Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เมล็ดพันธุ์ : อธิปไตยในไร่นา ติดต่อทีมงาน

.....................................จุดประกายเสนอซีรีส์3ตอน"การเดินทางของเมล็ดข้าว" เบื้องหลังความอิ่มอร่อยนี้ไม่ได้ง่ายและงามราวกับใส่ปุ๋ยเคมี ประเดิมตอนแรกด้วย "เมล็ดพันธุ์"

                                   มีหลักฐานว่าคนไทยทำนามากว่าห้าพันปี แต่เพียงไม่กี่ทศวรรษหลังชาวนาไทยเป็นหนี้และติดอยู่ในวงจรอุบาทว์ เชื่อหรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นของปัญหาอยู่ตรงสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า "เมล็ดพันธุ์" นี่เอง

............................................................................................................................................................

                                   “กินข้าวหรือยัง”  คำทักทายแบบไทยๆ ที่สะท้อนนิสัยใจคอและความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารเมื่อครั้งอดีต อาจกลายเป็นเพียงมรดกทางภาษาที่เจือจางด้วยข้อเท็จจริง เช่นเดียวกับคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” หากว่าสถานการณ์ข้าวยังดำเนินไปตามครรลองที่เป็นอยู่

                                   บางทีอาจจะดีกว่าหากใครต่อใครหันมาทักทายกันด้วยคำว่า “กินข้าวอะไรมา” เพราะนั่นจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ สำหรับอนาคต“ข้าว” อาหารหลักของคนไทย

                                   เรื่องนี้คงไม่มีใครให้ความกระจ่างได้ดีเท่ากับ พ่อบุญส่ง มาตรขาว ชาวนาอีสาน ผู้เป็นต้นแบบของการประกาศอิสรภาพในไร่นาของตนเอง

                                   ย้อนหลังไปกว่าสิบปี พ่อบุญส่ง ออกเดินทางจากบ้านเกิดในอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธรด้วยหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง ปลายทางไม่ใช่ทำเนียบรัฐบาลอย่างที่เพื่อนเกษตรกรปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแทบทุกปี

                                    ที่แห่งนั้นคือ เวทีแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ของชาวนาที่หันหลังให้กลับเกษตรเชิงเดี่ยว พ่อบุญส่ง มองหาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะกับผืนนามรดกที่บ้านกำแมด ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ “ไม่มีเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านหลงเหลืออยู่ในพื้นที่อีกแล้ว”

                                    การออกตามหาเมล็ดพันธุ์ของชาวนาคนหนึ่ง อาจฟังดูน่าเศร้า ทว่าสำหรับคนที่กำลังจมดิ่งอยู่ในวังวนของหนี้สินและปัญหาสุขภาพ นี่คือก้าวแรกของการคืนศักดิ์ศรีให้กับตนเองบนพื้นฐานของเกษตรกรรมยั่งยืน  


hahaเมล็ดพันธุ์ที่หายไป

......................................สำหรับคนทั่วไป “ข้าวหอมมะลิ” ดูจะเป็นข้าวไทยสายพันธุ์เดียวที่รู้จักและภาคภูมิใจ

                                   ทว่ากับชาวนาดั้งเดิมแล้ว ข้าวมีหลากหลายสายพันธุ์แตกต่างกันไปตามพื้นที่เพาะปลูก บางชนิดเหมาะกับนาลุ่ม บางชนิดเหมาะกับนาดอน บางชนิดอายุการเก็บเกี่ยวสั้น บางชนิดอายุปานกลาง นาในอดีตจึงปลูกข้าวมากกว่าหนึ่งพันธุ์ นอกจากจะทำให้สามารถจัดสรรแรงงานได้เพียงพอในการเก็บเกี่ยว ยังทำให้มีข้าวกินตลอดทั้งปี

                                   ข้าวดำรงอยู่ในสังคมไทยมานานนับพันปี มากกว่าการเป็นอาหาร คือมิติทางวัฒนธรรมที่เชื่อมร้อยอดีตกับปัจจุบัน คนในครอบครัวชุมชนให้พึ่งพาอาศัย โดยเฉพาะคนที่ได้ชื่อว่า “กินข้าวหม้อเดียวกัน”

                                   กระทั่งการปฏิวัติเขียวเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว สถาบันวิจัยข้าวได้ส่งข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตมากกว่าเดิมไปยังไร่นาทั่วประเทศ เพื่อให้ข้าวเป็น “สินค้า” ที่สมบูรณ์แบบ

                                    พ่อบุญส่งเล่าว่า แรกๆ คนก็ยังไม่นิยมมากนัก เพราะข้าวพันธุ์ใหม่ถอนกล้ายาก

                                   “พอประมาณปี 2520  ตลาดขยายตัวขึ้น ข้าวที่ตลาดมีความต้องการคือข้าวเม็ดเรียวเม็ดยาว ก็ เริ่มมีข้าว กข.  ข้าวหอมมะลิ เข้ามา ราคาที่สูงขึ้นเป็นแรงจูงใจให้คนทิ้งข้าวที่เคยใช้ เมล็ดพันธุ์ที่เคยเก็บไว้ก็เริ่มหายไป”

                                   พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะข้าวพันธุ์ใหม่เหล่านี้ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีเท่านั้น หลังจากพวกมันรุกคืบไปทั่วทุกหัวระแหง ใช้เวลาไม่ถึงทศวรรษ ประกายแห่งความหวังจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นก็ดับวูบลงพร้อมกับต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

                                  “ปุ๋ยต้องใช้เพิ่มขึ้นทุกปี จากเดิมที่นา 20 กว่าไร่ ใช้ปุ๋ยไม่เกิน 4-5 กระสอบ ก็กลายเป็น 6, 7, 8 กระสอบ จนสุดท้ายต้องใช้ถึง 15-20 กระสอบ แล้วก็เริ่มมีหญ้า มีเพลี้ยกระโดด มีหนอน มีแมลงอะไรขึ้นมา ต้องหายาอย่างอื่นมาเพิ่มอีก  ผลก็คือกบเขียดปูปลาในน้ำในนาก็ตายไปด้วยกัน สิ่งแวดล้อมเริ่มเจอปัญหา”

                                   ที่ย่ำแย่ที่สุดคือสุขภาพ พ่อบุญส่งเล่าว่า ระยะหลังเริ่มวิงเวียนศรีษะ แน่นหน้าอก ไม่สบายบ่อย จึงตัดสินใจเปลี่ยนวิถีการผลิตไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์

                                   แม้หนี้สินหลักล้านจะสร้างความยากลำบากในช่วงต้น แต่ด้วยความมุ่งมั่นและทุ่มเท หลังจากเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านจากเพื่อนชาวนาต่างถิ่นได้ถูกหว่านลงไปบนผืนดิน ข้าวมะลิแดงแห่งอำเภอกุดชุม ได้มอบชีวิตใหม่ในฐานะเกษตรกรตัวอย่างให้กับพ่อบุญส่ง

                                    ปราชญ์อีสานผู้จุดประกายความหวังให้กับชาวนานับล้านครอบครัวที่ยังจมอยู่ในกองหนี้สินและคำโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ ส่งเสียงไปถึงเพื่อนชาวนาด้วยความเป็นห่วง

                                   “ชาวนาเฮา ถ้าต้องพึ่งเมล็ดพันธุ์จากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ ก็ถึงจุดที่เขาจะบีบก็ตาย จะคลายก็รอด”

                                    ทว่าเสียงที่สะท้อนกลับมานั้น กลับงตอกย้ำถึงความเจ็บช้ำน้ำใจที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา

                                   “เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเขาบอกว่าไม่ดี ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัท ปุ๋ยขี้วัว ขี้ควาย มันไม่ได้ผล ต้องใช้ปุ๋ยเคมี เสร็จแล้วชาวนาก็ต้องหอบข้าวไปที่โรงสี ถามว่า...ข้าวของฉันราคาเท่าไหร่”


                                  “เราเสียอธิปไตยไปแล้วใช่มั้ย...ชาวนา”

 
 

จากคุณ : ญี่ปุ่น35
เขียนเมื่อ : 24 พ.ค. 54 01:47:32




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com