Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
"ม้าไทย"มรดกธรรมชาติของโลก ติดต่อทีมงาน

................................มีบางประวัติศาสตร์ระบุว่า คนไทยทุกวันนี้อพยพมาจากมองโกเลีย สันนิษฐานได้ว่าการเดินทางมาต้องมีม้าเป็นพาหนะในการขนข้าวของเรื่อยมา ม้าที่อพยพมาจากมองโกเลีย คือประวัติศาสตร์ของชาติที่ช่วยชี้ชัดเพิ่มเติมว่าคนไทยสืบเชื้อสายมาจากดินแดนแห่งนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีม้าที่คาดว่าน่าจะสืบเชื้อสายมาจากทางมองโกเลียหลงเหลืออยู่ ที่รู้จักดีคือม้าลำปาง และม้าที่อยู่ตามป่าเขา ตามดอยต่าง ๆ ที่ใช้เป็นพาหนะขนผลิตผลทางการเกษตรและสัญจร
 
                              สพ.ญ.ดร.ศิรยา ชื่นกำไร ประธานมูลนิธิม้าลำปาง และสัตวแพทย์โรงพยาบาลม้าโคราช จ.นครราชสีมา กล่าวว่า มูลนิธิม้าลำปางได้ริเริ่มโครงการสืบค้นและอนุรักษ์สายพันธ์ุม้าพื้นเมืองขึ้นเมื่อปี 2546 โดยร่วมกับ ดร.Carla Carleton จากมิชิแกน สเตท ยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา และ ดร.Nanna Luthersson จาก Hestedoktorn ประเทศเดนมาร์ก ในเบื้องต้นเชื่อว่าม้าไทยที่อยู่ในลำปางและตามดอยต่าง ๆ มีลักษณะทางพันธุกรรมเป็นสายพันธุ์โบราณ มีถิ่นฐานจากบริเวณมณฑลยูนาน นอกจากนี้จากห้องปฏิบัติการทางพันธุศาสตร์ (The Veterinary Genetics Laboratory ,University of California Davis) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ยืนยันเพิ่มเติมว่า ม้าพื้นเมืองของไทยเป็นสายพันธุ์โบราณเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่สายพันธุ์ที่มนุษย์สร้างขึ้น จึงถือเป็นมรดกทางธรรมชาติอย่างหนึ่งของโลก (A world natural heritage) ม้าในทวีปเอเชียที่อาจมีสายพันธุ์สืบเนื่องกันได้แก่ม้าในประเทศมองโกเลีย
 
                              สพ.ญ.ดร.ศิรยา กล่าวว่า ม้าเป็นสัตว์ที่มีผลเชื่อมโยงอารยธรรมของคนไทยและต่างชาติอย่างมีนัยสำคัญ ม้าไทยถือว่าจัดอยู่ในกลุ่มม้าที่มีความอดทนสูงเมื่อเทียบกับม้านอก และสู้ไม่ถอยดังประวัติศาสตร์ที่เจงกิสข่าน รบชนะไปทั่วภูมิภาคเบื้องหลังความสำเร็จคือม้ามองโกเลีย แม้จะเป็นม้าตัวเล็กถ้าลองได้ฝึกอย่างดีจะเป็นม้าเหมาะกับการใช้งานมาก โดยมีลักษณะสำคัญ คือ ตัวเล็กแต่อกหนา สามารถขึ้นลงเขาชัน เดินตามขอบตลิ่งได้ ถ้าเป็นม้านอกมาเดินลักษณะนี้จะล้ม ขาหัก วิ่งหนี และจุดเด่นคือม้าไทยกล้าจะลุยผ่านกองไฟได้ เทียบกับม้าเทศเพราะสัญชาตญาณของม้าจะกลัวไฟ แต่ในขณะที่คนส่วนใหญ่หรือคนที่ทำธุรกิจม้ากลับชื่นชมม้าตัวใหญ่ เพราะดูสง่าและคิดว่าแข็งแรง
 
                             “รถม้าลำปาง ที่บางส่วนใช้ม้าลูกผสมเทียบกับความอดทน ม้าพื้นเมืองลากรถวิ่งรอบเมืองได้ 5 รอบแต่ม้าลูกผสมวิ่งได้แค่ 2 รอบก็ไม่ไหว เพราะม้าเหล่านี้ไม่มีภูมิต้านทานที่จะอยู่กับสภาพเมืองร้อน อ่อนแอต่อโรค แต่คนก็ยังคิดว่าม้าตัวเล็กไม่แข็งแรง อย่างนักท่องเที่ยวต่างชาติเห็นม้าตัวเล็กก็ไม่กล้าขึ้นรถม้า แต่หารู้ไม่ว่าเราใช้ม้าลูกผสมมาวิ่งบนถนนที่เป็นพื้นซีเมนต์ และไม่ได้เป็นม้าที่เหมาะกับเมืองไทย เท่ากับเราทรมานม้า” สพ.ญ.ดร.ศิรยา บอกเล่า
 
                              อย่างไรก็ตามจากการสำรวจตัวเลขของม้าไทยคร่าว ๆ คาดว่าม้าไทยสายพันธุ์แท้ ๆ ทั้งประเทศ น่าจะหลงเหลือประมาณ 200 ตัว เพราะตลาดไม่ต้องการอีก ทั้งถนนหนทางที่เข้าไปถึงชนบท บทบาทของม้าถูกลดทอนลง จากการบอกเล่าของหมอศิรยา ว่าเมื่อปี 2547 เคยเข้าไปในชุมชนชาว จ.เชียงราย ที่ในหมู่บ้านเลี้ยงม้าไว้ใช้งาน 30-40 ตัว แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10 ตัว ม้าที่หายไปเมื่อหมดความสำคัญถูกนำไปเป็นอาหาร
     
                              ด้าน รศ.นพ.นภดล สโรบล สูตินรีแพทย์ผู้ศึกษาเรื่องม้า บอกเล่าภาพรวมม้าในประเทศไทยว่า ม้าประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประเภทแรกเป็น ม้าไทย ตัวเล็กจากพื้นถึงหลังสูงประมาณ 130 ซม. มีสีน้ำตาลหน้าตาดูน่าสงสารไม่สง่า อยู่ตามดอยเป็นม้าใช้งาน รวมถึงม้าตัวเล็กที่อยู่ริมชายทะเลหัวหิน อีกกลุ่มเป็น ม้าใช้งานประเพณีบวช เช่น บวชนาค อยู่ ที่จ.ราชบุรี นครปฐม กลุ่มสุดท้ายเป็นม้าขี่เล่น ที่อยู่ในความครอบครองของคนรักม้าในภาคอีสาน และภาคเหนือ กลุ่มสุดท้ายเป็น ม้าเทศ นำเข้ามาจากต่างประเทศ เข้าใจว่ามาในสมัยที่ฝรั่งเข้ามาเมืองไทย ม้าพันธุ์นี้จะสูงตั้งแต่ 1.40-1.60 เมตร มีความสง่าและมีสีสันหลากหลาย และยังแบ่งเป็นกลุ่มม้าแข่ง โดยนำพ่อพันธุ์มาจากต่างประเทศซึ่งมีราคานับ 10 ล้านบาท อีกกลุ่มหนึ่งเป็นม้ากีฬาและม้าขี่เล่น ม้าจากต่างประเทศ ราคาค่อนข้างแพงถ้าซื้อในต่างประเทศตกราคาตัวละ 100,000 บาท พอมาถึงเมืองไทยเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 บาท ม้าที่ได้รับการฝึกฝนมาดีแล้วราคาเหยียบ 10 ล้าน ม้าพวกนี้ผสมพันธุ์กันขายลูกได้ตัวละ 200,000 บาท ขณะที่ ม้าไทยสูง 1.10-1.15 เมตร ราคาซื้อขายแค่ 20,000 บาท
 
                            “อนาคตม้าไทยมืดสนิทไม่มีใครเลี้ยงม้าไทย คอกม้าพยายามกระเสือกกระสนเลี้ยงม้าเลือดนอกถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปม้าไทยจะอยู่แค่ในสวนสัตว์” ผู้ศึกษาเรื่องม้าระบุ
 
                             และเพื่อการสืบค้นดีเอ็นเอของม้าไทยให้สรุปแน่ชัด โดยต้องทำการเลี้ยงม้าที่เกิดจากพ่อพันธ์ุแม่พันธ์ุแท้ แล้วส่งไปตรวจดีเอ็นเอยังสหรัฐอเมริกาเพื่อรับรองผลอย่างเป็นทางการ ซึ่งต้องใช้เวลายาวนานถึง 4 ปีและใช้งบประมาณจำนวนหนึ่ง ล่าสุดมูลนิธิม้าลำปางได้รับการสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาสืบค้นและอนุรักษ์สายพันธุ์ม้าพื้นเมืองไทยปีละ 500,000 บาท จาก บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท เฟอร์เฟค คอมพาเนียน กรุ๊ป จำกัด และกลุ่มบริษัท บี.กริม พร้อมกันนี้ได้จัดทำภาพยนตร์ในระบบสามมิติครั้งแรกของประเทศไทยเกี่ยวกับ “การเดินทางของม้าและมนุษยชาติ จากมองโกเลียสู่ประเทศไทย” เป็นครั้งแรก เพื่อให้คนตระหนักถึงความสำคัญของม้าไทย
   
                              ทั้งนี้ระหว่างการทำงาน สืบค้นสายพันธุ์นี้ได้เห็นว่า มีการทำลายสายพันธุ์ด้วยการผสมม้าไทยข้ามสายพันธุ์อื่นตามความต้องการของตลาดและจำนวนม้าไทยพื้นเมืองแท้ ๆ ก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังพบว่าม้าลำปางและจังหวัดใกล้เคียงมีปัญหาสุขภาพเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เกิดจากขาดความรู้ในการเลี้ยงดู รวมทั้งนิยมผสมข้ามสายพันธุ์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งเท่ากับทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ถือว่าเป็นมรดกไทย และอาจจะเป็นมรดกโลกในอนาคตนั้นจึงเป็นที่มาของการจัดตั้งกองทุนม้าลำปาง ดำเนินงานโดยผ่านมูลนิธิม้าลำปาง
 
                              ถ้าใครสนใจอยากพิทักษ์ม้าไทย ไม่ว่าจะเป็นงานด้านส่งเสริมสวัสดิภาพม้าผ่านความรู้ที่ถูกต้อง หรือการสืบค้นสายพันธุ์มรดกไทย มรดกโลก ติดต่อร่วมขบวนการได้ที่ ธ.กสิกรไทย สุขุมวิท 101 เลขที่บัญชี 035-03122-6 ชื่อบัญชี มูลนิธิม้าลำปาง.

ที่มา  http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=522&contentId=154011

 
 

จากคุณ : ญี่ปุ่น35
เขียนเมื่อ : 31 ก.ค. 54 00:55:53




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com