Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
เห็นชอบ"น้องโฮย่า"เหมือนกัน เลยเอาเรื่องของ"น้องโฮย่า"มาฝากจ้า..... ติดต่อทีมงาน

โฮย่า
พืชในสกุล Hoya เป็นกลุ่มหนึ่งในพืชใบเลี้ยงคู่ อยู่ในวงศ์ Asclepiadceae ดร.ดรเบิร์ต บราวน์ (Dr. Robert Brown) นายแพทย์ชาวอังกฤษ ได้ตั้งชื่อสกุลของโฮย่าขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2353 จากชื่อของเพื่อนผู้หนึ่งคือนาย Thomas Hoy ผู้ดูแลสวนของดยุคแห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์ (หรือ Sion House) ซึ่งแต่เดิมพืชชนิดนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Asclepias cernosa L.f. โฮย่าต้นแรกที่ ดร. บราวน์ตั้งชื่อและยึดถือเป็นต้นแบบของพืชสกุลนี้คือ Hoya carnosa (L.f.) R. Brown มีถิ่นกำเนิดทางตอนไต้ของประเทศจีนและฮ่องกงกล่าวกันว่าสวนของดยุคแห่งนอร์ธัมเบอร์แลนด์นั้นเป็นแหล่งรวมพืชแปลกและหายากจากทั่วโลก จึงเป็นไปได้ว่าโฮย่าต้นนี้ได้ปลูกไว้ที่สวนแห่งนี้ด้วย

ปัจจุบันโฮย่าชนิดนี้เป็นไม้ประดับที่ปลูกกันแพร่หลายทั่วโลก และยังมีโฮย่าอีกหลายชนิดที่ปลูกเป็นทั้งไม้ประดับดอกและใบได้อย่างสวยงาม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ปัจจุบันพบโฮย่ากว่า 200 ชนิดทั่วโลก (ไม่รวมต้นที่มีการกลายพันธุ์และลูกผสมซึ่งเกิดจากการปลูกเลี้ยง) กระจายพันธุ์ครอบคลุมบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตอนบนของทวีปออสเตรเลีย เจริญอยู่ในสภาพธรรมชาติต่าง ๆ กัน พบมากที่สุดในแนวเส้นศูนย์สูตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกาะอยู่ในทะเลจีนใต้ ที่มีสภาพเป็นป่าฝนเขตร้อนเหมือนป่าดงดิบ มีแสงส่องถึงนอกจากนี้ยังพบในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้งในแถบอินโดจีน รวมทั้งบนหุบเขาสูงซึ่งเป็นป่าดิบเขาในเขตกึ่งร้อน

โฮย่ามีการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยอิงอาศัยเกาะกับต้นไม้ใหญ่ ได้อาหารและน้ำจากลมและฝนพัดมา (epiphytic plant) ทุกส่วนของต้นมีน้ำยางสีขาว (ยกเว้นเพียงไม่กี่ชนิด เช่น Hoya carnosa มีน้ำยางใส) มีใบหนาคล้ายพืชอวบน้ำจึงสามารถทนแล้งได้ดี มีรากที่ทำหน้าที่คล้ายรากอากาศ

ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ตรงข้าม ยกเว้น Hoya imbricata ที่มีใบแบบซ้อนเหลื่อมกัน (imbricate) รูปร่างและขนาดของใบแตกต่างกันในแต่ละชนิด เช่น รูปกลม รูปรี รูปหัวใจ บารงชนิดมีผิวใบหยาบเหมือนแผ่นหนัง หรือมีขนคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม

ดอกออกเป็นช่อแบบซี่ร่ม เกิดที่ข้อใบและมักห้อยลง ก้านช่อดอกมีอายุนานหลายปีและเกิดดอกซ้ำได้หลายครั้ง ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยงและกรีบดอกอย่างละ 5 อัน ลักษณะเด่นของดอกคือมีกลีบดอกเป็นมันคล้ายทำด้วยขี้ผึ้ง สีสันสดใส จึงมีชื่อเรียกว่า Wax Plant หรือบางชนิดกลีบดอกมีขนฟูคล้ายกำมะหยี่ปกคลุม นอกจากนี้ ยังมีส่วนที่คล้ายมงกุฎ 5 แฉก (corona) ครอบอยู่ตรงกลางเหนือกลีบดอกเกสรเพศผู้ 5 อัน มีลักษณะคล้ายก้อนขี้ผึ้ง (pollinium) อยู่ระหว่างแฉกของมงกุฎ ส่วนเกสรเพศเมีย 1 อัน อยู่กึ่งกลางมงกุฎ ดอกมักจะมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะเวลากลางคืน ออกดอกในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ส่วนชนิดที่มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวจะออกดอกในฤดูหนาวผลเป็นฝักรูปร่างยาว เมื่อแก่จะแห้งและแตกออกเพียงด้านเดียว ภายในมีเมล็ดเล็ก ๆ จำนวนมาก เมล็ดมีขนพิเศษ (coma) ช่วยในการกระจายพันธุ์ไปตามลม เมล็ดที่ตกในที่เหมาะสมก็จะเจริญเติบโตต่อไป


การปลูกเลี้ยงและการดูแลรักษา
ลำต้นและใบโฮย่ามักจะหนาอวบคล้ายพืชอวบน้ำ และมีรากทำหน้าที่คล้ายรากอากาศ ดังนั้นวัสดุปลูกที่เหมาะสมควรระบายน้ำและอากาศได้ดี มีธาตุอาหารเพียงพอ เก็บความชื้นและไม่ผุพังหรือยุบตัวเร็วเกินไป วัสดุที่ใช้ได้ผลดี คือ รากเฟินชายผ้าสีดาสับ กาบมะพร้าวสับ หรือใช้ดินผสมที่มีจำหน่ายทั่วไปผสมกับวัสดุอื่น ๆ ที่ช่วยถ่ายเทอากาศและน้ำ เช่น ถ่านทุบ แกลบสด เปลือกถั่ว ข้อเสียของดินผสมคือยุบตัวเร็วและอุ้มน้ำมากเกินไป ทำให้รากเน่าได้ง่าย

ภาชนะปลูกควรเลือกภาชนะก้นตื้นเพราะรากจะเกาะและกินอาหารตามผิว มักจะปลูกแบบไม้แขวนและไม้เลื้อยขึ้น แล้วดัดพันให้เป็นพุ่มเมื่อโฮย่าแตกกิ่งมากขึ้น หรือปลูกเป็นไม้เถาเลื้อยตามซุ้ม หรือไต่กำแพงรั้วบ้านก็ได้ แต่ควรให้ได้รับแสงแดดอย่างน้อยในครึ่งวันเช้า การให้น้ำควรให้เมื่อวัสดุปลูกเกือบแห้ง และให้เพียงวันละครั้ง ไม่ควรให้เครื่องปลูกแฉะเกินไป

ปุ๋ยที่ให้ควรเป็นปุ๋ยกล้วยไม้ อาจเป็นชนิดละลายน้ำหรือชนิดเม็ดที่ปลดปล่อยอาหารทีละน้อย เมื่อต้นสมบูรณ์ดีแล้วเลือกให้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจน (N) น้อยกว่าธาตุฟอสฟอรัส (P) เพื่อเร่งการออกดอก สำหรับการให้ปุ๋ยละลายน้ำ ควรใช้ในอัตราความเข้มข้นต่ำ ๆ จึงจะได้ผลดี

การขยายพันธุ์
นิยมใช้การตัดชำ โดยเลือกกิ่งที่แข็งแรงไม่แก่หรืออ่อนเกินไป สังเกตได้ที่ปลายกิ่งมีใบคู่สุดท้ายเจริญเต็มที่แล้ว และมีข้อใบติดอยู่อย่างน้อย 2 - 3 ข้อ ไม่ควรใช้กิ่งที่กำลังสร้างใบหรือเพิ่งแตกตาใหม่ ใช้มีดสะอาดและคมตัดระหว่างข้อใบ ให้โคนที่ปักชำยาวพอสมควร การใช้กรรไกรหรือมือเด็ดจะทำให้เกิดแผลช้ำ เมื่อนำไปปักชำอาจเน่าได้ นำกิ่งที่ตัดมาผึ่งลมให้แผลแห้งประมาณ 1 - 2 วัน แล้วปักชำในวัสดุชำ ได้แก่ ทรายหยาบล้างสะอาดผสมกับขุยมะพร้าวอย่างละส่วน รดน้ำที่ผสมสารกำจัดเชื้อราให้ชุ่ม นำไปไว้ในที่มีแสงรำไร ควรให้วัสดุชำชุ่มชื้นเสมอ แต่ไม่แฉะ ประมาณ 1 สัปดาห์ต่อมากิ่งปักชำจะแตกราก และเมื่อตาใหม่เริ่มแตกที่โคนข้อใบแล้ว จึงย้ายปลูกลงในกระถางต่อไป

โฮย่าบางชนิด เช่น ชนิดที่มีใบด่าง หรือมาจากเขตหนาว เมื่อนำมาปักชำมักออกรากยาก และอ่อนแอต่อสภาพอากาศในไทย จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง (grafting) จึงให้ผลดี โดยใช้โฮย่าชนิดที่แข็งแรงและทนทานเป็นต้นตอ

ส่วนการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดนั้น ไม่นิยมปฏิบัติ เพราะโอย่าติดเมล็ดยากและต้องใช้เวลาหลายปีต้นจึงจะโตให้ดอกได้ ยกเว้นในกรณีที่ต้องการผลิตพันธุ์ลุกผสมใหม่ๆ ซึ่งค่อนข้ายุ่งยาก จึงไม่ขอกล่าวถึง
โรค แมลงศัตรู และการป้องกันกำจัด
โรครากเน่า เกิดจากการรดน้ำมากเกินไปหรือใช้วัสดุปลูกไม่เหมาะสม ทำให้รากเน่าและลุกลามไปทั้งต้นจนตายในที่สุด เมื่อเห็นยอดเหี่ยวหรือใบใกล้โคนเหลืองหลุดร่วงไป ให้ตัดส่วนยอดเหนือกิ่งเน่ามาปักชำใหม่
แมลงศัตรู ได้แก่ เพลี้ยอ่อน และ เพลี้ยแป้ง ซึ่งมีมดเป็นพาหะ จะเกาะที่ยอดอ่อนหรือช่อดอกแล้วดูดกินน้ำเลี้ยงจนยอดหรือช่อดอกเหี่ยวแห้ง นอกจากนี้ยังพบ หนอนผีเสื้อ บางชนิด ที่คอยกัดกินยอดอ่อนบ้าง แต่พบไม่มากนัก
โฮย่าที่พบในประเทศไทย
จากาการศึกษาตัวอย่างแห้งในพิพิธภัณฑ์พืช (Herbarium) ที่ตึกพืชพรรณ กรมวิชาการเกษตร และที่หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ รวมทั้งตัวอย่างต้นที่พบในธรรมชาติและได้มาจากคณาจารย์ รวมทั้งจากร้านขายต้นไม้ในตลาดนัดสวนจตุจักรจึงพอสรุปเป็นข้อมูลอย่างคร่าว ๆ ว่า มีโฮย่าอยู่ประมาณ 40 ชนิดในประเทศไทย เป็นจำนวนที่มากกว่ารายงานทางการที่ทำไว้เดิมซึ่งมีเพียง 24 ชนิด และหากได้มีการสำรวจพืชพรรณเพิ่มมากขึ้นในไทยแล้ว คงจะพบจำนวนชนิดมากขึ้นแน่นอน

รายชื่อโฮย่าที่สำรวจพบและพบใหม่ (New Record) ในประเทศไทย
1. Hoya caudata พบตามป่าโกงกางทางภาคใต้ อาจเป็นชื่อพ้องของ H.flagellata
2. Hoya coriacea พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้
3. 3. Hoya coronnaria พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้
4. Hoya curtisii พบเฉพาะที่ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร หายากมาก
5. Hoya diversifolia พบทั่วไปทางภาคใต้
6. Hoya elliptica พบเฉพาะที่ป่ารอยต่อ จ.ระนอง จ.ชุมพร
7. Hoya engleriana พบตามป่าดิบเขา บนดอยสูงทางภาคเหนือ
8. Hoya erythrina พบที่ป่าริมน้ำตกบาโจ จ.นราธิวาส อาจเป็นชนิดใหม่
9. Hoya erythrostemma พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้
10. Hoya finlaysonii พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้
11.Hoya flagellata พบตามป่าโกงกางทางภาคใต้
12. Hoya fusca พบเฉพาะบนดอยสูงบทางภาคเหนือ
13. Hoya graveolens พบตามป่าดิบชื้นและป่าใกล้ชายทะเลทางภาคใต้ตอนบน
14. Hoya kerrii พบทั่วไปตามป่าผลัดใบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้
15. Hoya lacunosa พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้
16. Hoya lasiantha มีรายงานว่าพบที่ อ.เบตง และ อ.ตะกั่วป่า แต่ไม่เคยมีผู้ใดเห็นต้นจริงเลย
17. Hoya latifolia พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้
18. Hoya lobbi พบตามป่าดิบชื้นที่ จ.จันทบุรี และ จ.ชุมพร
19. Hoya longifolia พบตามป่าดิบแล้ง จ.กาญจนบุรี
20. Hoya longifolia var. shephardi พบตามป่าดิบเขาบนดอยสูงทางภาคเหนือ
21. Hoya lyi พบในป่าดิบเขา จ.ตาก
22. Hoya micrantha พบได้ทั่วไปทุกภาค
23. Hoya mitrata พบตามป่าดิบชื้นสลับแล้งทางภาคใต้
24. Hoya multiflora พบตามป่าดิบชื้นทางภาคเหนือตามเขาสูงๆ และทางภาคใต้
25. Hoya nummularioides พบตามป่าดิบแล้งทางภาคอีสาน
26. Hoya obtusifolia พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้
27. Hoya oreogena พบตามป่าดิบเขา บนดอยสูงทางภาคเหนือ
28. Hoya pachyclada พบตามป่าผลัดใบ ทางภาคกลางตอนบนและภาคอีสาน
29. Hoya pallida พบที่ จ.กาญจนบุรี คล้าย H. parasitica แต่ใบเล็กกว่ามาก
30. Hoya parasitica พบทั่วไปทุกภาค
31. Hoya parviflora พบตามป่าดิบชื้นทางภาคใต้
32. Hoya rigida พบตามป่าผลัดใบทางภาคอีสาน ลักษณะคล้าย H.pachyclada
33. Hoya siamica พบตามป่าดิบเขา บนดอยสูงทางภาคเหนือ
34. Hoya subquintuplinervis พบทางภาคเหนือ จ.เชียงใหม่
35. Hoya tompsonii พบในป่าดิบเขา จ.ตาก


นอกจากรายชื่อดังกล่าว ยังมีชนิดที่พบใหม่แต่ยังไม่สามารถจำแนกชนิดได้ในขณะนี้ จากทางภาคเหนือ 3 ชนิดและทางภาคใต้ 3 ชนิด
รายชื่อสมาคมหรือชมรมที่เกี่ยวข้องกับ Hoya ในต่างประเทศ
Hoya Society International, Inc. Christine M. Burton P.O. Box 1043 Porterdale, GA 30270, U.S.A.
International Hoya Association P.O. Box 5130 Central Point, OR 97502, U.S.A.
International Asclepiad Society Mr. L.B. Delderfield 2, Keymer Court Burgess Hill West Sussex RH 15 OAA, UK


ที่มาข้อมูล : หนังสือสารานุกรม "ไม้ประดับในประเทศไทย เล่ม1" โดยคณะบรรณาธิการสำนักพิมพ์บ้านและสวน

 
 

จากคุณ : micheal lee
เขียนเมื่อ : 23 ก.พ. 55 15:02:10




ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com