

จากคุณ : fossil05
เขียนเมื่อ : 19 เม.ย. 54 10:03:09




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com