 |
ปัจจัยสำคัญในการทำปุ๋ยหมัก
................................รองศาสตราจารย์ บัณฑิต หิรัญสถิตย์พร จากภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โทรศัพท์ (081) 595-4432, (053) 878-123 อาจารย์บัณฑิตได้รวบรวมและเรียบเรียงเนื้อหาการทำปุ๋ยหมักอย่างง่ายไว้ใช้เอง จากประสบการณ์จริง เผยแพร่ให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจนำไปใช้ปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง โดยได้อธิบายอย่างง่ายๆ ไว้ว่า ปัจจัยสำคัญในการทำปุ๋ยหมักมีหลายข้อที่ควรทราบ คือ ปัจจัยที่หนึ่ง อัตราส่วนวัสดุสีน้ำตาล : วัสดุสีเขียว โดย วัสดุสีน้ำตาล คือ ขยะอินทรีย์ที่มีสีน้ำตาล ลักษณะทั่วไปจะแห้ง มีองค์ประกอบของคาร์บอนมาก เช่น กิ่งไม้แห้ง ใบไม้แห้ง ฟางข้าว แกลบ ดอกไม้แห้ง หญ้าแห้ง ขี้เลื่อย และเปลือกถั่ว เป็นต้น วัสดุสีเขียว คือ ขยะอินทรีย์ที่มีสีเขียว ลักษณะทั่วไปจะชื้น มีองค์ประกอบของไนโตรเจนสูง เช่น หญ้าที่ตัดใหม่ๆ ดอกไม้สด เศษผักเศษผลไม้สด ขยะจากครัว เศษอาหาร และมูลสัตว์ เป็นต้น การหมักจะเกิดขึ้นได้เร็วและมีประสิทธิภาพต้องมีอัตราส่วนของวัสดุสีน้ำตาลและวัสดุสีเขียวที่เหมาะสม ประมาณ 30 : 1 ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือเอาของสด (วัสดุสีเขียว) ผสมกับของแห้ง (วัสดุสีน้ำตาล) ให้พอขลุกขลิก คือไม่แห้งหรือไม่แฉะเกินไป ถ้าแห้งเกินไปก็จะใช้เวลานานขึ้น ถ้าแฉะเกินไปก็จะเกิดการบูดเน่าแทนที่จะเกิดการหมักหรือย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ในการทำปุ๋ยหมักจริงๆ เราคงไม่ต้องมานั่งคำนวณให้ได้ เท่ากับ 30 : 1 แต่เราใช้วิธีการประมาณ เมื่อทดลองทำไปสักระยะหนึ่งก็จะมีความชำนาญเอง ในเบื้องต้นเพื่อความสะดวกก็จะประมาณเอาเป็นอัตราส่วน 1 : 1 หรือ 2 : 1 หรือ 3 : 1 โดยปริมาตร เป็นต้น วัสดุที่นำมาทำปุ๋ยควรตัดหรือย่อยให้มีขนาดเล็กลง จะทำให้การย่อยสลายหรือการหมักเกิดเร็วขึ้น ปัจจัยที่สอง คือ "อากาศ" คือต้องมีอากาศเข้าไปในกองหมัก จึงจะเกิดการหมักหรือการย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมัก ในการหมักจุลินทรีย์ต้องการออกซิเจน เพื่อทำให้เกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติ ในกระบวนการนี้จะไม่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นเพราะเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำ แต่ถ้ากระบวนการนี้ไม่มีอากาศ ก็จะเกิดการบูดเน่า แทนการย่อยสลายตามธรรมชาติหรือการหมัก ปัจจัยที่สาม คือ "ความชื้น" ถ้ากองหมักแห้งเกินไป การย่อยสลายก็จะใช้เวลานานขึ้น ถ้าแฉะหรือมีความชื้นมากเกินไป จะทำให้อากาศเข้าไปในกองหมักได้น้อยลง ทำให้เกิดการบูดเน่าแทนการย่อยสลาย ในบ้านเรามีอากาศร้อน ควรวางถังหมักไว้ในที่ร่มและมีแดดรำไร เพื่อไม่ให้กองหมักแห้งหรือมีความชื้นน้อยเกินไป อาศัยการสังเกตดูกองหมักโดยใช้มือจับดูว่ากองหมักแห้งเกินไปหรือชื้นเกินไป ถ้าจับกองหมักดูแล้วรู้สึกว่าแห้งกรอบ แสดงว่าแห้งหรือมีความชื้นน้อยเกินไป กองหมักที่ดีควรมีให้ความรู้สึกเหมือนผ้าที่แห้งหมาดๆ ปัจจัยที่สี่ คือ "อุณหภูมิ" ในการทำปุ๋ยหมัก นอกจากการใช้วัสดุสีน้ำตาลและสีเขียวให้ได้อัตราส่วน มีอากาศเข้าไปในกองหมัก มีความชื้นที่เหมาะสม ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ขนาดของกองหมัก ถ้ากองหมักมีขนาดเล็กเกินไปก็ไม่สามารถควบคุมความชื้นและอุณหภูมิที่เหมาะสมไว้ได้ แต่ถ้าขนาดใหญ่เกินไปก็จะมีปัญหาที่อากาศไม่สามารถเข้าไปในกลางกองหมักได้ ก็จะเกิดการบูดเน่าของกองหมักเพราะอยู่ในสภาพที่ไม่มีอากาศ ในการทำปุ๋ยหมัก ถ้าทำได้ถูกต้อง กองปุ๋ยหมักจะมีอุณหภูมิสูงถึง 45-65 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสามารถทำลายเชื้อโรคและเมล็ดพันธุ์ของพืชที่มีอยู่ในกองหมักได้ ถ้ากลับกองหมักบ่อยๆ ก็อาจได้ปุ๋ยที่พอจะนำไปใช้ได้เร็วขึ้น ถ้าการย่อยสลายสมบูรณ์แล้วอุณหภูมิจะลดลงจนไม่มีความร้อนเกิดขึ้นอีกภายในกอง
จากคุณ |
:
ญี่ปุ่น35
|
เขียนเมื่อ |
:
15 ส.ค. 54 00:44:55
|
|
|
|
 |