แนะปลูกพืชสมุนไพร "เร่วหอม" ตลาดต่างประเทศต้องการสูง
|
 |
.................................นักวิจัย มก. แนะเกษตรกร ปลูก “เร่วหอม” พืชสมุนไพรเศรษฐกิจมากคุณค่า ทั้งสกัดเป็นนํ้ามันหอมระเหย เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์อาหารได้อีกหลากหลายชนิด โดยนำเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาช่วยในการขยายพันธุ์เร่วที่มีคุณภาพ เพื่อให้ทันกับความต้องการของตลาดยาสมุนไพรและตลาดสินค้าส่งออก นางมณฑา วงศ์มณีโรจน์ และทีมงานนักวิจัย ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน และทีมงานนักวิจัย สถานีวิจัยวนเกษตรตราด สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกันพัฒนาการผลิตต้นกล้าเร่วหอมโดยใช้เทคนิค การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาช่วยในการขยายพันธุ์เนื่องจาก “เร่วหอม” เป็นพืชสมุนไพรที่เหง้ามีกลิ่นหอมและมีน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบจึงเป็นพืชที่มีศักยภาพในการนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยทำการปลูกแบบระบบการปลูกพืชเพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอและสอดคล้องกับความต้องการ ลดการเข้าไปขุดเหง้าเร่วหอมในป่ามาขาย สำหรับวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเร่วหอมนั้น เริ่มจากการฟอกฆ่าเชื้อเนื้อเยื่อเร่วหอม โดยนำหน่ออ่อน ที่ใบยังไม่คลี่ออกยาวประมาณ 5-6 นิ้ว มาล้างให้สะอาด ลอกกาบใบออก นำไปฟอกฆ่าเชื้อด้วยนํ้ายาคลอร็อก 10% และ 5%นาน 10 นาทีและ 5 นาทีล้างน้ำให้สะอาด 2 ครั้ง จากนั้นให้สูตรอาหารที่เหมาะสม ในการขยายพันธุ์ตามลำดับ ขั้นตอนของอายุเนื้อเยื่ออ่อน เมื่อมีการแตกหน่อใหม่ที่สมบูรณ์แล้วได้นำไปทดลองปลูกที่สถานีวิจัยวนเกษตรตราด จังหวัดตราด (สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) พบว่า เร่วหอมเจริญเติบโตได้ดีทั้งที่ปลูกใต้ร่มเงาของสวนยางพารา สวนผลไม้ที่มีร่มเงาประมาณ 50-60%สำหรับการเก็บเกี่ยวเพื่อจำหน่ายเมื่อเร่วหอมมีอายุประมาณ 3 ปีมีกิ่งเหง้าขนาด 1-2 ต้นต่อกอ สามารถขุดแยกเหง้าแล้วนำไปขายได้กิโลกรัมละ 25-30 บาท และเมื่อแยกเหง้าแล้วสามารถปล่อยให้เหง้าในดินแตกหน่อเพื่อเติบโตต่อไปได้อีกด้วย การนำ “เร่วหอม” ไปใช้ประโยชน์อาทิ ผล ใช้เป็นเครื่องเทศ ใช้ปรุงยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด ราก มีกลิ่นหอมใช้เป็นยาเส้น ยาหอมเย็น เครื่องปรุงน้ำก๋วยเตี๋ยวเนื้อ แกงเลียง แกงป่า ผัดเผ็ด และน้ำต้มเนื้อ เหง้า มีกลิ่นหอมและมีน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบรับประทานสดหรือใช้ต้มนํ้าซุปก๋วยเตี๋ยว นับได้ว่า เร่ว เป็นพืชที่มีศักยภาพอีกชนิดหนึ่ง ที่ผ่านมาพบว่ามีการส่งเร่วเป็นสินค้าออกเป็นจำนวนกว่า 200,000 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่ากว่า 30 ล้านบาท ซึ่งตลาดที่มีความต้องการเร่วเป็นอย่างมากได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้เพราะนอกจากจะบริโภคในระดับครัวเรือนแล้ว ยังนำมาทำเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์นํ้ามันหอมระเหย เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพของเร่วให้เป็นพืชสมุนไพรเศรษฐกิจ ของประเทศเพื่อการแข่งขันด้านการส่งออกต่อไป.
ที่มา http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=663&contentID=177422
จากคุณ |
:
ญี่ปุ่น35
|
เขียนเมื่อ |
:
23 พ.ย. 54 03:29:08
|
|
|
|