Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
น่าแปลกใจ! น้ำท่วมเต็มเมือง แต่สถานีสูบชายทะเล"ระดับน้ำต่ำ" ติดต่อทีมงาน

.................................กว่าน้ำเหนือจะหลากเฉียดผ่านกรุงเทพ มหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ สู่เป้าหมายไหลลงทะเลอ่าวไทยนั้น มวลน้ำจะถูกแบ่งเป็น 2 ทาง ส่วนหนึ่งมาตามลำน้ำเจ้าพระยา คุมการไหลไม่ให้เกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที อีกทางปัดออกทางขวา ให้เข้าทุ่งรับน้ำด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ตามแนวคลองระพีพัฒน์ คลองรังสิต คลองหกวาสายล่าง คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศบุรีรมย์ ระบายสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ลงสู่อ่าวไทย อีกส่วนหนึ่ง ผ่านคลองสำโรง คลองพระองค์ไชยานุชิต และสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ ก่อนสูบและระบายลงสู่ทะเล

                              น้ำที่ระบายผ่านช่องนี้ วันละ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร รองจากการปล่อยผ่านประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ทำได้วันละ 51 ล้านลูกบาศก์เมตร

                              น่าแปลกที่ เส้นทางสู่อ่าวไทยทางตะวันออกพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล แต่บางพื้นที่เช่นเขตหนองจอกกลับมีปัญหาน้ำท่วมเพราะน้ำเหนือหลาก เราจึงอาสาสำรวจระบบสูบและน้ำย่านนี้ขีดความสามารถ ของระบบการระบายและการสูบน้ำย่านติดชายทะเลนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการระบายน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร มีสถานีสูบน้ำชายทะเลที่สำคัญ ได้แก่ สถานีสูบน้ำชลหารพิจิตร 2 แห่ง  สถานีสูบน้ำคลองด่าน 2 แห่ง, สถานีสูบน้ำเจริญราษฎร์, สถานีสูบน้ำบางปลา, สถานีสูบน้ำบางปลาร้าและสถานีสูบน้ำตำหรุ ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำ อย่างน้อยสถานีละ 8 เครื่อง

                              ที่ถือเป็นพระเอกของย่านนี้ คือ โครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีทั้งคลองรับน้ำจากคลองสำโรง ที่ขุดขึ้นใหม่ กว้าง 48 เมตรยาว 12 กม. พุ่งตรงเข้าสู่อาคารบังคับน้ำ แล้วยกระดับ ด้วยสะพานน้ำ เปรียบได้กับการยกคลองลอยฟ้า สูงเหนือถนนสุขุมวิท 6 เมตร ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ขนาด 25 ลบ.ม./วินาที จำนวน 4 เครื่อง สามารถสูบน้ำได้สูงสุด 100 ลบ.ม./วินาที ควบคุมการสูบน้ำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ให้ลงสู่ทะเลได้ สูงสุดวันละ 90,000 ลบ.ม. มีสถานีไฟฟ้าย่อย ขนาด 115  เควี ของตนเอง มีระบบควบคุมระยะไกลในการเปิดปิดประตูระบายน้ำคลองย่อยอีก 22 คลอง และควบคุมการทำงานของเครื่องสูบ ติดตั้งโทรมาตรอุทกวิทยา รายงานข้อมูลด้วยจีพีอาร์เอส มูลค่าการก่อสร้าง 8,700 ล้านบาท

                               เพื่ออธิบายให้เห็นประสิทธิภาพโครงการ นายช่างชลประทานท่านหนึ่ง ขยายความว่า คนในวงการเรียกสถานี 100 คิว เพราะได้วินาทีละ 100 ลบ.ม. โดยเครื่องสูบเพียงเครื่องเดียว สูบน้ำได้เท่ากับสถานีสูบน้ำคลองด่าน ที่มีเครื่องสูบถึง 8 เครื่อง โครงการนี้ ทำให้ปัญหาการเสียพื้นที่รับน้ำเพื่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 หมื่นไร่ หมดไป และช่วยให้สนามบินมีความเสี่ยงน้ำท่วมน้อยลงเยอะ

                               คนที่เคยกังวลหรือนินทาว่าร้าย เกรงจะมีการสูบน้ำออกจากสนามบินมาท่วมบ้าน หรือบางรายหาว่าเป็นตัวการทำให้น้ำท่วมคงต้องถอนคำพูดกันแล้ว

                               แต่จากการตรวจสภาพการระบายน้ำ กลับพบว่าที่ลำคลองหน้าสถานีสูบน้ำทุกแห่ง ระดับน้ำต่ำกว่าระดับทะเลปานกลางหรือค่าปกติ ถึง 30 ซม. ทั้งที่หลายแห่งกำลังเผชิญสภาพน้ำท่วม โดยเฉพาะย่านหนองจอกอันเป็นเขตใกล้เคียงพื้นที่ระบายน้ำของสถานีสูบน้ำ

                             “เราสูบทุกวัน ติดต่อกันมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เพื่อพร่องน้ำ รอให้น้ำเหนือมา ก็ยังไม่มาสักที” เจ้าหน้าที่ประจำสถานีทุกแห่งบอกตรงกัน

                              ถามไปที่กรมชลประทาน หลายคนก็ไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ที่สุดก็มีคำตอบจาก ศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชล ประทาน ที่ไม่มีน้ำให้สูบลงทะเล เพราะน้ำจากตอนเหนือไปไม่ทัน เนื่องจากพื้นที่จากเขตลาดกระบัง ถึงชายทะเลมีความลาดชันน้อย ทางกรมชลประทานพยายามใช้ระบบไซฟอนหรือกาลักน้ำช่วยผลักดันแล้วแต่ก็ยังไม่ได้ผลนัก

                              ทางด้านสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพ มหานคร มีคำอธิบายว่า  น้ำเหนือที่มาทางด้านตะวันออก ผ่านเขตหนองจอก ลาดกระบัง มีทางระบายได้ 2 สาย โดยสายแรกมาทางคลองสิบสาม เข้าคลองแสนแสบ คลองลำปลาทิว คลองนครเนื่องเขต ไปทางท่าไข่ ท่าถั่ว ลงสู่แม่น้ำบางปะกง อีกเส้นทาง มาตามคลองลำปลาทิว ถึงคลองบางโฉลก ย่านสุวรรณภูมิ คลองจระเข้ใหญ่ คลองสำโรง สู่คลองตัดใหม่ในโครงการชลหารพิจิตร สู่ระบบสูบน้ำ 100 คิว

                              นอกนั้นเป็นการระบายลงสู่เส้นทางย่อย เช่นคลองด่านการที่ไม่มีน้ำเข้าสู่สถานีสูบน้ำชายทะเล มีคำอธิบายของเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำว่า เป็นเพราะความลาดของคลองมีไม่มากจึงไหลช้า ครั้นจะปล่อยออกทางจังหวัดฉะเชิงเทรามากก็จะมีปัญหากับชุมชนจึงพยายามระบายผ่านคลองลำปลาทิว ลงทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ส่วนใหญ่ กทม. จะพยายามให้ลงทางคลองแสนแสบ

                              ฟังจากทุกฝ่าย นำมาเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงสิ่งที่เห็นด้วยตาแล้ว ก็ยังเข้าใจไม่ได้ ว่า เหตุใด ทั้งที่มีระบบซึ่งลงทุนไว้มหาศาล จึงไม่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ ปล่อยให้คนส่วนหนึ่งจมน้ำอยู่ได้

................................มีใครกั๊กอะไรไว้ตรงไหนหรือเปล่า??.

ที่มา  http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=711&contentId=168946

 
 

จากคุณ : ญี่ปุ่น35
เขียนเมื่อ : วันออกพรรษา 54 01:30:10




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com