 |
วันนี้อยู่เฝ้าตลาดนัดน้ำใจไม้ประดับตั้งแต่เย็น พอออกมาเจอกระทู้นี้เป็นต้องแวะทุกทีสิน่า ก็ จขกท. ชอบมีภาพธรรมชาติสวยๆ งามๆ ให้ชมตลอด คนอาไร๊..โชคดีชะมัด มีตาไว้มองเห็นแต่สิ่งสวยงาม แล้วยังเก็บมาฝากเพื่อนๆ ให้ได้สัมผัสความงามตามแบบฉบับของเธอกันอีกด้วย
สำหรับคอนก คืนนี้ขอเลือกเอาเรื่องนกชนิดนี้มาทำความรู้จักกับเค้ากันหน่อยนะครับ
นกอีเสือหัวดำ...นักล่ารุ่นจิ๋ว
นกอีเสือ หรือที่เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Shrike” ในประเทศไทยพบทั้งสิ้น 5 ชนิด คือ นกอีเสือหัวดำ (Black-headed Shrike) นกอีเสือสีน้ำตาล (Brown Shrike) นำอีเสือลายเสือ (Tiger Shrike) นกอีเสือหลังแดง (Chestnut-backed Shrike) และนกอีเสือหลังเทา (Grey-backed Shrike) เฉพาะนกอีเสือหัวดำเท่านั้นที่เป็นนกประจำถิ่นของไทย คือพบได้ทุกฤดูกาล นอกนั้นเป็นนกที่อพยพมายังประเทศไทยในฤดูหนาว
ในทางวิชาการ นกอีเสือจัดอยู่ในอันดับ (Order) นกกระจอกหรือพวกจับคอน (Passerifomes) วงศ์ (Family) นกอีเสือ (Laniidae) ทุกชนิดจัดอยู่ในสกุลเดียวกันคือ สกุลนกอีเสือ หรือ Lanius ซึ่งมีความหมายถึงนกที่ล่าเหยื่อ สำหรับนกอีเสือหัวดำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lanius schach Linnaeus, 1758 ชื่อภาษาอังกฤษนอกเหนือจากที่เรียกว่า Black-headed Shrike แล้วบางครั้งก็เรียกว่า Long-tailed Shrike
นกอีเสือหัวดำ เป็นนกที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ความยาววัดจากปลายจงอยปากถึงปลายหางประมาณ 25 ซม. จงอยปากอ้วนสั้นบริเวณปลายจงอยปากจะงุ้มลงเป็นขอ หัวค่อนข้างใหญ่ คอสั้น ทั้ง 2 เพศมีสีสันเหมือนกัน โดยตัวเต็มวัยหัวจะมีสีดำ ปีกและหางจะมีสีดำแต่จางกว่าบริเวณหัวเล็กน้อย กลางปีกจะมีแถบสีขาวจะเห็นได้ชัดเจนมากเมื่อนกกางปีกหรือขณะที่นกบิน ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดงซึ่งจะตัดกับสีของหัว ปีก และหางชัดเจน ลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอ่อน ตัวที่ยังไม่เต็มวัยสีสันของส่วนต่างๆ จะจางกว่าตัวเต็มวัยโดยมักจะออกเป็นสีเทาและมีลายขวางทางด้านข้างของลำตัว
นกอีเสือหัวดำ เป็นนกที่มีกิจกรรมต่างๆ ในตอนกลางวัน อาศัยและหากินตามพื้นที่โล่ง เช่น ทุ่งนา ทุ่งหญ้า พื้นที่กสิกรรมต่างๆ หรือตามป่าละเมาะทั่วๆ ไป ปรกติจะพบอยู่โดดเดี่ยว เป็นนกที่ก้าวร้าว มีพฤติกรรมในการป้องกันอาณาเขตโดยป้องกันแหล่งหากินและป้องกันคู่ผสมพันธุ์ ชอบเกาะตามสายไฟ สายโทรเลข หรือกิ่งไม้ต่างๆ มักจะจับตามยอดของพุ่มไม้เตี้ยๆ เพื่อจ้องหาอาหาร เป็นนกที่มีสายตาดีมาก สามารถมองเห็นเหยื่อแม้แต่ระยะไกลๆ นกอีเสือหัวดำและนกอีเสือต่างๆ กินแมลงและสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ เช่น กบ เขียด หนู กิ้งก่า สัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ และนกที่มีขนาดเล็กทั่วๆ ไป วิธีการหาอาหารโดยเฉพาะแมลงจะใช้วิธีการบินโฉบจับด้วยจงอยปากแล้วกลืนเข้าปาก การล่าสัตว์ที่มีขนาดเล็กอื่นๆ อาจจะใช้วิธีเดียวกันกับการล่าแมลงดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าเป็นสัตว์ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะใช้จงอยปากคาบทีเดียวได้ จะใช้วิธีเฉพาะซึ่งไม่ปรากฏในนกพวกอื่นๆ เลย คือการใช้จงอยปากคาบหนามแหลมของต้นไม้บางชนิดแล้วบินโฉบไปแทงใส่เหยื่อ ทำหลายๆ ครั้งจนกระทั่งเหยื่อตาย จากนั้นจึงจะใช้จงอยปากที่แหลมคมฉีกเหยื่อออกเป็นชิ้นๆ แล้วกลืนกินเข้าไป
ไม่แปลกเลยที่จะเรียกว่า “นกเสือ” เพราะอุปนิสัยในการล่าเหยื่อนั้น เอาทุกวิถีทางที่จะได้ซึ่งเหยื่อมา แต่แปลกใจที่เรียกว่า “นกอีเสือ” ทั้งๆ ที่ตัวผู้และตัวเมียก็ล่าเหยื่อเหมือนๆ กัน อาจจะเป็นไปได้ที่คนไทยชอบเรียกนกเป็นเพศเมียหมด เช่น อีแจว อีล้ำ อีลุ้ม อีโก้ง ยกเว้นอ้ายงั่ว
นกอีเสือหัวดำ ทำรังและวางไข่ในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝนหรือระหว่างเดือนมีนาคม-กรกฎาคม ในช่วงนี้จะพบนกอยู่เป็นคู่ๆ ซึ่งในช่วงอื่นๆ ส่วนใหญ่จะพบอยู่โดดเดี่ยวดังกล่าวแล้ว ปรกตินกอีเสือหัวดำสร้างรังอยู่ตามง่ามของต้นไม้ต่างๆ ที่ขึ้นอยู่บริเวณแหล่งที่อยู่อาศัยหรือแหล่งหากิน เช่น พุทรา ข่อย นุ่น เป็นต้น รังเป็นแบบง่ายๆ โดยใช้กิ่งไม้แห้งเล็กๆ มาวางซ้อนทับกัน ทำตรงกลางให้เป็นแอ่ง โดยทั่วๆ ไปรังมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางขอบนอกประมาณ 10-15 ซม. ลึก 6-8 ซม. และหนา 3-4 ซม. รังมักจะอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 2.52-3.5 เมตร
ไข่มีรูปร่างเป็นรูปไข่ คือด้านหนึ่งใหญ่และเรียวเล็กน้อยไปยังอีกด้านหนึ่ง ขนาดของไข่ส่วนที่กว้างที่สุด x ยาว โดยเฉลี่ยประมาณ 18.10 x 24.14 มม. ไข่มีสีพื้นเป็นสีเนื้อ มีจุดและลายสีน้ำตาลอ่อนแกมม่วงกระจายทั่วฟองไข่ โดยจะมีจุดหรือลายมากบริเวณไข่ด้านป้าน ในแต่ละรังมีไข่ 4-5 ฟอง ทั้ง 2 เพศช่วยกันฟักไข่โดยผลัดกัน จะเริ่มฟักไข่หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายของรังแล้ว ระยะเวลาฟักไข่ทั้งสิ้นประมาณ 13-15 วัน
ลูกนกอีเสือหัวดำที่ออกจากไข่ใหม่ๆ รูปร่างเทอะทะ หัวโต ตาโต ท้องป่อง ตาปิด ไม่มีขนใดๆ ปกคลุมร่างกาย ผิวหนังตามร่างกายเป็นสีเหลืองเมื่ออายุได้ประมาณ 3-4 วัน จะมีตุ่มของขนเกิดขึ้น อายุได้ประมาณ 2 สัปดาห์จะมีขนปกคลุมเต็มลำตัว และสามารถโผบินไปตามกิ่งก้านของต้นไม้ใกล้ๆ รังได้ อายุประมาณ 3 สัปดาห์ จะบินได้ในระยะทางใกล้ๆ และอายุ 4 สัปดาห์หรือมากกว่าจะบินได้อย่างแข็งแรง และอาจจะแยกจากพ่อแม่ไปหากินตามลำพัง ในช่วงที่ลูกนกยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้พ่อแม่นกจะช่วยกันกกลูกโดยให้ซุกใต้ ปีกหรือใต้ท้อง และจะป้องกันศัตรูต่างๆ โดยการส่งเสียงร้องแบบก้าวร้าวขับไล่ และจะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูกนก รวมทั้งคอยทำความสะอาดรังด้วยการคาบถุงมูลลูกนกไปทิ้งนอกรัง พ่อแม่จะช่วยกันดูแลลูกนกจนกระทั่งแข็งแรง และบินได้ดีจึงจะทิ้งรังไป
นกอีเสือหัวดำ ส่วนใหญ่จะพบในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบบ่อยและในปริมาณปากกลาง มี 2 ชนิดย่อย เขียนชื่อวิทยาศาสตร์ได้เป็น Lanius schach tricolor เป็นชนิดย่อยที่กระจายพันธุ์ในภาคเหนือ ความหมายของชนิดย่อยซึ่งเป็นรากศัพท์ในภาษาลาติน 2 คำคือ TRI แปลว่า สาม และ COLOR แปลว่า สี จึงหมายถึงนกอีเสือหัวดำที่มี 3 สี อีกชนิดย่อยหนึ่งคือ Lanius schach longicaudatus ซึ่งชื่อชนิดย่อยมาจากรากศัพท์ในภาษาลาติน 3 คำคือ longi แปลว่ายาว cauda แปลว่าหาง และ atus แปลว่า สีดำ ความหมายของชื่อชนิดย่อยจึงหมายถึง “หางยาวสีดำ” มีการกระจายพันธุ์ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงใต้
นกอีเสือหัวดำทุกชนิดย่อยเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามกฎหมาย หรือ “สัตว์ป่า” ที่ปรกติคนไม่ใช้เนื้อเป็นอาหารหรือไม่ล่าเพื่อการกีฬา เป็นสัตว์ป่าที่ทำลายศัตรูพืชหรือขจัดสิ่งปฏิกูล หรือสัตว์ป่าที่ควรสงวนไว้ประดับความงามตามธรรมชาติ หรือสงวนไว้มิให้ลดจำนวนลง” และเป็นนกอีเสือชนิดเดียวที่คุ้มครอง เพราะนกอีเสือที่เหลืออีก 4 ชนิดไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ เลย.
ที่มา : นิตยสารสวนสัตว์ ปีที่ 4 ฉบับที่ 30 มกราคม 2527 : รองศาสตราจารย์ โอภาส ขอบเขตต์
แก้ไขเมื่อ 07 ม.ค. 55 02:38:22
จากคุณ |
:
อลิสซั่ม
|
เขียนเมื่อ |
:
7 ม.ค. 55 02:36:06
|
|
|
|
 |